เมื่อทางจักรยาน ระบาด !! ไปทั่ว(มั่ว)
หัวเรื่องอาจดูระคายผัสสะของหลายๆท่านที่เป็นนักปั่นเอามากๆ แต่ก็ต้องบอกว่าเป็นความจริงนะครับ ช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมาผมมีโอกาสลงพื้นที่หลายพื้นที่ บางพื้นที่ รู้สึกว่ากำลังเกิดความขัดแย้งกันเรื่องการพัฒนาเส้นทางจักรยาน ด้วยมีเงินก้อนโตจากหน่วยงานรัฐหรือรัฐวิสาหกิจกระจายลงมายังพื้นที่ แหล่งข่าวแจ้งคร่าวๆว่าเขามีเงื่อนไขให้ทำเส้นทางจักรยานที่ตอบโจทย์เรื่องการท่องเที่ยว
ผมเลยมีคำถามขึ้นมาในหัวตัวเองว่า ทางจักรยานมีความจำเป็นในทุกพื้นที่จริงหรือ?
เรามาลองวิเคราะห์กันดูนะครับว่า ใครต้องการทางจักรยาน? แน่นอนต้องเป็นผู้ใช้จักรยานเป็นอันดับต้นๆ รองลงมาอาจคือกลุ่มผู้ใช้รถยนต์
แล้วผู้ใช้จักรยานทั้งหลายต้องการทางจักรยานเพราะอะไร อันนี้ตอบแทนทุกคนไม่ได้ แต่เท่าที่สำรวจและสอบถามมา จะตอบคล้ายกันทั้งขาใหม่ขาเก่าจักรยานว่า ต้องการเพราะเชื่อว่าจะปลอดภัย ส่วนผู้ใช้รถยนต์บอกว่าอยากให้มีเพราะไม่อยากให้จักรยานมาเกะกะบนถนน แต่ต้องไปทำที่อื่น ฟุตบาทหรือที่ไหนก็แล้วแต่ อย่ามาแบ่งเลนถนน เพราะแคบและรถติดอยู่แล้ว
ความไม่ปลอดภัยของผู้ใช้จักรยานเกิดจากอะไรบ้างล่ะ? วิเคราะห์และสอบถามต่อไปอีกคำตอบอันดับต้นๆก็ประมาณว่า เพราะผู้ขับขี่ยานยนต์อื่นไม่เห็นผู้ใช้จักรยานมีตัวตนบนพื้นถนน เออ อันนี้น่าจะจริงก็ในเมื่อชาวบ้านชาวเมืองเขาใช้จักรยานมาตั้งนานแล้วเรายังรู้สึกเฉยๆไม่เด่น ไม่มีตัวตนเลย เมื่อไม่เห็นเขามีตัวตนก็เท่ากับเราไม่ให้เกียรติการมีส่วนร่วมในการใช้ถนนสินะ มองว่าชาวบ้านที่ขี่จักรยานต่ำต้อย พาหนะของคนจน เกะกะถนน แม้แต่ชาวบ้านหรือผู้ใช้จักรยานทั่วๆไปในยุคที่ผ่านมาก็พลอยคิดตามเช่นนั้น ไม่เรียกร้องสิทธิ เรียกว่า ไม่หือ ไม่อือ ขี่บ้างจูงบ้างตามขอบทาง ตามหมู่บ้าน และต้องคอยหยุดและให้ทางรถยนต์ รถมอเตอร์ไซด์เสมอ
เวลาผ่านไปกระแสรักษ์โลกเริ่มมาแรง คนระดับกลางหลายคนหลายกลุ่มหันมาใช้จักรยานทั้งเพื่อออกกำลังกาย ท่องเที่ยว และใช้เป็นพาหนะเดินทางฝ่ารถติดไปทำงาน เมื่อคนที่มีปากมีเสียงในสังคมหันมาใช้จักรยานมากขึ้น ก็ต่างมีความพยายามที่จะสร้างตัวตนของตัวเองให้มีส่วนร่วมบนถนน ซึ่งความจริงแล้วก็ควรจะเป็นเช่นนั้นมานมนานแล้ว
ด้วยเหตุผลฉันรักษ์โลก ฉันเสียสละไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ฉันฯลฯ.คุณต้องแบ่งเลนมาให้ฉัน คุณต้องทำถนนให้เรียบ คุณต้องทำฝาท่อให้เรียบและเป็นแนวขวาง คุณต้องเว้นระยะห่างให้ฉัน คุณต้องสร้างทางแยกเฉพาะมาให้ฉัน คุณต้อง ฯลฯ.
นานเข้า นานเข้ากระแสจักรยานก็ยิ่งมาแรงขึ้นเรื่อยๆเพราะจากที่หลายๆคนมองว่าคนขี่จักรยานคือคนบ้า ทนแดด ทนฝน ทนเหนื่อย ทั้งที่มีทางเลือกในการเดินทางและออกกำลังกายที่ดีกว่ามากมาย แต่จำนวนผู้ใช้ก็มากขึ้นเป็นทวีคูณ กอปรกับผู้ใช้จักรยานดั้งเดิมอย่างชาวบ้าน ตาสี ตาสา รปภ.ก็มากเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว นักรณรงค์ นักสร้างกระแส ต่างหยิบยกมาบอกกล่าวถึงคุณคุณทั้งหลายด้วยวิธีที่ต่างกัน ปีแล้วปีเล่า มีงบประมาณจากหลายหน่วยงานอนุมัติออกมาเพื่อการส่งเสริมการใช้จักรยานมากขึ้น
หลายพื้นที่ต่างขีดสีตีเส้น สร้างทางจักรยานและประกาศเป็นเมืองจักรยานตามความเช้าใจของตัวเอง กระทั้งมาถึงรัฐบาลทหารที่ค่อนข้างมีสิทธิเด็ดขาด(พวกคุณต้องทำตาม)มากกว่ารัฐบาลเดิมๆได้ประกาศกลางเวทีสื่อที่ต้องออกทุกช่อง ให้สร้างทางจักรยานเพิ่มเพื่อส่งเสริมให้ผู้ใช้จักรยานมีความปลอดภัย และเพื่อให้เมืองไทยก้าวสู่เมืองจักรยาน ฝันเหมือนผมเลยแต่แนวทางคงไม่เหมือน เพราะสิ่งที่ผู้ตอบสนองคำพูดท่านผู้นำกำลังทำอยู่ มันเป็นแค่พียงเชิงสัญลักษณ์และดีในสายตานักท่องเที่ยว แต่แทบไม่ตอบโจทย์การเดินทางในชีวิตประจำวันเลย เอ๊า !! อย่างนี้เมืองจักรยานก็เป็นแค่เมืองสัญลักษณ์เมืองสมมุติสิท่าน
ไปเสียไกลเลย กลับมาเรื่องที่เกริ่นนำไว้เรื่องทางจักรยาน เราลองมาดูว่าเราได้ทางจักรยานที่ตอบโจทย์แต่ละพื้นที่ไหม เช่นริมทะเล อุทยาน สวนสาธารณะก็ต้องตอบโจทย์เรื่องท่องเที่ยว เส้นทางระหว่างบ้าน-โรงเรียน บ้าน-ออฟฟิต บ้าน-ขนส่งมวลชน มีทางจักรยาน มีที่จอดจักรยานที่ตอบโจทย์ไหม และถ้าทางจักรยานจักรยานสร้างเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้จักรยานจากยานยนต์อื่นๆแล้วถ้าในพื้นที่ที่รถยนต์น้อย เส้นทางร่มรื่นอยู่แล้วล่ะควรเอาเงินมาทำทางจักรยานไหม เพราะการใช้จักรยานในเส้นทางเช่นนี้ ปั่นไปตั้งนานกว่าจะเจอรถยนต์สักคันเหงาแย่เลย หลายพื้นที่ที่ผมได้ลงไปสัมผัสที่กำลังเริ่มขัดแย้งกันเป็นแบบที่เล่ามาด้วยสิ
ดังนั้นอยากฝากถึงหน่วยงานต่างๆที่มีงบประมาณมากมาย อย่าได้เอางบประมาณนั้นมาหว่านเพื่อตอบสนองต่อมเอาใจนายของพวกท่านโดยไม่ได้ลงมาสำรวจหรือทำประชาวิจารณ์ก่อน ว่าจะตอบโจทย์การใช้จักรยานในพื้นที่ไหม เพราะนอกจากจะเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุแล้ว ยังจะสร้างความแตกแยกในพื้นที่ได้ จากพื้นที่ที่เริ่มสงบ สามัคคีจะแตกแยกกันไปใหญ่ในไม่ช้า อย่าให้คำว่าทางจักรยานมันระบาดโดยไม่มีเหตุผลที่พอเพียงเลยครับ และอยากฝากถึงผู้มีอำนาจใช้เงินในพื้นที่ว่า อย่ามองแค่ว่าเงินจำนวนมากที่ได้รับจะสามารถมาสร้างความเปลี่ยนแปลงในท้องถิ่นได้มากมาย เพราะความเปลี่ยนแปลงที่ได้อาจจะคือความแตกแยกในท้องถิ่นตัวเอง