เดินทางสู่กาฬสินธุ์ กางผังน้ำชุมชนที่นาคู “เราจะรู้เองว่าควรใช้น้ำอย่างไร”

เดินทางสู่กาฬสินธุ์ กางผังน้ำชุมชนที่นาคู “เราจะรู้เองว่าควรใช้น้ำอย่างไร”

เรื่อง/ภาพ : วลัยลักษณ์ ชมโนนสูง

“ปลูกผสมปนเปกันเบิด…กินอันได๋กะปลูกอันนั้น…” วาส กุตระแสง เจ้าของแปลงเกษตรผสมผสานที่บ้านกุดตาใกล้ ต.สายนาวัง อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ บอกเล่าแนวคิดในการปลูกพืชผักบนที่นาด้วยภาษาสำเนียงท้องถิ่นภูไทให้กับเครือข่ายผู้สนใจจากลุ่มน้ำเลสาบสงขลา ลุ่มน้ำห้วยเสนง และลุ่มน้ำยัง ที่เดินทางมาเรียนรู้ระบบการจัดการน้ำในชุมชนที่นี่อย่างเป็นกันเอง

บ้านกุดตาใกล้อยู่ห่างจากอำเภอเมือง จ.กาฬสินธุ์ราว 70 กิโลเมตร ขับรถไปตามถนนสายกาฬสินธุ์มุ่งหน้า จ.สกลนคร และเมื่อถึงแยกตลาดสมเด็จก็เลี้ยวขวาไปทาง อ.ห้วยผึ้ง ก่อนมุ่งหน้าสู่ อ.นาคู และใช้ถนนทางหลวงชนบทหมายเลข 4018 เข้าไปในชุมชนอีกต่อหนึ่ง

การเดินทางของทีมงานมายังชุมชนในครั้งนี้ จะเรียกว่าเป็นไปตามแผนก็ไม่เต็มปากนัก แต่จะเรียกว่านอกแผนการทำงานก็ไม่เชิง เพราะหลังจากติดตามสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ภาคอีสานซึ่งมีข้อมูลว่าสถานการณ์อาจรุนแรงในรอบ 20 ปี เป็นข้อมูลตั้งต้นในการมุ่งหน้าสู่ที่ราบสูงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและร่วมพูดคุยกับ ผศ.ดร.ยรรยงค์ อินทร์ม่วง คณบดีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามทำให้เราตัดสินใจเดินทางมาที่นี่

“…เราต้องมีความเชื่อว่า ความแล้งอยู่คู่กับอีสานมานานแล้ว อีสานคุ้นเคยกับความแล้งตลอดทุกปี ไม่ว่าจะแล้งมากแล้งน้อย…”  เป็นประโยคเริ่มต้นทำความเข้าใจมุมมองสถานการณ์ภัยแล้งในภาคอีสานให้กับทีมงาน ซึ่งผู้เขียนเองก็เป็นลูกอีสานโดยกำเนิด

“ผมเข้าใจว่าประชาชนสามารถปรับตัวได้อยู่แล้ว เรื่องความแล้ง โดยเฉพาะชุมชนบางแห่งมีการปรับตัวที่ดีมาก คือ สามารถจัดการน้ำได้เอง ทั้งความรู้สึก ความคิด และการหาน้ำ โดยเฉพาะเรื่องการใช้น้ำใต้ดิน ผสมกับน้ำบนดิน ซึ่งชาวบ้านทำได้ มีกรณีตัวอย่างของผู้นำชุมชนที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ทำนวัตกรรมใหม่ ที่เรียกว่าทำ “ผังน้ำชุมชน” เป็นการที่ลงทุนน้อยแค่ให้ชุมชนรู้จักระบบน้ำในชุมชน ว่ามีจุดน้ำมากน้ำน้อยตรงไหน แล้ววางแผนจัดการน้ำในชุมชน ทั้งน้ำบริโภค น้ำภาคการเกษตร…”

20160403132156.jpeg

ระยะทางรวมกว่าสองร้อยกิโลเมตรจากจังหวัดขอนแก่น ทำให้มีเวลาสังเกตทิวทัศน์สองข้างทางซึ่งบางช่วงเป็นภาพคุ้นตาของฤดูกาลนี้ที่ต้นไม้ใบหญ้าดูแห้งกรอบ หญ้าในทุ่งนาสั้นเตียน น้ำในลำห้วยเล็กๆเหลือเพียงน้อยนิด ซึ่งมองดูไม่ต่างจากทุ่งนาในบริเวณเดียวกัน แต่บางช่วงสีเขียวจากต้นข้าวในนานั้นกลับชวนให้สบายตาและสดชื่นจากภาพก่อนหน้านี้

แถบนี้ไม่แล้งหรือไงนะ?หรือแล้งเราไม่เท่ากัน คำถามยังต้องการคำตอบจากใครสักคนที่นี่ แต่พอเดินทางมาถึงชุมชนภาพเบื้องหน้าก็ชวนตั้งคำถามอื่นๆตามมาเพิ่มเติม

“…ฝายนี้เพิ่งสร้างเสร็จ คนในชุมชนมาช่วยกันทำ…”

บำรุง คะโยธา อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสายนาวัง พูดเสียงดังฟังชัด ผ่านโทรโข่งขนาดเล็กบอกเล่าที่มาที่ไปของฝายกั้นน้ำห้วยกุดเม็ก ลำห้วยสาขาที่แยกจากห้วยมะโน ซึ่งมีต้นน้ำมาจากอ่างเก็บน้ำอีกต่อหนึ่งให้พี่น้องเครือข่ายคนทำงานลุ่มน้ำฟังด้วยความภาคภูมิใจ

พื้นดินที่นี่เป็นดินร่วนปนทราย ชาวบ้านจึงต้องอาศัยน้ำฝนในการทำนาปี สลับกับการปลูกพืชอายุสั้น  และใช้น้ำน้อยในหน้าแล้ง โดยอาศัยแหล่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยมะโน ลงมาลำน้ำสาขาที่ห้วยกุดเม็ก สลับกับการใช้น้ำบาดาลที่สูบมากักเก็บไว้ในถังน้ำขนาดใหญ่ยามที่น้ำในลำห้วยขาดแคลนเพื่อการเกษตร เพื่อให้การใช้น้ำมีประสิทธิภาพมากที่สุด

20160403131915.jpeg

ทราบว่าที่นี่ชุมชนจัดการน้ำกันเอง

อดีตที่ผ่านมาก็มีฝายอยู่ 2-3 ฝายในชุมชนแต่ไม่มีใครสนใจจัดการ ตอนหลังมีฝนทิ้งช่วงในหน้าฝน ถี่ขึ้นๆ จึงเริ่มมาคิดเรื่องการจัดการน้ำ ฉะนั้นในอดีตไม่มีใครเป็นเจ้าภาพสภา อบต.มาทำให้ กรมชลประทาน มาทำให้ก็แล้วไปก็เลยคิดว่าต้องให้ชุมชนทำ เพราะชุมชนรู้ดีว่าต้องจัดการน้ำยังไง จะท่วม หรือจะแล้ง ต้องจัดการยังไงชุมชนรู้ดีที่สุดจึงมีกรรมการน้ำตำบลขึ้นมา

กรรมการน้ำที่นี่ทำอะไร แล้วแบ่งบทบาทกันอย่างไร

“กรรมการจัดการน้ำ มีหน้าที่บทบาทกว้างขวางมาก ส่งเสริมอาชีพ วางแผนการอนุรักษ์ การใช้ การจัดการน้ำต่างๆ ก็เกิดน้ำขึ้นมา เกิดน้ำขึ้นมาแล้วก็คิดต่อสร้างฝาย สร้างแหล่งน้ำขึ้นมา ใช้งบประมาณ อบต.ส่วนหนึ่ง ไม่พอก็ไปขอมาสร้าง “ฝายประชาอาสา” ได้งบมาจากสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ สสนก.ให้วัสดุมา ชาวบ้านก็ลงแรงช่วยกันทำผังน้ำ

เราทำ “ผังน้ำ” เพื่อให้ชุมชนได้เห็นน้ำ เพราะแต่ก่อนเราก็ทำไปตามแต่เราจะทำ แต่พอมีเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาเอา GPS มาจับเพื่อประกอบการวางแผนการใช้น้ำ ให้รู้ว่าน้ำเรามีตรงไหน เห็นผังน้ำขึ้นมาเช่น ปีนี้ชลประทานห้วยมะโนมีน้ำเท่าไหร่ กักเก็บได้เท่าไร เพราะฉะนั้นน้ำจะไปทางไหน มีปริมาณเท่าไร ชุมชนจะรู้ดี ถ้าเราจะปลูกข้าวนาปรังมันพอไหม ถ้าไม่พอจะปลูกอะไร ปลูกแล้วจะจัดการตลาดอย่างไร เราต้องคุยกันให้ครบองค์…”

