‘เสภาร้อยศพ’ โรงเรียนคณะราษฎร์บำรุง การเรียนรู้ควบคู่การอนุรักษ์

‘เสภาร้อยศพ’ โรงเรียนคณะราษฎร์บำรุง การเรียนรู้ควบคู่การอนุรักษ์

20152309165226.jpg

รายงานโดย: ณรงค์ วงค์ไชย 
สาขาวิชาการสื่อสารสื่อใหม่
มหาวิทยาลัยพะเยา

การขับเสภาคือ การเล่านิทานชนิดหนึ่ง โดยใช้ทำนองและท่วงท่าวิธีให้เกิดความน่าฟัง ดึงดูความสนใจ ซึ่งสืบทอดมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ แต่ปัจจุบันนี้มักจะเห็นได้น้อย เพราะเมื่อสังคมมีการเปลี่ยนแปลง สิ่งเหล่านี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปกับวิถีตามยุคตามสมัยเช่นกัน การขับเสภาจึงหาชมได้ยาก 

‘เสภาร้อยศพ’ คือชื่อที่ถูกนำมาใช้เรียกโครงการเพื่อส่งเสริมการสืบสานวัฒนธรรมการขับเสภาของโรงเรียนคณะราษฎร์บำรุง จ.ปทุมธานี จากการที่กลุ่มเด็กนักเรียนได้มีโอกาสไปขับเสภาในงานฌาปณกิจศพและงานบรรพชาอุปสมบทต่างๆ ให้กับชุมชนมาแล้วมากกว่าหนึ่งร้อยงาน

20152309165244.jpg

ไพฑูรย์ จารุสาร ผู้อำนวยการโรงเรียนคณะราษฎร์บำรุง กล่าวว่า โครงการเสภา 100 ศพ ฟังชื่อแล้วอาจจะดูน่ากลัวแต่ถ้าดูวัตถุประสงค์ แนวทางในการดำเนินงานจะพบว่าเป็นเรื่องที่สวยงามมาก เริ่มจากการเรียนการสอนในวิชาภาษาไทยที่มีการแต่งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนต่างๆ เราพบว่าเสภาเป็นความงดงามของท่วงทำนองภาษา เราจึงคิดที่จะอนุรักษ์เพื่อความซาบซึ้งในด้านภาษา  ตรงนี้เด็กนักเรียนเขาก็จะได้รับในส่วนนี้ด้วย

ผู้อำนวยการโรงเรียนคณะราษฎร์บำรุง เล่าให้ฟังว่า การขับเสภานี้ทำมาแล้วทั้งหมด 3 รุ่น ซึ่งรุ่นนี้เป็นรุ่นที่ 4 ที่ผ่านมาประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ทำให้เด็กๆ ได้ฝึกในเรื่องของการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และการที่ได้เข้าไปช่วยเหลือคนในชุมชนแต่ละพื้นที่ 

“เราก็คิดว่าต่อไปเราจะพัฒนาสิ่งนี้ให้เป็นอัตลักษณ์ของลูกคณะราษฎร์ ก็คือเมื่อมาอยู่ลูกคณะราษฎร์แล้ว นักเรียนโรงเรียนเรา อย่างน้อยที่สุดควรจะขับเสภาได้ ส่วนความเพราะ ไม่เพราะ ขึ้นอยู่กับของแต่ละบุคคล เพราะมันสามารถหัดในท่วงทำนองได้” ไพฑูรย์กล่าว

โรงเรียนคณะราษฎร์บำรุง ถือว่าเป็นต้นแบบในเรื่องการอนุรักษ์การขับเสภาภายในโรงเรียน โดยการนำของคณะครู ผู้บริหารโรงเรียน รวมไปจนถึงผู้ปกครองที่ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้สร้างพื้นที่ให้เด็กๆ ได้แสดงศักยภาพที่มีอย่างเต็มความสามารถ

20152309165257.jpg

ธีรศักดิ์ บัวสาย ครูภาษาไทยโรงเรียนคณะราษฎร์บำรุง ผู้ฝึกสอน เล่าถึงการเรียนเสภาของเด็กๆ ว่า ทีมขับเสภาส่วนมากเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 ตอนนี้มีอยู่ประมาณ 6-7 คน แต่ที่พิเศษไปมากกว่านั้นคือการที่เราได้ฝึกเด็กพิเศษให้สามารถขับเสภาได้อย่างไพเราะ จากเดิมที่เคยไม่ถนัดเลย การฝึกขับเสภาช่วยเรื่องสมาธิและการจดจำ ตอนนี้ถือว่าประสบความสำเร็จมาก

ธีรศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนมากงานที่ส่งนักเรียนไป ก็จะเป็นงานในวันเสาร์-อาทิตย์ ถ้าเป็นวันธรรมดาอาจไม่ได้ไป เพราะเด็กๆ ติดเรียน แต่ละงานส่วนใหญ่จะเป็น ปากต่อปาก ไปงานที่หนึ่ง คนมาร่วมงาน สนใจเด็กกลุ่มนี้ เขาทำอะไรกัน และเราก็รู้สึกว่าเราอนุรักษ์ด้วย เราได้อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม เราได้ส่งเสริมเด็กให้ทำกิจกรรม เราได้ให้เด็กสร้างจิตอาสาด้วย

20152309165316.jpg

“หนูคิดว่า การขับเสภาเป็นวัฒนธรรมที่เดี๋ยวนี้ก็หายากแล้ว ตอนเด็กๆ หนูก็ชอบดูละครจักษ์ๆ วงศ์ๆ ใช่ไหมคะ แล้วมันก็จะมีพวกบทขับเสภา หนูก็คิดว่าเขาทำได้อย่างไร ดูมีเสน่ห์ มีความน่าหลงใหลอยู่ในนั้น แล้วพอเข้าโรงเรียนมัธยมมาก็มีรุ่นพี่ที่แบบว่าเป็นเกี่ยวกับด้านนี้ เราก็เลยสนใจ อยากทำได้แบบพี่เขาบ้าง” สายธาร ตะพาบน้ำ นักเรียนโรงเรียนคณะราษฎร์บำรุง กล่าว 

สายธาร เล่าด้วยว่า หากเธอฝึกขับเสภาและสามารถทำได้จะมีประโยชน์ต่อตัวเธอเอง และในอนาคตต่อไป หากไปสมัครเรียนต่อตรงนี้ก็จะเป็นความสามารถพิเศษที่มีติดตัว

“เรียกว่าเป็นประโยชน์ทั้งเรา และเป็นจิตอาสาได้ด้วย จะได้ช่วยเหลือคนอื่น ในงานต่างๆ” สายธารกล่าวทิ้งท้าย

20152309165341.jpg

เรื่องที่เกี่ยวข้อง: นักข่าวพลเมือง : คนรุ่นใหม่อนุรักษ์การขับเสภา 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