มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ร่วมกับ โรงเรียนโพนงามศึกษา ปกป้องเด็กนักเรียนตกเป็นเยาวชน “กลุ่ม NEET” ด้วยกลไกกระบวนการ “วิศวกรสังคม” จัดค่ายห้องเรียนยุวชนสัมมาชีพเห็ดมูลค่าสูง เพื่อเพิ่มรายได้แก่ครัวเรือน “แก้จนข้ามรุ่น” ตอบโจทย์ SDG1 “ยุติความยากจนทุกรูปแบบ” ในวันที่ 22-23 ก.ค.2566 โดยมี ผศ.ชาคริต ชาญชิตปรีชา รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เป็นประธานเปิดโครงการ
การพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs)
สหประชาชาติ (UN) จัดให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา “เป็นมหากาพย์ยาวนานคู่กับปัญหาความยากจนในประเทศไทย ตั้งแต่ก่อนผมเกิดจนปัจจุบันอายุถึง 30 ปี” UN มีความพยายามที่จะปรับเกณฑ์ตัวชี้วัดการก้าวไปสู่ประเทศพัฒนาแล้ว ปัจจุบันส่วนหนึ่งใช้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG : Sustainable Development Goals) หรือ วลีติดหูจากนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 70 ประเทศไทยได้ลงนามรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ซึ่งเป็นกรอบการพัฒนาของโลกเพื่อร่วมกันบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) 17 เป้าหมาย เป็นแนวทางการพัฒนาที่ตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่ลิดรอนความสามารถในการตอบสนองความต้องการของคนรุ่นหลัง โดยการบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน มีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ ได้แก่
- การเติบโตทางเศรษฐกิจ (economic growth)
- ความครอบคลุมทางสังคม (social inclusion)
- การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (environmental protection)
โดยให้ความสำคัญและตระหนักถึงสิทธิในการดำรงชีวิตที่เกี่ยวข้องกับ ทรัพยากร ความหลากหลายทางชีวภาพ ดิน น้ำ พลังงาน และการดำรงชีวิตในชุมชนเมือง ซึ่งมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ของประเทศไทย เป็นแนวปฏิบัติให้ทุกหน่วยงานจัดทำโครงการให้สอดคล้องกับเป้าหมายการ พัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs)
เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2566 Times Higher Education (THE) ประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่มีการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) หรือ THE Impact Rankings ประจำปี 2023 ผลการจัดอันดับ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 1001+ โดยมีจำนวนมหาวิทยาลัย 1,591 แห่ง ใน 112 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วม
อาจารย์สายฝน ปุนหาวงค์ อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ และผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวางแผนบริหารโครงการและงบประมาณ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ผู้รับผิดชอบการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 1 ยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกพื้นที่ (End poverty in all its forms everywhere) เปิดเผยว่า ในปี 2566 ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานต่อเนื่อง ภายใต้โครงการ “ยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกพื้นที่ (SDG1) สนับสนุนห้องเรียนยุวชนสัมมาชีพเพื่อเพิ่มรายได้แก่ครัวเรือนและใช้กระบวนการวิศวกรสังคม” ณ โรงเรียนโพนงามศึกษา ตำบลโพนงาม อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร
มีเป้าหมายส่งเสริมทักษะการเรียนรู้สู่การปฏิบัติอาชีพเพาะเห็ด ให้กับนักเรียนยากจนที่ได้รับทุนการศึกษาจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กศส.) บูรณาการข้อมูลจากโครงการวิจัย การแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำจังหวัดสกลนคร ระยะที่ 3 และระบบฐานข้อมูลครัวเรือนยากจนระดับพื้นที่ (PPP CONNEXT) มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ
- เพื่อวางแผนยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่โดยปลูกฝังแนวคิดสัมมาชีพให้แก่เยาวชนในชุมชนท้องถิ่น
- เพื่อบูรณาการและสร้างเครือข่ายในการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างวิศวกรสังคมกับชุมชนท้องถิ่น
“การสร้างและพัฒนาทักษะอาชีพนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องสร้างกับวัยแรงงานเท่านั้น เด็กและเยาวชนก็สามารถประกอบอาชีพที่เหมาะสมตามวัยได้ การเพาะเห็ดสามารถสร้างรายได้หรือลดรายจ่ายให้กับครัวเรือนได้ตามบริบทของชุมชน”
อาจารย์สายฝน ปุนหาวงค์
อ.สายฝน กล่าวต่อว่า การดำเนินงานครั้งนี้ได้นำ “วิศวกรสังคม” (Social Engineer) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร มาเป็นกลไกในการขับเคลื่อนงาน โดยมีกระบวนการที่มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะ Soft Skill ซึ่งเป็นการจัดการเรียนรู้ข้ามศาสตร์แบบลงมือปฏิบัติจริง โดยใช้การพัฒนาชุมชนท้องถิ่นเป็นฐาน (Social Lab Based) เพื่อให้นักศึกษาจากหลากหลายสาขาร่วมดำเนินกิจกรรมแก้โจทย์ปัญหาเชิงพื้นที่ (Area Based)
โดยมุ่งเป้าที่การสร้างนักศึกษาให้กลายเป็นบัณฑิตนักสื่อสาร นักประสาน และนักสร้างนวัตกรรมชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ในฐานะที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใส่ใจความทุกข์ยากของชุมชน ท้องถิ่น และมีส่วนสำคัญในการสร้างสังคมให้ดีขึ้น โดยใช้ Soft Skill ซึ่งเป็นคุณลักษณะของวิศวกรสังคม
คุณณรงค์ฤทธิ์ ขวาวงษา ประธานวิสาหกิจชุมชนปลูกเห็ดไร้สารบ้านเสาวัด เป็นวิทยากรพร้อมทั้งอนุเคราะห์อุปกรณ์เทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตเห็ดนางฟ้าในครั้งนี้ นักเรียนจะได้เพิ่มทักษะอาชีพ ประกอบด้วย ทักษะการทำสูตรอาหารเห็ด ทักษะการบรรจุก้อนเห็ดในถุงพลาสติก ทักษะการนึ่งฆ่าเชื้อก้อนเห็ด ทักษะการหยอดเชื้อเห็ดนางฟ้า ทักษะการเปิดดอกและดูแลโรงเรือน ตลอดจนทักษะการทำบัญชี การเพาะเห็ดจะสามารถเก็บผลผลิตได้ 4 – 8 เดือนต่อรอบการผลิต ใช้ระยะเวลาสั้นในการเก็บผลผลิตจำหน่ายได้ จะเห็นได้ว่านอกจากการเพาะเห็ดจะเป็นความมั่นคงทางอาหารแล้ว ยังสามารถทำเป็นอาชีพหลัก หรืออาชีพเสริมเพิ่มรายได้แก่ครัวเรือนได้ดี
หัวใจของ “การเพาะเห็ด” คือกระบวนการเปลี่ยนจาก “ราเสียเป็นราดี” คนหลงผิดหากได้รับโอกาสที่ดีก็สามารถ “เปลี่ยนชีวิตใหม่ในทิศทางที่ดี” ได้เช่นกัน
คุณณรงค์ฤทธิ์ ขวาวงษา
หนุนเสริมการแก้จนข้ามรุ่น
ผลการดำเนินงานโครงการ SDG1 ยุติความยากจนในทุกรูปแบบทุกพื้นที่ โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครในครั้งนี้ โรงเรียนโพนงามศึกษามีก้อนเห็ดนางฟ้าเปิดดอกทั้งหมด 4,500 ก้อน คาดการณ์จะลดรายจ่ายหรือมีรายได้จากการขายเห็ดดอกสด มีมูลค่าประมาณ 72,000 บาท นักเรียนมีทักษะในการผลิตเห็ดนางฟ้าจำนวน 50 คน สามารถขับเคลื่อนงานสานต่อห้องเรียนยุวชนสัมมาชีพ
