แปรงฟันให้ปิดน้ำ เดินออกจากห้องให้ปิดไฟ รักษ์โลกแบบนี้จะทำไรได้

แปรงฟันให้ปิดน้ำ เดินออกจากห้องให้ปิดไฟ รักษ์โลกแบบนี้จะทำไรได้

แปรงฟันให้ปิดน้ำ เดินออกจากห้องให้ปิดไฟ ซื้อของต้องฉลากเบอร์ห้า…

เราได้ยินคำพูดเหล่านี้มานาน มันเป็นวิธีการหนึ่งในการรณรงค์ให้เรารู้จักเป็น “มิตรกับสิ่งแวดล้อม” แต่คำถามที่โดนถามตลอดในฐานะที่เดินย่างกายด้วยป้ายชื่อในฐานะนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม คือ “แล้วไง” บางทีก็มีแรงสนับสนุนว่า “เราก็ปิดไฟนะ ขี่จักรยานไปเที่ยวด้วย เราก็รักษ์สิ่งแวดล้อมนะ” แต่ทำไมงานของ “พวกอนุรักษ์” ยังไม่สามารถหยุดได้ แต่กลับท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ

กระบวนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในไทยเผยโฉมมานานแล้ว แต่ดูเหมือนการทำงานของคนกลุ่มนี้อาจไม่เร็วพอที่จะยับยั้งการพัฒนาโครงการที่ออกเชิงแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติไปจากพระแม่โพสพ พระแม่คงคา และชุมชนท้องถิ่น ประเด็นฮอตฮิตตอนนี้ที่เห็นกันก็มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสารตะกั่วที่แย่งชิงแหล่งน้ำห้วยไปจากหมู่บ้านคลิตี้ล่าง เหมืองแร่ทองคำ ณ เมืองเลยที่สามารถกวาดภูเขาทั้งลูกออกไปให้เหลือแต่หลุมขนาดใหญ่พอบรรจุบ่อน้ำพิษมาเยาะเย้ย หรือเขื่อนจำนวนมากมายที่ท่วมที่อยู่อาศัยของชุมชม รวมทั้งวัฒนธรรม วิถีชีวิตที่สืบทอดกันมาหลายชั่วรุ่น เปลี่ยนแหล่งอาหารให้เป็นแหล่งหมักตะกอนเน่าเสีย แถมยังมีเรื่องน้ำมันรั่ว โรงไฟฟ้าถ่านหิน การใช้สารเคมีจำนวนมหาศาลในการทำการเกษตร ขยะมีพิษจากโรงงาน การทำไร่พืชเชิงเดี่ยว สัตว์ป่าที่กำลังสูญพันธุ์ ความสั่นคลอนของความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาคที่เคยยืนตระหง่านว่าเป็นสุวรรณภูมิ

“ถ้ามาเปรียบเทียบกันระหว่างแรงเหงื่อ แรงทุน และเวลาที่หมกมุ่นไปกับงานของเอ็นจีโอ สิ่งที่เราเห็นทุกวันนี้ มันคือความล้มเหลวอย่างมหันต์” รุ่นพี่ที่เคารพยิ่งคนหนึ่งชี้ขาดระหว่างการพูดคุยภายใต้แสงจันทร์และดวงดาวบนระเบียงดาดฟ้า
 
เราหัวเราะ
 
บางทีเวลามีคนออกมาพูดตรงๆ แบบนี้ก็ทำให้เราสะท้อนออกมาได้เร็วกว่า นึกถึงคำพูดของปัญญาชนหญิงชาวจีนคนหนึ่ง…
 
ตอนที่เธอโดนถามว่า “ทำไมคุณยังคงดันทุรันทำงานในฐานะองค์กรสิ่งแวดล้อมระดับรากหญ้าในเมื่อการเปลี่ยนแปลงที่หวังไว้มันอาจไม่เกิดขึ้นด้วยซ้ำ” เธอตอบว่า “ถ้าเราไม่ทำ สังคมและธรรมชาติคงโดนทำลายไปเร็วกว่านี้ อย่างน้อยสิ่งที่เราทำตอนนี้ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย อย่างน้อยมันเปิดพื้นที่ให้คนอื่นที่อยากทำอะไรได้ออกมาทำบ้าง”
 
