แถลงการณ์แอมเนสตี้ฯ ‘ครบหนึ่งปีที่กฎอัยการศึกกลับมาในรูปแบบคำสั่ง คสช.’

แถลงการณ์แอมเนสตี้ฯ ‘ครบหนึ่งปีที่กฎอัยการศึกกลับมาในรูปแบบคำสั่ง คสช.’

ครบรอบหนึ่งปีหลังการประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก แอมเนสตี้กังวลการปราบปรามผู้เห็นต่างและการให้อำนาจพิเศษแก่ทหารตามคำสั่ง คสช. เสมือนกฎอัยการศึก ยกตัวอย่างกรณีวัฒนา-ประวิตร-ขันแดง ร้องประชาคมโลกกดดันไทย แก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนที่เสื่อมถอยลง

20160404154621.png

4 เม.ย. 2559 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลออกแถลงการณ์ ลงวันที่ 1 เม.ย. 2559 ‘ประเทศไทย: ครบหนึ่งปีที่กฎอัยการศึกกลับมาในรูปแบบคำสั่ง คสช.’ หลังจากที่ทางการไทยประกาศเปิดหลักสูตรปรับทัศนคติในค่ายทหารสำหรับผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และเนื่องในโอกาสครบรอบหนึ่งปีการประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกในไทย 

แถลงการณ์ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องทางการไทยให้ยกเลิกอำนาจหัวหน้า คสช.ที่ยังคงให้อำนาจพิเศษทหารเสมือนการใช้กฎอัยการศึก ตลอดจนเรียกร้องให้ยุติการปราบปรามการแสดงออกอย่างสงบของผู้ที่เห็นต่างด้วย

แถลงการณ์ ระบุว่า คำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 ลงวันที่ 1 เม.ย. 2558 และคำสั่ง คสช. ที่ 13/2559 ลงวันที่ 30 มี.ค. 2559 ได้ให้อำนาจทหารเพิ่มขึ้นในนามของความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย ซึ่งก่อให้เกิดการลิดรอนสิทธิเสรีภาพตามมา ทั้งสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม เสรีภาพในการเดินทาง เสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุม รวมทั้งสิทธิที่จะได้รับการเยียวยา

อีกทั้งยังเปิดช่องให้ทหารไม่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนปกติในกระบวนการยุติธรรม ใช้อำนาจควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยแบบไม่ตั้งข้อหา ควบคุมตัวในสถานที่ที่ตั้งขึ้นมาอย่างไม่เป็นทางการ สั่งค้นโดยไม่มีหมายศาล สั่งยึดทรัพย์สิน เก็บรวบรวมพยานหลักฐาน และสั่งฟ้องคดีต่อบุคคลในศาลทหารโดยไม่ต้องถูกตรวจสอบจากหน่วยงานอื่นด้วย ขณะที่ผู้ถูกควบคุมตัวเองก็ไม่สามารถเข้าถึงการคุ้มครองสิทธิจากระบบตุลาการได้

แถลงการณ์ยกตัวอย่างการลิดรอนสิทธิ อาทิ การควบคุมตัว นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ถึง 2 ครั้งใน 1 เดือน การปฏิเสธไม่ให้ นายประวิตร โรจนพฤกษ์ เดินทางไปร่วมประชุมเสรีภาพสื่อโลกที่ประเทศฟินแลนด์ และการจับกุมและตั้งข้อหาในศาลทหารต่อ นางธีรวรรณ เจริญสุข หลังโพสต์รูปตัวเองกับขันสีแดงที่มีลายเซ็นของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

นอกจากนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับ พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับเดือน มี.ค. 2559 ซึ่งมีมาตราที่กำหนดโทษจำคุกได้สูงสุด 10 ปีต่อผู้ที่ใช้ภาษา “หยาบคาย” ในการต่อต้านการทำประชามติรัฐธรรมนูญ ตลอดจนการข่มขู่ว่าจะปราบปรามการกระทำใดๆ ที่เชื่อว่าอาจทำให้บุคคล “เข้าใจผิด” เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของราชการในช่วงก่อนจะมีการทำประชามติที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือน ส.ค. 2559

