วิถีชีวิตของคนอยู่กับป่ายังคงดำเนินอยู่ ไม่ว่าวานนี้ วันนี้ หรือวันไหน ชาวชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ยังคงเดินลัดเลาะไปตามลำน้ำพรม เก็บของป่า หาอยู่หากิน แม้ในพื้นที่ข้อพิพาทที่เรื้อรังมานานซึ่งล่าสุดมีคำสั่งให้ชะลอการไล่รื้อออกไปพลางก่อน
ยกเลิกคำสั่งขับไล่โดยเด็ดขาด คืนความสุขให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน ให้คนกับป่าสามารถอยู่ทำมาหากินด้วยกันไปได้ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด… คือความหวังของชาวบ้าน
จากกรณีเมื่อ 6 ก.พ.58 เจ้าหน้าที่ทหาร ป่าไม้ ตำรวจ เข้ามาปิดประกาศขับไล่ชาวชุมชนโคกยาวออกจากพื้นที่ทำกิน คำสั่งนั้นสามารถให้ชาวบ้านยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 15 วัน และครบกำหนดไล่รื้อภายในวันที่ 6 มี.ค.58 นี้
ส่งผลให้ชาวบ้านผู้เดือดร้อนต้องเดินทางไปยื่นหนังสือเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงต่อหน่วยงานรัฐ 8 แห่ง ว่า พื้นที่พิพาทอยู่ในระหว่างกระบวนการแก้ไขปัญหา และมีมติจากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีให้ชะลอการดำเนินใดๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของชาวบ้านออกไปก่อน
“ผักกูด ผักกุ่ม ผักหนาม ผักก้ามปู ผักเหล่านี้จะนำไปประกอบอาหาร ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์จากลำน้ำพรมนี้มาก แต่ภายหลังมีการประกาศเขตป่าฯ ทำให้หากินได้ไม่ค่อยสะดวกมากนัก ทำให้ต้องมีการต่อสู้เรียกร้องกันมากมาย จนมีมติในที่ประชุมระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับภาคประชาชน กำชับเจ้าหน้าที่ไม่ให้ดำเนินการใดๆ ที่จะทำให้เกิดความขัดแย้ง หรืออาจให้เกิดความเดือดร้อนในการดำเนินชีวิตตามปกติสุขของชาวบ้าน และให้สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐตามวิถีปกติไปพลางก่อน แต่ที่ผ่านมาชาวบ้านมักถูกกระทำมาโดยตลอด ไม่มีที่สิ้นสุดเสียที” บุญมี วิยาโรจน์ ชาวบ้านชุมชนโคกยาว กล่าว
บุญมี เล่าว่า ลุ่มน้ำพรมต้นสายอยู่เหนือเขื่อนจุฬาภรณ์ ไหลผ่านชุมชนโคกยาว และมาบรรจบกับแม่น้ำชี ที่ อ.เกษตรสมบูรณ์ ซึ่งต้นน้ำชีที่จาก อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ ถือเป็นอีกสายเลือดเส้นใหญ่ของชาวอีสานก่อนไหลไปรวมกับแม่น้ำมูน
สำหรับสองฟากฝั่งลุ่มน้ำพรมเป็นป่าอนุรักษ์ธรรมชาติที่สมบูรณ์ น้ำใส มีทั้งเกาะแก่ง โขดหินผุดขึ้นมามากมาย เป็นแหล่งกำเนิดของสัตว์น้ำต่างๆ จำพวก กุ้ง หอย ปู ปลา ซึ่งชาวบ้านมีโครงการที่จะทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์
ตลอดจนตามลำน้ำจะมีพืชผักท้องถิ่นและสมุนไพร ให้ชาวบ้านได้เก็บหากินกันตามช่วงฤดูกาล โดยเฉพาะหน้าฝน จะหาเก็บเห็ด หน่อไม้ ถือว่าเป็นโรงครัวใหญ่ เป็นป่าของชุมชน และแหล่งอาหารของชาวบ้านที่ถือปฎิบัติและรักษากันมาหลายชั่วคน
เด่น คำแหล้ ประธานโฉนดชุมชนโคกยาว เล่าว่า นับแต่ปี 2528 หน่วยงานภาครัฐเข้ามาปลูกยูคาฯ และดำเนินการเคลื่อนย้ายชาวบ้านออกจากพื้นที่ ภายหลังตนและผู้เดือดร้อนได้กลับเข้ามาบนผืนดินทำกินเดิม ได้ร่วมกันประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดินโดยชุมชนในรูปแบบ “โฉนดชุมชน” ตามที่ได้ผลักดันให้รัฐบาลในขณะนั้นและมีมาตรการทางนโยบายเพื่อคุ้มครองสิทธิที่ดิน
