บ้านคลองไทรพัฒนา ต้นแบบชุมชนจัดการตัวเอง ท่ามกลางไฟความขัดแย้ง

บ้านคลองไทรพัฒนา ต้นแบบชุมชนจัดการตัวเอง ท่ามกลางไฟความขัดแย้ง

“บ้านคลองไทรพัฒนา ต้นแบบชุมชนจัดการตัวเอง ท่ามกลางไฟความขัดแย้ง ทุน-รัฐ-ชาวบ้าน”

ที่มา: social move Thailand

ที่ดิน… นับเป็นปัจจัยการดำรงชีพที่สำคัญของมนุษย์ ทั้งในแง่ของที่อยู่อาศัย และในแง่ของการทำมาหากิน แต่ทว่าในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ยังประสบปัญหาอยู่มาก โดยเฉพาะที่ดินของรัฐ ภายใต้การกำกับดูแลของ สำนักปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร หรือ สปก. ที่มีความขัดแย้งอย่างรุนแรง ระหว่าง นายทุนและคนรวยเพียงไม่กี่กลุ่ม กับผู้ยากไร้ขาดที่ดินทำกินจนต้องกลายเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิในการเข้าถึงที่ดิน  นำมาซึ่งการเข่นฆ่า จนเกิดเหตุสลดตามมาหลายกรณี

ที่ผ่านมาภาครัฐพยายามแก้ไขปัญหา  ไม่ว่าจะเป็นการบังคับใช้กฎหมายจัดการกับผู้บุกรุก หรือการจัดสรรที่ดินให้กับผู้ยากไร้  แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถแก้ไขให้สถานการณ์ดีขึ้นได้  ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากการดำเนินการแบบล่าช้า ไม่ครบวงจร โดยเฉพาะนโยบายการจัดสรรที่ดินที่ไม่เข้าใจสภาพความเป็นจริง รวมไปถึงการไม่เปิดให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ

จากปัญหาดังกล่าวจึงเกิดแนวคิด “โฉนดชุมชนเพื่อการถือที่ดินอย่างยั่งยืน” อันน่าสนใจ ดังที่ ชุมชนคลองไทรพัฒนา ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฏร์ธานี  ที่ก่อร่างสร้างตัวขึ้น ทั้งในส่วนของ การจัดสรรที่ดินทำกินในชุมชนอย่างมีระบบ การให้ความรู้ในส่วนของข้อกฎหมาย ในการรักษาสิทธิ์ที่ดินทำกิน  แม้จะถูกคุกคามจากกลุ่มนายทุนกลุ่มอิทธิพลที่ลอบสังหารชาวบ้านที่ร่วมต่อสู้ไปแล้ว 4 ชีวิตในระยะเวลาห้าปีที่ผ่านมา  รวมไปถึงภาครัฐอย่างสปก.เองในฐานะเจ้าของที่ทำการไล่ที่โดยล่าสุดสั่งการมาเป็นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด โดยอ้างว่า จะจัดสรรที่ดินให้ใหม่ ก็ไม่สามารถลดทอนกำลังและแรงใจในการต่อสู้ของชาวบ้านในพื้นที่ได้

ธีรเนตร ไชยสุวรรณ หรือ เท็น ตัวแทนชาวบ้านชุมชนคลองไทร เผยถึงแผนภาพรวมต่อการจัดการในชุมชนไว้อย่างน่าสนใจว่า เริ่มแรกพื้นที่บริเวณบ้านคลองไทร เต็มไปด้วยสวนปาล์มของบริษัทเอกชน  จนเมื่อบริษัทเอกชนหมดสัมปทานกับสปก.บริษัทเอกชนกลับถือครองที่ดินเอาไว้ทำประโยชน์ต่อ  จนศาลติดสินให้บริษัทแพ้คดี  เมื่อมีชาวบ้านเข้ามาจับจองพื้นที่ จึงเกิดข้อพิพาทกันขึ้น  และหลังจากนั้น ชาวบ้านถูกคุกคามจากอิทธิพลมืดในหลายหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการฟ้องร้องคดี การนำรถไถมาทำลายกระท่อมของชาวบ้านจำนวนหลายสิบหลัง หรือจะเป็นเหตุการณ์สุดสลด มีสมาชิกชุมชนถูกสังหารด้วยอาวุธปืนตั้งแต่ปี 2553-2558 เสียชีวิตรวมกัน ถึง 4 ราย

