หลังจาก นายสนอง แก้วอำไพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก พร้อมด้วยกำลังทหารจากค่ายกฤษณ์สีวะรา บุกเข้าทำลายโค่นตัดฟันต้นยางพาราไปกว่า 2,000 ต้น ซึ่งเป็นสวนยางในจำนวน 18 ไร่ ของนางจันทรา บังหอม อายุ 82 ปี ชาวบ้านหนองแวง หมู่ 19 ต.วาริชภูมิ อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2558
วันที่ 17 พ.ค.58 นักข่าวพลเมืองพูดคุยกับนางจันทรา บังทอง เจ้าของสวนยางพาราที่ถูกตัดโค่น ได้รับข้อมูลว่า สวนยางแปลงที่ถูกตัดไปนี้ได้มาโดยการจับจอง โดยเข้าทำประโยชน์ในปี 2528 เริ่มต้นด้วยการปลูกพริก ฝ้าย มะม่วง กระทั่งปี 2550 รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้ปลูกยางพารา และเห็นว่าราคาดี จึงหันมาเปลี่ยนมาปลูกยางแทน ซึ่งตอนนี้สวนแปลงนี้เป็นทั้งความหวังและที่พึ่งสุดท้าย คือทุกสิ่งทุกอย่างในครอบครัว ตอนนี้กลับมาถูกเจ้าหน้าที่ตัดยางในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการกระทำที่กระทบต่อความรู้สึกของเกษตรกรอย่างมาก ความรู้สึกที่ขาดที่ดินทำกินก็ไม่ต่างไปกับการขาดผู้นำครอบครัว สุดท้ายนี้ชีวิตมืดมนไปหมด ไร้หนทาง กลัวว่าทหารจะเข้ามาไล่วันไหนอีก
นางจันทรา เล่าให้ฟังทั้งสะอื้นว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นช่วงชีวิตที่ทั้งเศร้าเจ็บปวด และสะเทือนใจที่สุด เสียใจไม่ต่างไปกับการสูญเสียสามีที่มาประสบอุบัติเหตุทางรถจักรยานล้มหัวฟาดพื้นไปเมื่อปี 2539 แต่นั้นมาภาระที่บ้านต้องตกอยู่กับยายมาโดยตลอด วัยของยายก็ผ่านชีวิตมาถึงเพียงนี้แล้ว ขณะนี้ความรู้สึกกลับมาถูกผสมไปด้วยความสะเทือนใจ หดหู่ ที่มาถูกกระทำอย่างไร้ความปราณี เหมือนชีวิตดูไร้ความหมาย
“ลูกๆ ทั้ง 9 คน เสียชีวิตด้วยป่วยเป็นโรคปอดบวมไปถึง 2 คน ส่วนลูกชายอีกคนก็หายสาบสูญไปตั้งแต่อายุตอน 14 ปี ที่ยังมีชีวิตต่างก็แต่งงานแยกไปอยู่กับครอบครัวกันหมดแล้ว สภาพตอนนี้ยังคิดไม่ออก เหมือนกับหมดสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะสวนยางมาถูกทหารตัดทิ้งไป การทำมาหากินจะทำอย่างไรต่อ จะเอาเงินที่ไหนมาใช้จ่ายในครอบครัว ทั้งให้หลานๆ ไปโรงเรียน ขณะนี้ก็เป็นหนี้ ธกส. ที่อยู่ในช่วงระหว่างพักหนี้มา 3 ปีแล้ว ปีหน้าต้องเริ่มจ่าย ปีละ 25,000 บาท รวม 10 ปี ที่ต้องชำระ ซึ่งค่าใช้จ่ายทุกอย่างก็ได้มาจากรายได้สวนยางแปลงนี้
ปัจจุบันนี้อาศัยอยู่กับครอบครัวของลูกชายคนที่ 8 (นายสาโรจน์ บังหอม) รวมแล้ว 5 คน ขณะช่วงที่ผ่านมาสินค้าอย่างอื่นราคาแพงขึ้น เกิดหนี้สินตามมา ทำให้ค่าใช้จ่ายไม่เพียงพอ ลูกชายกับลูกสะใภ้ต้องไปทำงานหารับจ้างที่กรุงเทพฯ ใครจะมาดูแลยายไม่สำคัญเท่าไร แต่ยายจำต้องมีภาระเลี้ยงหลานของลูกชาย ด้วยที่ดินแปลงนี้ และมาโค่นทิ้งไป ใครจะรับผิดชอบต่อครอบครัวของยาย” นางจันทรา กล่าว
อนึ่ง การปลูกยางพารานั้น โดยหลักการทั่วไปหากต้องการรายได้ต้องใช้วิธีการกรีดเพื่อให้ได้น้ำยางไปขาย แต่การปฏิบัติการครั้งนี้ใช้วิธีโค่นทิ้งทั้งต้นซึ่งเกษตรกรปกติไม่ทำกัน นอกจากนี้พื้นที่ดังกล่าวยังมีข้อตกลงคณะทำงานแก้ไขปัญหาเครือข่ายไทบ้านผู้ไร้สิทธิสกลนครเมื่อ ปี 2553 และคำสั่ง 66/57 ระบุให้สวนแปลงนี้อยู่ระหว่างชะลอดำเนินการ รวมทั้งมีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ อันจะสร้างปัญหาและผลกระทบต่อความปกติสุขของประชาชน แต่นายสนอง แก้วอำไพ ไม่รับฟังแต่อย่างใด พร้อมยังให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้าควบคุมพื้นที่ไม่ให้ชาวบ้านเข้าไป