คำตอบนี้คงไม่ต่างอะไรกับเนื้อเพลง “มาเร็วยังดีกว่ามาช้า มาช้ายังดีกว่าไม่มา

มันอาจเป็นคำพูดของพวกโลกสวย แต่มันเป็นเพราะความคิดอย่างนี้นี่แหละที่มาเสริมกำลังใจในเวลาที่หวั่นไหว  ในสังคมที่มักตราหน้ากลุ่มคนทำงานเอ็นจีโอว่าเป็นพวก “ต่อต้านความเจริญ”

แต่งานด้านนี้ มันเป็นงานที่พยายามผลักดันให้สังคมตระหนักถึงวิธีการหรือนโยบายการพัฒนาที่บางครั้งอาจมีจุดประสงค์ที่ดี แต่กระบวนการที่นำไปซึ่งจุดหมายนั้นอาจเป็นการเดินข้ามหัวหรือกดขี่คนอื่นมากเกินไป เพราะบางครั้ง คนเรามักจะหมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่เราทำอยู่จนลืมหยุดพักและมองรอบๆ ว่า คนข้างๆ เขายังยิ้มอยู่กับเราหรือเปล่า

การเปลี่ยนแปลงระดับบุคคลคงทำให้โลกดีขึ้นอีกนิด แต่มันคงไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ ถ้าเรายังหลงคิดว่า “เราทำได้แค่นี้

ผู้เขียนเลยอยากแบ่งปันบทความของ Derrick Jensen ที่เขียนไว้ในนิตยสาร Orion เมื่อปี 2009 มาให้อ่านกันค่ะ

(แปลแบบลวกๆ)

คุณคิดว่าการรีไซเคิลนั้นนำไปสู่การหยุดยั้งฮิตเลอร์ได้งั้นหรือ หรือว่ามันเป็นการทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหารที่ทำให้เราสามารถยกเลิกระบบทาสหรือการกำหนดนโยบายเวลาทำงานให้ไม่เกิน 8 ชั่วโมง หรือการเต้นระบำเปลือยกายเป็นหนึ่งในกระบวนการที่ทำให้เกิดความเท่าเทียมกันในการออกเสียงเลือกตั้งหรือการเคารพสิทธิมนุษยชนของทุกคน ถ้าไม่ แล้วทำไมปัจจุบันนี้คนเราจึงคิดว่าแค่การเปลี่ยนแปลงระดับบุคคลจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้

ปัญหาอย่างหนึ่งกับความคิดนี้คือ เราตกเป็นเหยื่อกลอุบายของวัฒนธรรมที่ไม่รู้จักหยุดบริโภคและทัศนะความคิดของระบอบทุนนิยม มันกล่อมให้เรามุ่งไปที่การเปลี่ยนแปลงในการบริโภคของเรา แทนที่จะออกมารวมตัวกันเพื่อต่อต้านสิ่งที่ครอบงำเราอยู่

ถ้าทุกคนในสหรัฐฯ ทำตามวิธีการรณรงค์ประหยัดพลังงาน เช่น การเปลี่ยนไปใช้หลอดไฟแบบประหยัด คอยเช็คลมยางให้แน่นเต็มตลอด หรือขับรถให้น้อยลงอย่างน้อยครึ่งนึง ปริมาณคาร์บอนที่สหรัฐฯ จะสามารถลดได้ก็คงไม่ได้มากไปกว่า 5.5% ของจำนวนคาร์บอนที่ปล่อยตุ๊บป่องออกมาทั่วโลก ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกฟันธงว่า เราควรลดจำนวนการปล่อยคาร์บอนในโลกอย่างน้อย 75%

