เปิดเสรีการลงทุนอาเซียน… เปิดความเห็น ‘สภาเกษตรกรแห่งชาติ’

เปิดเสรีการลงทุนอาเซียน… เปิดความเห็น ‘สภาเกษตรกรแห่งชาติ’

19 มี.ค. 2558 สภาเกษตรกรแห่งชาติเผยแพร่ข้อมูล ความเห็นต่อกรณีการเปิดเสรีการลงทุนอาเซียน ซึ่งจะมีการพิจารณาในอนุกรรมการศูนย์อำนวยการเตรียมความพร้อมของประเทศไทย สู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนครั้งที่ 2/2558 ในวันนี้ (19 มี.ค.) โดยเฉพาะใน 2 ประเด็นหลัก คือ เปิดเสรีการลงทุนปลูกป่า และเปิดเสรีลงทุนแก่นักลงทุนนอกอาเซียน

20151903151529.png

ความเห็นของสภาเกษตรกรแห่งชาติกรณีการเปิดเสรีการลงทุนอาเซียน

ซึ่งจะมีการพิจารณาในอนุกรรมการศูนย์อำนวยการเตรียมความพร้อมของประเทศไทย

สู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนครั้งที่ 2/2558

วันที่ 19 มีนาคม 2558 

ประเด็นการพิจารณาเกี่ยวกับการเปิดเสรีการลงทุนในการประชุมครั้งที่ 2/2558

1)    ขอให้กรมป่าไม้หารือกับ รมว.กระทรวงทรัพยากรฯ เรื่องการเปิดเสรีการทำไม้จากป่าปลูก เพื่อให้เสนอว่าจะให้มีการเปิดเสรีการปลูกป่าชนิดใด และให้ดำเนินการภายใน 2-3 เดือน (นับตั้งแต่การประชุมเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558) โดยกรมป่าไม้เคยเสนอเปิดเสรีการทำไม้สักและยางนาต่อคณะรัฐมนตรีก่อนหน้านี้แล้วแต่ไม่ได้รับความเห็นชอบ

2)    ขอให้บีโอไอถอดข้อสงวนของไทยใน Headnote ของความตกลงการลงทุนอาเซียน (ACIA) โดยเดิมประเทศไทยขอสงวนการลงทุนยกเว้น “นักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนในอาเซียน” (Foreign-owned Asian-based Investors) ไม่ให้ได้สิทธิเดียวกับนักลงทุนอาเซียน 

ความเป็นมา

1. คณะรัฐมนตรีสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เคยมีการพิจารณาเรื่องการยกเลิกการเปิดเสรีที่ประเทศไทยได้สงวนไว้ชั่วคราวได้แก่ 1.การเพาะ ขยาย และปรับปรุงพันธุ์พืช 2.การทำไม้จากป่า 3.การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ในขณะนั้นได้เห็นชอบตามข้อเสนอของบีโอไอที่จะให้มีการเปิดเสรีทั้ง 3 สาขาดังกล่าว 

แต่ ศ.ระพี สาคริก และองค์กรภาคประชาชน 103 องค์กรได้เคลื่อนไหวคัดค้านเรื่องนี้ เช่นเดียวกับคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายไกรศักดิ์ ชุณหวัน และคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์  ที่ปรึกษานายกฯ และประธานคณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติ ที่ได้ส่งจดหมายไม่เห็นด้วยกับการเปิดเสรีใน 3 สาขาดังกล่าว  รัฐบาลในขณะนั้นจึงได้ชะลอเรื่องนี้เอาไว้ก่อน และให้มีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว

2.เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2554 ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รัฐสภาได้เห็นชอบให้มีการเปิดเสรีบางด้านใน 2 สาขาที่เห็นว่าประเทศไทยยังขาดความพร้อมและไม่กระทบต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้องคือ

–    การเพาะขยายพันธุ์พืช ให้เปิดเสรีเฉพาะหอมหัวใหญ่

–    การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ให้เปิดการลงทุนเฉพาะการเลี้ยงกุ้งมังกรสายพันธุ์ไทย และการเลี้ยงทูน่าในกระชังน้ำลึก

