ที่มา: สมัชชาเครือข่ายปฏิรูปการศึกษา
ข้อมูลการจัดการศึกษา ข้อมูลปัญหาการศึกษาของชาติและของเชียงใหม่ ตามผลการวิจัย และการประเมินจากหน่วยงานภายในและต่างประเทศ พบว่า ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานจังหวัดเชียงใหม่ ปีการศึกษา 2556 โรงเรียนในจังหวัดเชียงใหม่มีจำนวนถึง 1,727 แห่ง มีครูมากกว่าสองหมื่นคน มีนักเรียนก่อนประถม ประถม และมัธยม รวมอาชีวะ จำนวน 346,148 คน
อำเภอที่มีนักเรียนมากที่สุด คือ อำเภอเมือง รองลงมาคืออำเภอฝาง และอำเภอเชียงดาว อำเภอที่มีนักเรียนน้อย คือ อำเภอกัลยาณิวัฒนา แม่ออน ดอยหล่อ นอกจากนี้จังหวัดเชียงใหม่ยังมีความหลากหลายของประชากร ทั้งพี่น้องชนเผ่า ม้ง ลาหู่ กะเหรี่ยง ลีซู ฯลฯ อยู่ในฐานะที่ด้อยโอกาสและยากจน
ทั้งนี้ นักเรียน 346,148 คน เรียนอยู่ในพื้นที่อำเภอเมือง 103,903 คน คิดเป็นร้อยละ 30 เรียนอยู่ใน 24 อำเภอ เฉลี่ยอำเภอละ 10,093 คน คิดเป็นร้อยละ 2.91 ของแต่ละอำเภอ โดยนักเรียนเหล่านี้กำลังเผชิญกับความเหลื่อมล้ำและโอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของนักเรียน/นักศึกษา
จากการสำรวจหมู่บ้าน เมื่อปี 2556 พบว่า หมู่บ้าน จำนวน 1,844 หมู่บ้านในเขตชนบท (เขต อบต. และเขตเทศบาล ที่ยกฐานะมาจาก อบต.) มีหมู่บ้านที่มีปัญหาการศึกษา จำนวน 892 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 48.37 เป็นปัญหาอันดับ 1 ใน 33 ตัวชี้วัด
ขณะเดียวกัน ความเป็นเอกลักษณ์ ตัวตนของเด็กเชียงใหม่ก็กำลังถูกท้าทายจากกระแสความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามาในจังหวัดเชียงใหม่ นักเรียนเชียงใหม่มีคุณลักษณะที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ขาดอัตลักษณ์/ตัวตนของความเป็นเชียงใหม่ เด็กเชียงใหม่ไม่ทราบประวัติ ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมที่ดีงามของชาวเชียงใหม่ ที่ส่งผลทำให้การศึกษาของเชียงใหม่อ่อนแอ ทั้งๆ ที่จังหวัดเชียงใหม่นั้นเป็นจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน 718 ปี มีฐานทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และหลากหลาย มีศาสนา ภาษา วัฒนธรรม ความเชื่อ และองค์ความรู้ภูมิปัญญาของท้องถิ่นตนเอง
สถานการณ์การศึกษาที่เกิดขึ้นและส่งผลต่อกระบวนการสร้างพลเมืองคนเชียงใหม่เช่นนั้น ส่งผลทำให้หลายภาคส่วนในจังหวัดเชียงใหม่มีความห่วงใยและได้ลุกขึ้นมาเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาการศึกษาของชาวเชียงใหม่อย่างจริงจัง โดยชาวเชียงใหม่ จนนำไปสู่การขับเคลื่อนรวมตัวกันขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่และภาคีขับเคลื่อนเชียงใหม่จัดการตนเอง จัดเวทีเสวนาปัญหาการศึกษา ทางออกจังหวัดเชียงใหม่ จนนำไปสู่การมีข้อเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาการศึกษาเชียงใหม่ขึ้น เพื่อพัฒนาการศึกษาเชียงใหม่อย่างมีคุณภาพมีอัตลักษณ์แบบบูรณาการ และเกิดเป็นเวทีขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีการระดมความคิดเห็นร่วมกันจากหลายภาคส่วนในจังหวัดเชียงใหม่หลายต่อหลายเวที
จนเกิดมติร่วมกันให้มีการจัดตั้งคณะทำงาน จัดทำร่างแนวทางปฎิรูปการศึกษาเชียงใหม่ และองค์กรในการขับเคลื่อนภายใต้ชื่อว่า “ภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฎิรูปการศึกษา” โดยสำนักการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม องค์กรบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เป็นสำนักงานเลขานุการฯ
ภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา มีพันธะกิจในการทำงาน คือ เชื่อมโยงทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาให้เด็กเยาวชนและผู้เรียนตั้งแต่พ่อแม่ผู้ปกครอง ชุมชน ท้องถิ่น สถานศึกษาของรัฐ สถานศึกษาเอกชน สถานศึกษาสังกัด อปท. สถาบันศาสนา องค์กรวิชาชีพ สถานประกอบการ องค์กรชุมชน และองค์กรเอกชน
ผลักดันให้การศึกษาเป็นวาระของจังหวัดเชียงใหม่ มีการจัดทำนโยบายและแผนพัฒนาการศึกษาของเชียงใหม่ที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม และจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ ที่เกิดขึ้นมาจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนแผนการศึกษาของเชียงใหม่อย่างเป็นองค์รวม เชื่อมโยงการศึกษาทุกระดับและทุกรูปแบบ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสนับสนุนให้เกิดความเข้มแข็งในการจัดการศึกษาแก่ทุกกลุ่ม องค์กร
“การศึกษาของชาวเชียงใหม่ ต้องเป็นการศึกษาที่ตอบสนองต่อความหลากหลายของผู้คน และเป็นการศึกษาที่สร้างให้เกิดจิตสำนึกความเป็นคนเชียงใหม่ ที่ต้องร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดการจัดการศึกษาแบบล้านนาสไตล์ หรือ เชียงใหม่ศึกษา เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้บนอัตลักษณ์เชียงใหม่เพื่อชาวเชียงใหม่ทุกคน”
วันนี้ “เชียงใหม่ศึกษา” การศึกษาเพื่อคนเชียงใหม่ ได้เริ่มก่อรูปก่อร่างแล้ว โดยนำเอาต้นทุนคน ชุมชน องค์ความรู้ ภูมิปัญญาต่างๆ มาปรับ ประยุกต์ และออกแบบให้สอดคล้องกับสังคม กับโลก
…เชียงใหม่ศึกษา จึงมีความแตกต่างหลากหลายกันไปตามบริบท เงื่อนไข และสภาพแวดล้อม บนธงหรือเป้าประสงค์ร่วมกันของชาวเชียงใหม่ทุกภาคส่วน ที่อยากเห็นพลเมืองคนเชียงใหม่มีความสุขกับการเรียนรู้ เติบโตอย่างมีทักษะชีวิต มีองค์ความรู้ และที่สำคัญ คือ มีความภาคภูมิใจในรากเหง้า ตัวตน อัตลักษณ์ของตนเอง
จังหวัดเชียงใหม่ กำลังลุกขึ้นมาจัดการตนเองรอบด้าน …และสัญญาณเช่นนี้ ได้ส่งต่อไปยังคนจังหวัดอื่นๆ พื้นที่อื่นๆ …พลังของการมีส่วนร่วมมีอยู่ในตัวเราทุกคน
ปลุกพลังนั้นขึ้นมา เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงร่วมกัน
อ่านประกาศจังหวัดเชียงใหม่ เรื่อง การแต่งตั้งคณะปฏิรูปการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ (ภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา)