โคกสะอาดเปลี่ยนวิกฤต สร้างโอกาสนำการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยวิถีเกษตรผสมผสาน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

โคกสะอาดเปลี่ยนวิกฤต สร้างโอกาสนำการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยวิถีเกษตรผสมผสาน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

       ตำบลโคกสะอาด อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ตั้งอยู่ริมทางหลวงแผ่นดินสาย 201 ชุมแพ-ภูเขียว ก่อนถึงอำเภอภูเขียวประมาณ 12 กิโลเมตรตั้งอยู่ทางทิศเหนือของอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เนื้อที่ทั้งหมด 25,500 ไร่ หรือ 40.80   ตารางกิโลเมตร  เป็นพื้นที่ทำการเกษตร 18,671 ไร่ ลักษณะภูมิประเทศขององค์การบริหารส่วนตำบลโคกสะอาด เป็นที่ราบและมีลำน้ำเชิญไหลผ่าน สามารถใช้น้ำทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี มีประชากรทั้งสิ้น 9,010 คน    จำนวน 16 หมู่บ้าน ประชากรในเขตตำบลโคกสะอาดประกอบอาชีพหลักคือการทำไร่อ้อยและรับจ้างทั่วไป

      สภาพปัญหาด้านเศรษฐกิจของชุมชนคือปัญหาหนี้สิน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว คือการทำไร่อ้อย จากการระดมความคิดเห็นในที่ประชุม ทางผู้นำส่วนใหญ่ยังไม่มีข้อมูลเรื่องทุนทางเศรษฐกิจของชุมชน เช่น ไม่รู้ว่ามีผลิตภัณฑ์อะไรบ้างที่โดดเด่นและยกระดับการพัฒนาได้ เพราะส่วนใหญ่ทำอ้อยเพื่อส่งโรงงานอย่างเดียว และมีผลผลิตรอบปีละครั้ง

      นายเมธาวัฒน์ ทักษะวิเรพันธ์ ปลัดอบต.โคกสะอาด กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณทางทีมงานผู้นำนำการเปลี่ยนแปลงที่ลงพื้นที่ตำบลของเราเพื่อร่วมพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนเกิดขึ้นในชุมชนเรา ซึ่งตอนนี้ชุมชนเราก็เจอปัญหามากมาย เริ่มจะหาทางออกกันบ้างแล้วเพราะยิ่งทำไร่อ้อยไปก็ยิ่งเป็นหนี้เพิ่มขึ้นเพราะทำแต่เกษตรเชิงเดี่ยว แต่ต้องระวังเพราะเราเคยโดนหลอกมามาก ที่ผ่านมามีคนบอกว่าจะมาส่งเสริมปลูกโน้นปลูกนี้แต่ก็ไม่ทำต่อเนื่องและสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นมาก

   ท่านปลัดยังเพิ่มเติมว่า ผมจึงได้ปรับเปลี่ยนที่ตัวเอง ทำเกษตรผสมผสาน ปลูกผักหวานป่าตั้งแต่ปี 2555 และทำเกษตรผสมผสาน จนปัจจุบันมันทำรายได้ประจำให้ครอบครัวผม และมีอาหารที่ปลอดภัยและเพียงพอสำหรับครอบครัว ซึ่งตอนนี้ก็ทำให้เกษตรกรรายอื่นๆกำลังหันมาสนใจ เราจึงต้องร่วมกันทำอย่างมีระบบมีขั้นตอนเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในชุมชนของเรา

       นายวีรศักดิ์  ฐานวิเศษ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกสะอาด กล่าวว่าตัวผมเองมีที่อยู่ทั้งหมด 40 ไร่ ซึ่งทำไร่อ้อยอย่างเดียว และที่ผ่านมาก็มีปัญหาเช่นเดียวกับเกษตรกรรายอื่นๆคือมีหนี้สิน ล้านกว่าบาท ซึ่งยิ่งทำหนี้ก็ยิ่งเพิ่มขึ้น ในช่วงปี55-56 อบต.ได้พาไปดูงานเรื่องการทำเกษตรผสมผสานก็รู้สึกสนใจและได้ชวนเพื่อนบ้านทำ ก็ไม่มีใครทำเลยลองทำเอง เริ่มจากเรียนรู้การปลูกผักหวานป่าจากท่านปลัดจนได้ผลผลิตแล้วจำนวน 500 ต้น มีผักหลายชนิดในแปลง เพียงพอสำหรับครอบครัวและแบ่งให้กับเพื่อนบ้านด้วย และตอนนี้ได้ทำการรื้อป่าอ้อยเพื่อปลูกกล้วยหอมจำนวน 500 ต้น เห็นได้ว่าครอบครัวเราแทบไม่ได้ซื้ออาหารเลยเพราะมีทุกอย่างในแปลง

      สำหรับความท้าทายในพื้นที่นี้คือการปรับเปลี่ยนแนวคิดของเกษตรกรให้หันมา แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนด้วยตนเอง เริ่มจากการรวมกลุ่มของคนในพื้นที่ร่วมกัน จัดการข้อมูลชุมชนด้วยตัวเอง ประชาสัมพันธ์สินค้าชุมชน ยกระดับให้ได้มาตรฐานและสร้างแบรนด์ระดับตำบล โดยมีภาคีเครือข่ายร่วมมือกันทั้งในระดับพื้นที่ ระดับจังหวัดและระดับประเทศ ทั้งนี้ทีมผู้นำนำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่6 มีการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลในระหว่างวันที่ 20-21 กุมภาพันธ์ 2559 ซึ่งก็ได้เห็นถึงศักยภาพที่มีเป็นทุนเดิม และได้ข้อมูลเบื้องต้นแล้ว จะได้นำมาวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ในการยกระดับการพัฒนาให้ครอบคลุมทั้งตำบลต่อไป

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