กระทั่ง มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน ตามเงื่อนไขพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน 830 ไร่ แต่ในภาคของการปฎิบัติ หน่วยงานรัฐยังไม่ดำเนินการและมีการปิดกั้นขัดขวางอย่างต่อเนื่อง โดยพยายามให้ชาวบ้านยินยอมอพยพออกจากพื้นที่
อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่กว่า 80 ไร่ ชาวบ้านจำนวน 23 ครอบครัว ได้มีการจัดสรรที่ดินทำกิน ปลูกสร้างที่อยู่อาศัย และปลูกผักสวนครัว นอกจากนี้กำหนดให้แต่ละครอบครัวทำสระน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคและบริโภค เนื่องจากในพื้นที่ยังประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ สำหรับพื้นที่แปลงรวมปลูกต้นผักหวาน ผลไม้ยืนต้น เช่น มะม่วง น้อยหน่า เป็นต้น
การผลิตในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ของชุมชนจะเน้นการปลูกพืชท้องถิ่น ไม่ใช้สารเคมี โดยในชุมชนได้ทำการผลิตมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เป็นการทำลายพื้นที่ต้นน้ำ หรือทำให้ป่าเกิดความเสียหาย ทำลายคุณภาพของดิน
การที่อาศัยอยู่กินกับป่า และปลูกพืชท้องถิ่นกันเอง ทำให้ชาวบ้านสามารถพึ่งตนเองในระดับครอบครัวได้ โดยไม่ต้องพึ่งแหล่งอาหารจากภายนอก และสามารถนำไปขายสร้างรายได้ในครัวเรือน หากเปรียบเทียบกับสวนป่ายูคาลิปตัสที่กรมป่าไม้นำเข้ามาปลูก จะเห็นว่ามีความแตกต่างกันมากในเรื่องของรักษาหน้าดินและการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ประธานโฉนดชุมชนโคกยาว กล่าวด้วยว่า การจัดการป่าชุมชนเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศต้นน้ำตามสิทธิชุมชน ชุมชนจะมีการจัดทำข้อตกลง กฎเกณฑ์ ข้อปฏิบัติในการใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น เก็บเห็ด จะเก็บโดยไม่ทำลายสรรพชีวิตที่ทำให้เกิดเห็ดโคน เพื่อให้มีผลผลิตเห็ดในปีต่อไป หรือการเก็บหน่อไม้ และไม้ไผ่ จะมีกำหนดเวลาห้ามเก็บในช่วงปลายฤดูฝนประมาณเดือนกันยายน เป็นต้น
นอกจากนี้ ชุมชนมีแผนในการทำกิจกรรมเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศ เช่น ทำแนวกันไฟ เพื่อเป็นแนวควบคุมและป้องกันไฟป่า ทำกิจกรรมปลูกป่า จัดทำพื้นที่ท่องเที่ยงเชิงนิเวศน์ และร่วมกันดูแล เพาะกล้าไม้ท้องถิ่น เพื่อสร้างรายได้แก่ชุมชน และเพื่อนำไปปลูกเสริมในป่า
“จากกรณีการยื่นหนังสือเพื่อขอให้พิจารณาสั่งการเพื่อยกเลิกหนังสือคำสั่งบังคับให้ออกจากพื้นที่โดยเร็วที่สุด ชุมชนโคกยาว ได้ยื่นหนังสือขอให้พิจารณาแผนการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนโดยชุมชน แนบไปด้วย โดยภาครัฐต้องเข้าใจในวิถีชีวิตชาวบ้านด้วย และยกเลิกคำสั่งขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ สิ่งนี้ถือการคืนความปกติสุขให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน และจะทำให้คนกับป่าสามารถอยู่ทำมาหากินด้วยกันไปได้ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด” ประธานชุมชน กล่าว
รายงานโดย: ศรายุทธ ฤทธิพิณ
สำนักข่าวเครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน