“คนนอก ออกไป!” กับความรู้สึกจากใจนักศึกษาดาวดิน

“คนนอก ออกไป!” กับความรู้สึกจากใจนักศึกษาดาวดิน

เรื่อง: ประจักษ์ พิทักษ์ชน
ภาพ: Roengrit Kongmuang

วันแล้ววันเล่ากับการเฝ้าติดตามสถานการณ์ที่บ้านนามูล-ดูนสาด จ.ขอนแก่น กระทั่งเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2558 ขณะที่ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูล-ดูนสาด กำลังชี้แจงข้อมูลต่อ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึงลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อนและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชุมชน หากมีการขุดเจาะปิโตรเลียม มีชาวบ้านหมู่บ้านเดียวกันนำโดยอดีตกำนัน และชาวบ้านอีกประมาณ 30 คน เดินชูป้ายข้อความว่า 

“พวกนักศึกษาเกเรกลับไปเรียนหนังสือให้มันจบซะ สงสารพ่อแม่ด้วย”

“คนนอกอย่ามายุยงให้ชุมชนเราเกิดความแตกแยก กลับไปเรียนหนังสือให้มันจบ สงสารพ่อแม่ด้วย” 

นักศึกษากลุ่มดังกล่าวก็คือ พวกเรา กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน) และเพื่อนๆ นักศึกษาจากคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ ภาควิชาพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยขอนแก่น และคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 

ตลอดเวลาที่ผ่านมา 11 ปี พวกเราดาวดินได้ลงพื้นที่เรียนรู้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ และได้ร่วมต่อสู้ เคลื่อนไหว เคียงข้างพี่น้องประชาชนในภาคอีสาน ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง พวกเราไม่อาจทนเห็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกันถูกเอารัดเอาเปรียบได้ พวกเราคิดว่าแม้คนที่ได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนจะเป็นชาวบ้าน ไม่ใช่พวกเรา แต่วันนี้เมื่อภาครัฐและกลุ่มนายทุน กดขี่ข่มแหง เอารัดเอาเปรียบชาวบ้านได้ สิ่งเหล่านี้ก็อาจเกิดขึ้นกับพวกเราในอนาคตข้างหน้าได้เช่นกัน 

ดังนั้น ด้านหนึ่งพวกเราต่อสู้เพื่อชาวบ้าน ที่ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม ขณะที่อีกด้านหนึ่งพวกเราต่อสู้เพื่อตัวเราเองด้วย เพราะหากวันนี้พวกเราเพิกเฉย ไม่สนใจ พวกเราคงสูญเสียหลักการของพวกเราเองคือ หลักสิทธิมนุษยชน และถูกกล่าวหาจากชาวบ้านว่า  “ถ้าไม่เจอกับตัวเองคงไม่รู้สึก” พวกเราจึงไม่ได้ต่อสู้ในฐานะนักศึกษาแต่ต่อสู้ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง 

ในพื้นที่ที่พวกเราลงไปรวมถึงในพื้นที่บ้านนามูล-ดูนสาดนี้ พวกเราได้หนุนเสริมการต่อสู้เคลื่อนไหวคัดค้านการขุดเจาะปิโตรเลียมของภาครัฐและกลุ่มนายทุน ที่อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตคนในชุมชน ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงในพื้นที่ปัญหาอื่นๆ เช่น เหมืองแร่ โรงงานอุตสาหกรรม เขื่อนชลประทาน และข้อพิพาทเกี่ยวกับปัญหาที่ดินที่รัฐพยายามขับไล่ชาวบ้านออกจากที่อยู่อาศัยและทำกินในขณะนี้ 

ในพื้นที่ต่างๆ ภาครัฐเองไม่ได้มีวิธีการแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ หรือแม้แต่การรับฟังข้อเสนอแนะจากชาวบ้านอย่างแท้จริงก็ไม่มี เช่น กรณีที่ชาวบ้านได้รับสารไซด์ยาไนด์ในร่างกายจากการทำเหมืองทองคำ ที่จังหวัดเลยและจังหวัดพิจิตร ชาวบ้านยื่นข้อเสนอให้ปิดเหมืองเพื่อฟื้นฟูแหล่งน้ำ ป่าไม้ ภูเขา และชีวิตของประชาชน แต่ภาครัฐก็เพิกเฉย ไม่สนใจราวกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น

