เสียงรู้สึกจากมุมหนึ่ง ณ ที่แห่งนั้น เราเห็นอะไรที่ “นามูล-ดูนสาด”

เสียงรู้สึกจากมุมหนึ่ง ณ ที่แห่งนั้น เราเห็นอะไรที่ “นามูล-ดูนสาด”

20151902190548.jpg

เรื่อง: กรประชา ทองไทย ภาพ: เริงฤทธิ์ คงเมือง

ภาพเหล่านี้แพร่กระจายไปในสังคมอย่างกว้างขวาง  สะท้อนเรื่องราวของชาวบ้านกลุ่มเล็กๆและห่างไกลในจังหวัดขอนแก่น  ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับบริษัทนายทุนข้ามชาติ  โดยมีทหาร  ตำรวจ  และหน่วยงานทางปกครองของรัฐให้การสนับสนุน  ซึ่งเป็นการประสานความร่วมมือระหว่างรัฐที่มีกฎหมายเป็นเครื่องมือ  และกลุ่มนายทุนที่มีอำนาจเงินมากมายมหาศาล  ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งคือ  ชาวบ้านมีเพียงสองมือเปล่าและจิตใจที่รักและหวงแหนผืนแผ่นดินเกิด  เพื่ออนาคตที่ดีของลูกหลาน  ขณะเดียวกันชาวบ้านก็ไม่มีสิทธิ  เสรีภาพ  ที่รัฐธรรมนูญรับรองให้ตามระบอบประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม  แม้การต่อสู้ครั้งนี้รัฐและทุนจะได้เปรียบและชาวบ้านเสียเปรียบ  แต่ชัยชนะไม่อาจตัดสินด้วยคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย  ผู้ที่มีหน้าที่ให้ความเป็นธรรมและตัดสินก็คือประชาชนในสังคม  ไม่ใช่เพราะสังคมนั้นมีความยุติธรรมแต่หน้าที่นั้นคือหน้าที่แห่งความเป็นมนุษย์

ภาพที่ปรากฏออกไปสู่สังคมคือ  ชาวบ้านนั่งคุกเข้าพนมมือ  สวดมนต์แผ่เมตตา  ต่อหน้าองครักษ์พิทักษ์นายทุน  ซึ่งสามารถสะท้อนเรื่องราวในสังคมได้มากมาย  ด้านหนึ่งดูเหมือนว่าชาวบ้านสยบยอมหมอบราบให้แก่อำนาจรัฐและอำนาจทุน  ขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นว่าอำนาจอันไม่ชอบธรรมภายใต้กฎอัยการศึกนั้นยิ่งใหญ่คับฟ้าเพียงใด หรือแสดงให้เห็นว่าอำนาจทุนที่พร้อมจะยื่นผลประโยชน์ให้แก่รัฐ  ไม่ว่าจะเป็นรัฐประชาธิปไตยหรือรัฐเผด็จการ  แต่ประชาชนตาดำๆ คือผู้ได้รับผลกระทบเสมอ

ทว่า  “เมื่อความอยุติธรรมกลายเป็นกฎหมาย  การต่อต้านจึงกลายเป็นหน้าที่”  ดังนั้น การต่อสู้ของชาวบ้านกลุ่มเล็กๆในชนบทห่างไกล  คือ  สายธารเดียวกันกับการต่อสู้เพื่อสิทธิ  เสรีภาพ  และประชาธิปไตย  ของปัญญาชนในเมืองหลวง  ภาพที่ชาวบ้านยืนกันสามคน “ปิดหู ปิดตา ปิดปาก”  ห้อยป้าย “อยู่เฉยๆก็โดน”  แสดงให้เห็นชัดในข้อนี้

