“เสียงประชาชน” คือ ต้นทางสำคัญในการนำมาออกแบบ “อนาคตประเทศไทย” โดยเฉพาะในห้วงยามสำคัญที่ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 หลังจากสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ครบวาระ 4 ปี ในวันที่ 23 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา
กองบรรณาธิการอยู่ดีมีแฮงและเครือข่ายสื่อพลเมือง จึงชวนคุยเว้าจาเพื่อฟังเสียงประชาชน ผู้ซึ่งจะร่วมออกแบบ “อนาคตประเทศไทย” ต่อเนื่องจากเวที Post-Election : ภาพอนาคตหลังเลือกตั้งในหลายประเด็น รวมถึง “แรงงาน”
ทุกคนเป็นแรงงานไหม ?
“ถ้าถามนโยบายความสำคัญด้านแรงงาน เราต้องตั้งคำถามว่าทุกคนเป็นแรงงานไหม มันจะมีคำตอบชัดเจนเลยว่า ประเด็นแรงงานสำคัญขนาดไหน” ‘วิชัย นราไพบูลย์’ ผู้จัดการพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ชวนคิดแทนคำตอบของคำถาม “นโยบายด้านแรงงานอะไรที่สำคัญและเร่งด่วน” ซึ่งผู้นำประเทศคนใหม่ ว่าที่รัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศหลัง 14 พฤษภาคมนี้ ต้องดำเนินการ
“ทุกคนทำงานเพื่อต้องการค่าตอบแทน สิ่งที่ต้องมาพิจารณา คือ 1.ค่าจ้างที่มันเพียงพอต่อการให้เขาดำรงชีวิต และสามารถเลี้ยงครอบครัวได้ 2.มีสวัสดิการที่จะทำให้เกิดความมั่นคงในชีวิตไม่ว่าจะสาขาอาชีพไหนก็ไม่หลุดจากความต้องการสองสิ่งเหล่านี้
แต่ประเด็นที่เรามาขับเคลื่อนด้านการเมือง กลับกลายเป็นประเด็นที่ถูกแยกเป็นชิ้นย่อย ๆ แล้วก็มาเถียงกัน เช่น ถ้าขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำก็จะทำให้นายทุนจ่ายไม่ได้ คนที่ลงทุนก็จะหนี โดยเราลืมไปว่าคนที่ได้เงิน คือ คนไทยซึ่งเป็นแรงงานในประเทศที่มีจำนวนกว่า 40,000,000 คน ที่จะได้ประโยชน์จากตรงนี้
ขณะที่นายทุนที่เป็นผู้ลงทุนมาจากต่างประเทศ เขาก็จะเอากำไรกลับไป เราลืมชั่งน้ำหนักว่า ตกลงแล้วเราจะช่วยใครกันแน่ก็เลยเกิดประเด็นนโยบายการขับเคลื่อนทางการเมือง ในชิ้นที่มันเล็ก ๆ”
สังคมไทยต้องมีรายได้สูง
“เราควรจะทำให้สังคมไทยเราเป็นสังคมที่มีรายได้สูง แต่ถ้าจะทำอย่างงั้นได้จะเรียกร้องอย่างเดียวก็ไม่ได้ การเรียกร้องสวัสดิการหรือว่าค่าแรงที่สูง ฝ่ายนายทุนไม่เคยปฏิเสธว่าแรงงานเดือดร้อน ไม่เคยปฏิเสธเหตุผลนี้เลย แต่เขากลับตอบว่าเขาให้ไม่ได้เพราะเขาจะไม่สามารถแข่งขันกับตลาดได้ ถ้าแรงงานมีราคาสูงมีต้นทุนที่สูงเขาก็ต้องย้ายฐานการผลิตไปที่อื่นที่มีสวัสดิการที่ต่ำกว่าเพื่อให้แข่งขันให้ได้ กลายเป็นว่าถามอย่างหนึ่งตอบอีกอย่างหนึ่ง
มันจะนำมาสู่การยกระดับรายได้ที่เราจะต้องยกระดับรายได้ให้ได้ คนที่จะจ่ายรายได้ให้กับแรงงานมันก็ควรจะเป็นสถานประกอบการที่สามารถจ่ายได้ แล้วต้องเป็นทุนที่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสูง แต่เรายังเป็นทุนที่มีอุตสาหกรรมทางเทคโนโลยีที่ล้าหลัง เราก็จะเถียงกันอยู่อย่างนี้และเราก็จะยังรักษาอุตสาหกรรมที่ล้าหลังดึงให้ประเทศเราล้าหลังประเทศไปไหนไม่ได้ ส่งผลกระทบมาถึงคนส่วนใหญ่ของสังคมซึ่งเป็นแรงงาน”
คนทำงาน ทุกคนเป็นแรงงาน
“ถ้าคนที่เป็นแรงงานมีค่าจ้างที่ต่ำ มันส่งผลไปถึงสังคม มันกลายเป็นสังคมที่ไม่มีคุณภาพเป็นสังคมที่มีปัญหา มีความเหลื่อมล้ำเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย ที่เป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าประเด็นแรงงาน ระดับนโยบายต้องพูดกันที่ไม่ใช่เชิงประเด็นแล้ว ต้องยกระดับเป็นแนวคิดจะพัฒนาให้ประเทศนี้ไปทางทิศทางไหน”
การสื่อสารสร้างความเข้มแข้งแก่ “แรงงาน”
นักสื่อสารแรงงานเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2552 ตอนนั้นพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยซึ่งทำงานไกล้ชิดกับกระบวนการแรงงาน เห็นว่าแรงงานเขามีประเด็นที่ต้องสื่อสารเยอะมาก เขาต้องสื่อสาร 2 ระดับ
ระดับแรก คือ กับสมาชิกของเขาซึ่งก็เกิดปัญหามากมายเพราะว่าในสถานประกอบการ มันมีกฎระเบียบเยอะที่จะทำให้การสื่อสารมีอุปสรรคมาก และส่งผลกระทบไม่แน่นแฟ้นภายในองค์กร นำมาสู่การไม่มีความเข้มแข็ง อีกระดับหนึ่งที่เขาต้องสื่อสารคือระดับสังคม เพื่อให้เกิดนโยบายที่ดีต่อแรงงานได้ในทุกกลุ่ม อันนี้ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่เลยเพราะว่าการขับเคลื่อนของแรงงาน แม้ว่าทุกประเด็นจะเป็นประโยชน์ต่อสังคม ค่าจ้าง สวัสดิการ สุขภาพ ความปลอดภัย
แต่ว่าการขับเคลื่อนแบบนี้กับสังคม กลับมองว่ามันเป็นการก่อความวุ่นวาย ที่น่าหนักใจมากกว่านั้นก็คือแม้แต่สื่อมวลชนก็อาจจะไม่เข้าใจประเด็นแรงงานจึงทำให้เวลาการสื่อสารออกไป จึงเป็นเรื่องการกีดขวางการจราจร การปิดถนน บางทีก็มีเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เสพติดสิ่งมึนเมา หรือมีการปราศรัยที่หยาบคาย ซึ่งจริง ๆ แล้วมันเป็นธรรมชาติของการขับเคลื่อน
แต่ประเด็นที่สำคัญกลับไม่ถูกรายงานออกไป เพราะฉะนั้นแนวคิดที่จะสื่อสารที่จะพูดและรายงานเรื่องของตัวเองออกไปจึงเกิดขึ้น
เราทุกคน คือ แรงงาน
เราทุกคน คือ แรงงาน คำตอบของคำถาม “เราทุกคนเป็นแรงงานไหม ?” จาก ‘วิชัย นราไพบูลย์’ เป็นส่วนหนึ่งที่จะย้ำและชี้ชัดถึงความสำคัญของนโยบายด้านแรงงานจากพรรคการเมือง ที่ไม่ใช่เพียงราคาค่าแรง หรือ ค่าตอบแทนรายวัน รายเดือน แต่นโยบายที่จะทำต้องยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน ทั้ง 1.ค่าจ้างที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต และสามารถเลี้ยงครอบครัวได้ 2.สวัสดิการที่จะทำให้เกิดความมั่นคงในชีวิต คือ โจทย์ใหญ่ที่พรรคการเมืองต้องคำนึงและขับเคลื่อนอย่างจริงจังและจริงใจ