ส่วนการแบ่งสันปันส่วนในที่ดิน ผ่านโฉนดชุมชน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนการใช้ที่ดิน  เท็น ระบุว่า พื้นที่ในชุมชนซึ่งเป็นที่ดินของสปก.มีประมาณ  1,007 ไร่  ในส่วนของการบริหารจัดการที่ดิน สิ่งแรกต้องกำหนดพื้นที่ส่วนกลาง เพื่อไว้ทำกิจกรรม หรือการประชุมร่วมกันของคนในหมู่บ้าน จากนั้นจะแบ่งสรรปันส่วนให้กับคนในชุมชนที่มีทั้งหมด 65 ครอบครัว ครอบครัวละ 11 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่เพราะปลูก 11 ไร่ และพื้นที่อยู่อาศัย 1 ไร่ โดยในพื้นที่เพาะปลูก เราได้กำชับว่า ต้องปลูกพืชอาหาร อาทิ ข้าว ผัก ผลไม้ ไว้กินด้วย ไม่ใช่ปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ ปาล์มน้ำมัน และยางพาราเพียงอย่างเดียว เพื่อที่จะได้ลดค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหาร โดยตั้งเป้าไว้ที่ 100 ไร่จากพื้นที่ทั้งหมด

“ในการถือครองที่ดินเรามีสัตยาบรรณ ร่วมกันว่า จะไม่นำแปลงที่ดินในการจัดสรรนี้ไปขาย ไว้เฉพาะเพื่อทำมาหากินเลี้ยงชีพเท่านั้น แต่ถ้าใครมีเหตุจำเป็นต้องออกจากพื้นที่ ทางเราก็จะทำการเวนคืนที่ดินให้ โดยใช้เงินจาก กองทุนที่ดินที่ขณะนี้เชื่อมโยงกับธนาคารที่ดินในประเทศ ซึ่งคนที่จะออกจากพื้นที่ จะสามารถนำเงินส่วนนี้ ไปตั้งต้นใช้ชีวิตต่อในพื้นที่อื่นได้ ”

20151511113615.jpg

ส่วนการบริหารจัดการภายใน  เท็นชี้ว่า จะแบ่งการทำงานออกเป็น 9 ฝ่ายงานอาทิ  ฝ่ายเกษตรกรรม ฝ่ายพัฒนาหมู่บ้าน ฝ่ายทะเบียน ฝ่ายสาธารณะสุข  โดยฝ่ายเกษตรกรรม และฝ่ายพัฒนา จะทำงานหนักสุดในพื้นที่ เนื่องจากต้องจัดสรรพื้นที่ให้เป็นไปตามรูปแบบ และเป้าหมายของชุมชนที่ตั้งไว้ อาทิ ในพื้นที่ต้องมี การปลูกพืชอาหาร เลี้ยงปศุสัตว์ ตามสัดส่วนที่กำหนดเป็นต้น 

“การจัดตั้งชุมชนเมื่อปี2555 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มของการต่อสู้นั้น ยอมรับว่า แนวทางการต่อสู้มีความอ่อนแอ และสะแปะสะปะ เรามีการบริหารจัดการแบบผู้นำเดี่ยว ที่ใครพูดเก่ง หรือเสียงดัง ก็เป็นผู้นำไป ตรงนี้ถือเป็นสิ่งที่ไม่ตอบโจทย์ เรื่องที่ดินทำกิน ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เพราะกลุ่มผู้มีอิทธิพล รวมไปถึงพวกนายทุน มีทีมทนาย ฝ่ายกฎหมาย ที่ดูล้ำหน้ากว่าเราเยอะมาก คนพวกนี้จะใช้ข้อกฎหมายมารังแกเรา เพื่อให้เราออกนอกพื้นที่ให้ได้ ด้วยความที่ชาวบ้านไม่รู้กฎหมาย สุดท้ายต้องกลายเป็นนักโทษหนีคดี ทั้งที่ตัวเองยังไม่ได้สู้ ”

จากปัญหาที่เกิดขึ้น เราก็มาปรึกษาคนในชุมชน ประกอบกับมีสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) มาช่วยเสริมเติมแต่งกระบวนการจัดการ ทำให้เราได้ปรับเปลี่ยนวิธีในการบริหารจัดการเสียใหม่โดยใช้วิธี รวมกลุ่มกัน หรือร่วมคิดร่วมกันทำ  เมื่อมีประเด็นไหนที่ต้องการจะปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือพัฒนา เราก็จะมาพูดคุยกันในที่ประชุม โดยประชุมสรุปแลกเปลี่ยนกันเดือนละ  1 ครั้ง นอกจากนี้  ยังมีการประชุมเป็นรายวัน เพื่อสรุปสถานการณ์ประจำวัน โดยเฉพาะ การรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน  ที่รายงานจาก ป้อมรักษาความปลอดภัยทั้ง 4 จุดรอบหมู่บ้าน ว่ามีสิ่งผิดปกติหรือไม่ เพราะเราเคยประสบเหตุการณ์สุดแสนเจ็บปวด ที่พี่น้องของเราถูกกราดยิงเสียชีวิตไป 4 ราย รวมทั้งมีการอธิบายข้อกฎหมายให้กับชาวบ้านในทุกๆ เช้า โดยเฉพาะ การมีสิทธิ์ในที่ดินของสปก.ในฐานะเกษตกรผู้ไม่มีที่ดินทำกิน เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการปลูกฝังเยาชน เราใช้กระบวนการมีส่วนร่วม ร่วมคิด ใช้แรงงาน ทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อให้คนรุ่นใหม่ รุ่นเก่า มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เช่น เรื่อง วัฒนธรรมการมีส่วนร่วม การร้องรำทำเพลงเพื่อสร้างความสามัคคีในชุมชน เป็นต้น  เราใช้การมีส่วนร่วมมาหล่อหลอม เพื่อให้คนในชุมชน รู้คุณค่าของผืนที่ดิน ที่ยึดโยงกับการใช้ชีวิตในปัจจุบัน