หลักการพิจารณาเรื่องนี้

1.ที่ประชุมต้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบเพราะเกี่ยวข้องกับการเปิดเสรีที่มีผลกระทบต่อประชาชนเป็นจำนวนมาก และเกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ รัฐบาลทั้ง 2 ชุดที่ผ่านมาได้ดำเนินการอย่างรอบคอบและฟังเสียงของประชาชนตามสมควร คณะทำงานภายใต้รัฐบาลนี้ต้องรอบคอบให้มากเพราะถูกจับตามองจากประชาชนทุกฝ่าย

2.การเปิดเสรีการลงทุนนั้น “ประเทศสมาชิกสามารถสงวนกิจการที่ยังไม่พร้อมเปิดเสรี และสงวนมาตรการที่เป็นเงื่อนไขสำหรับนักลงทุนต่างชาติ ไว้ในรายการข้อสงวนได้ และ รายการข้อสงวนของแต่ละประเทศมีจำนวนกิจการและมาตรการที่สงวนไว้ไม่เท่ากัน ความเข้มงวดของเงื่อนไขไม่เท่ากัน”  เพียงแต่ต้องไม่เป็นการย้อนกลับการเปิดเสรีที่ได้ประกาศไว้แล้ว (No Backtracking) การเปิดเสรีการลงทุน ACIA จึงยืดหยุ่นกว่ามากเมื่อเทียบกับเรื่องการเปิดเสรีสินค้า (ATIGA)

3.ควรคำนึงถึงบทเรียนจากการเปิดเสรีสินค้าให้มาก เพราะแม้แต่สาขาที่เราคิดว่าเข้มแข็งเช่นเรื่องข้าวเรากลับได้รับผลกระทบมากจากต้นทุนข้าวของเราที่สูงกว่าเพื่อนบ้าน โดยเราไม่ได้สงวนเรื่องข้าวไว้ในรายการอ่อนไหวสูง ภาษีของประเทศไทยจึงเป็นศูนย์ ในขณะที่ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซียต่างมีการกำหนดภาษีไว้ที่ 35% 25% และ 20% ตามลำดับแม้เมื่อพ้นปี 2558 ไปแล้วก็ตาม

4.การตัดสินใจในเรื่องนี้ไม่สามารถยุติในห้องประชุมได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 23 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวบัญญัติไว้ว่าต้องเสนอต่อ สนช.ในการพิจารณา ดังนี้

“มาตรา 23 พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพสัญญาสงบศึก และสัญญาอื่นกับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ

หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขต ซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือที่กระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง ต้องได้รับความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในการนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง

หนังสือสัญญาที่กระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวางตามวรรคสอง หมายถึง หนังสือสัญญาเกี่ยวกับการค้าเสรี เขตศุลกากรร่วม หรือการให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติหรือทำให้ประเทศต้องสูญเสียสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมดหรือบางส่วน หรือการอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ”

ข้อเสนอ

1.การทำป่าไม้จากป่าปลูก (อยู่ในกิจการในบัญชี 3 แนบท้าย พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542) ควรเป็นอาชีพสงวนที่ไม่ควรเปิดเสรี เช่นเดียวกับการทำนา ทำสวน ทำไร่ (อยู่ในบัญชี 1 พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าว) เนื่องจาก

– เกี่ยวข้องกับการใช้ที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติไม่แตกต่างหรืออาจอ่อนไหวยิ่งกว่าการทำนา ทำสวน ทำไร่

– ประชาชนมากกว่า 1 ล้านครอบครัวที่ไม่มีที่ดินและอาศัยอยู่ในเขตป่า และเกษตรกรอีกนับล้านคนที่ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง การอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อการปลูกป่าเป็นเรื่องไม่สมควรทำ เพราะจะสร้างความขัดแย้งในสังคมมากยิ่งขึ้นไปอีก

– เกษตรกรรายย่อย และวิสาหกิจท้องถิ่นสามารถปลูกป่าได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องอาศัยข้ออ้างว่าประเทศไทยขาดแคลนนักลงทุนหรือเทคโนโลยีจากต่างชาติ

