‘เศรษฐพงค์’ รับรางวัล ‘Executive of the Year 2016

‘เศรษฐพงค์’ รับรางวัล ‘Executive of the Year 2016

‘เศรษฐพงค์’ รับรางวัล ‘Executive of the Year 2016’ ด้านสื่อสารโทรคมนาคม พร้อมกล่าวสนับสนุน Thailand 4.0 เพื่อดันไทยสู่ผู้นำด้านดิจิทัลใน ASEAN
 
วันนี้ (7 กรกฎาคม 2559) พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม และรองประธาน กสทช.ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษหลังจากรับรางวัล “นักบริหารดีเด่นแห่งปี” ประจำปี 2559 Executive of the Year 2016 สาขานวัตกรรมด้านการสื่อสารและโทรคมนาคม ซึ่งคณะกรรมการรางวัลไทยจัดขึ้น โดย ฯพณฯ พลอากาศเอกชลิต พุกผาสุก องคมนตรี เป็นประธาน ในพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ ณ ห้องชัยพฤกษ์ หอประชุมกองทัพอากาศ ถนนพหลธิน เขตสายไหม กรุงเทพฯ โดยรางวัลดังกล่าวพิจารณาคัดเลือกจากบุคคลที่ประสบผลสำเร็จในการบริหารงาน สามารถนำพาองค์กรขับเคลื่อนและประสบความสำเร็จได้อย่างเป็นที่ประจักษ์ สร้างประโยชน์สูงสุดได้ตามนโยบาย พร้องทั้งมีการตอบแทนคุณแผ่นดินในรูปแบบต่างๆ สมควรเป็นแบบอย่างที่ดีต่อสังคม และต่อสาธารณชน
 
 
โดยการให้สัมภาษณ์พิเศษในครั้งนี้ พันเอก ดร. เศรษฐพงค์ฯ ได้ให้ความสำคัญในประเด็นยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 โดยกล่าวว่า
ในทศวรรษหน้า มีการคาดการณ์จากสำนักวิจัยต่างๆว่าจะเกิดยุคอุตสาหกรรม 4.0 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขึ้นอย่างโดดเด่น โดยได้รับการสนับสนุนจากธุรกิจและผู้นำประเทศที่มองการณ์ไกล ผลของการปฏิวัติภาคการผลิตของอาเซียนจะเพิ่มความสามารถในการผลิตและความสามารถในการแข่งขันของภูมิภาคให้มีมากขึ้น ในขณะที่ลดอัตราการว่างงานลงและจะสร้างงานที่มีค่าจ้างสูงขึ้น ดังนั้น การวางยุทธศาสตร์ด้านการให้บริการทางดิจิทัล (Digital service) จึงมีความสำคัญยิ่งในเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศไทย เพื่อฉกฉวยโอกาสใหม่นี้ให้ประเทศไทยมีความแข็งแกร่งในด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนต่อไป
 
 
การใช้ศักยภาพทางดิจิทัล (digitization) จะช่วยขับเคลื่อนห่วงโซ่คุณค่าเศรษฐกิจของประเทศไทย ให้มีต้นทุนด้านแรงงานต่ำลงและมีประสิทธิภาพในการผลิตที่สูงขึ้น เซนเซอร์และอุปกรณ์เทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมกำลังถูกนำมาเชื่อมเข้ากับอุปกรณ์และเครื่องจักรผ่านการสื่อสาร Internet of Things (IoT) ในขณะที่ความสามารถของคอมพิวเตอร์ที่ก้าวหน้าขึ้นจะช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาล (Big Data) ที่เกี่ยวข้องกับการผลิต โลจิสติกส์ และการขาย โดยในอนาคต โรงงานต่างๆจะมีความยืดหยุ่นมากกว่าในปัจจุบันในเชิงของการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีความเฉพาะสำหรับบุคคลและมีประสิทธิภาพสูงมากยิ่งขึ้น การผลิตจะทำได้เร็วขึ้น ประหยัดต้นทุนและมีคุณภาพสูงขึ้น เข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมที่เราเรียกว่า ยุคอุตสาหกรรม 4.0 
 
 
ปัจจุบัน เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยสร้างรายได้มหาศาล โดยปัจจัยที่สำคัญสามประการที่กำลังขับเคลื่อนการยกระดับจีดีพี ของประเทศ คือ 1) การเข้าถึงโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงที่เพิ่มขึ้น (ทั้ง mobile และ fixed line) 2) ความสามารถในการผลิตของบุคลากรที่เพิ่มขึ้น และ 3) อุตสาหกรรมดิจิทัลแบบใหม่ เช่น อี-คอมเมิร์ซ (e-commerce) และบริการทางการเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่
 
 
เศรษฐกิจดิจิทัลไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่ต้องถูกหล่อหลอมและขับเคลื่อนในระบบนิเวศที่เหมาะสม ทุกองค์กรที่มีความคิดก้าวหน้าจะใช้แนวทางดำเนินงานที่มีโครงสร้างและสามารถปฏิบัติได้จริงเพื่อรองรับและสนับสนุนการเกิดนวัตกรรม ประเทศไทยจึงต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่นวัตกรรมสามารถเจริญงอกงามได้ สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องมีวัฒนธรรม ความเป็นผู้นำ การพัฒนาแรงงานอย่างเหมาะสม รวมทั้งแหล่งเงินทุนที่เพียงพอ โดยขณะนี้ประเทศไทยกำลังพยายามพัฒนาระบบนิเวศดิจิทัล start-up (start-up ecosystems) โดยมีการนำเสนอโปรแกรมต่างๆที่หลากหลายเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจ start-up ในประเทศสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและผู้เชี่ยวชาญเพื่อเปลี่ยนแนวคิดทางธุรกิจของพวกเขาให้กลายเป็นจริง
 
