รายงานโดย: ฝ่ายสื่อสาร Root Garden
ผังเมืองกรุงเทพฯ เพื่อคนเมืองทุกคน (จริงหรือ?)
ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (Urban Design and Development Center: UddC)
กรุงเทพมหานคร นับเป็นจังหวัดที่มีความเป็นเมืองที่ไม่เพียงครอบคลุมทั้งจังหวัดแต่ยังขยายไปยังพื้นที่ปริมณฑลโดยรอบ หากกล่าวถึงจำนวนประชากรตามความเป็นจริงแล้วระบุได้ยากเพราะมีความหลากหลายสูง หากนับผู้ที่ลงทะเบียนเป็นประชากรกรุงเทพฯ จริงมีประมาณ 8 ล้านคน มีประชากรแฝงอีกประมาณ 2 ล้านคน รวมเป็น 10 ล้านคน และอีกไม่เกิน 6 ปีข้างหน้าคาดว่าประชากรจะเพิ่มเป็น 18 ล้านคน อย่างรวดเร็วในพื้นที่ 1,500 ตารางกิโลเมตร
หากกล่าวถึงเหตุสำคัญของประชากรที่ล้นทะลักในพื้นที่ไม่มากของเมืองหลวงเช่นกรุงเทพ อาจกล่าวได้ว่าในช่วง 3-4 ทศวรรษที่ผ่านมานโยบายการพัฒนาประเทศของไทย เป็นการพัฒนาที่เน้นแบบรวมศูนย์ ทำให้คนต่างจังหวัดหลั่งไหลเข้ากรุงเทพฯ กลายเป็น “เมืองโตเดี่ยว” รองรับประชากรที่เพิ่มขึ้น แทนที่จะเป็นเมืองหลวงที่ขยายการพัฒนาสู่ชนบท
แม้ว่าที่ผ่านมามีการออกแบบผังเมืองกรุงเทพฯ โดยให้ความสำคัญการใช้ชีวิตของคนเมืองที่ดี แต่สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในลักษณะของการคล้อยตามไปกับกลไกการตลาด ที่เน้นให้เห็นพัฒนาการทางเศรษฐกิจมากกว่าคุณภาพชีวิต ผลลัพธ์ที่เกิดกับ “คนเมือง” คือ วิถีชีวิตที่อยู่บนถนน เวลาที่เสียไปกว่า 800 ชม. หรือ 1 เดือน กับ 3 วันต่อปี ค่าใช้จ่ายที่ต้องซื้อเวลาไปกับการเดินทางสูงสุดคิดเป็นร้อยละ 20 หรือ 1 ใน 5 ของรายจ่ายทั้งหมดโดยไม่ก่อประโยชน์
แนวโน้มการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์การพัฒนาเมืองในระยะ 1-2 ปีนี้ เริ่มดีขึ้น กลับสู่พื้นที่ใจกลางเมืองและฟื้นฟูเมือง หากมองว่าเป็นความหวังแล้ว “ผังเมืองกรุงเทพฯ ถือว่ามีความก้าวหน้ามากที่สุดฉบับหนึ่งในอาเซียน” ถ้าไม่นับมาเลเซียและสิงคโปร์ นอกจากนี้ยังรวมถึงผังเมืองรวมกรุงเทพฯ 2556 มีกลไกที่จะพยายามสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคมโดยการให้สัดส่วน FAR BONUS (อัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน) และการพัฒนาโครงการใดๆ สามารถสร้างให้เกิดยูนิตห้องชุดที่มี Affordable housing (บ้านเอื้ออาทร สำหรับผู้มีรายได้น้อย) นอกจากนี้ยังกำหนดแรงจูงใจต่างๆ ขึ้นให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสรรค์สร้างสภาพแวดล้อมเมือง ไม่ว่าจะเป็นการร่วมสร้างพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ซับน้ำ เป็นต้น
เมืองกรุงเทพฯ นอกจากจำเป็นต้องมีการร่วมออกแบบพื้นที่เพื่ออยู่อาศัย พื้นที่สาธารณะแล้ว ควรมีแผนพัฒนาให้เป็นเมืองที่เอื้อต่อการสัญจรโดยเท้ามากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่มีศักยภาพ ที่ต้องผ่านการศึกษาอย่างชัดเจนว่า สามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องใช้รถยนต์ เช่น ทองหล่อ เอกมัย มีความเหมาะสมและผู้ประกอบการย่านนี้ก็อยากให้นักท่องเที่ยวไม่ใช้รถยนต์ ประชาชนสนใจและเห็นความสำคัญของการฟื้นฟูเมือง เพื่อพื้นที่ของทุกคน
ในการสร้างการมีส่วนร่วมพัฒนาพื้นที่สีเขียว หรือพื้นที่สาธารณะเพื่อส่วนรวมนั้น นับว่าเป็นสร้างประโยชน์ในการบริหารจัดการเมืองอย่างมีส่วนร่วมที่ทุกภาคส่วนสามารถร่วมมือกันได้ แม้กรุงเทพฯ จะพัฒนาไปตามกลไกตลาดทุน แต่หากกลับมามองสู่ผลลัพธ์ส่วนรวมก็จะสามารถช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงบวก ดังเช่น ประเทศญี่ปุ่นมีการพัฒนาฐานข้อมูลอย่างมีส่วนร่วมกับประชาชน ผ่านระบบไอซีที การพัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่ส่งเสริมให้เกิดการบริหารพื้นที่อย่างมีส่วนร่วมโดยแท้จริงของคนเมือง นอกจากกระตุ้นความเท่าเทียมของคนผู้อาศัยในเมืองแล้วยังหมายถึงคุณภาพชีวิตที่ดีอีกด้วย
หากประเทศไทยทำให้สังคมสามารถมองเห็นความสำคัญในจุดนี้ได้ ผู้ขับเคลื่อนในระดับนโยบายก็พร้อมที่จะดำเนินการ เพราะเสียงของ “ประชาชน” คือ แรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะทำให้เกิดการพัฒนาและเปลี่ยนแปลง
000
คุณภาพชีวิตคนเมืองกรุงฯ ชีวิตดีๆ ที่ใครกำหนด?
