‘เครือข่ายการศึกษาทางเลือก’ เสนอทำ ‘ธรรมนูญภาคประชาชน’ ขับเคลื่อนการศึกษา-สังคมไทย หลังประชามติ

‘เครือข่ายการศึกษาทางเลือก’ เสนอทำ ‘ธรรมนูญภาคประชาชน’ ขับเคลื่อนการศึกษา-สังคมไทย หลังประชามติ

20160908030005.jpg

8 ส.ค. 2559 สมัชชาเครือข่ายปฏิรูปการศึกษา เผยแพร่แถลงการณ์ เครือข่ายการศึกษาทางเลือก เรื่องแนวทางการขับเคลื่อนการศึกษาและสังคมไทยตามเจตนารมณ์ของประชาชน ตามผลประชามติวันที่ 7 ส.ค. 2559 เสนอให้ภาคประขาชนเดินหน้าร่วมกันในการจัดทำธรรมนูญภาคประชาชน ที่ภาคประชาชนทุกสาขาอาชีพทุกเครือข่ายได้เข้ามาร่วมกันแลกเปลี่ยน กำหนดออกแบบ และดำเนินการรวม ทั้งเป็นกลไกติดตามเฝ้าระวังการขับเคลื่อนประเทศตามรัฐธรรมนูญ ปีพ.ศ.2559 ร่วมกันอย่างเข้มแข็ง

“เครือข่ายการศึกษาทางเลือกจะเข้าร่วมติดตามการทำงานกับหน่วยงานและกลไกที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง” แถลงการณ์ระบุ

 

แถลงการณ์เครือข่ายการศึกษาทางเลือก

เรื่องแนวทางการขับเคลื่อนการศึกษาและสังคมไทยตามเจตนารมณ์ของประชาชนตามผลประชามติวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559

สืบเนื่องจากผลการออกเสียงประชามติของประชาชนที่มีผลคะแนนร้อยละ 61.4 รับร่างรัฐธรรมนูญและร้อยละ 58.11 รับคำถามพ่วง ที่ให้สมาชิกวุฒิสภาร่วมลงคะแนนรับรองนายกรัฐมนตรี ปรากฏการณ์ทางสังคมเช่นนี้ เครือข่ายการศึกษาทางเลือกเคารพต่อเจตนารมณ์ดังกล่าวของประชาชน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีหลายประเด็นทั้งที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและหรือประเด็นอื่นๆ ด้วยนั้น ที่เครือข่ายฯ มีข้อห่วงใย นับตั้งแต่เรื่องขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนในกระบวนการร่าง มีเนื้อหาสาระรายประเด็นรายมาตราที่ไม่นำพาสังคมไทยไปสู่กระบวนการแก้ไขปัญหา เช่น การรวมศูนย์การจัดการศึกษาทุกด้าน ทุกระบบ และทุกระดับไว้ที่อำนาจรัฐเป็นหลัก ทั้งๆ ที่สิทธิและหน้าที่การจัดการศึกษานอกจากรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนแล้ว ควรเป็นสิทธิและหน้าที่ของปวงชนชาวไทยทุกคนหรือสถาบันทางสังคมทุกระดับด้วย อีกทั้งยังลดทอน-ลิดรอน สิทธิเสรีภาพทางการศึกษา สิทธิเสรีภาพของความเป็นพลเมือง อันรวมถึงขาดซึ่งการเคารพหลักการสากลด้านสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วยนั้น

ด้วยเหตุเช่นนี้ เครือข่ายการศึกษาทางเลือกจึงขอเสนอแนวทางการขับเคลื่อนการศึกษาและสังคมไทยโดยขอให้ภาคประขาชนเดินหน้าร่วมกันในการจัดทำธรรมนูญภาคประชาชนที่ภาคประชาชนทุกสาขาอาชีพทุกเครือข่ายได้เข้ามาร่วมกันแลกเปลี่ยน กำหนดออกแบบ และดำเนินการรวมทั้งเป็นกลไกติดตามเฝ้าระวังการขับเคลื่อนประเทศตามรัฐธรรมนูญ ปีพ.ศ.2559 ร่วมกันอย่างเข้มแข็ง

ทั้งนี้ ในการดำเนินการใด ๆ ตามรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2559 เครือข่ายการศึกษาทางเลือก ขอยืนยันหลักการทำงานโดยรัฐ ว่า

1) รัฐควรพึงตระหนักด้วยว่า การจัดการศึกษาต้องเป็นสิทธิและหน้าที่ของปวงชนชาวไทยทุกคน ที่รัฐต้องดำเนินการส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการศึกษาด้วยกลไกใหม่ และสนับสนุนให้ประชาชนและสถาบันทางสังคมทุกระดับจัดการศึกษาได้ 

2) ประชาชนโดยเฉพาะเด็กและผู้เยาว์ควรได้รับสิทธิในการไม่เลือกปฏิบัติโดยนโยบายและโครงการของรัฐ ไม่ว่าด้วยเงื่อนไขใดๆ 

3) ขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างการบริหารจัดการศึกษาจากกระบวนการมีส่วนร่วมกับสมัชชาภาคีเครือข่ายผู้จัดการศึกษาให้ครอบคลุมรูปแบบการศึกษาที่หลากหลาย เพื่อสร้างกลไกการมีส่วนร่วมตามระบอบประชาธิปไตยไปสู่การปฏิรูปการศึกษาจากทุกภาคส่วนเพื่อประโยชน์ต่อผู้เรียนที่มีศักยภาพที่หลากหลาย เป็นสำคัญ

โดยภายใต้หลักการดังกล่าวนี้ เครือข่ายการศึกษาทางเลือกจะเข้าร่วมติดตามการทำงานกับหน่วยงานและกลไกที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง

ด้วยความเชื่อมั่นในสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค
และการมีส่วนร่วมโดยภราดรภาพ

#เครือข่ายการศึกษาทางเลือก
#สมัชชาเครือข่ายปฏิรูปการศึกษา
#การศึกษาเป็นสิทธิของเด็กทุกคน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