“ศูนย์กำจัดขยะฯ เชียงรากใหญ่” กับ “น้ำประปาของคนกรุงเทพ” ความเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงได้

“ศูนย์กำจัดขยะฯ เชียงรากใหญ่” กับ “น้ำประปาของคนกรุงเทพ” ความเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงได้

อัฏฐพร ฤทธิชาติ
มูลนิธิบูรณะนิเวศ

20161304014045.jpg
ภาพ: กานต์ ทัศนภักดิ์

“น้ำ” คือปัจจัยพื้นฐานและสำคัญยิ่งในการดำรงชีวิต ผู้คนในเขตเมืองล้วนต้องพึ่งพาน้ำจากการประปานครหลวง (กปน.) เป็นหลัก คุณภาพของน้ำประปาและคุณภาพของแหล่งน้ำดิบ จึงส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน

ปัจจุบัน กปน. ผลิตและจ่ายน้ำประปาเฉลี่ยวันละ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร[1] ให้แก่พื้นที่บริการใน 3 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ซึ่งมีประชากรตามทะเบียนราษฎรทั้ง 3 จังหวัดรวมกันประมาณ 8 ล้านคน[2] และหากรวมจำนวนประชากรแฝงด้วยก็จะพบว่ามีผู้ใช้น้ำประปากว่า 12 ล้านคน[3] โดยแหล่งน้ำดิบของ กปน. นั้น มาจาก 2 แห่งที่สำคัญ คือ แหล่งน้ำดิบฝั่งตะวันออกนำซึ่งน้ำดิบมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณวัดสำแล ต.กระแชง อ.เมือง จ.ปทุมธานี และแหล่งน้ำดิบฝั่งตะวันตกซึ่งนำน้ำดิบมาจากแม่น้ำแม่กลอง บริเวณ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ดังแผนภาพ[4]

20161304015330.png

เฉพาะในช่วงปี 2558 ที่ผ่านมา กปน. ก็ต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์และความท้ายทายหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาภาวะน้ำดิบขาดแคลนและภาวะน้ำทะเลหนุนสูง รวมถึงเหตุการณ์ภาวะภัยแล้ง อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางข้อจำกัดดังกล่าว กปน. ก็ยังคงดำเนินกิจการได้อย่างต่อเนื่อง

ทว่า กปน. อาจจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงใหม่ ต่อคุณภาพน้ำดิบที่อาจเปลี่ยนแปลงไป หากมีการก่อสร้าง “ศูนย์กำจัดขยะแบบบูรณาการ” ในพื้นที่ ต.เชียงรากใหญ่ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี บทความนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อนำเสนอให้เห็นภาพที่มาที่ไปของการตั้งศูนย์กำจัดขยะฯ เชียงรากใหญ่ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ใช้น้ำประปากว่า 12 ล้านคน รวมถึงสะท้อนความหละหลวมของนโยบายรัฐในการอนุรักษ์แหล่งน้ำดิบตลอดจนการคุ้มครองคุณภาพน้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นสายน้ำหลักของประเทศ

 

โครงการศูนย์กำจัดขยะแบบบูรณาการในพื้นที่ตำบลเชียงรากใหญ่

ศูนย์กำจัดขยะแบบบูรณาการในพื้นที่ตำบลเชียงรากใหญ่ เป็นโครงการที่เกิดขึ้นตาม (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ.2559 – 2564)[5] โดยมีบริษัทปทุม คลีน เอนเนอร์จี จำกัด (ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทซุปเปอร์เอิร์ท เอนเนอร์ยี จำกัด)[6] เป็นผู้ลงทุน มีพื้นที่โครงการตั้งอยู่ที่ ต.เชียงรากใหญ่ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี และได้มีเวทีประชาพิจารณ์เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2557[7] โดยที่ประชาชนในพื้นที่ไม่ทราบข้อมูลล่วงหน้า ขณะที่ทางบริษัทเองก็ไม่สามารถตอบข้อซักถามได้ในหลายประเด็น

ความไม่โปร่งใสซึ่งเห็นได้จากการขาดกระบวนการมีส่วนร่วม ที่สำคัญคือความไม่เหมาะสมของพื้นที่ตั้งโครงการ คือตั้งอยู่กลางชุมชน โดยห่างจากหมู่บ้านอธิเชษฐธานีซึ่งมีประชากรหนาแน่นเพียง 127 เมตร อีกทั้งยังตั้งอยู่ใน “เขตอนุรักษ์น้ำดิบเพื่อการประปา” และห่างจากสถานีสูบน้ำดิบสำแลเพียง 1.5 กิโลเมตร ทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รวมตัวกันคัดค้านโครงการนี้มาอย่างต่อเนื่องจวบจนปัจจุบัน

แม้ปัจจุบันหน่วยงานส่วนจังหวัดและท้องถิ่นจะยืนยันว่า ทางบริษัทเอกชนผู้ลงทุนจะยังไม่ได้มีการขออนุญาตก่อสร้างโครงการ แต่สิ่งที่ปรากฏในพื้นที่คือ ได้มีการปรับพื้นที่ในลักษณะคล้ายเตรียมการสำหรับการก่อสร้างแล้ว ภายหลังการร้องเรียนของประชาชนในพื้นที่ นายสุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี[8] ได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะฯ ขึ้น ซึ่งผลการตรวจสอบเบื้องต้นของคณะกรรมการฯ พบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต.) ได้ให้คำอธิบายว่า การดำเนินการปรับพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้มีการขออนุญาต เนื่องจากเป็นเพียงการกำจัดวัชพืช ไม่ใช่การขุดหรือถมดิน และไม่ได้ระบุว่าเป็นการสร้างโรงไฟฟ้าขยะ

แต่อย่างไรก็ตาม พบว่ามีรายงานข่าวซึ่งอ้างถึงการสอบถามไปยังผู้แทนบริษัทซุปเปอร์เอิร์ท เอนเนอร์ยี จำกัด ซึ่งระบุว่า “มีความเป็นไปได้ส่วนหนึ่งที่จะทำโครงการพลังงานทดแทน แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการออกระเบียบที่ชัดเจนก่อน” [9]

เดิมทีการตั้งศูนย์กำจัดขยะฯ หรือโรงไฟฟ้าขยะนั้นจะต้องพิจารณากฎหมายผังเมือง และมีการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แต่หลักการดังกล่าวกลับถูกทำลายลงไป เมื่อผังเมืองรวมจังหวัดปทุมธานีถูกประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2558 โดยได้ระบุข้อยกเว้นให้สามารถสร้างโรงงานไฟฟ้าในพื้นที่สีเขียว (ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม) ได้[10] ยิ่งไปกว่านั้น คณะรักษาความสงบแห่ชาติ (คสช.) ยังได้มีคำสั่งที่ 4/2559 เรื่องยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการโรงงานผลิตไฟฟ้า[11] และคำสั่ง คสช. ที่ 9/2559 ยกเว้นการทำ EIA โดยให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐ สามารถเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติการดำเนินการเพื่อให้ได้เอกชนมาดำเนินโครงการไปพลางก่อนได้[12] รวมถึงประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ฉบับที่ 7/2558 ที่ออกมาก่อนหน้า ซึ่งยกเว้นให้โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิง ไม่ต้องจัดทำรายงาน EIA (จากเดิมโรงไฟฟ้าที่มีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้าตั้งแต่ 10 เมกกะวัตต์ขึ้นไป จะต้องทำ EIA)[13]

ปัจจุบัน การก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะฯหรือโรงไฟฟ้าจึงสามารถดำเนินการได้ โดยไม่ต้องพิจารณากฎหมายผังเมือง และไม่ต้องมีมาตรการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม การก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะฯ จึงมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้โดยที่ประชาชนในพื้นที่ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย/ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงอาจไม่ทันตั้งตัว และไม่มีหลักประกันใดๆ ในการป้องกันสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเลย

20161304015346.png

แผนที่แสดงที่ตั้งโครงการซึ่งอยู่ในเขตอนุรักษ์น้ำดิบเพื่อการประปาฯ ห่างจากคลองน้ำอ้อม 1 กิโลเมตร และห่างจากสถานีสูบน้ำดิบสำแล 1.5 กิโลเมตร ซึ่งในพื้นที่ยังประกอบด้วยคูคลองน้อยใหญ่ที่เชื่อมถึงกันได้ อีกทั้งยังอยู่ใกล้แหล่งน้ำดิบประปาของการประปาภูมิภาค จ.ปทุมธานีอีกด้วย

 

ที่ตั้ง “ศูนย์กำจัดขยะฯ เชียงรากใหญ่”: ใครได้ – ใครกระทบ ?

พื้นที่เป้าหมายในการก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะฯ มีขนาดประมาณ 140 ไร่เศษ เดิมเป็นที่ดินของนายบรรหาร ศิลปอาชา ต่อมาได้ขายต่อให้นายเสวก ประเสริฐสุข นายก อบต.เชียงรากใหญ่ ก่อนที่นายเสวกจะขายต่อให้แก่บริษัทซุปเปอร์เอิร์ธ เอนเนอร์ยี (ปทุมธานี) จำกัด

เดิมทีพื้นที่ดังกล่าวไม่มีขยะมูลฝอยตกค้าง แต่เมื่อ “ขยะ” ได้กลายเป็นวาระแห่งชาติ จ.ปทุมธานี จึงได้มียุทธศาสตร์ในการกำจัดขยะมูลฝอยที่ตกค้างอยู่ในพื้นที่กำจัดขยะมูลฝอยของบริษัทรักษ์บ้านเรา จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองท่าโขลง อ.คลองหลวง จำนวน 50,000 ตัน และตกค้างอยู่ในพื้นที่กำจัดขยะมูลฝอยของ อปท. อีกกว่า 100,000 ตัน นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายระยะยาวในการสร้างศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจรขึ้นอย่างน้อย 1 แห่ง โดยได้มีการลงนามในข้อตกลงระหว่างบริษัทเอกชนกับนายกองค์กรบริหารการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จ.ปทุมธานี จำนวน 57 แห่ง เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2557 และมีนายพงศธร สัจจชลพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีในขณะนั้น[14]เป็นประธาน ทั้งนี้ ในข้อตกลงดังกล่าวระบุว่า แต่ละ อปท. จะดำเนินการส่งขยะมูลฝอยในเขตรับผิดชอบเข้าสู่โรงงานกำจัดขยะเป็นระยะเวลา 30 ปี โดยมีค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะ 200 บาท/ตัน[15] ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีในขณะนั้นได้แสดงความเห็นผ่านการให้สัมภาษณ์ว่า สัญญาดังกล่าวทำให้ อปท. ได้รับประโยชน์อย่างมหาศาล อีกทั้งอัตราค่ากำจัดขยะก็ถูกที่สุด พร้อมทั้งให้ข้อมูลว่าปัจจุบันต้นทุนดำเนินการอยู่ที่ 222 บาท/ตัน และหากโครงการนี้สำเร็จจะมีค่ากำจัดขยะเฉลี่ย (รวมค่าน้ำมัน) 243 บาท/ตัน[16] แต่เมื่อสอบถามข้อมูลจาก อปท. แห่งหนึ่งใน จ.ปทุมธานี ซึ่งจัดการขยะโดยนำขยะไปฝังกลบที่บ่อขยะเอกชน อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา กลับพบว่าบ่อขยะเอกชนคิดค่ากำจัดขยะในราคาคันละ 700 บาท (คันละประมาณ 12 – 14 ตัน)[17] ซึ่งจะเท่ากับ 50 – 58.33 บาท/ตันเท่านั้น

สำหรับโครงการก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะฯ เชียงรากใหญ่ พบข้อมูลว่าผู้ที่เข้ามาติดต่อและนำเสนอการก่อสร้าง แก่ อบต.เชียงรากใหญ่ คือนายปัญญาวัฒน์ อุทัยพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทปทุม คลีน เอนเนอร์จี จำกัด ซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทซุปเปอร์เอิร์ธ เอนเนอร์ยี (ปทุมธานี) จำกัด และยังเป็นประธานบริษัทเอ็ม.บี.ที. เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนซัลแทนท์ จำกัด ซึ่งให้บริการด้านการบริหารและจัดการขยะชุมชนแบบบูรณาการ และมีผลงานการใช้เทคโนโลยีการบำบัดของเสียแบบไร้อากาศ (Anaerobic Digestion) ในศูนย์กำจัดขยะแบบบูรณาการ เทศบาลเมืองท่าโขลง จ.ปทุมธานี ที่ดำเนินการโดยบริษัท รักษ์บ้านเรา จำกัด ซึ่งในแผนแม่บทระบุว่าเป็นสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่ดำเนินการไม่ถูกต้อง และมีขยะสะสมจำนวนกว่า 50,000 ตัน ซึ่งปัจจุบันแม้จะดำเนินการจัดการขยะตกค้างเรียบร้อยแล้ว[18] แต่ก็ยังคงมีปัญหาร้องเรียนเรื่องกลิ่นเหม็นอยู่[19]

ความไม่ชัดเจนโปร่งใสในการดำเนินการ ประกอบกับประวัติการดำเนินงานกำจัดขยะที่ผ่านมาของบริษัทเดิม ทำให้ประชาชนในพื้นที่เชียงรากใหญ่ไม่มีความไว้วางใจต่อโครงการศูนย์กำจัดขยะฯ และวิตกว่าจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและวิถีชีวิตของชุมชน อีกทั้งปัญหาที่จะเกิดตามมาจากการขนส่งขยะจำนวน 1,500 ตัน/วัน จากทั่วทั้งจังหวัดปทุมธานีเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งรถบรรทุกขยะทั่วไปจะบรรทุกขยะได้ประมาณ 5-6 ตัน/คัน/เที่ยว ซึ่งนั่นแสดงว่าใน 1 วัน จะมีรถบรรทุกขยะวิ่งเข้ามาประมาณ 300 เที่ยว/วัน เพื่อถ่ายเทขยะ ก่อนจะวิ่งกลับออกไปอีก 300 เที่ยว[20] ขณะพื้นที่โครงการนั้นล้อมรอบด้วยชุมชนจำนวนมาก อาทิ หมู่บ้านอธิเชษฐธานี หมู่บ้านชวนชม หมู่บ้านวราบดินทร์ ชุมชนวัดบัวหลวง ชุมชนบางพูด ชุมชนวัดเสด็จ ชุมชนวัดดาวเรือง เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากมลพิษทางอากาศ ซึ่งนอกจากชุมชนที่ตั้งอยู่รายรอบแล้วยังอาจกระจายออกไปส่งผลกระทบต่อสถาบันการศึกษาขนาดใหญ่ในรัศมี 5 กิโลเมตรรอบศูนย์กำจัดขยะฯ อันได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) และมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป็นต้น