แถลงการณ์แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องทางการไทยให้ปฏิบัติต่อการใช้สิทธิมีเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมอย่างสงบของประชาชน ในฐานะที่เป็นสิทธิ ไม่ใช่อาชญากรรม และขอกระตุ้นประชาคมโลกให้กดดันทางการไทยเพื่อแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนที่เสื่อมถอยลงในประเทศด้วย

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
แถลงการณ์
Index: ASA 39/3760/2016
1 เมษายน 2559

ประเทศไทย: ครบหนึ่งปีที่กฎอัยการศึกกลับมาในรูปแบบคำสั่ง คสช.

เนื่องในโอกาสครบรอบหนึ่งปีหลังการประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกในไทย และในโอกาสที่ทางการประกาศเปิดหลักสูตรปรับทัศนคติในค่ายทหารสำหรับผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องทางการไทยให้ยกเลิกอำนาจตาม คำสั่งของคสช.ที่เสมือนการใช้กฎอัยการศึกอีกครั้ง” จากการที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารในการจำกัดสิทธิมนุษยชน ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเสื่อมของของหลักนิติธรรมในประเทศ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันเนลยังเรียกร้องทางการไทยให้ยุติการปราบปรามการแสดงออกอย่างสงบของผู้เห็นต่างที่กำลังเพิ่มมากขึ้นอันเป็นผลจากการเพิ่มอำนาจให้กับเจ้าหน้าที่ทหาร

เจ้าหน้าที่ทหารได้รับอำนาจมากขึ้นโดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย ทั้งนี้ อำนาจที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวมาจากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2558 ลงวันที่ 1 เมษายน 2558 และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 13/2559 ลงวันที่ 30 มีนาคม 2559 ซึ่งก่อให้เกิดการลิดรอนสิทธิที่จะมีเสรีภาพ สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม เสรีภาพในการเดินทาง เสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุม รวมทั้งการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติยังอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ทหารไม่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมแบบปรกติ และพ้นจากการกำกับดูแลเกี่ยวกับการใช้อำนาจควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยโดยไม่ตั้งข้อหา ขณะที่ผู้ถูกควบคุมตัวไม่สามารถเข้าถึงการคุ้มครองสิทธิจากระบบตุลาการ ทั้งยังให้มีการควบคุมตัวในสถานควบคุมตัวที่ตั้งขึ้นมาอย่างไม่เป็นทางการและไม่สามารถติดต่อกับโลกภายนอก เจ้าหน้าที่ทหารยังสามารถสั่งค้นโดยไม่มีหมายศาล สามารถสั่งยึดทรัพย์สิน เก็บรวบรวมพยานหลักฐาน และสั่งฟ้องคดีต่อบุคคลในศาลทหารโดยไม่ต้องได้รับการตรวจสอบจากหน่วยงานอื่นด้วย 

ที่ผ่านมามักมีการควบคุมตัวบุคคลโดยไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอกและเป็นไปโดยพลการ การใช้อำนาจเช่นนี้อาจส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม และอาจสนับสนุนให้เกิดการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายทารุณ

แม้ทางการประกาศว่ามาตรการจำกัดสิทธิที่เกิดขึ้นภายหลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นเพียงมาตรการชั่วคราว ทว่านับตั้งแต่ยกเลิกกฎอัยการศึก การปราบปรามการแสดงความเห็นต่างอย่างสงบกลับกลายเป็นเรื่องปรกติผ่านการให้อำนาจพิเศษแก่เจ้าหน้าที่ทหาร ทางการสามารถสั่งเรียกตัวสื่อมวลชน ประชาชนทั่วไป และนักการเมืองมาควบคุมตัวแบบลับได้ อันเป็นผลจากการแสดงความเห็นของพวกเขา โดยที่ผู้ที่ถูกควบคุมตัวเหล่านั้นต้องยอมรับเงื่อนไขการปล่อยตัวที่กำหนดให้งดเว้นการมีส่วนร่วมทางการเมืองและยอมเสียเสรีภาพในการเดินทาง 

