เครือข่ายรัฐธรรมนูญคนจน 69 องค์กร ชี้ปัญหาชาติ ความแตกแยกทางสังคม แก้ไขได้ด้วยการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นของประชาชน ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันผลักดันร่างรัฐธรรมนูญใหม่ภายใต้หลักการประชาธิปไตย และร่วมติดตาม ตรวจสอบ การทำงานของรัฐบาลใหม่ให้ทำหน้าที่ตามสัญญาประชาคม พร้อมขยายเครือข่ายภาคประชาชนที่ยึดมั่นในหลักประชาธิปไตย
29 เม.ย. 2566 – หลังจบเวที “พรรคการเมืองกับการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่” ที่มี 8 พรรคการเมืองเข้าร่วม ตอบ 4 คำถามของเครือข่ายภาคประชาชน เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2556 รองศาสตราจารย์ ดร.สามชาย ศรีสันต์ เครือข่ายรัฐธรรมนูญคนจน เป็นตัวแทนอ่านคำประกาศเจตนารมณ์ ชี้ปัญหาของชาติมาจากรัฐธรรมนูญ ปี 2566 ระบุความต้องการ ร่วมกันผลักดันสังคมภายใต้หลักการประชาธิปไตย เพื่อบรรลุผลให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง
อีกทั้ง จะร่วมกันรักษาปกป้องรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญที่มาจากและเป็นของประชาชน ให้ยั่งยืนสถาพรสืบไป
แถลงการณ์ดังกล่าวมีรายละเอียด ดังนี้
คำประกาศเจตนารมณ์
เครือข่ายรัฐธรรมนูญคนจน 69 องค์กร
พวกเราเครือข่ายรัฐธรรมนูญคนจน 69 องค์กร มีฉันทามติร่วมกันว่า ปัญหาความไม่มั่นคงทางการการเมือง การมีผู้นำสูงสุดซึ่งขาดวุฒิภาวะ ไม่ยึดมั่นในหลักประชาธิปไตย ขาดคุณธรรม จริยธรรม ละเมิดสิทธิมนุษยชน มีกริยามารยาทก้าวร้าวใช้ความรุนแรง ตลอดจนความตกต่ำทางเศรษฐกิจ ประเทศต้องมีภาระหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้นมากที่สุดในประวัติศาสตร์ การเพิ่มขึ้นของความเหลื่อมล้ำ การกระจายรายได้ ทรัพย์สิน การถือครองปัจจัยการผลิต เป็นความยากจนเชิงสัมพัทธ์ซึ่งติดอันดับหนึ่งของโลก รวมถึงปัญหาความแตกแยกทางสังคมที่ร้าวลึกลงไปถึงระดับครอบครัว มีการคุกคามทำร้ายคนหนุ่มสาว เยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติ และกลายเป็นสงครามระหว่างรุ่นของคนในชาติ ตลอดจนปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เหล่านี้ ล้วนมีที่มาจากรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในปัจจุบันที่ยกร่างขึ้นภายใต้การกำกับ ควบคุมของคณะรัฐประหารที่ต้องการสืบทอดอำนาจ รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่จำกัดสิทธิ อำนาจ และโอกาสของประชาชน เป็นรัฐธรรมนูญที่ทำให้ประชาชนทุกข์ยากลำบาก โดยไม่เห็นหัวประชาชน
พวกเราในนาม เครือข่ายรัฐธรรมนูญคนจน 69 องค์กร เห็นพ้องต้องกันว่า ความเสื่อมทรามในการทำหน้าที่ของสถาบันหลักของชาติ ความแตกแยกทางสังคม และความล้าหลังถดถอยของการพัฒนาประเทศ จะสามารถแก้ไขได้ด้วยการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในทุกหมวด ทุกมาตรา
เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนที่ให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ประชาชนใช้อำนาจผ่านสถาบันทางการเมืองที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและการประชามติ เปลี่ยนผ่านการรวมศูนย์อำนาจที่ให้รัฐเป็นผู้จัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรมาสู่การให้ประชาชนเป็นเจ้าของ บนพื้นฐานของความเท่าเทียมในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพื่อสร้างประโยชน์สุขให้กับประชาชนมิใช่เป็นไปเพื่อความมั่นคงของการบริหารราชการแผ่นดิน หรือความมั่นคงของรัฐ
เราจึงประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันไว้ ณ ที่นี้ว่า
1. เราจะร่วมกันผลักดัน รณรงค์ เคลื่อนไหวทางสังคม ภายใต้หลักการประชาธิปไตย ความเสมอภาค และหลักสิทธิมนุษยชน เพื่อบรรลุผลให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่เป็นของประชาชนอย่างเท้จริง
2. เราจะร่วมกันติดตาม ตรวจสอบ การทำงานของรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง ตลอดจนการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระ ศาล และองค์กรของรัฐ ให้ทำหน้าที่ตามสัญญาประชาคมที่ให้ไว้กับประชาชน
3. เราจะขยายเครือข่ายภาคประชาชน ที่ยึดมั่นในหลักประชาธิปไตย เห็นคุณค่า ความเท่าเทียมกันในความเป็นมนุษย์ และเชื่อมั่นว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย มาร่วมกันสร้างให้เกิดระบบการถ่วงดุลยอำนาจ ที่ไม่ใช่เพียงอำนาจบริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติที่มีลักษณะสมยอมการใช้อำนาจ ให้เป็นอำนาจที่ได้รับการถ่วงดุลยโดย อำนาจของประชาชน
โดยจะร่วมกันรักษาปกป้องรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย ที่มาจาก และเป็นของประชาชน ให้ยั่งยืนสถาพรสืบไป
เครือข่ายรัฐธรรมนูญคนจน 69 องค์กร
28 เมษายน 2566