สำหรับประเทศต่างๆใน ASEAN ผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลกำลังเปลี่ยนรูปแบบอุตสาหกรรมทุกอุตสาหกรรม สร้างความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีรวมทั้งขับเคลื่อนความเจริญก้าวหน้าไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ASEAN มีโอกาสในการก้าวกระโดดไปสู่การเป็นผู้นำเศรษฐกิจดิจิทัลของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วด้วยปัจจัยพื้นฐานหลายประการที่มีพร้อมอยู่แล้วในขณะนี้คือ
 
• เศรษฐกิจที่แข็งแกร่งซึ่งมีจีดีพีมูลค่า 2.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ด้วยการเติบโตร้อยละ 6 ต่อปี
• มีประชากรที่สามารถอ่านออกเขียนได้จำนวนมากกว่า 600 ล้านคน ซึ่งร้อยละ 40 มีอายุต่ำกว่า 30 ปี
• มีอัตราการเข้าถึงสมาร์ทโฟนประมาณร้อยละ 35 และกำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
• มีกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) ที่พัฒนาขึ้นเป็นอย่างมากพร้อมทั้งมีสถิติติดตามการเกิดนวัตกรรมและการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ
• สนับสนุนให้มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน แรงงานฝีมือ และการไหลเวียนของเงินทุนได้อย่างเสรี
 
มีการคาดการณ์จากผลการวิจัยหลายสำนักว่า ภายในปี พ.ศ. 2568 การปฏิวัติดิจิทัลอาจเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชนใน ASEAN ทำให้การใช้เงินสดกลายเป็นเรื่องที่ล้าสมัยและเมืองมีความเป็นอัจฉริยะมากขึ้น มีความปลอดภัยในการใช้ชีวิตมากขึ้น อาเซียนจึงมีโอกาสในการนำร่องการพัฒนาบริการดิจิทัลรูปแบบใหม่ด้วยมีประชากรวัยรุ่นจำนวนมากที่ใช้สมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการด้านการเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่และ e-commerce ซึ่งมีความก้าวหน้าทันสมัย 
 
 
ทศวรรษนับจากนี้ ภาคการผลิตของอาเซียนมีแนวโน้มที่จะนำเทคโนโลยี “ยุคอุตสาหกรรม 4.0” ที่ช่วยให้เครื่องจักรทำงานอย่างสอดคล้องกลมกลืนเป็นสายการผลิตเดียวกันกับผลิตภัณฑ์ที่กำลังผลิตมาใช้งาน ซึ่งจะเสริมสร้างประสิทธิภาพในการทำงานมากยิ่งขึ้น มีความยืดหยุ่นเพิ่มขึ้น และช่วยให้มีการปรับแต่งในการใช้งานให้มีความเฉพาะตามต้องการมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถเข้าถึงบริการต่างๆของรัฐซึ่งเป็นระบบดิจิทัลได้ทั่วทั้งภูมิภาค ASEAN จนทำให้รูปแบบปฏิสัมพันธ์ที่ประชาชนมีกับภาครัฐทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่นเกิดการเปลี่ยนแปลงไปอีกด้วย ภายในปี พ.ศ. 2568 ประชากร ASEAN โดยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มดิจิทัลโดยกำเนิด (Digital Natives) พร้อมไปด้วยการใช้เครื่องมือที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ทั้งด้านชีวิตส่วนบุคคลและหน้าที่การงานดีมากยิ่งขึ้น
อุปสรรคสำคัญทั่วไปหลายประการที่กีดขวางระหว่างประเทศต่างๆในอาเซียน (รวมทั้งประเทศไทย) และเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลที่ทันสมัย ซึ่งอุปสรรคต่างๆดังต่อไปนี้จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเพื่อนำไปสู่การปฏิวัติดิจิทัลเต็มรูปแบบ:
• กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการเกิดนวัตกรรมบริการทางการเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่และ e-commerce
• ความตระหนักและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในระดับที่ต่ำซึ่งเป็นอุปสรรคต่อความเข้าใจในบริการดิจิทัล
• การขาดตลาดร่วมดิจิทัล (single digital market)
• อุปทานของ local content มีจำกัด โดยมีสาเหตุหลักมาจากการมีระบบนิเวศดิจิทัลในประเทศที่ไม่แข็งแกร่ง
 
โดยสรุป Thailand 4.0 จะต้องไม่เป็นเพียงแค่การประดิษฐ์ Keyword ที่สวยหรู แต่ประเทศไทยจำเป็นต้องยกเครื่องกฎหมายและกฎระเบียบทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับมือกับธุรกิจและอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยประเทศไทยต้องเสริมสร้างแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้มีความแข็งแกร่ง ทบทวนกฎหมายและกฎข้อบังคับสำหรับภาคส่วนที่สำคัญ (เช่น การให้บริการทางด้านการเงิน) และกระตุ้นระบบนิเวศดิจิทัลในประเทศให้มีความแข็งแกร่งขึ้น และดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนในการขยายการเข้าถึงโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงอย่างรวดเร็วให้ทันต่อความต้องการและการเปลี่ยนแปลงของทุกอุตสาหกรรม และหากประเทศไทยมีความแข็งแกร่งด้านการให้บริการดิจิทัลแล้ว ก็จะทำให้ประเทศสามารถเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจ ASEAN พร้อมกับการเป็นผู้นำการให้บริการดิจิทัลในภูมิภาคนี้และของโลกอย่างยั่งยืน
 
 
 
 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