ยังไม่ทันที่จะถามถึงผลประกอบการ และประสิทธิภาพการจัดการน้ำของชุมชน แต่แปลงฟักทองญี่ปุ่นของพ่อวาสและพืชผักหลากหลายชนิด ทั้งต้นกล้วย มะละกอ บวบและนาข้าวสีเขียวที่อยู่ไม่ไกลมากนักก็ดึงความสนใจของเครือข่ายที่มาแลกเปลี่ยนความรู้และทีมงานไปจนหมดสิ้น

“ปลูกผสมผสานกันไปเลย ไม่ได้แยกว่าส่วนไหนต้องปลูกอะไร อันดับแรกผมปลูกกล้วยก่อน แล้วก็ปลูกน้อยหน่า มะละกอ ข่า พริก…” พ่อวาส กุตระแสง อธิบายถึงพืชผักที่มีในแปลงเกษตรผสมผสาน ซึ่งเริ่มทำอย่างจริงจังเมื่อปี 2548

20160403132134.jpeg

ปลูกอะไรบ้าง เยอะแยะไปหมด

“ส่วนมากก็ปลูกฟักทองญี่ปุ่น ซึ่งพอเหลือจากแบ่งปันญาติพี่น้องก็เอาไปขายสร้างได้ด้วย แต่ละปีก็ได้เงินหลายบาทเหมือนกัน ปลูกผสมผสานกันไปเลย ไม่ได้แยกว่าส่วนไหนต้องปลูกอะไร แต่ตอนนี้แห้งตายเกือบหมดแล้ว ต้องรอฝนตกแล้วค่อยปลูกใหม่อีกครั้ง ต่อมาหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จก็เริ่มปลูกในแปลงนา ส่วนถ้าเป็นหน้าฝนก็จะปลูกได้แค่บนคันนา แต่ถ้าหน้าแล้งจะปลูกในแปลงนาได้  ซึ่งข้อดีคือถ้าเราปลูกพืชหลายชนิดด้วยกัน เราให้น้ำแค่จุดเดียวพืชก็จะอยู่ด้วยกันได้ทั้งหมด ไม่ต้องไปแยกให้น้ำหลายจุดเราวางสายส่งน้ำไปสายเดียวให้น้ำไปก็ได้ด้วยกันทั้งหมด นาหนึ่งแปลงก็ใส่สายเดียว พืชจะได้ใช้ด้วยกัน…”

ถ้าเทียบปีนี้กับปีที่ผ่านมา แล้งหนักขึ้นไหม 

ก็พอๆกันนะ ไม่ถือว่าแล้งเท่าไร

แล้วใช้น้ำจากที่ไหนปลูกพืชผัก

ส่วนข้างบนขึ้นมาถึงจุดนี้ใช้น้ำบาดาล ส่วนด้านล่างใช้น้ำจากลำห้วย คือ จะเอาน้ำจากห้วยขึ้นมาใส่ถังไว้ แต่ตอนนี้รอไฟฟ้าอยู่  ไฟฟ้าที่พ่วงมาจากบ้านมันไกล ไฟฟ้าไม่พอก็เลยยังไม่ต่อไฟ ไม่กล้าเอาไดนาโมมาติดตั้ง ตั้งใจว่าจะต่อน้ำมาจากห้วยด้านล่าง วางท่อดึงมาที่ถังน้ำ…”

พ่อวาสเล่าพลางชี้ไปที่ถังเก็บน้ำสีน้ำเงินที่อยู่บนแทงค์สูง แหล่งเก็บน้ำสำรองสำหรับแปลงเกษตรที่นี่ ซึ่งรดน้ำด้วยระบบน้ำหยดคือมีสายยางขนาดเล็กเชื่อมต่อไปยังแนวของพืชแต่ละชนิด จะเห็นชัดจากฟักทองญี่ปุ่นและฟักเขียว จากนั้นก็ให้น้ำหยดลงบริเวณโคนต้นซึ่งช่วยให้ประหยัดน้ำได้มากขึ้น

ไม่ไกลจากแปลงผัก ทุ่งนาสีเขียวที่ข้าวกำลังงาม ก็ชวนให้ถามเรื่องการใช้น้ำจากลำห้วยของคนในชุมชน น้ำในห้วยแบ่งกันใช้อย่างไร