การเคลื่อนไหวต่อสู้ของชาวบ้านนามูล-ดูนสาด  นับตั้งแต่การขนย้ายอุปกรณ์เครื่องจักรขุดเจาะ  เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2558  เป็นต้นมา  ชาวบ้านที่นั่นต้องสละเวลาทำมาหาเลี้ยงชีพ  ต้องละทิ้งไร่สวน  ไร่นา  มาชุมนุมบริเวณสี่แยกที่ขบวนขนวิ่งผ่าน  ต้องตื่นแต่เช้าทุกวันขณะที่กิจวัตรประจำวันในครัวเรือนยังไม่เสร็จสิ้น  

เช้าตรู่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2558  ขบวนขนอุปกรณ์รอบที่ 2 ก็เข้ามาอีกครั้ง  พร้อมด้วยกองกำลังชาวบ้านโพกหน้าเข้ามาสกัดไม่ให้ชาวบ้านขัดขวาง  ตามมาด้วยรถตำรวจ  ทหาร  และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง  เข้ามาตรึงกำลังเต็มสองข้างถนน  ชาวบ้านต้องหลบอยู่ข้างถนนเพราะไม่สามารถเข้าไปในถนนได้  เช้าวันนั้นเป็นเช้าที่มืดมนเหลือเกินสำหรับชาวบ้าน  แสงตะวันไม่ส่องแสงมา  บนท้องฟ้าเมฆฝนเริ่มตั้งเค้า  เป็นเช้าที่ต้องตื่นขึ้นมาพบกับความโหดร้าย

ชาวบ้านไม่สามารถทำอะไรได้  นอกจากการหลั่งน้ำตา  ร้องตะโกนด้วยความเจ็บปวดใจ  พร้อมกับคุกเข่าพนมมือสวดมนต์  และกราบลงแทบเท้าแผ่นดินเกิด  ขอขมาแม่ธรณี  หลวงปู่ดงมูน  และเจ้าพ่อคลองไทร  ที่ลูกหลานไม่สามารถปกป้องแผ่นดินของบรรพบุรุษได้  และขบวนรถขนอุปกรณ์ก็ค่อยๆเ คลื่อนไปต่อหน้าต่อตา  ชาวบ้านร้องไห้ไป สวดมนต์ไป  บางคนเอาคำข้าวเหนียวไปป้อนเหล่าองครักษ์พิทักษ์นายทุน  เพื่อที่จะบอกว่า  “คำข้าวนี้แหละที่หล่อเลี้ยงชีวิตพวกเราและลูกหลานพวกเราสืบไป  ไม่ใช่บ่อก๊าซและสารพิษที่พวกนายทุนนำมา”  

พวกนั้นได้แต่เม้มปาก ก้มหน้ามองดิน ราวกับว่าอายฟ้าอายดินและควรละอายต่อเพื่อนมนุษย์ด้วย หากว่ายังมีความเป็นมนุษย์หลงเหลืออยู่

เมื่อกองกำลังของบริษัทนายทุนอ้างว่าปฏิบัติตามคำสั่งนาย แต่ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนามูล-ดูนสาด ปฏิบัติตามคำสั่งที่สูงส่งกว่านั้น  นั่นคือ  “คำสั่งจากจิตสำนึกรู้ผิด ชอบ ชั่ว ดี ของมนุษย์”  ชาวบ้านมีจิตใจที่ห้าวหาญและเข้มแข็งพอที่จะไม่ใช้กำลังกับฝ่ายหนึ่งซึ่งเปรียบเหมือนศัตรู  หากแต่ให้ความรักในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ชาวบ้านไม่ได้เหยียบย่ำความเป็นมนุษย์ของฝ่ายตรงข้ามลง แต่ได้คืนความเป็นมนุษย์ให้ด้วยจิตใจอันบริสุทธิ์

พลังการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ของชาวบ้าน คือ พลังที่มาจากใจ แปรเปลี่ยนเป็นกระสุนอันทรงพลังเพื่อตัดขั้วหัวใจของคนที่กดขี่ตน

20151902190609.jpg20151902190609.jpg20151902190610.jpg20151902190612.jpg20151902190617.jpg20151902190619.jpg20151902190622.jpg

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