ขณะที่ จรรยา เรืองทอง  หรือ พี่ยา ชาวบ้านในพื้นที่ ร่วมสะท้อนให้ฟังว่า  เมื่อเข้ามาในพื้นที่ช่วงแรกที่มีกันประมาณ 200 คน เราถูกคุกคามอย่างหนักจากนายทุน ทั้งการเผาบ้าน การรื้อบ้าน และหนักสุดถึงจนถึงขั้นกราดยิงกันตาย รวม 4 ศพ ช่วงนั้นทำให้ตน และเพื่อนบ้านรู้สึกท้อแท้เป็นอย่างมาก บางส่วนต้องย้ายออกนอกพื้นที่กันเลยทีเดียว เกิดคำถามว่า  ทำไมอิทธิพลของนายทุน จึงยิ่งใหญ่กว่ากฎหมายมาก เราเป็นแค่คนจนๆ คนหนึ่งไม่มีที่ทำกิน อยากหาที่ดินเพื่อเลี้ยงปากและท้องก็เท่านั้น  ต้องถึงกับฆ่ากันเลยหรือ และตรงนี้ก็พิสูจน์ชัดว่า ที่ดินเป็นของสปก.ชัดเจน ไม่ใช่ของนายทุนแต่อย่างใด

20151511113552.jpg

ต้องยอมรับว่าในช่วงนั้นชุมชนของเราอ่อนแอเป็นอย่างมาก กระทั่ง มีสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) มาช่วยเติมเต็ม ทั้งในเรื่อง ของระบบการจัดการในชุมชน ที่ต้องร่วมกันคิด ร่วมกันทำ รวมไปถึง มาช่วยเหลือ ในเรื่องของทนาย และการให้ความรู้เรื่องกฎหมาย ทำให้เรายืนหยัดที่จะต่อสู้ต่อไป ไม่ท้อถอย  รวมไปถึง การบริหารจัดการที่ดิน ในชุมชน จากเดิมไม่มีความรู้ว่า การปลูกพืชอาหาร ถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ที่เมื่อปลูกพืชเศรษฐกิจแล้ว ต้องมีการปลูกพืชอาหาร ควบคู่กันไปด้วย  ตรงนี้ ทำให้เกิดความมั่งคงทางอาหารและทางเศรษฐกิจ ที่ไม่ต้องซื้อเขากินแทบทุกอย่าง ที่สำคัญเมื่อมีเหลือ สามารถส่งขายได้เงินมาเลี้ยงครอบครัวอีกด้วย ตามหลักคิดที่ว่า “เราปลูกทุกอย่างที่อยากกิน เรากินทุกอย่างที่เราปลูก”

ด้าน สุรพล สงฆ์รัก กรรมการบริหารสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) เสริมว่า การต่อสู้ของประชาชนเกี่ยวกับสิทธิที่ทำกินไม่ใช่เรื่องผิด ตรงกันข้าม ภาครัฐเองต้องหนุนเสริมให้คนยากไร้มีสิทธิในที่ทำกิน เพื่อให้เขาได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เลี้ยงครอบครัว ไม่ใช่ไปขับไล่ หรือโอนอ่อนตามระบบทุน ซึ่งชุมชนคลองไทรพัฒนา จึงนับเป็นชุมชนตัวอย่าง ที่สู้ในเรื่องของสิทธิที่ทำกินได้อย่างน่าชื่นชม แม้จะถูก นายทุน ผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ มาข่มขู่คุกคาม จนถึงขั้นเอาชีวิตแล้วก็ตาม  แต่พวกเขาเหล่านี้ก็ไม่ย่อท้อ ยังรวมตัวยืนหยัดต่อสู้ต่อไป มั่นใจว่า เมื่อชุมชนคลองไทรพัฒนา ต่อสู้จนชนะและประสบความสำเร็จ จะเป็นชุมชนตัวอย่าง ขยายต่อยอดแนวทางการต่อสู้ในสิทธิที่ทำกิน ไปยังพื้นที่อื่นทั่วประเทศ ซึ่งส่งผลสำคัญในความยั่งยืน เกี่ยวกับสิทธิที่ทำกินของผู้ยากไร้ในประเทศไทยต่อไป

“ชุมชนคลองไทรพัฒนา” จึงนับเป็นชุมชนตัวอย่าง ที่ยืนหยัดต่อสู้เรื่องสิทธิที่ทำกินได้อย่างห้าวหาญ แม้จะอยู่ท่ามกลางไฟความขัดแย้งระหว่าง กลุ่มทุน ชาวบ้าน และภาครัฐ !!!!!!

20151511113648.jpg20151511113657.jpg

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