“ใครอยู่ใกล้ตรงไหนก็สูบน้ำจากตรงนั้น ใครทำน้อยก็สูบน้ำน้อย ใครทำเกษตรเยอะก็สูบน้ำใช้เยอะ ไม่ได้จำกัดกันนะแต่ถ้าน้ำในห้วยหมด เราก็ไปคุยกับผู้ใหญ่บ้าน ทำหนังสือถึงชลประทานขอให้เขาปล่อยน้ำมาใหม่ เราก็จะเติมน้ำในฝายกั้นไว้ ซึ่งตอนนี้ยังไม่ถึงกับเดือดร้อน” พ่อวาสย้ำเรื่องการใช้จัดสรรและใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำของชุมชน

เรามีกรรมการน้ำชุมชน จะดูแลฝายต่างๆเวลาเปิดน้ำมาก็ต้องช่วยดูว่าจะปล่อยน้ำลงไปให้ฝายด้านล่างจนเต็มก่อน เมื่อข้างล่างเต็มก็ค่อยๆเลื่อนขึ้นมาฝายที่อยู่สูงขึ้นตามลำดับ เช่น ฝายที่หนึ่งเต็มก็ปิด แล้วเติมฝายที่สอง และฝายที่สามจนครบ แล้วจึงโทรไปบอกชลประทานให้ปิดน้ำ แล้วก็มาแบ่งกันใช้ ซึ่งกรรมการน้ำเป็นคนในชุมชนทั้งหมด โดยดูจากที่ว่าใครอยู่ใกล้ฝายจุดไหน ก็แต่งตั้งให้ดูแลรักษาฝายนั้น แบ่งหน้าที่กัน”

ตะวันคล้อยบ่าย คณะเครือข่ายที่เดินทางมาแลกเปลี่ยนเรื่องการจัดการน้ำในชุมชน ต้องเดินทางต่อเพื่อไปดูแปลง“ผักหวาน”ผักพื้นบ้านอีสาน ซึ่งเดิมทีจะเกิดตามโคก ตามป่า และผลิยอดในหน้าแล้ง แต่ความนิยมในปัจุบันทำให้เกษตรกรนำมาปลูกสร้างรายได้เป็นอย่างดี บางครั้งราคาสูงอาจถึงกิโลกรัมละ 200 บาท ซึ่งลูกอีสานส่วนใหญ่รู้ดีว่าหากแกงใส่อาหารชั้นสูงตามฤดูกาลอย่าง “ไข่มดแดง” ให้ได้ซดน้ำแกงร้อนๆจะต้องเอ่ยเป็นเสียงเดียวกันว่า “แซบหลาย”

เวลาหนึ่งวันกับการเดินทางไป-กลับเกือบสี่ร้อยกิโลเมตร แม้จะไม่มีคำตอบในการแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ภาคอีสานที่ดูเหมือนจะหนักหนาเอาการในปีนี้ได้ในทันที

แต่แปลงเกษตรของพ่อวาสที่ถึงแม้พืชจะตายไปบ้าง และเขียวอยู่บ้างพอให้ได้เก็บกินเก็บขาย ก็ช่วยให้ใจชื้นขึ้นมาว่าเกษตรกร และผู้คนที่นี่เขามีอยู่มีกินไม่เหี่ยวกรอบเหมือนหญ้าข้างทางที่ผ่านมา

และอุ่นใจยิ่งขึ้น เมื่อนึกถึงภาพของฝายลำห้วยกุดเม็ก หรือ ชาวบ้านเรียกว่า “ฝายประชาอาสา” ที่เพิ่งสร้างเสร็จ ซึ่งแม้ยังไม่มีน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้งปีนี้ แต่เชื่อว่าวิธีคิดและการจัดการน้ำของคนในชุมชน ที่พวกเขารู้ดีว่าแหล่งน้ำอยู่ที่จุดไหน ทำอย่างไรถึงจะนำมาใช้ได้อย่างคุ้มค่า แม้จะมีข้อจำกัด เรื่องปริมาณน้ำในหน้าแล้งที่มีไม่มากนัก แต่ความพยายามจัดการน้ำร่วมกันของคนในชุมชน จะเป็นส่วนสำคัญให้พวกเขาสามารถรับมือกับสถานการณ์น้ำในแต่ละฤดูกาลได้รวมถึงหน้าแล้งในปีนี้

20160403132231.jpeg20160403132231_0.jpeg20160403132232.jpeg20160403132232_0.jpeg20160403132233.jpeg

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