นายธนกร แก้วบัวสา ผู้อำนวยการโรงเรียนโพนงามศึกษา เปิดเผยว่า ในปี 2565 มีเด็กนักเรียนกำลังศึกษา ม.ต้น (ภาคบังคับ) และ ม.ปลาย ไม่เข้าเรียนหรือขาดเรียน จำนวน 57 คน เสี่ยงออกกลางคันมีโอกาสไม่สำเร็จการศึกษา บางคนเหลือหน่วยกิตบางรายวิชาก็จะจบแล้ว แต่ไม่เรียนต่อ ทางโรงเรียนจึงให้โอกาสเข้าร่วมโครงการ “โรงเรียนทางเลือก” โดย จะได้รับมอบหมายงานจากอาจารย์ประจำวิชามาทำอยู่ที่บ้านส่งตามกำหนด แต่มีเงื่อนไขว่าในรายวิชานั้นจะได้ระดับผลการเรียนไม่เกิน 2 เพื่อเป็นการดูแลและให้โอกาสนักเรียนได้พัฒนาตนเอง ปัจจุบันมีกลุ่มนักเรียนโรงเรียนทางเลือกจบการศึกษาไปแล้ว จำนวน 12 คน กิจกรรมห้องเรียนอาชีพยุวชนสัมมาชีพสามารถหนุนเสริมทักษะ และสร้างทางเลือกอาชีพให้นักเรียนได้เป็นอย่างดี
จะเห็นได้ว่าทางโรงเรียนโพนงามศึกษามีกลไกในการปกป้องนักเรียนไม่ให้ก้าวข้ามไปสู่เยาวชนกลุ่ม NEET
กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ยูนิเซฟ ประเทศไทย รายงานการวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับเยาวชนที่ไม่ได้อยู่ในการทำงาน การศึกษาหรือการฝึกอบรม ในประเทศไทย พบว่า สถานการณ์ปัญหา NEET มีความหลากหลาย ประกอบด้วยนักเรียนที่ต้องออกจากระบบการศึกษาก่อนกำหนด เยาวชนว่างงานซึ่งกำลังหางานทำและเยาวชนที่ไม่มีส่วนร่วมหรือเยาวชนที่รู้สึกท้อแท้ รวมถึงผู้ที่อยู่นอกตลาดแรงงานด้วยเหตุผลอื่น ๆ
ปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดมีหลากหลายเช่นกัน ได้แก่ เพศ การศึกษาน้อย และการขาดทักษะที่เหมาะสม เศรษฐกิจและสังคมที่ไม่ดี การย้ายถิ่นฐาน ภูมิหลังทางชาติพันธุ์ ด้วยเหตุนี้ความช่วยเหลือแตกต่างกัน ปัจจุบันขาดแคลนข้อมูลเชิงคุณภาพเป็นอุปสรรคในการศึกษาความเป็นมาเพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เยาวชนกลุ่ม NEET มีอายุตั้งแต่ 15 -24 ปี กว่า 1.4 ล้านคนหรือคิดเป็น 15% ของเยาวชนทั้งหมด ซึ่งเด็ก 7 ใน 10 คน ออกจากโรงเรียน
นี่ไม่ใช่บทสรุปสุดท้ายที่จะบอกได้ว่า ประเทศไทยก้าวข้ามไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่เป็นเพียงโมเดลเล็ก ๆ ที่คอยหนุนเสริมติดปีกทักษะปัญญาให้กับนักเรียนในช่วงหนึ่งเท่านั้น ทว่า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในสถานศึกษาทุกคนขับเคลื่อนงานให้ส่งต่อรุ่นสู่รุ่นได้ ห้องเรียนอาชีพเพาะเห็ดมูลค่าสูงในครั้งนี้ สามารถตอบสนองความต้องการศึกษาในศตวรรษที่ 21 “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” ส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการ กล่าวคือ เรียนรู้ด้วยหาเงินได้ด้วย (Learn to Earn) เป็นเทรนด์การศึกษาของเยาวชนในปัจจุบัน
ขอเป็นกำลังใจให้ “คุรุ” ทุกท่าน ที่จุดแสงสว่างให้กับลูกศิษย์ทุกคน ผ่านคำกล่าวของ ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในงานสู้ชนะความจนบนฐานพลังความรู้พลังภาคี วันที่ 26 มิ.ย.2566
การศึกษาจะยกระดับคนได้ ชนชั้นนำในปัจจุบันส่วนไม่น้อยก็มาจากความยากจนในระดับปู่ย่าตายาย สามารถสร้างความสำเร็จขึ้นมาได้ด้วยการศึกษาและความพยายาม
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์
ที่มา : www.1poverty.com
เรียบเรียงโดย : สมชาย เครือคำ (แตงโม สกลนคร)
ดำเนินการ : โครงการพัฒนาระบบห่วงโซ่การผลิตเกษตรมูลค่าสูง ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ติดตามได้ที่ blogOnePoverty และ blockdit และ Facebook
แหล่งทุนวิจัย : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ติดตามได้ที่ งานยุทธศาสตร์ขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