ยิ่งไปกว่านั้น การตั้งอยู่และดำเนินกิจกรรมของศูนย์กำจัดขยะฯในพื้นที่นี้ ยังอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อคลองส่งน้ำประปาฝั่งตะวันออก ซึ่งมีความยาวประมาณ 31 กิโลเมตร และหล่อเลี้ยงผู้คนทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ กว่า 12 ล้านคนอีกด้วย

จากข้อมูลดังที่กล่าวมาจะเห็นว่า แม้โครงการศูนย์กำจัดขยะฯ แห่งนี้ จะเป็นผลดีต่อการจัดการขยะจังหวัดปทุมธานีได้ตามที่กล่าวอ้าง แต่เมื่อต้องแลกกับผลกระทบมากมาย ที่มีความเป็นไปได้ว่าจะตามมาในอนาคตอันใกล้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งประปาน้ำดิบสำหรับอุปโภคบริโภค และสำหรับภาคอุตสาหกรรมอาหาร ที่มีความสำคัญต่อห่วงโซ่เศรษฐกิจของประเทศ ก็ดูจะเป็นทางเลือกที่ไม่คุ้มค่าเลย

 

ความเสี่ยงต่อผู้ใช้น้ำประปา

รายงานข้อมูลสารพิษที่ปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม (Toxic Release Inventory) จากโรงงานกำจัดขยะ ทั้งเตาเผาขยะและโรงไฟฟ้าขยะ 2 แห่งในสหรัฐฯ โดยสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา (US.EPA)[21] ประจำปี 2556 ระบุว่า มีสารมลพิษจำนวนมากที่ปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม โดยเป็นสารเคมีที่เป็นพิษ 71 ชนิด และสารก่อมะเร็ง 85 ชนิด อีกทั้งยังมีสารพิษที่ตกค้างและสะสมในสิ่งมีชีวิตเช่น ไดออกซิน ตะกั่ว และปรอท เป็นต้น[22]

หากศูนย์กำจัดขยะฯ จ.ปทุมธานี ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม อาจได้รับการยอมรับและเป็นที่ยินดีของประชาชนในพื้นที่ แต่เมื่อโครงการนี้มีพื้นที่เป้าหมายอยู่ที่ ต.เชียงรากใหญ่ บนพื้นที่ลุ่มชุ่มน้ำ มีลำคลองสาขาเชื่อมต่อแม่น้ำเจ้าพระยา มีน้ำท่วมซ้ำซาก และตั้งอยู่ห่างจากสถานีสูบน้ำดิบประปาที่มีผู้ใช้น้ำร่วมกันกว่า 12 ล้านคน ในพื้นที่ 3 จังหวัด เพียง 1.5 กิโลเมตร อีกทั้งยังมีลำคลองสาขาอยู่ติดกับศูนย์กำจัดขยะฯ ทำให้มีโอกาสที่มลพิษจะไหลลงสู่คลองสาขาเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้โดยตรง เสียงคัดค้านโครงการนี้จากประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่จึงดังก้องขึ้นอย่างน่ารับฟัง

สถานีสูบน้ำดิบสำแล ถือเป็นสถานีสูบน้ำที่สำคัญอย่างยิ่งของการประปานครหลวง (กปน.) เนื่องจากเป็นจุดเริ่มต้นในการสูบน้ำดิบจากแม่น้ำเจ้าพระยา โดยในแต่ละวันจะมีการสูบน้ำมากถึง 4.5 ล้านลูกบาศก์เมตรเข้าสู่คลองประปาตะวันออก เพื่อส่งน้ำต่อไปยังโรงงานผลิตน้ำประปา 3 แห่ง ได้แก่ โรงงานผลิตน้ำบางเขน โรงงานผลิตน้ำสามเสน และโรงงานผลิตน้ำธนบุรี ก่อนส่งต่อไปยังผู้ใช้น้ำกว่า 12 ล้านคน ดังแผนภาพถัดไป [23]

20161304015422.png

20161304015428.png

จากแผนภาพ แสดงให้เห็นถึงเส้นทางส่งน้ำประปาในปริมาณหลายล้านลูกบาศก์เมตร และกรรมวิธีผลิตน้ำประปาในแบบพื้นฐาน คือตกตะกอนด้วยสารส้ม กรองผ่านชั้นทราย และยับยั้งเชื้อโรคด้วยคลอรีน ซึ่งไม่สามารถกำจัดสารพิษหลายชนิดได้ หากมีสารพิษหรือเชื้อโรคตกค้างผู้ใช้น้ำก็อาจได้รับน้ำประปาปนเปื้อนสารพิษและ/หรือเชื้อโรคได้

ดังนั้น หากมีการตั้งศูนย์กำจัดขยะฯ ในพื้นที่ ต.เชียงรากใหญ่ ซึ่งนัยหนึ่งคือพื้นที่ต้นธารของน้ำประปาก็คงยากจะจินตนาการว่าน้ำจากศูนย์กำจัดขยะฯ ซึ่งย่อมมีน้ำทิ้งที่ประกอบด้วยสารโลหะหนักนั้น จะไม่ปนเปื้อนลงสู่คลองประปาและไหลผ่านไปสู่ก๊อกน้ำในครัวหรือฝักบัวในบ้านของผู้ใช้น้ำกว่า 12 ล้านคน

 

ท่าทีและความเห็นของการประปานครหลวง (กปน.)

การประปานครหลวง (กปน.) เป็นหน่วยงานที่อาจจะได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนที่สุดหากมีการตั้งศูนย์กำจัดขยะฯ เพราะหากคุณภาพของน้ำดิบตกต่ำลง ย่อมส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตน้ำประปาเพิ่มสูงขึ้นรวมทั้งส่งผลต่อความเชื่อมั่นระดับโลก ต่อการผลิตน้ำให้เป็นไปตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO)

กปน. ได้ทราบข่าวโครงการก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะฯ จากสื่อสาธารณะ และจากประชาชนในพื้นที่ที่ไปยื่นหนังสือถึงผู้ว่าการ กปน. เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งรองผู้ว่าการประปา (ผลิตและส่งน้ำ) เป็นผู้รับหนังสือและร่วมประชุมรับฟังประเด็นการคัดค้าน ทั้งในด้านความไม่เหมาะสมของพื้นที่ ความไม่ชัดเจนในคำชี้แจงของ อบต.เชียงรากใหญ่ อันเป็นเหตุให้ทำให้ประชาชนไม่มั่นใจต่อการจัดการสิ่งแวดล้อม

ต่อมา กปน. ได้มีหนังสือสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อแจ้งให้ทราบถึงข้อกังวล และขอรับทราบรายละเอียด ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี และ สผ. ได้มีหนังสือตอบกลับว่า ยังไม่มีผู้มายื่นขอก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ

14 กรกฎาคม 2558 กกพ. ได้เป็นเจ้าภาพในการประชุมร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย กปน. ประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กรอ. กรมโยธาธิการและผังเมือง และสำนักงานกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีสาระโดยสรุปคือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาออกใบอนุญาตก่อสร้างโรงงานจะต้องคำนึงถึงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรื่องการกำหนดพื้นที่เขตอนุรักษ์แหล่งน้ำดิบ และนำไปเป็นข้อพิจารณาด้วย

29 กันยายน 2558 กปน. ได้เข้าชี้แจงข้อมูลต่อคณะอนุกรรมการสิทธิชุมชน ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2558 ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ[24] โดยมีใจความสำคัญว่า

“…บริเวณที่จะก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะตั้งอยู่ในเขตอนุรักษ์แหล่งน้ำดิบเพื่อการประปานครหลวง ห่างจากคลองเชียงรากใหญ่ 1 กิโลเมตร และห่างจากสถานีสูบน้ำดิบสำแล 1.5 กิโลเมตร และในพื้นที่ยังประกอบไปด้วยคูคลองน้อยใหญ่ที่เชื่อมถึงกันได้

ทั้งนี้การก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะหรือโรงไฟฟ้าขยะ หรือโรงงานอื่นใดก็ตาม ต้องมีการขออนุญาตตั้งประกอบกิจการโรงงาน ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 โดยผู้ต้องการสร้างโรงงานต้องไปยื่นแบบฟอร์มขออนุญาตก่อสร้างต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด หากเป็นโรงงานผลิตไฟฟ้าต้องผ่านการพิจารณา จากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานอีกแห่งหนึ่ง โดยที่ผ่านมาเมื่อมีผู้มายื่นขอสร้างโรงงานต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรม หากพิจารณาว่าอยู่ในเขตพื้นที่อนุรักษ์แหล่งน้ำดิบ จะประสานงานมายัง กปน. เพื่อพิจารณาว่ามีข้อขัดข้องหรือคัดค้านการก่อสร้างหรือไม่ ซึ่ง กปน.จะตรวจสอบว่าโรงงานที่ขออนุญาตนั้นมีคุณสมบัติตาม มติ ครม. วันที่ 17 เมษายน 2522 และมติ ครม. วันที่ 12 มกราคม 2531 หรือไม่ และน้ำทิ้งของโรงงานจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำดิบหรือไม่ ประกอบการพิจารณาให้ความเห็นหรือคัดค้าน

อย่างไรก็ตาม ด้วยขนาดพื้นที่อนุรักษ์กว้างถึง 350 ตารางกิโลเมตร โดยมีอาณาบริเวณอยู่ในจังหวัดปทุมธานีและจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กปน.ไม่สามารถตรวจสอบพบได้เองว่า มีการก่อสร้างโรงงาน หากกรมโรงงานอุตสาหกรรมไม่ได้แจ้งให้ทราบ ส่วนกรณีการก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะฯ นั้น กปน. ยังไม่ได้รับเชิญเข้าไปมีส่วนร่วมในการพิจารณาโครงการแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ในกรณีที่มีการตั้งศูนย์กำจัดขยะในพื้นที่เชียงรากใหญ่ กปน. ชี้แจงว่า จะส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำดิบและการผลิตน้ำประปา ดังนี้

– มลพิษที่เกิดขึ้นจากการกำจัดขยะโดยทั่วไป ได้แก่

– มลพิษทางน้ำจากน้ำชะขยะ กรณีมีการเทกองขยะไว้ในที่โล่ง มีฝนตกและมีน้ำท่วมถึง น้ำชะขยะที่เน่าเสียจะไหลลงสู่แหล่งน้ำโดยรอบและปนเปื้อนลงสู่น้ำดิบที่สถานีสูบน้ำดิบและเข้าสู่คลองประปาได้

– แหล่งอาศัยและเพาะพันธุ์ของสัตว์พาหะนำเชื้อโรค เช่น หนู แมลงวัน ยุง แมลงสาบ เป็นต้น

– เชื้อโรคต่างๆ ที่มากับขยะ โดยเฉพาะขยะติดเชื้อที่อาจมาจากสถานพยาบาลขนาดเล็กหรือสถานอภิบาลผู้ป่วย ที่ไม่มีการบริหารจัดการขยะที่ดีพอ รวมถึงผู้ป่วยที่พักรักษาตัวที่บ้าน ย่อมมีขยะติดเชื้อปะปนมากับขยะชุมชน

– มลพิษทางอากาศ จากกลิ่นเหม็น และการกำจัดขยะโดยวิธีการเผาจะมีสารเคมีต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบในขยะและไม่สามารถเผาไหม้ได้สมบูรณ์ เช่น สารไดออกซิน สารฟิวแรน และโลหะหนักชนิดต่างๆ น้ำชะขยะ สารพิษในอากาศ หากไม่ได้รับการบำบัดที่เหมาะสมและถูกต้องตามหลักวิชาการ หรือขาดความเข้มงวดในการดำเนินการ ก็อาจจะทำให้สารพิษเหล่านี้ปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ ส่งผลกระทบทำให้น้ำดิบที่นำไปผลิตน้ำประปามีคุณภาพเสื่อมโทรมลง ทั้งด้านคุณสมบัติทางเคมีและการปนเปื้อนเชื้อก่อโรค น้ำดิบบริเวณนี้อาจไม่เหมาะสมสำหรับการผลิตน้ำประปาได้อีกต่อไป

ทั้งนี้ น้ำดิบที่มีสภาพเสื่อมโทรมและมีสารพิษปนเปื้อนจะส่งผลต่อคุณภาพของน้ำประปาโดยตรง เนื่องจากการผลิตน้ำประปามีวิธีการผลิตแบบพื้นฐาน คือ ตกตะกอนความขุ่นด้วยสารส้ม กรองตะกอนผ่านชั้นทราย และยับยั้งเชื้อโรคด้วยคลอรีน ก่อนสูบจ่ายให้ประชาชน กรณีน้ำดิบมีสภาพด้อยลง จะกระทบต่อการผลิตน้ำทำให้ต้องใช้สารเคมีมากขึ้น แต่หากเสื่อมโทรมมากระบบผลิตน้ำจะไม่สามารถกำจัดสารพิษโลหะหนัก หรือเชื้อก่อโรคทนทานบางชนิด ให้หมดไปได้ ดังนั้นสารพิษและเชื้อโรคอาจตกค้างอยู่ในน้ำประปากลายเป็นแหล่งแพร่กระจายโรคอันตรายสู่ผู้ใช้น้ำประมาจำนวนมากกว่า 12 ล้านคนในพื้นที่รับผิดชอบของการประปานครหลวง คือ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ

นอกจาก ข้อควรคำนึงถึง คือ ผลกระทบต่อห่วงโซ่เศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากผู้ใช้น้ำของ กปน. มีทั้งภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม น้ำประปาที่ผลิตได้ในแต่ละวัน ร้อยละ 70 ส่งเข้าสู่กระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งตลาดต่างประเทศมีความเข้มงวดอย่างมากในการตรวจสอบสารปนเปื้อนในอาหาร รวมทั้งมีเทคโนโลยีการตรวจสอบขั้นสูงหากน้ำประปาที่ใช้มีสารปนเปื้อน ย่อมมีโอกาสที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์มีสารปนเปื้อนไปด้วย และหากตรวจสอบพบว่าสาเหตุมาจากน้ำประปา จะทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ทั้งจากการถูกปฏิเสธสินค้า และถูกเตือนภัยเป็นประเทศที่น้ำประปาไม่มีความปลอดภัย…”