ถ้าพูดถึงน้ำ เราก็มักจะได้ยินว่า น้ำกำลังจะหมดไป ผู้คนกำลังตายเพราะขาดแคลนน้ำ แม่น้ำลำธารจะไม่มีน้ำเหลือแล้ว เพราะฉะนั้น เราจำต้องเสียสละเวลาในการอาบน้ำ เราจำต้องอาบน้ำให้เร็วขึ้น ใช้น้ำให้น้อยลง แต่น้ำมันหายไปไหนกันแน่ 90% ของปริมาณน้ำที่มนุษย์ใช้ ผันไปอยู่กับการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม อีก 10% เอามาใช้บริโภคอุปโภคกัน ผู้คนตอนนี้ไม่ได้ตายเพราะน้ำกำลังจะหมดไป พวกเขากำลังจะสิ้นชีพเพราะน้ำของเขาโดนขโมยไปต่างหาก

ทีนี้มาพูดถึงเรื่องพลังงาน Jensen ยกคำสรุปโดนใจของ Kirkpatrick Sale ในระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา “พลังงานที่ใช้โดยชาวบ้าน รถยนต์ส่วนบุคคล ในสหรัฐฯ ไม่เคยเกิน 75% ของจำนวนพลังงานที่ใช้ทั้งหมด ผู้ใช้พลังงานส่วนใหญ่คือภาคพาณิชย์ ภาคอุตสาหกรรม บริษัทคอร์ปอเรชั่นต่างๆ เหล่าธุรกิจเชิงเกษตร และรัฐบาล ถึงแม้ว่าเราจะผลักดันให้ทุกคนหันมาปั่นจักรยานและใช้เตาถ่าน ความเเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็คงไม่ใหญ่โตอะไรมากมายที่จะสามารถมายับยั้งมลพิษทางอากาศและปัญหาโลกร้อนได้”

แต่ Jensen ไม่ได้มาบอกว่าไม่ให้เราอยู่อย่างประหยัดหรืออย่างพอเพียง สิ่งเหล่านี้ก็สำคัญเช่นกัน แต่เราไม่ควรคิดว่าการอยู่อย่างเรียบง่ายแบบนี้จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

แล้วไหงเรามาหลงเชื่อกลอุบายนี้ซะหล่ะ

ถ้าจะพูดกันง่ายๆ ก็คือ เราโดนมัดมือชก (double bind)

คือ เขามีตัวเลือกมาให้เราเลือกอยู่ 2-3 ตัว แต่แต่ละตัวเลือกมันไม่ได้ทำอะไรให้ดีขึ้นเลย เลือกอะไรไป เราก็แพ้อยู่ดี การเดินหนีออกไปก็ไม่ใช่หนึ่งในตัวเลือกเช่นกัน

ถึงตอนนี้ มันควรจะเป็นที่ประจักษ์แจ้งแล้วว่า การพัฒนาเศรษฐกิจเชิงอุตสาหกรรมนั้น มีแต่การนำไปสู่การทำลาย (แม้แต่แผ่นโซลาร์หรือเทคโนโลยีสีเขียวต่างๆ ก็ยังต้องมีการขุดเจาะทำเหมืองแร่ และสร้างโครงสร้างพื้นฐาน)

3 ตัวเลือกที่ Jensen วิเคราะห์ออกมาคือ

ตัวเลือกที่ 1 คือ ร่วมเป็นหนึ่งในกลไกที่ส่งเสริมระบบเศรษฐกิจเชิงอุตสาหรรม ตัวเลือกนี้อาจทำให้เราหลงคิดว่าเราชนะเกมนี้ เพราะในสังคมที่ยังคงคิดว่าความสำเร็จของคนเราตีตราด้วยความร่ำรวย ตัวเลือกนี้จะช่วยสะสมเม็ดเงินให้เรา แต่จริงๆ แล้ว เรากลับพ่ายแพ้ เพราะมันทำให้เราเลิกที่จะเห็นใจผู้อื่นหรือเคารพความเป็นมนุษย์ของคนข้างๆ  และเราก็พ่ายแพ้จริงๆ เพราะระบบเศรษฐกิจเชิงอุตสาหกรรมมันมีแต่ทำลายโลกของเรา ซึ่งหมายความว่า เราทุกคนก็พ่ายแพ้ไปตามๆ กัน