– รูปแบบการทำไม้ของต่างชาติจะเป็นการปลูกป่าเชิงเดี่ยวเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งไม่ได้นำไปสู่การฟื้นฟูระบบนิเวศน์ ซึ่งควรเป็นรูปแบบวนเกษตร หรือการฟื้นฟูป่าธรรมชาติในรูปแบบป่าชุมชน

– ข้อเสนอให้มีการเปิดเสรีการปลูกป่าโดยระบุจำเพาะชนิดของไม้ (เช่น สัก หรือ ยางนา ฯลฯ) นั้น ในที่สุดแล้วจะกระทบกับปัญหาความขัดแย้งของการใช้ที่ดินซึ่งมีปัญหามากอยู่แล้วอยู่ดี

2.ไม่เห็นด้วยที่จะมีการถอดข้อยกเว้นเกี่ยวกับการขยายการเปิดเสรีให้กับนักลงทุนต่างชาติที่ได้ลงทุนในอาเซียนให้มีสถานะเหมือนนักลงทุนอาเซียน เพราะเท่ากับเปิดช่องให้กับนักลงทุนทั่วโลกนั่นเอง 

– ที่ประชุมควรตระหนักว่าการเปิดเสรีการลงทุนเป็นเรื่องใหญ่มาก แม้แต่ประเทศอุตสาหกรรมเองก็อ่อนไหวในเรื่องนี้ การผลักดันให้มีการเปิดเสรีการลงทุนใน WTO จึงไม่สามารถทำได้ เพราะการคัดค้านจากหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส เป็นต้น

– การเปิดเสรีให้นักลงทุนนอกอาเซียนที่ได้ลงทุนในอาเซียนนั้น นอกจากจะกระทบกับเกษตรกรรายย่อย วิสาหกิจขนาดเล็กแล้ว แม้แต่กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ยังกังวลกับเรื่องนี้

“หากเปิดเสรีจะมีนักลงทุนจากตะวันออกกลางอาศัยประเทศอาเซียนทั้งมาเลเซีย สิงคโปร์เข้ามาลงทุนในธุรกิจ เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยเฉพาะกุ้งซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทยมีสัดส่วน 50% ของอาเซียนทั้งหมด และมีศักยภาพใน การส่งออกสูง ทั้งนี้นักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะตะวันออกกลางมีเงินทุนมาก หากสามารถเข้ามาถือหุ้นในสัดส่วนมากกว่า 60% มีโอกาสที่จะเข้ามาเทกโอเวอร์ธุรกิจนี้ในไทย ซึ่งน่าเป็นห่วงผู้เลี้ยงกุ้งรายย่อยต้องกลายสภาพเป็นลูกจ้างของนักลงทุนต่างชาติ”

ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 08 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4147  “ธุรกิจเกษตรหวั่นเสรีลงทุน เปิดทางนักลงทุนอาเซียนถือหุ้นเกิน 60%”

– ในการประชุมคณะทำงานความตกลงอาเซียน (WG ACIA) ครั้งที่ 8 แม้ในความตกลงจะเขียนขยายการเปิดเสรีการลงทุนให้ครอบคลุมนักลงทุนต่างชาติซึ่งหลายประเทศเห็นด้วยในหลักการ แต่ก็อนุญาตให้แต่ละประเทศสามารถเขียนสงวนก็ได้ตามกฎหมายและเงื่อนไขของแต่ละประเทศ

3.หลังจากมีการพิจารณาและมีมติในเรื่องนี้ สมควรเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทุกกลุ่ม ไม่เฉพาะภาคธุรกิจ แต่ต้องรวมเกษตรกรรายย่อย และประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตป่าด้วย ก่อนเสนอให้ ครม.พิจารณา และเมื่อผ่านการพิจารณาแล้วต้องเสนอให้ สนช.พิจารณาก่อนดำเนินการปรับปรุงตารางข้อสงวนของประเทศไทยภายใต้ ACIA 

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