ข้อมูลดังกล่าวมีความสำคัญหลายประการ อาทิ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาออกใบอนุญาตก่อสร้างโรงงานโดยจะต้องคำนึงถึง มติ ครม. วันที่ 17 เมษายน 2522 และมติ ครม. วันที่ 12 มกราคม 2531 ซึ่งไม่อนุญาตให้ตั้งโรงงานที่มีน้ำทิ้งที่ประกอบด้วยสารโลหะหนักในเขตพื้นที่เขตอนุรักษ์แหล่งน้ำดิบ (รายละเอียดเกี่ยวกับมติ ครม. จะกล่าวถึงในลำดับถัดไป) อีกทั้งข้อจำกัดของกรรมวิธีการผลิตน้ำประปาแบบพื้นฐาน และความกังวลถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อห่วงโซ่เศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมอาหารหากใช้น้ำประปาปนเปื้อน

 

การอนุรักษ์แหล่งน้ำดิบเพื่อการประปานครหลวง: “เป้าหมาย” ของ มติ ครม. ที่ถูกละเลยมากว่า 36 ปี

ย้อนไปเมื่อ ปี พ.ศ. 2522 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้แสดงความกังวลถึงคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีแนวโน้มต่ำลงทุกปี ซึ่งหากปล่อยให้อยู่ในสภาพนี้ต่อไปก็จะก่อให้เกิดปัญหาต่อการผลิตน้ำประปา คือ

“… 1) ค่าใช้จ่ายในการผลิตน้ำประปาจะสูงขึ้น ตามสัดส่วนของความสกปรกของน้ำ ปัจจุบันการประปานครหลวงต้องเพิ่มสารเคมีที่ใช้ในการผลิตน้ำ และเพิ่มขบวนการเติมคลอรีนในน้ำดิบในระบบผลิตน้ำประปา

2) ความสามารถของโรงกรองน้ำมีขอบเขตจำกัด หากน้ำสกปรกจนเกินขีดจำกัดแล้ว จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการลงทุนก่อสร้างปรับปรุงโรงกรองน้ำใหม่ หรือหาแหล่งน้ำดิบใหม่มาทดแทน ซึ่งคิดเป็นมูลค่าหลายพันล้าน

3) น้ำเพื่อการประปา อาจมีคุณภาพเสื่อมโทรมลง และหากไม่สามารถควบคุมให้เป็นไปตามมาตรฐาน อาจเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขอนามัยของประชาชน ผู้อุปโภคและบริโภคน้ำ…”

ด้วยเหตุผลดังกล่าวประกอบกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่างๆ มีแนวโน้มจะกระจายขึ้นไปบริเวณเหนือสถานีสูบน้ำสำแล ซึ่งหากมิได้ป้องกันไว้ก่อนก็จะก่อให้เกิดปัญหาต่อคุณภาพน้ำดิบในภายหลัง คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติจึงได้มีการพิจารณาเรื่องมาตรการการอนุรักษ์แหล่งน้ำดิบเพื่อการประปานครหลวง ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันน้ำเสียและสารเป็นพิษจากการอุตสาหกรรม โดยมีมติเห็นชอบให้ประกาศเขตควบคุมการตั้งหรือขยายโรงงานอุตสาหกรรมในเขตอนุรักษ์แหล่งน้ำดิบฯ ขึ้นในเดือนมีนาคม 2522[25]

หลังจากนั้น ในปีเดียวกัน ครม. ได้มีมติเห็นชอบตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเกี่ยวกับการอนุรักษ์แหล่งน้ำดิบเพื่อการประปานครหลวง ในการควบคุมการตั้งหรือขยายโรงงานอุตสาหกรรม[26] โดยมีรายละเอียดคือ

“…1. ไม่อนุญาตให้ตั้งหรือขยายโรงงานอุตสาหกรรมที่มีน้ำทิ้ง ประกอบด้วยสารเป็นพิษประเภทโลหะหนัก ได้แก่ สังกะสี (Zn), โครเมียม (Cr), ทองแดง(Cu), ปรอท (Hg), แมงกานีส (Mn), แคดเมียม (Cd), ตะกั่ว (Pb), นิคเกิล (Ni), แบเรียม(Ba) และเหล็ก(Fe) วัตถุมีพิษที่ใช้ในการเกษตรและสารเคมีอื่นๆ ที่เป็นพิษ เช่น พีซีบี (Polychlorinated biphenyl),ไซยาไนด์ (CN), สารหนู (As), ซิลิเนียม (Se), ฟีนอล (Phenols)เป็นต้น

2. ไม่อนุญาตให้ตั้งหรือขยายโรงงานอุตสาหกรรมที่มีน้ำทิ้งปริมาณเกินกว่าวันละ 50 ลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ ไม่รวมน้ำหล่อเย็น ส่วนอุตสาหกรรม ที่มีปริมาณน้ำทิ้งน้อยกว่าวันละ 50 ลูกบาศก์เมตรให้อยู่ในการพิจารณาอนุญาตของเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่

3. การกำหนดเขตควบคุมและอนุรักษ์

– พื้นที่ในเขตอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ดังต่อไปนี้ ตำบลบางไทร, ตำบลไม้ตรา, ตำบลบ้านม้า, ตำบลโคกช้าง, ตำบลราชคราม, ตำบลช้างใหญ่, ตำบลโพแตง, ตำบลเชียงรากน้อย

– พื้นที่ตำบลในเขตอำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ดังต่อไปนี้ ตำบลท้ายเกาะ,ตำบลบางกระบือ ,ตำบลคลองควาย, ตำบลบางเตย, ตำบลสามโคก, ตำบลบางโพธิ์เหนือ, ตำบลกระแซง, ตำบลเชียงรากน้อย, ตำบลบ้านงิ้ว, ตำบลบ้านปทุม, ตำบลเชียงรากใหญ่

– พื้นที่ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี ดังต่อไปนี้ ตำบลบ้างฉาง, ตำบลบางพูด, ตำบลสวนพริกไทย, ตำบลบ้านกลาง ตามแผนที่แสดงเขตห้ามตั้งหรือขยายโรงงานอุตสาหกรรม…”

นอกจากนี้ ครม. ยังได้มีความเห็นให้ กรอ. สมควรออกประกาศ ตามมาตรา 32(1) แห่ง พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 ห้ามตั้งหรือขยายโรงงานในเขตอนุรักษ์แหล่งน้ำดิบเพื่อการประปาตามมติคณะรัฐมนตรีเพื่อความชัดเจนอีกด้วย แต่ปัจจุบัน ผ่านมากว่า 36 ปี ก็ยังไม่มีประกาศห้ามตั้งหรือขยายโรงงานในเขตอนุรักษ์แหล่งน้ำดิบเพื่อการประปาตามมติคณะรัฐมนตรี แต่อย่างใด

 

หน่วยงานรัฐ กับการพยายามปกป้องคุ้มครองแหล่งน้ำดิบประปาและพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา

แม้กระทรวงอุตสาหกรรมจะไม่ได้ดำเนินการออกประกาศห้ามตั้งหรือขยายโรงงานในเขตอนุรักษ์แหล่งน้ำดิบเพื่อการประปาตามความเห็นและมติ ครม. เมื่อ พ.ศ. 2522 แต่จากการสืบค้นข้อมูลก็พบว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีความพยายามในการร่างประกาศดังกล่าวอยู่หลายครั้ง ดังนี้

พ.ศ. 2556: กรมโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ในระหว่างกำหนดเกณฑ์การตั้งหรือขยายโรงงานอุตสาหกรรมริมแม่น้ำเจ้าพระยาใน 2 แนวทาง คือ 1) ให้ทุกตำบลใน 10 จังหวัด ที่มีพื้นที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาไม่สามารถตั้งโรงงานใหม่หรือขยายเพิ่มเติมได้ 2) ริมแม่น้ำทั้งด้านซ้ายและขวาระยะ 50 เมตร ไม่สามารถตั้งโรงงานใหม่หรือขยายได้ ส่วนระยะตั้งแต่ 50-100 เมตร สามารถตั้งโรงงานใหม่และขยายเพิ่มได้ แต่ “ห้าม” ปล่อยน้ำทิ้งออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ในกรณีที่จะมีการปล่อยน้ำจากโรงงานจะต้องเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด คือก่อนปล่อยต้องมีการบำบัดน้ำก่อน ทั้งนี้เกณฑ์การวัดระยะห่างจากแม่น้ำจะยึดจากตลิ่งแม่น้ำตามเกณฑ์ของกรมเจ้าท่า

จากเกณฑ์ดังกล่าว ผู้ประกอบการในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่ได้รับผลกระทบ ได้ร้องเรียนมายังสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดยนายเจน นำชัยศิริ รองประธาน ส.อ.ท. ได้ให้ความเห็นว่า การกำหนดเกณฑ์ดังกล่าวถือว่าเป็นการแก้ไขที่ไม่ตรงกับปัญหา เพราะปัจจุบันการกำกับดูแลโรงงานอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติโรงงาน 2535 ว่าด้วยโรงงานที่ตั้งหรือขยายริมน้ำอยู่แล้ว และหากมีการทำผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่สามารถลงไปตรวจสอบแก้ไขได้ แต่การใช้แนวทาง “ห้าม” โรงงานทุกประเภทตั้งหรือขยายริมน้ำ ถือว่าส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมมาก

อย่างไรก็ตาม (8 สิงหาคม 2556) กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะเตรียมการเปิดรับฟังความคิดเห็นอีกครั้งจากผู้ประกอบการ เพื่อนำมาปรับแก้ไขในบางประเด็นที่อาจจะทำให้เป็นข้อจำกัดของผู้ประกอบการมากจนเกินไป เกณฑ์ดังกล่าวก่อนที่จะมีการประกาศใช้เป็นกฎกระทรวงต่อไป [27]

พ.ศ. 2558: กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมประกาศ เรื่อง กำหนดทำเลที่ไม่เหมาะสมสำหรับการตั้งหรือขยายโรงงานจำพวกที่ 3 ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อเป็นการป้องกันและอนุรักษ์แม่น้ำเจ้าพระยาอันเป็นแม่น้ำสายหลักของประเทศ ซึ่งเป็นแหล่งรองรับความสกปรกจากแหล่งกำเนิดต่างๆ ได้แก่ ภาคชุมชน ภาคเกษตรกรรม และภาคอุตสาหกรรม ดังนี้[28]

ข้อ 1. ทำเลที่ไม่เหมาะสมสำหรับการตั้งหรือขยายโรงงาน ได้แก่ ท้องที่ที่แม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน รวม 10 จังหวัด คือ จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดชัยนาท จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดอ่างทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสมุทรปราการ และกรุงเทพมหานครภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด ดังนี้

1) ภายในระยะ 100 เมตร จากริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาถึงแนวเขตพื้นที่ประกอบกิจการ โรงงาน เป็นท้องที่ที่ไม่เหมาะสมกับการตั้งหรือขยายโรงงานทุกประเภท ชนิด หรือขนาด เว้นแต่เป็นการขยายโรงงานในพื้นที่เดิมที่การระบายน้ำทิ้งไม่มากกว่าปริมาณน้ำทิ้งที่ได้รับอนุญาตไว้เดิม

2) ตั้งแต่ระยะมากกว่า 100 เมตร ถึง 500 เมตร จากริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาถึง แนวเขตพื้นที่ประกอบกิจการโรงงาน เป็นท้องที่ที่ไม่เหมาะสมกับการตั้งหรือขยายโรงงานทุกประเภท ชนิด หรือ ขนาด เว้นแต่เป็นการตั้งโรงงานที่มีระบบบำบัดน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถบำบัดน้ำเสียที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตและนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด หรือมีระบบเก็บกักที่สามารถเก็บกักน้ำทิ้งทั้งหมดโดยไม่ซึมลงสู่แหล่งน้ำใต้ดิน หรือ เป็นการขยายโรงงานที่ไม่มีการระบายน้ำทิ้งมากกว่าปริมาณน้ำทิ้งที่ได้รับอนุญาตไว้เดิม

3) ทำเลที่ไม่เหมาะสมสำหรับการตั้งหรือขยายโรงงาน ไม่ใช้บังคับกับโรงงานปรับคุณภาพของเสียรวมที่รับเฉพาะน้ำเสียจากชุมชน

ข้อ 2 ประกาศนี้ไม่ใช้บังคับกับพื้นที่จัดสรรเพื่อการอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุญาตก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ เช่น เขตประกอบการอุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน เขตอุตสาหกรรมตามกฎหมาย ว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน พื้นที่จัดสรรเพื่อการอุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดินและนิคมอุตสาหกรรมที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ซึ่งขณะนี้ (มีนาคม 2558) ประกาศกระทรวงดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของกฤษฎีกา คาดว่าจะส่งกลับมากระทรวงอุตสาหกรรมได้ภายใน 1-2 เดือน เพื่อให้นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมลงนามประกาศ[29]

อย่างไรก็ตาม จวบจนปัจจุบัน (มีนาคม 2559) ประเทศไทยก็ยังไม่มีประกาศ “กำหนดทำเลที่ไม่เหมาะสมสำหรับการตั้งหรือขยายโรงงานจำพวกที่ 3 ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อเป็นการป้องกันและอนุรักษ์แม่น้ำเจ้าพระยาอันเป็นแม่น้ำสายหลักของประเทศ” แต่อย่างใด มีเพียงประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ปี 2551 เรื่อง “มาตรการควบคุมปริมาณความสกปรกของน้ำทิ้งจากภาคอุตสาหกรรม เพื่อฟื้นฟูคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา” [30] โดยกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาตั้งหรือขยายโรงงานในเขตท้องที่ที่แม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านรวม 9 จังหวัด ได้แก่ นครสววรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร ดังนี้

“…1. โรงงานที่ขออนุญาตตั้ง หรือขยายโรงงาน ซึ่งมีน้ำเสียจากการประกอบกิจการต้องมีระบบบำบัดน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถบำบัดน้ำเสียที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการจนสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ทั้งหมด หรือมีระบบเก็บกักที่สามารถเก็บกักน้ำทิ้งทั้งหมดโดยไม่รั่วซึมลงสู่แหล่งน้ำใต้ดิน และต้องไม่ระบายออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาทั้งโดยตรง หรือโดยอ้อม เช่น คลองหลัก คลองเชื่อม ฯลฯ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสาธารณะ

2. กรณีการประกอบกิจการผิดเงื่อนไขตามข้อ 1 จะต้องถูกเพิกถอนใบอนุญาต

3. ให้ผู้อนุญาตซึ่งได้รับมอบหมายจากปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นำหลักเกณฑ์ตาม ข้อที่ 1 ไปเป็นแนวทางถือปฏิบัติ โดยให้นำไปกำหนดเป็นเงื่อนไขในใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน…”

สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นทัศนะของกฎหมายไทย และความหละหลวมของมาตรการภาครัฐ จนเป็นช่องโหว่ที่อนุญาตให้มีการตั้งโรงงานลักษณะใดก็ได้ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ขอเพียงมีระบบบำบัดน้ำเสียที่สามารถนำน้ำกลับมาใช้ได้ทั้งหมดหรือไม่ปล่อยน้ำทิ้งออกสู่ธรรมชาติ ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่า ในทางปฏิบัตินั้นระบบการตรวจสอบโรงงานของกรมโรงงานมีความรัดกุมมากน้อยเพียงใด

ทั้งหมดจึงสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองของรัฐที่มุ่งใช้ทรัพยากรธรรมชาติ โดยขาดการอนุรักษ์ และขาดหลักการ “การระวังไว้ก่อน” (Precautionary Principle) แต่มุ่งผลาญทรัพยากรแล้ว “ฟื้นฟูทีหลัง” ซึ่งถือเป็นทัศนะที่จะก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมากในอนาคต

และหากพิจารณาตามความในประกาศปี 2551 เรื่อง มาตรการควบคุมปริมาณความสกปรกของน้ำทิ้งจากภาคอุตสาหกรรมฯ จะพบว่า หากจะมีการสร้างของศูนย์กำจัดขยะฯ เชียงรากใหญ่ขึ้น ก็จะจำเป็นต้องมีระบบเก็บกักที่สามารถกักเก็บน้ำทิ้ง “ทั้งหมด” โดย “ไม่รั่วซึมลงสู่แหล่งน้ำใต้ดิน” และต้อง “ไม่ระบายออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาทั้งโดยตรง หรือโดยอ้อม เช่น คลองหลัก คลองเชื่อม ฯลฯ”

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงสภาพทางภูมิศาสตร์ของ ต.เชียงรากใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ มีลำคลองย่อยกว่า 21 คลอง ไหลหล่อเลี้ยงอยู่ในพื้นที่ และยิ่งเมื่อพิจารณาประสบการณ์การจัดการขยะของประเทศไทยแล้ว ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยว่า ศูนย์กำจัดขยะฯ เชียงรากใหญ่ จะไม่ส่งผลกระทบต่อแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองประปา

 

บทสรุป

คงไม่มีใครปฏิเสธว่า “ขยะ” เป็นปัญหาที่ไม่สำคัญ เท่าๆ กับที่ไม่สามารถปฏิเสธว่า “น้ำที่มีคุณภาพ” นั้นเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งในการดำรงชีวิต การพยายามแก้ปัญหาหนึ่งๆ ด้วยวิธีการที่ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่ใหญ่ของคุณภาพชีวิตประชาชน และต่อประเทศ จึงไม่ควรเป็นทางเลือกของนโยบายรัฐไม่ว่าในยุครัฐบาลใด

ต่อให้เป็น”ระบบปิด” หรือ “เทคโนโลยีสะอาด” ดังที่ผู้สนับสนุน/ผลักดันโครงการได้พยายามยืนยันกระบวนการจัดการขยะก่อนเข้าสู่ระบบเทคโนโลยีก็ยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่น่าวิตก และยิ่งไปกว่านั้นก็คือ กระบวนการที่มองข้ามหรือละเลยการมีส่วนร่วมของชุมชน – ประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเท่ากับมองข้ามสิทธิของผู้คนและชุมชนที่อยู่มาก่อน ผู้คนที่เป็นทั้งเจ้าของพื้นที่และคนกลุ่มแรกที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง

แม้ศูนย์กำจัดขยะฯ เชียงรากใหญ่จะถูกคัดค้านจากประชาชนในพื้นที่กว่าพันคน แต่ข้อเรียกร้องของชาวบ้านในการยุติโครงการดังกล่าวก็ยังไม่บรรลุผล เป็นไปได้ว่า อาจต้องรอให้ว่าเสียงของชาวเชียงรากใหญ่นั้น ดังก้องสะท้อนผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองประปามาให้ถึงผู้ใช้น้ำประปาในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลกว่า 12 ล้านคนก่อน สังคมไทยจึงจะหันมาพิจารณารับฟังและช่วยกันผลักดันให้ยุติโครงการ เพื่อให้มีการศึกษาและทบทวนถึงการจัดการขยะ ทั้งในแง่รูปแบบและพื้นที่ (Site Selection) ของจังหวัดปทุมธานี อีกครั้งหนึ่ง

บทความนี้ จึงขอเรียกร้องให้เราคนเมืองผู้ใช้น้ำประปา เกิดความตระหนักต่อสถานการณ์ที่กำลังคุกคามแหล่งน้ำดิบสำคัญของเราเอง เพราะตราบที่ข้อเรียกร้องของชาวเชียงรากใหญ่ยังไม่บรรลุ ศูนย์กำจัดขยะฯ ที่ตั้งอยู่ใกล้ชิดกับแหล่งน้ำดิบประปาก็ยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ และโอกาสที่ผู้ใช้น้ำกว่า 12 ล้านคนจะได้รับสารพิษและเชื้อโรคที่ปนเปื้อนมากับน้ำประปาก็ยังคงมีอยู่ รวมทั้งเกิดความตระหนักต่อนโยบาย – การตรากฎหมายด้านอุตสาหกรรมที่เดินหน้าเร็วยิ่งกว่าการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมหลายช่วงตัว และโดยไม่มีหลักธรรมาภิบาลใดๆ แม้ในข้อพื้นฐานที่สุด นั่นคือ การเคารพเสียงของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ด้วยการดำเนินโครงการตามหลักการที่ควรจะเป็น ทั้งกระบวนการมีส่วนร่วม และการเปิดเผยข้อมูล

========

หมายเหตุ: บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในงานสัมมนา เรื่อง “ธรรมาภิบาลเพื่อการจัดการขยะอย่างยั่งยืน”: กรณี “ศูนย์กำจัดขยะและโรงไฟฟ้าเชียงรากใหญ่” ในวันอังคารที่ 29 มีนาคม 2559 เวลา 08.30 – 13.00 น. ณ ห้องอเนกประสงค์ 209 อาคาร The Grand ศูนย์ประชุมธรรมศาสตร์รังสิต ร่วมจัดโดย มูลนิธิบูรณะนิเวศ (ภายใต้โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อการบริหารจัดการของเสียที่ยั่งยืน) วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 


[1] (ร่าง) รายงานประจำปีของการประปานครหลวง, 2558, http://www.mwa.co.th/ewtadmin/ewt/mwa_internet/ewt_news.php?nid=73

[2] รายงานสถิติจำนวนประชากรและบ้านประจำปี พ.ศ. 2558, กรมการปกครอง,  http://stat.bora.dopa.go.th/stat/statnew/statTDD/views/showProvinceData.php

[3] สรุปข้อมูลตามประเด็นขอคำชี้แจ้งของคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน ในกรณีที่มีการจัดตั้งศูนย์กำจัดขยะแบบบูรณการในพื้นที่ตำบลเชียงรากใหญ่, การประปานครหลวง, การประชุมคณะอนุกรรมการสิทธิชุมชน, 29 กันยายน 2558.

