เสียงกลองปู่จา : จากเยาวชนตำบลบ้านตุ่น

เสียงกลองปู่จา : จากเยาวชนตำบลบ้านตุ่น

การฝึกอบรมเยาวชน “ตีกลองปู่จา” เมื่อวันเสาร์ 20 – อาทิตย์ที่ 21 สค.2559 ณ วัดตุ่นใต้ ต.บ้านตุ่น อ.เมืองพะเยา จ.พะเยา

วิทยากร โดย อ.รัตนะ ตาแปง มหาวิทยาลัยพะเยา เยาวชนจาก 7 หมู่บ้าน รวม 44 คน เข้ารับการฝึกอบรม

กลองปูจา หรือกลองบูชา เป็นกลองพื้นเมืองภาคเหนือที่มีขนาดและรูปร่างใหญ่โตมาก ในอดีตมีประจำวัดทุกแห่ง และน่าจะมีมาก่อน กลองหลวง กลองปูจานั้นมีไว้ใช้ในศาสนากิจโดยเฉพาะ ใช้ตีเป็นสัญญาณเตือนให้ประชาชนในละแวกนั้นทราบว่า วันรุ่งขึ้นจะมีงานบุญ เป็นวันโกน วันศีลหรือวันพระเพื่อผู้มีศรัทธาทั้งหลายจะได้จัดเตรียมภัตตาหาร ไว้ใส่บาตรหรือนำไปถวายพระภิกษุสงฆ์ที่วัด

ครั้นถึงวันพระ เสียงกลองปูจาก็จะดังขึ้นในเวลาพระสงฆ์ที่จะเริ่มฉัน หรือในเวลาเทศน์ก็จะตีก่อนพระขึ้นธรรมาสน์ พอเทศน์จบก็จะตีเมื่อเวลาพระลงจากธรรมาสน์ เสียงกลองนี้เป็นการแสดงว่ายังมีกิจกรรมทางศาสนาพุทธอยู่ จนมีคำกล่าวไว้ในกลุ่มพุทธบริษัทว่า “หากสิ้นเสียงกลองปูจาเมื่อใด ศาสนาพุทธก็จะหมดสิ้นเมื่อนั้น…”

หุ่นกลองปูจาใช้ลำต้นไม้เนื้อแข็งทั้งต้น คว้านเนื้อในออกให้กลวง แล้วจึงขึงหนังสองหน้า ยึดด้วยการตอกหมุดซึ่งทำด้วยไม้เป็นลิ่มเล็กๆ ตอกยึดไว้ให้เหลือปลายหมุดยื่นออกมาในลักษณะสลับฟันปลา บางลูกมีขนาดใหญ่มากพอที่คนจะเข้าไปนั่งภายในกลองได้ ดังเช่นที่ปรากฏในนิทานชาดกเรื่อง คาวี เวลานำไปใช้งานจึงมักต้องใส่รถลากไป หน้ากลองปูจามีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 83-85 ซม. ความยาวตลอดหุ่นกลองประมาณ 173-175 ซม.

เมื่อจะใช้งานต้องมีกลองขนาดเล็กมาเข้าเป็นชุดอีก 3 ใบ เรียกว่า ลูกตุบ แต่ละใบมีขนาดแตกต่างกันไป วางเรียงเคียงกันอยู่ โดยที่ลูกใหญ่สุดหน้ากลองมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 28 ซม. ลูกรองลงมาประมาณ 26 ซม. และลูกเล็กประมาณ 24 ซม. ความยาวของหุ่นลูกตุบทั้ง 3 ลูก ประมาณ 38 ซม. โดยขึ้นหนังหน้าเดียว ยึดหนังด้วยการตอกหมุดเหมือนกลองใหญ่ ตั้งไว้รวมกัน บางแห่งตั้งไว้ทางซ้าย บางแห่งตั้งไว้ทางขวาของผู้ตี บางแห่งตั้งกลองขนาดเล็ก 3 ลูก เป็น 3 จุด ลักษณะเดียวกับเครื่องหมาย “เพราะฉะนั้น” ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความถนัดของผู้ตี ไม่มีกฎข้อห้ามบังคับใดๆ

ทำนองที่ใช้ตีกลองปูจานี้ มี 3 ทำนอง ซึ่งมีชื่อเรียกไม่เหมือนกัน บางแห่งเรียกทำนองล่องน่าน ทำนองแซะ และทำนองสะบัดชัย แต่บางแห่งเรียกทำนองเสือขบตุ๊ สาวหลับเตอะ และสะบัดไชย 

ลองปูจานั้นได้ถูกย่อส่วนกลองให้มีขนาดเล็กลงเพื่อสะดวกในการเคลื่อนย้าย เพื่อนำไปใช้ในขบวนแห่ประโคมต่างๆ จนเป็นที่รู้จักกันในชื่อ กลองสะบัดชัยในปัจจุบัน

ขอขอบคุณ นายรัฐวุฒิชัย ใจกล้า นายก อบต.บ้านตุ่น และ อ.จรัญ ใจยืน ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลบ้านตุ่น ที่มีโครงการดี ๆ อย่างนี้ให้กับน้อง ๆ เยาวชนตำบลบ้านตุ่น..

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