สิ่งที่พวกเรานักศึกษาจะสามารถทำได้ คือ การเรียนรู้ประเด็นปัญหาจากชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง และนำเสนอปัญหาต่างๆ เหล่านั้น เผยแพร่สู่สาธารณะเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้น ซึ่งมักไม่ค่อยปรากฏตามสื่อกระแสหลักทั่วไป 

บางครั้งพวกเราซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษากฎหมาย ก็ได้แนะนำสิทธิต่างๆ ที่กฎหมายรับรองและคุ้มครองให้แก่ชาวบ้าน เช่น มาตรา 66 และ 67 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550, พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม, พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2535 และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนการอธิบายขั้นตอนกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA) หรือ การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เพียงเท่าที่ความรู้ ความสามารถอันเล็กน้อยของพวกเราจะช่วยได้ 

พวกเราไม่ได้รู้สึกว่าเข้าไปยุยง ปลุกปั่น ชาวบ้านให้เกิดการแข็งข้อต่ออำนาจรัฐแต่อย่างใด พวกเราเห็นว่ามันคือหน้าที่ที่ต้องทดแทนเงินภาษีของประชาชน ที่ทำให้พวกเราได้มีโอกาสมากกว่าเข้ามาค้นคว้าหาความรู้ แต่ความรู้เป็นสิ่งสากล ซึ่งไม่มีใครเป็นเจ้าของ ความรู้จึงไม่ควรผูกขาดอยู่ที่สถานศึกษาเพียงอย่างเดียว 

กิจกรรมหรือการเคลื่อนไหวที่พวกเราเคยมาทำมักจะถูกตั้งข้อสงสัยว่ามีผู้อยู่เบื้องหลังในการเคลื่อนไหว ไม่จะเป็นการขอเข้าร่วมเวทีประชาพิจารณ์ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ที่บ้านนาโป่ง เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2556 เวลานั้นบริษัทปล่อยข่าวลือว่าพวกเราได้รับเงินคนละ 10,000 บาท หรือ การแสดงสัญลักษณ์สามนิ้วต่อหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งปฏิบัติราชการลงพื้นที่ภาคอีสานประเด็นปัญหาภัยแล้ง เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2557 พวกเราได้ก็ถูกกล่าวหาอีกว่า ถูกจ้างวานด้วยเงินมูลค่า 50,000 บาท โดยมีกลุ่มการเมืองหนุนหลังให้มาสร้างสถานการณ์ 

ข่าวการจ้างวานทำให้พวกเรารู้สึกงงงวยที่โดนข้อกล่าวหาแบบนี้ ทั้งที่สิ่งที่พวกเราทำลงไปมาจากใจพวกเรา การลงพื้นที่ของพวกเราส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีการสนับสนุนด้านการเงินเสียเท่าไหร่ ต้องอาศัยน้ำใจของผู้คนคือ การอาศัยรถผู้คนที่ผ่านเส้นทาง ซึ่งระหว่างการเดินพวกเราได้เรียนรู้ผู้คนหรือพี่น้องร่วมเดินทางด้วย เช่น “น้ำใจคนในสังคมถึงจะมีน้อย แต่ก็มี” ทำให้การเดินทางสนุกและไม่น่าเบื่อ ส่วนการกินอยู่หลับนอนพวกเราก็อาศัยอยู่กับชาวบ้านในพื้นที่ และตอบแทนด้วยการช่วยเหลือและทำประโยชน์ให้ได้มากที่สุด เพื่อทดแทนการดูแลของชาวบ้านที่พวกเราเรียกว่า “พ่อๆ แม่ๆ” 

หากพวกเราทำกิจกรรมหรือเคลื่อนไหวด้วยเงินค่าจ้างจริงอย่างที่ถูกกล่าวหา พวกเราคงไม่ต้องค้างค่าเช่าบ้านทุกเดือนๆ แต่พวกเราคิดว่า การที่ลงมือทำอะไรสักอย่างด้วยใจจริงนั้นบริสุทธิ์และยั่งยืน กว่าทรัพย์เงินทองหรืออำนาจลาภยศซึ่งล้วนแต่เป็นมายา ไม่นานมันก็เลือนหายไป

20152302194534.jpg    

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