[4] ความรู้เรื่องกิจการประปา, การประปานครหลวง, http://www.mwa.co.th

[5] กรมควบคุมมลพิษ, (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ.2559 – 2564), กรกฎาคม 2558, https://drive.google.com/open?id=0B2FghEtILT8MZC1fMkZ4RWFxN1U

[6] บริษัทปทุม คลีน เอนเนอร์จี จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2557 ด้วยทุนจดทะเบียนจำนวน 1 ล้าน
บาท เพื่อทำธุรกิจเกี่ยวกับผลิตไฟฟ้าและการจัดระบบจ่ายไฟฟ้า โดยมีนายปัญญวัตน์ อุทัยพัฒน์ เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท ต่อมาในวันที่ 19 มิถุนายน 2558 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทซุปเปอร์ เอิร์ธ เอนเนอร์ยี (ปทุมธานี) จำกัด โดยมีนางสาววิสนา อัศวโสภณ เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท.

[7] หนังสือ บจก.ปทุม คลีน เอนเนอร์จี, ที่ PTC_002/2557, ถึงสมาชิกชุมชน, เรื่อง ขอดำเนินการจัดทำประชาพิจารณ์ครั้งที่ 1, 7 พฤศจิกายน 2557.

[8] นายสุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ดำรงตำแหน่ง 1 ตุลาคม 2558 – ปัจจุบัน

[9] ความคืบหน้าการตรวจสอบการปรับพื้นที่เชียงรากใหญ่,Thai PBS News ข่าว 9.00 น., 20 มกราคม 2559,  http://program.thaipbs.or.th/watch/djC1ts

[10] กฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดปทุมธานี พ.ศ.2558,ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 132 ตอนที่ 50 ก, 10 มิ.ย.2558

[11] คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ, ที่ 4/2559, เรื่องการยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 133 ตอนพิเศษ 15 ง, หน้า 1-4, 20 มกราคม 2559

[12] คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ, ที่ 9/2559, เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 133 ตอนพิเศษ 59 ง, หน้า 46, 8 มกราคม 2559

[13] ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม, เรื่อง กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม  ฉบับที่ 7/2558, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 132 ตอนพิเศษ 212 ง, หน้า 2-4, 9 กันยายน 2558

[14] นายพงศธร สัจจชลพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ดำรงตำแหน่ง 1 ต.ค. 2556 – 30 ต.ค. 2558

[15] บันทึกข้อตกลงโครงการขับเคลื่อนนโยบายบริหารจัดการขยะของรัฐบาลโดยความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กับภาคเอกชน,จังหวัดปทุมธานี, 25 ธันวาคม 2557

[16] บันทึกข้อความสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดปทุมธานี (กลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนาท้องถิ่น) ที่ ปท.0023.3/, เรื่อง ขอบันทึกตกลง MOU การกำจัดขยะมูลฝอยร่วมกับจังหวัดปทุมธานี ระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กับบริษัท ปทุมธานี คลีน เอนเนอร์จี จำกัด, ถึง ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี, 16 กุมภาพันธ์ 2557.

[17] สัมภาษณ์เทศบาลเมืองแห่งหนึ่งในจังหวัดปทุมธานีที่นำขยะไปกำจัดที่บ่อขยะเอกชน อ.บางไทร, 23 มีนาคม 2559

[18] (ร่าง) แผนแม่บทในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย จังหวัดปทุมธานี ตามนโยบายของ คสช./รัฐบาล, 2558

[19] อนุพงษ์ (อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.กระทรวงมหาดไทย) ตรวจโรงแยกขยะท่าโขลงหลังส่งกลิ่นเหม็น, กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, 23 มกราคม 25558, http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/630403

[20] หนังสือกลุ่มประชาชนเชียงรากใหญ่, ไม่ระบุเลขที่, เรื่อง คัดค้านโครงการก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะแบบบูรณาการองค์การบริหารส่วนตำบลเชียงรากใหญ่, ไม่ระบุผู้รับ, 10 มิถุนายน 2558

[21] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก RTKNet.org และ The Center for Effective Government, http://www.rtknet.org/db/tri/industry

[22] นิชา รักพานิชมณี, หลักการพื้นฐานและสาระสำคัญ ร่าง พรบ. การรายงานการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม พ.ศ. …., มูลนิธิบูรณะนิเวศ, การสัมมนาเพื่อส่งเสริมสิทธิการเข้าถึงข้อมูลมลพิษ เรื่อง “มลพิษอุตสาหกรรม  กฎหมาย และสิทธิการเข้าถึงข้อมูลของชุมชน”, 30 มีนาคม 2558

[23] การประปานครหลวง, “ความรู้เรื่องกิจการประปา”, http://www.mwa.co.th

[24] สรุปข้อมูลตามประเด็นขอคำชี้แจ้งของคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน ในกรณีที่มีการจัดตั้งศูนย์กำจัดขยะแบบบูรณการในพื้นที่ตำบลเชียงรากใหญ่, การประปานครหลวง, การประชุมคณะอนุกรรมการสิทธิชุมชน, 29 กันยายน 2558

[25] บันทึกข้อความ สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ, ที่ สร.1605/807, เสนอ ท่านรองนายกรัฐมนตรี (นายสมภพ โหตระกิตต์), เรื่อง มาตรการการอนุรักษ์แหล่งน้ำดิบ เพื่อการประปานครหลวง, 26 มีนาคม 2522

[26] หนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, ที่ สร.0202/7206, ถึง เลขาธิการนายกรัฐมนตรี, เรื่อง มาตรการการอนุรักษ์แหล่งน้ำดิบ เพื่อการประปานครหลวง, 20 เมษายน 2522

[27] ส.อ.ท.ค้านกฎใหม่กรมโรงงานอุตฯ กระทบ20,000รง.ห้ามตั้ง/ขยายริมแม่น้ำเจ้าพระยา,ประชาชาติธุรกิจออนไลน์, 20 กรกฏาคม 2556,http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1374297446

[28] ประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม, ร่าง 4, เรื่อง กำหนดทำเลที่ไม่เหมาะสมสำหรับการตั้งหรือขยายโรงงานจำพวกที่ 3 ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา, php.diw.go.th/rubfung/upload1/announce4.docx,

[29] จ่อคลอดประกาศกระทรวงห้ามตั้งโรงงานริมเจ้าพระยา, หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,036 วันที่ 19 – 21 มีนาคม พ.ศ. 2558 , http://www.asa.or.th/th/node/131252

[30] ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง มาตรการควบคุมปริมาณความสกปรกของน้ำทิ้งจากภาคอุตสาหกรรม เพื่อฟื้นฟูคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา พ.ศ.2551, นายจักรมณฑ์ ผาสุกวณิช ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, 25 มิถุนายน 2551

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