14 มี.ค. 2559 เพจเฟซบุ๊ก ขบวนการอีสานใหม่ Neo E-Saan Movement เผยแพร่แถลงการณ์ กรณีการประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช. ในหลายฉบับที่ผ่านมา อาทิ คำสั่งที่ 3/2559 คำสังที่ 4/2559 และล่าสุดคือคำสั่งที่ 9/2559 ซึ่งส่งผลกระทบในการลิดรอนสิทธิของประชาชนในหลายพื้นที่ในภาคอีสาน รวมทั้งพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ
“เราขบวนการอีสานใหม่ขอประณามการประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช. ทั้งหลายนี้ ที่ทำลายซึ่งสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชน แทนที่จะพิทักษ์และรักษาไว้ ปิดบังการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน แทนที่จะส่งเสริม ลิดรอนเสรีภาพการแสดงออกของประชาชนซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชน ตลอดจนการไม่ให้สิทธิและอำนาจกับชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชนและการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งสากลให้การยอมรับ” แถลงการณ์ระบุ
ทั้งนี้รายละเอียดของแถลงการณ์มีดังนี้
แถลงการณ์อีสานใหม่ การปกครองโดยอาศัยอำนาจเผด็จการจากมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2557 (ฉบับชั่วคราว) ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติออกคำสั่งใดๆ อันเป็นการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ตลอดจนความมั่นคงทางเศรษฐกิจ กลับพบว่าในการใช้อำนาจดังกล่าวของหัวหน้า คสช. ออกคำสั่งโดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อน ผลกระทบ ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกปล้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จากการจับมือร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชนผู้ลงทุนในโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ซ้ำร้ายจังหวัดที่มีอาณาเขตติดชายแดนที่มีความสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติกลับถูกประกาศให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ นำพามาซึ่งการลิดรอนสิทธิในที่ดินทำกินของประชาชนที่ถูกรัฐยึดคืนไปเป็นการแสวงประโยชน์ที่ไม่มีใครสามารถตรวจสอบได้ ปัญหาด้านการแย่งชิงทรัพยากรทรัพยากรธรรมชาติในประเทศที่มีมายาวนาน รัฐบาลที่ผ่านมายังไม่สามารถแก้ไขให้บรรลุเป้าหมายและข้อเรียกร้องของประชาชนได้อย่างเต็มความสามารถ เปลี่ยนผ่านมาถึงยุคการยึดอำนาจด้วยปลายกระบอกปืนกลับออกนโยบายลิดรอนสิทธิมนุษยชน ไม่เห็นคุณค่าสิทธิชุมชน ตัดการมีส่วนร่วมด้วยการปิดปากประชาชนด้วยประกาศและคำสั่งต่างๆ จนถึงยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายบางฉบับเพื่อเอื้อต่อผู้ลงทุนประกอบการโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งคิดเพียงว่าประเทศชาติจะได้มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ดังเช่นคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง และกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ทั้งในระยะที่ 1 ประกอบด้วยจังหวัดตาก มุกดาหาร สระแก้ว สงขลา และตราด และระยะที่ 2 ประกอบด้วยจังหวัดหนองคาย นราธิวาส เชียงราย นครพนม และกาญจนบุรี โดยเร่งดำเนินการให้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ก่อนผลบังคับใช้จะสิ้นสุดลงภายในหนึ่งปี ตลอดจนคำสั่ง ที่ 4/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท ตามนโยบายการเร่งจัดหาพลังงานโดยการสำรวจปิโตรเลียมและก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าขนาดต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของการใช้พลังงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ความจำเป็นเร่งด่วนของคณะปกครองโดยเผด็จการ เพื่อประโยชน์ต่อการเอื้อผู้ลงทุนอย่างถึงที่สุด ได้มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2559 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในมาตรา 47 วรรคสี่ อันมีผลให้คณะรัฐมนตรีสามารถพิจารณาอนุมัติให้มีการดำเนินโครงการใดๆ ก็ตามได้ก่อนเสร็จสิ้นกระบวนการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีโครงการเป็นจำนวน 70 โครงการ มีทั้งโครงการในกรอบการแก้ไขกฎหมายและนอกเหนือกรอบกฎหมาย และแน่นอนว่าจะมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจำนวนมาก ตามประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่กล่าวมา แสดงให้เห็นถึงแนวคิดในการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช.ในการปกครองรูปแบบเผด็จการทหาร ที่ไม่เคารพต่อสิทธิ เสรีภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชนอีกครั้ง ซ้ำร้าย ยังเป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ของกฎหมาย ที่มุ่งคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของประชาชน ในกระบวนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยอ้างกรณีจำเป็นเร่งด่วน เพื่อลดขั้นตอน และกรอบระยะเวลา ในการประเมินผลกระทบดังกล่าว ซึ่งเป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุน ในการได้รับการอนุมัติโครงการก่อนขั้นตอนการจัดทำและพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะแล้วเสร็จ ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ดำเนินโครงการ การข่มคู่คุกคามจากผู้ได้รับผลประโยชน์มากยิ่งขึ้น ตลอดจนการประเมินผลกระทบที่ไม่ดำเนินไปตามขั้นตอน และอยู่บนมาตรฐานที่โปร่งใสแท้จริง “เรา” ขบวนการอีสานใหม่ขอประณามการประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช. ทั้งหลายนี้ ที่ทำลายซึ่งสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชน แทนที่จะพิทักษ์และรักษาไว้ ปิดบังการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน แทนที่จะส่งเสริม ลิดรอนเสรีภาพการแสดงออกของประชาชนซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชน ตลอดจนการไม่ให้สิทธิและอำนาจกับชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชนและการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งสากลให้การยอมรับ เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ |