ชานเมืองชานใจ จะเป็นอย่างไรหลังเลือกตั้ง 66

ชานเมืองชานใจ จะเป็นอย่างไรหลังเลือกตั้ง 66

พื้นที่ชานเมืองหรือปริมณฑล (suburb) เป็นพื้นที่บริเวณล้อมรอบกับตัวเมืองกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย 5 จังหวัดสำคัญอย่างนนทบุรี นครปฐม สมุทรปราการ ปทุมธานีและสมุทรสาคร แต่ละพื้นที่มีความสำคัญแตกต่างกันไปเช่น นนทุบรี เป็นเขตเมืองที่อยู่อาศัยมีโครงการบ้านจัดสรรและคอนโดมากมาย และแหล่งสถานที่ราชการสำคัญ หรือนครปฐม เป็นเมืองเกษตรกรรมข้าวและพืชผลไม้ และสมุทรปราการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเป็นต้น  

ลักษณะบ้านเรือนใน จ.นนทบุรี

ตัวอย่างโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองหวังเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างพื้นที่ใจกลางเมืองกับชานเมืองรอบกรุงเทพฯ เพื่อแก้ปัญหาจราจรติดขัดและเป็นทางเลือกในการเดินทางนอกจากบริการขนส่งพื้นฐานอื่น เช่น รถเมล์ รถสองแถว รถตู้ที่อยู่ในพื้นที่โดยรอบกทม. และปริมณฑล ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของที่พักอาศัยตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าและบริเวณใกล้เคียง รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาเมืองแต่ละจังหวัดเพื่อกระจายความเจริญที่แออัดในกรุงเทพฯ ไปยังพื้นที่นอกรอบ

โครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จ.ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ

จังหวัดนนทบุรีบ้านใกล้เรือนเคียงกทม. เป็นที่ราบลุ่มผู้คนจึงตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนหนาแน่นตามริมแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่ส่วนที่ห่างจากแม่น้ำและลำคลองจะเป็นสวนและไร่ซึ่งน้ำท่วมเสมอ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเป็นเขตที่อยู่อาศัยที่อพยพ มีโครงการบ้านจัดสรรและคอนโดเติบโตอย่างต่อเนื่อง พื้นที่บางส่วนอย่างอ. เมืองนนทบุรี อ.ปากเกร็ด อ.บางบัวทอง กลายสภาพเป็นที่รองรับการขยายตัวด้านอุตสาหกรรม อีกทั้งการเข้ามาของรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีชมพู (กำลังจะเปิดใช้) ทำให้มีทางเลือกในการเดินทางที่สะดวกมากขึ้น

ด้านหนึ่งเหมือนจะเป็นข้อดีแต่ก็มีข้อจำกัดเหมือนกัน

นาวิน โสภาภูมิ

นาวิน โสภาภูมิ เป็นคนนนทบุรี นักวิจัยโครงการ Area needs จาก SDG Move เล่าถึงสภาพความเป็นอยู่ในพื้นที่และข้อจำกัดที่เกิดในพื้นที่ทั้งจำนวนประชากรและที่อยู่อาศัยตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่หนาแน่นเกินไป ค่าครองชีพที่สูงเทียบกับค่าแรงที่ได้ รวมถึงรูปแบบการทำงานหยืดหยุ่นที่ทำความมั่นคงในหน้าที่การงานน้อยลง ส่งผลให้คนส่วนใหญ่ไม่อยากมีลูก 

รูปธรรมของค่าครองชีพแพง เช่น อาหาร 1 มื้ออย่างน้อย 50 บาทขึ้นไป วันนึงตกวันละ 150 บาทซึ่งเกือบครึ่งนึงของค่าจ้างขั้นต่ำแล้ว (ค่าแรงขั้นต่ำ 353 บาท) ส่วนค่าเดินทางแม้จะมีรถไฟฟ้าแต่ราคาก็สูงมาก ไปกลับจากที่ทำงานอาจต้องต่อรถมอเตอร์ไซค์ขึ้นรถไฟฟ้า

นาวิน โสภาภูมิ

ตกวันนึง 100 บาท/คน ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของค่าจ้างแรงงาน ส่วนค่าคอนโดห้องเล็กๆปัจจุบันราคาสูงมาก 25 ตร.ม. ราคาประมาณล้านห้าหลายๆ คนต้องผ่อนเอา

นาวิน โสภาภูมิ

นาวิน โสภาภูม เสนอว่า รัฐบาลควรดูแลการเดินทางให้มีราคาที่เหมาะสมกับรายได้ ไม่ควรสูงเกิน 1 ใน 3 ของรายได้ ที่อยู่อาศัยเรื่องดอกเบี้ยที่สูงและราคาที่แพงเกินไปเทียบกับสัดส่วนของขนาดที่อยู่ แต่ถ้ามองในเรื่องโอกาส ท้องถิ่นพยายามจับเรื่องพื้นที่สีเขียว สามารถจัดสรรตรงนี้ได้ ถ้าเทศบาลอื่น ๆ ทำได้และสัมพันธ์กับจำนวนประชากรที่อยู่เพื่อให้คนสามารถออกมาใช้ชีวิต ออกกำลังกายได้ 

หมู่บ้านบ้านจัดสรร ภาพจาก unsplash

เช่นเดียวกันกับจังหวัดนครปฐม เป็นอีกเขตชานเมืองที่มีบ้านจัดสรร คอนโดต่างๆ มากมาย เป็นพื้นที่ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุและวัยเกษียณ ตั้งแต่พื้นที่อ.สามพราน อ.นครชัยศรี และอ.พุทธมณฑล รวมถึงการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าสายสีแดงที่หวังเชื่อมต่อพื้นที่ชานเมืองและตัวเมืองเข้าด้วยกัน  

นครปฐมหากไม่มีรถยนต์ จะพึ่งพาขนส่งสาธารณะก็คงยาก ถึงจะมีรถไฟฟ้าสายสีแดง แต่มันไม่ตอบโจทย์

บรรพต กาญกมล

บรรพต กาญกมล ผู้จัดการสมาคมสหภาคีเพื่อผู้บริโภคจังหวัดนครปฐม เล่าถึงสถานการณ์ ในฐานะคนในพื้นที่ว่า การเดินทางบริเวณพื้นที่รอบ ๆ เข้าไปยังกทม. ถ้าไม่มีรถยนต์ส่วนตัวจะลำบาก โดยเฉพาะขนส่งสาธารณะอย่างรถตู้ ซึ่งเป็นตัวเลือกหนึ่งในการเดินทางเวลาเข้าตัวเมือง แต่ปัจจุบันจำนวนลดตู้ลดลงเพราะรัฐเห็นว่าการเดินทางของรถตู้ที่เข้ามาจากนครปฐมรบกวนการเดินทางของคนกทม.ทำให้รถติดเพิ่มขึ้น ผลกระทบอย่างมากกับจังหวัดที่อยู่รอบข้าง 

ก่อนหน้านี้ผู้สูงอายุที่ไม่มีรถส่วนตัวก็สามารถนั่งรถตู้เข้าไปหาหมอในเมืองได้เลย แต่ปัจจุบันต้องลงรถตู้ที่สายใต้เก่าเท่านั้นและต่อรถไปอีก หรือถ้าจะสะดวกกว่านี้ก็ต้องนั่งแท็กซี่ยาว ซึ่งก็จะเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายอีก

บรรพต กาญกมล

บรรพต กล่าวถึงประเด็นพื้นที่จัดสรรที่เพิ่มขึ้นว่า บางครั้งไม่ได้จัดการสร้างหมู่บ้านแบบถูกต้องตามโครงสร้างเนื่องจากไม่ได้เข้าใจบริบทพื้นที่ เช่น อาจจะสร้างพื้นที่ขวางทางน้ำ ส่งผลกระทบต่อเรื่องสิ่งแวดล้อมตามมาในช่วงน้ำท่วม นครปฐมเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่รับน้ำท่วมแทน กทม.  

คนนครปฐมต้องอยู่กับน้ำท่วมนานถึง 2 เดือน โดยไม่มีอาชีพอะไรรองรับ และไม่ได้รับการเยียวยาจากรัฐ ไม่ใช่แค่นครปฐมเท่านั้น แต่พื้นที่ตะวันออกและตะวันตกของกทม.ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน

บรรพต กาญกมล
ภาพน้ำท่วมในชานเมือง

บรรพต กาญกมล ขยายความว่า การพัฒนากทม. ในฝั่งตะวันตกถูกพัฒนาแต่ในพื้นที่นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ แต่ฝั่งตลิ่งชัน บางแค นครปฐม ไม่ถูกพัฒนา ดังนั้นอาจจะต้องกลับมาสนใจพื้นที่ตรงนี้เช่น รถเมล์ขสมก. ถ้าหากเราเป็นปริมณฑลรถเมล์ต้องวิ่งมาถึงเหมือนสมุทรปราการ นนทบุรีหรือปทุมธานี รวมถึงสร้างปฏิสัมพันธ์กับชุมชนรอบ ๆ ไม่ควรแค่เชื่อมต่อกันบางจุด เช่น รถไฟฟ้าก็มามีแผนมาถึงแค่มหิดล แต่กลับไปไม่ถึงพื้นที่อื่น ดังนั้นรัฐบาลกลาง กทม. และรัฐท้องถิ่น ต้องคุยกันถึงแผนการทำงานร่วมกันเพื่อวางแผนพัฒนาพื้นที่รอบกทม. ให้รองรับความเจริญของกทม.ได้อย่างไรแบบครบวงจร 

ผลจากการทำให้เป็นเมืองของกทม. ทั้งเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม โครงข่ายขนส่งสาธารณะ และที่อยู่อาศัยเพื่อให้เกิดการกระจายพัฒนาและการเติบโตไปยังพื้นที่ล้อมรอบกทม. แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือคุณภาพชีวิตของผู้คนไม่ดีขึ้นตามการพัฒนาของเมือง การเดินทางที่ยังคงลำบาก ค่าใช้จ่ายที่สูงมากกว่ารายได้ที่ได้รับ การกระจุกตัวของคนที่มากเกินไป ปัญหาเหล่านี้คือส่วนหนึ่งที่คนชานเมืองยังเจอในตอนนี้ 

จากงานศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เรื่องเมืองน่าอยู่กับการกระจายตัวที่เหมาะสมของประชากรไทย (2562) พบว่า ประเทศไทยมีลักษณะการกระจายตัวของประชากรเมืองที่ไม่สมดุลอย่างชัดเจน เนื่องจากสำนักงานสถิติแห่งชาติได้นำเสนอนิยามที่เหมาะสมในการนำไปใช้เพื่อพัฒนาเมือง คือ ความหนาแน่นของประชากรต่อพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร แต่เมื่อพิจารณาจากความหนาแน่นของประชากรระดับจังหวัดจากสำมะโนประชากรปี พ.ศ. 2553 ยังพบว่า กรุงเทพฯ มีความหนาแน่นสูงสุด คือ 5,294.23 คนต่อ 1 ตารางกิโลเมตร และจังหวัดปริมณฑล คือ สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร และนครปฐม เป็นจังหวัดที่มีความหนาแน่นของประชากรเฉลี่ยอยู่ที่ 3,890 คนต่อ 1 ตารางกิโลเมตร ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการกระจุกตัวของประชากรในเขตกรุงเทพฯ แลพะปริมณฑลค่อนข้างสูง 

แม้ว่าปัจจุบันนโยบายการพัฒนาเมืองจะให้ความสำคัญกับเมืองรองมากขึ้น แต่ก็ยังขาดการผลักดันนโยบายอย่างจริงจัง ดังนั้นรัฐบาลจึงควรกระจายการพัฒนาไปยังเมืองรองให้ทั่วถึงโดยการยกระดับการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้มีคุณภาพ และพัฒนาเส้นทางคมนาคมให้ครอบคลุมทุกจังหวัดในเมืองรอง เพื่อเชื่อมโยงและกระจายประชากรจากกรุงเทพฯไปสู่ปริมณฑลและจังหวัดใกล้เคียง และให้ประชาชนสามารถใช้ระบบขนส่งสาธารณะเดินทางไปยังเมืองต่าง ๆ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว จึงจะช่วยให้การกระจายตัวของประชากรเมืองเกิดความสมดุลมากขึ้น 

แนวทางการพัฒนาเมืองศูนย์กลางที่ส่งผลกระทบต่อเมืองแวดล้อมไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ต้องกลับมาทบทวนการพัฒนาเมืองที่จะสามารถเป็นมิตรต่อเมืองรอบข้าง ชานเมือง ปริมณฑล เพื่อให้ได้รับผลประโยชน์ไปด้วย หรือถ้าหากไม่ถึงกับได้รับผลประโยชน์โดยตรงแต่ก็ต้องไปส่งผลเสียให้เมืองรอบข้าง ท้ายที่สุดการพัฒนาเมืองแบบกระจุกตัวอาจไม่ตอบโจทย์การมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้ถ้าเมืองอื่น ๆ ไม่พัฒนาไปด้วย 

เรียบเรียงโดย 

กัณญาพัชร ลิ้มประเสริฐ 

อรกช สุขสวัสดิ์ 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