ตัวเลือกที่ 2 อาจมองได้ว่าเป็น “ทางเลือก” ของตัวเลือกที่ 1 โดยการที่เราเลือกที่จะทำลายโลกให้น้อยลง โดยการอยู่อย่างเรียบง่าย แต่ยังคงไม่หยุดยั้งให้ระบบเศรษฐกิจเชิงอุตสาหกรรมมาทำลายล้างโลก ในระยะสั้น เราอาจคิดว่าเรากำลังชนะ เพราะเรารู้สึกดี เรารู้สึกบริสุทธิ์ เราไม่ได้ลืมที่จะเห็นใจผู้อื่น แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ยังแพ้อยู่ดี เพราะการพัฒนาที่ว่ามันไม่ได้หยุดทำลายโลก มันยังคงเดินหน้าต่อ แล้วทุกคนก็ยังพ่ายแพ้อยู่ดี

ตัวเลือกที่ 3 เป็นตัวเลือกที่น่ากลัวที่สุด เพราะมันคือการรุกหน้าออกต่อต้านการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงอุตสาหกรรม มันน่ากลัวเพราะเหตุผลหลายๆ ประการ ไม่ว่าจะเป็นการที่เราจำต้องสละความมั่งคั่งที่เราคุ้นเคย (ซึ่งนำมาโดยไฟฟ้า) หรือความเสี่ยงที่เราอาจโดนฆ่าตายเพราะเราพยายามหยุดยั้งไม่ให้ผู้มีอำนาจมาเผาผลาญโลกใบนี้

ไม่ว่าเราจะเลือกอะไร ยังไงมันก็คงดีกว่าโลกที่ไร้ซึ่งชีวิต

นอกจากตัวเลือกที่ไร้ประสิทธิภาพที่จะช่วยเราในการหยุดลัทธิทุนนิยมและโลกแห่งการบริโภคจากการทำลายโลก และทำให้เราหลงคิดว่าการกระทำส่วนบุคคลจะสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้แล้ว เรายังเผชิญกับปัญหาอีกอย่างน้อย 4 ประการ

ปัญหาแรก คือ มันมีความคิดที่ล่องลอยอยู่ที่ทำให้เราเชื่อว่า ไม่ว่าเราจะทำอะไร เราก็ไม่สามารถไม่ทำให้เกิดความเสียหายบนโลกนี้ได้ ถ้าเราจะแปรวิถีการอยู่อย่างเรียบง่ายตอนนี้ให้มีพลังมากขึ้น เราจำต้องเข้าใจว่า การกระทำของเราสามารถลดหย่อนการทำลายได้ เราสามารถที่จะฟื้นฟูแหล่งน้ำลำธาร ขับไล่สายพันธุ์ต่างๆ ที่เข้ามาแย่งยึดระบบนิเวศที่สมบูรณ์ เราสามารถทลายเขื่อนลงเพื่อปล่อยให้แม่น้ำไหลอย่างอิสระ เราสามารถขัดขวางระบบการปกครองที่เอื้อกลุ่มคนรวยและระบบเศรษฐกิจที่เอาแต่กอบโกย เราสามารถโค่นล้มระบบเศรษฐกิจเชิงอุตสาหกรรมที่กำลังทำลายล้างโลกของเราได้

ปัญหาที่ 2 เป็นปัญหาใหญ่เอาการ คือ การโยนความผิดให้ชาวบ้านเป็นแพะรับบาป (โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ไร้อำนาจ) แทนที่กลุ่มคนที่กุมอำนาจในระบบและตัวระบบเองจะต้องมารับผิดชอบ ขอยกคำพูดของ Kirkpatrick Sale อีกที “ไอ้ความคิดที่ว่าเราแต่ละคนสามารถทำอะไรได้เพื่อรักษาโลกใบนี้ของเราก็เป็นแค่นิทานหลอกเด็ก เราแต่ละคนไม่ใช่ผู้ที่ก่อให้เกิดซึ่งความวินาถ เราไม่สามารถแก้ปัญหาที่เราไม่ได้สร้างเองได้”

ปัญหาที่ 3 คือ การยอมรับสถานะของตัวเราจากการเป็นประชาชนของสังคมมาเป็นผู้บริโภค การยอมรับคำตราหน้านี้ ลดอำนาจการต่อต้านของเราให้เหลือเพียงสองอย่างคือ บริโภคหรือไม่บริโภค ในเชิงกลับกัน ในฐานะที่เป็นประชาชนของสังคม เรามีวิธีการต่อต้านมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกเสียงเลือกตั้ง การไม่ออกเสียง การเข้าไปมีบทบาทในการดำรงตำแหน่งในชุมชน การกระจายข้อมูลข่าวสาร การบอยคอต การรวมตัวกัน การลอบบี้ การประท้วง การเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกรัฐบาลที่ทำท่าทีละเลยชีวิต อิสรภาพ และความสุขของผู้คน

ปัญหาที่ 4 คือ หลักการและเหตุผลเบื้องหลังของการอยู่อย่างเรียบง่ายที่แสดงตัวออกมาว่าเป็นการกระทำทางการเมือง แต่มันอาจนำไปสู่ความคิดที่ว่า การฆ่าตัวตาย คือคำตอบ ความคิดนี้มันมาจากแนวคิดที่ว่า ถ้าการกระทำของระบบเศรษฐกิจเชิงอุตสาหกรรมนำมาซึ่งความทำลาย และถ้าเราอยากจะหยุดการทำลายนี้ และถ้าเราไม่ยอมที่จะ (หรือไม่สามารถที่จะ) ตั้งคำถามกับโครงสร้างของระบบที่กำลังสร้างความเสียหาย ไม่ว่าจะทางปัญญา ศีลธรรม เศรษฐกิจ หรือกายภาพ แนวคิดเช่นนี้ก็อาจจะทำให้เราคิดว่า เราจะสร้างผลกระทบได้น้อยที่สุดหากเราไม่มีตัวตนบนโลกนี้

แต่เราก็ยังมีข่าวดีอยู่ เรายังมีตัวเลือกตัวอื่นอยู่ ตัวเรายังมีตัวอย่างจากเหล่านักกิจกรรมผู้กล้าหาญที่มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาที่ลำบากมากกว่าปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่นาซียึดครองเยอรมนี การปกครองภายใต้ซาร์ของรัสเซีย หรือช่วงเวลาแห่งความกดขี่ของสหรัฐฯ กลุ่มนักกิจกรรมเหล่านั้นต้องฝ่าฟันปัญหาอุปสรรคที่เกิดมาจากความอยุติธรรมของสังคม สิ่งที่เราสามารถทำได้ก็คือ การเข้าใจประสบการณ์ของนักกิจกรรมเหล่านั้น และเข้าใจว่าหน้าที่ของเขาไม่ใช่การเดินภายใต้ระบบแห่งการกดขี่ด้วยความสัตย์ซื่อ แต่เป็นการยืนหยัดต่อสู้เพื่อโค่นล้มระบบที่กำลังทำลายโลกเรา

ความคิดของ Derrick Jensen ในฐานะคนต่างวัฒนธรรม ต่างภาษา อาจดูไม่ค่อยเหมาะสมกับประเทศไทยหรือภูมิภาคอุษาอาคเนย์ แต่ก็ให้แง่คิดอะไรบางอย่างกับเราได้ อีกอย่าง ตัวอย่างหลาย ๆ อย่างที่ประเทศจำนวนไม่น้อยบนโลกใบนี้กำลังเอาตาม ก็คือวิธีการพัฒนาเศรษฐกิจตามอย่างของสหรัฐฯ หากคนที่เรายกย่องให้ตัดสินใจชี้นำประเทศเรากำลังศึกษาวิธีการของสหรัฐฯ มันก็คงไม่น่าจะเป็นการเสียเวลามากเกินไปที่จะแลกเปลี่ยนความคิดกับภาคประชาสังคมของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ เพื่อให้เราเข้าใจว่า ทำไมเขาถึงไม่เห็นด้วยกับระบบนั้น ๆ บางที มันอาจจะช่วยให้เราสะท้อนให้เห็นว่าสังคมเรากำลังเผชิญกับสิ่งที่ประชาชนสังคมอื่นกำลังลุกขึ้นสู้หรือเปล่า

บทความชิ้นนี้ถอดบางส่วนมาจากบทความเขียนโดย Derrick Jensen บวกกับความคิดส่วนตัวของผู้เขียน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