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ถูกควบคุมตัวโดยพลการเป็นครั้งที่สองในหนึ่งเดือนตามอำนาจของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2558 โดยเป็นผลจากการที่เขาวิพากษ์วิจารณ์ทางการ นอกจากนี้ ทางการยังปฏิเสธไม่ให้นายประวิตร โรจนพฤกษ์เดินทางไปยังประเทศฟินแลนด์เพื่อเข้าร่วมการประชุมเสรีภาพสื่อโลกขององค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก ก่อนหน้านี้เขาเคยถูกควบคุมตัวโดยพลการสองครั้งและถูกควบคุมเสรีภาพในการเดินทาง

การออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 13/2559 มีเป้าหมายเพื่อปราบปราม “ผู้มีอิทธิพล” และ “ป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดบางประการที่เป็นภยันตรายต่อความสงบเรียบร้อยหรือบ่อนทำลายระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ” ทำให้เกิดความหวาดกลัวมากขึ้นว่าจะมีการใช้อำนาจตามคำสั่งฉบับนี้เพื่อเป็นเครื่องมือในการปราบปรามทางการเมือง และเพื่อปิดปากผู้ที่แสดงความเห็นต่าง รวมทั้งนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังกังวลเกี่ยวกับบางมาตราในพระราชบัญญัติการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับเดือนมีนาคม 2559 ซึ่งกำหนดโทษจำคุกได้สูงสุดเป็นเวลา 10 ปีต่อผู้ที่ใช้ภาษา “หยาบคาย” ในการแสดงการต่อต้านการทำประชามติรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจกลายเป็นเครื่องมือปิดปากผู้ที่แสดงความเห็นต่างอย่างสงบ ทางการยังคงข่มขู่ว่าจะปราบปรามการกระทำใดๆ ก็ตามที่เชื่อว่าอาจทำให้บุคคล “เข้าใจผิด” เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของราชการในช่วงก่อนจะมีการทำประชามติที่คาดว่าจะมีขึ้นในเดือนสิงหาคม 2559 และมีการขู่จะดำเนินคดีตามกฎหมายกับบุคคลที่ “ยุยง” ให้ผู้อื่นต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญ

ทางการได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่าจะตีความการแสดงความเห็นต่างอย่างสงบหลายประเภทให้เป็นภัยคุกคามต่อสังคมและความมั่นคง และใช้ข้อบทที่กำหนดไว้อย่างคลุมเครือในกฎหมายด้านความมั่นคงเพื่อเอาผิดทางอาญาแม้กระทั่งต่อการแสดงความเห็นต่างเชิงสัญลักษณ์ ยกตัวอย่างเช่น นางธีรวรรณ เจริญสุข อายุ 57 ปี ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 และอาจได้รับโทษจำคุกเป็นเวลาเจ็ดปีในข้อหายุยงปลุกปั่น หลังจากต้องเข้ารับการพิจารณาคดีอย่างไม่เป็นธรรมในศาลทหาร โดย “ความผิดอาญา” ของเธอคือการโพสต์รูปตัวเองกับขันสีแดงที่มีลายเซ็นของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องทางการไทยให้ปฏิบัติต่อการใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมอย่างสงบ ในฐานะที่เป็นสิทธิ ไม่ใช่อาชญากรรม

นอกจากนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังกระตุ้นประชาคมระหว่างประเทศให้กดดันทางการไทยเพื่อแก้ปัญหาสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เสื่อมถอยลงในประเทศด้วย 

คลิกลิงค์: 

คำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 
คำสั่ง คสช. ที่ 13/2559
พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