โชติรส นาคสุทธิ์ หรือ ลูกแก้ว ผู้สื่อข่าว VoiceTV
“เรามีทางเลือก? แต่เราต้องรู้ว่าเรายอมรับไหมกับทางเลือกที่มีของความเป็นคนเมือง”
ในฐานะที่เป็นคนกรุงเทพฯ วิถีชีวิตที่ต้องยอมรับตั้งแต่เด็กจนโต คือ ไลฟ์สไตล์บนท้องถนน เช่น กินข้าวบนรถ ทำการบ้าน อ่านหนังสือบนรถ เป็นต้น โดยวิถีที่เกิดขึ้นนั้นตัวเราไม่ได้เป็นผู้กำหนด กลับเป็น “เวลา” เป็นเงื่อนไขสำคัญที่มีค่ามากพอกับการมีพื้นที่อยู่อาศัย ทำงาน หรือแม้แต่การมีพื้นที่สาธารณะที่ตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของแต่ละคน
เมื่อยอมรับวิถีที่ไม่ได้กำหนดเอง แต่นั้นคือผลกระทบที่เกิดขึ้นด้วยระบบโครงสร้างไม่ว่าจะเป็นระบบการศึกษา เพราะหากโรงเรียนที่มีคุณภาพไม่กระจุกตัวอยู่ใจกลางเมือง หรือย่านสำคัญ เด็กนักเรียนก็ไม่ต้องเดินทางไกล เชื่อมโยงไปถึงระบบการขนส่งสาธารณะที่ไม่ได้เอื้อต่อการเดินทางที่ดีมีคุณภาพมากนัก ดังนั้นทางเลือกที่เกิดขึ้นได้ง่ายไม่ว่าจะเป็นการเช่าซื้อคอนโดใกล้สถานศึกษา หรือที่ทำงาน
สำหรับคนรุ่นใหม่การเอื้อต่อการเติบโตของกลไกตลาดทุนนิยมนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แม้นักศึกษาหรือคนรุ่นใหม่จะมีรายได้ที่ไม่สอดคล้องมากนัก แต่ยินดีที่จะลงทุนเพื่อซื้อเวลา ซื้อคุณภาพชีวิตที่ดีต่อตนเองมากขึ้น ส่งผลไปถึงการหางานทำของคนรุ่นใหม่กลับมีความต้องการที่จะทำงานอิสระมากกว่าการเป็นลูกจ้างในบริษัทที่ต้องทำงานตามเวลางานกำหนด
วิถีชีวิตคนกรุงเทพฯ ในแบบที่เป็นไลฟ์สไตล์ที่ไม่ได้กำหนดดังที่กล่าวมานั้น เราจะยอมรับหรือไม่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละคน เพราะความหลากหลายของเมืองกรุงเทพฯ “คนมีต้นทุนของเวลา” ที่แตกต่างกันไปในการซื้อเวลากับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น โดยส่วนตัวแล้วผังเมืองของกรุงเทพฯ เป็นผังเมืองที่ถูกวางไว้ แม้จะมีความพยายามในการแก้ไข แต่เราเองเท่านั้นที่จะต้องตอบคำถามว่าอยู่ได้จริงหรือไม่ ลูกหลานเราต่อไปในอนาคตจะอยู่อย่างไร
การเดินทางไกลเพราะโรงเรียนดีๆ อยู่ไกลบ้าน การซื้อเวลาโดยจ่ายไปให้กับพื้นที่ 24 ตร.ม. เพื่อให้มีเวลาสำหรับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สิ่งเหล่านี้เกี่ยวข้องกับปัจจัยหลายอย่าง ดังนั้นการยอมรับได้หรือไม่จึงไม่ได้อยู่กับเงื่อนไขเท่านั้น แต่หมายถึงก่อนเราจะยอมรับต่างหาก ตัวเราเองตั้งคำถามพอหรือยังว่าเราจะยอมเพื่ออะไร
000
สำนึกร่วมของประชาชนที่เข้มแข็งคือการออกแบบเมืองเพื่อทุกคน
จักรชัย โฉมทองดี องค์การอ๊อกแฟม (ประเทศไทย)
การเปลี่ยนแปลงของพื้นที่เมืองกรุงเทพฯ ทำให้เกิดปัญหาในหลายมิติเพราะการพัฒนาในลักษณะรวมศูนย์ของสังคมไทย และการพัฒนาที่เป็นไปโดยเอากลไกตลาดเป็นตัวตั้งพร้อมรับเข้ามาจนมีอิทธิพล การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ชุมชนกลายเป็นเสียงที่ไม่ดัง
นับแต่เด็กจนโต เพียงแค่มองพัฒนาการความเปลี่ยนแปลงที่ผมได้อยู่อาศัยแถวซอยอารีย์ ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของผู้คนที่ประสบปัญหา คนที่รู้จักหลายคนยังคงใช้ชีวิตอยู่ได้แต่ลำบากและหลายคนไม่สามารถดำรงอยู่ได้ต้องย้ายไป การพัฒนาเมืองที่เกิดขึ้นกลับรู้สึกว่าเหมือนเป็นเพียงการวางผังเพื่อการเติบโตของสิ่งปลูกสร้างที่มุ่งการตอบโจทย์เชิงเศรษฐกิจมากกว่า แต่ไม่ได้ควบคู่ไปกับการวางคุณภาพชีวิตที่ดีของคนเมือง
ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว ความเป็น “เมือง” ควรจะเอื้อให้คนที่มีความหลากหลายอยู่ร่วมกันได้แม้สถานะแตกต่างกันไป ซึ่งในหลายประเทศ เช่น สวิสเซอร์แลนด์ อังกฤษ ก็มีการออกแบบโดยที่รัฐยึดโยงคนที่มีความแตกต่างทางรายได้อยู่ใจกลางเมืองได้อย่างเหมาะสม
ความเป็นไปได้คือการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ที่รัฐต้องฟัง และการมีส่วนร่วมนั้นไม่ใช่เพียงการออกเสียงความคิดเห็น แต่หมายถึงการสร้างกลไกการจัดการ กลไกการมีส่วนร่วม ประชาชนและชุมชนต้องร่วมกันมองว่า เมือง เป็นชะตากรรมร่วมกันของสังคม ต้องร่วมกันสร้างความเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (Movement citizen) อย่างจริงจัง
เมืองหลวง อย่างกรุงเทพฯ นี้ ถูกแย่งชิงพื้นที่เชิงเศรษฐกิจไปอย่างมากแล้ว แต่ประสิทธิภาพการใช้ที่ดินยังต่ำอยู่ ซึ่งรัฐบาลควรมีนโยบายที่จริงจังเข้ามาจัดการ เช่น ระบบภาษีอัตราก้าวหน้า ที่เคยได้มีการขับเคลื่อนโดยภาคประชาชนเมื่อปีที่ผ่านมา นอกจากนี้รัฐบาลต้องมีทางเลือกและเปิดโอกาสให้ประชาชนมากขึ้นในการออกแบบคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะชีวิตไม่ใช่เพียงมีที่ซุกหัวนอน แต่คือการมีพื้นที่ใช้ชีวิตอย่างจริงจังและมีคุณภาพ
ส่วนสังคมต้องร่วมสร้างความตระหนักต่อเรื่องนี้ ร่วมกันอย่างต่อเนื่องจริงจังและต้องผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะหากยังยอมรับในผังเมืองที่เป็นอยู่ ที่ไม่เอื้อต่อการสร้างระบบคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ก็เท่ากับว่าคนกรุงเทพฯ ยอมรับและพร้อมที่จะเป็นมนุษย์เรือดำน้ำ แต่หากไม่พร้อมก็ต้องเลือกทางเลือกและลุกขึ้นมาร่วมจัดการด้วยตัวเองและสำนึกที่แข็งแรง
หมายเหตุ: ส่วนหนึ่งจากความคิดเห็นในวงคุย “20 ปี เพื่อ 24 ตร.ม. …ชีวิตดีๆ ที่ใครกำหนด” ในงาน Root talk & Music จัดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 ก.ย. 2558 เวลา 11.00-18.00 น. ที่สวน Root Garden ปากซอยทองหล่อ 3 สุขุมวิท 55