ชาวบ้านลุ่มน้ำชีประกาศ หยุดโครงการผันน้ำ โขง เลย ชี มูล

ชาวบ้านลุ่มน้ำชีประกาศ หยุดโครงการผันน้ำ โขง เลย ชี มูล

เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างจังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร จัดกิจกรรม “บุญกุมข้าวน้อย”ณ วัดบ้านบุ่งหวาย ต.สงเปือย อ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร และอ่านคำประกาศ หยุด! วาทกรรมนักการเมือง รัฐ ที่ผลักดันโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล เร่งแก้ไขปัญหาเขื่อนในแม่น้ำชีให้เสร็จ

15 กุมภาพันธ์ 2566 เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร มีการจัดกิจกรรม “บุญกุมข้าวน้อย”ณ วัดบ้านบุ่งหวาย ตำบลสงเปือย อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 300 คน   และมีการจัดเวทีเสวนาขึ้น “นโยบายการจัดการน้ำที่ผ่านมา-ปัจจุบัน กับการแก้ไขปัญหาเขื่อนน้ำชี จ.ร้อยเอ็ด-จ.ยโสธร”  ซึ่งในเวทีมีทั้งตัวแทนนักวิชาการ ตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนองค์กรพัฒนาอกชนด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งหลังจากเวทีเสวนาเสร็จทางตัวแทนเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างได้อ่านคำประกาศ หยุด! วาทกรรมนักการเมือง รัฐ ที่ผลักดันโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล เร่งแก้ไขปัญหาเขื่อนในแม่น้ำชีให้เสร็จ

นายนิมิต  หาระพันธ์  ตัวแทนเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีจังหวัดยโสธร กล่าวว่า  “ภาพอดีต 10ปีที่ผ่านมาวิถีชีวิตถูกผลกระทบอะไรบ้าง ต้องมีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างจากการพัฒนาที่ผ่านมา นอกจากชีวิตแล้ว การพัฒนาที่ผ่านมาก็ก่อให้เกิดผลด้านลบต่อธรรมชาติของเรา  ดังนั้น การทำเขื่อนจึงทำให้เกิดผลกระทบไม่ใช่แค่ทรัพยากรแต่กระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนด้วย เช่น วัฒนธรรม ความผูกพันทางศาสนา การไม่เคารพธรรมชาติ แล้วความล่มสลายของความผูกพันในครอบครัวและความผูกพันต่อศาสนา”

นายทศพล  บัวผัน หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบ  ชลประทานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีล่างและเซบายล่าง กล่าวว่า ผมแสดงความตั้งใจที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาของชาวบ้าน ซึ่งตอนนี้การแก้ไขปัญหาแบ่งออกเป็น 2 ชุด ชุดแรก คือชุดที่ดำเนินการแล้วเสร็จในระดับพื้นที่แล้วกำลังรวบรวมคณะอนุกรรมการจังหวัดจากนั้นก็จะส่งเข้ากระทรวงสำหรับ ชุดที่ 2 จำนวน 80 กว่ารายนั้นตอนนี้ทางคุณทศพลประสานงานกับสำนักงานที่ดินเพื่อค้นหาค้นหาและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ชาวบ้านและผู้ได้รับผลกระทบได้รับค่าชดเชยต่อไป

อาจารย์นิรันดร  คำนุ หัวหน้าภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าว่า ขอตั้งคำถามใน 3 ประเด็น ประเด็นแรก อาจารย์ตั้งคำถามว่า รัฐมีความเข้าใจน้ำที่แตกต่างกับชาวบ้านหรือไม่เนื่องจากเมื่อพิจารณาวิธีการในการจัดการน้ำของรัฐมุ่งที่จะนำเอาน้ำมารองรับอะไรบางอย่างที่ไม่ได้สอดคล้องกับความต้องการของชาวบ้านอย่างแท้จริงและยังทำลายระบบนิเวศอีกด้วย ซึ่งตัวอย่างของโครงการโขงชีมูนก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่สำคัญ ประเด็นที่ 2 มุมมองของรัฐที่มีต่อประชาชน อาจารย์นิรันดรตั้งข้อสังเกตว่ารัฐไม่ได้มองประชาชนในฐานะพลเมืองแต่มองประชาชนในฐานะผู้ที่ด้อยกว่าหรือ “ขี้ข้า”หรือไม่ ซึ่งดูได้จากการที่รัฐไม่ค่อยยอมให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาและการตัดสินใจเชิงนโยบายต่างๆ ประเด็นที่ 3 อาจารย์นิรันดรตั้งคำถามต่อชาวบ้านว่าหลังจากที่ได้รับค่า ค่าชดเชยแล้วชาวบ้านจะมีแนวทางอย่างไรต่อไปในการฟื้นฟูทั้งวิถีชีวิตและระบบนิเวศของชุมชนในพื้นที่อย่างแท้จริง และในตอนท้ายอาจารย์นิรันดรยังเสนอให้เปิดพื้นที่และพัฒนาศักยภาพของคนรุ่นใหม่ให้เข้ามามีบทบาทในการรักษาและฟื้นฟูทรัพยากรในพื้นที่ให้มากขึ้น

นายสิริศักดิ์  สะดวก ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง กล่าวว่า วันนี้ทางเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างจังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร ร่วมกันจัดกิจกรรม “บุญกุ้มข้าวน้อย” เนื่องจากไม่สามารถที่จะ จัดกิจกรรม บุญกุ้มข้าวใหญ่ได้ เนื่องปีที่ผ่านมาชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดจากเขื่อนในแม่น้ำชี ชาวบ้านจึงได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนพื้นที่การเกษตรจมใต้น้ำกว่าสามเดือน ปีนี้จึงได้จัดได้แค่งานบุญกุ้มข้าวน้อย เพราะไม่มีข้าว ซึ่งวัตถุประสงค์ 1.เพื่อสืบสานประเพณีบุญกุ้มข้าวของเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชี จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร 2.เพื่อติดตามและแก้ไขปัญหาและวิพากษ์นโยบายการจัดการน้ำ 3.เพื่อประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ  ปัจจุบันกระบวนการแก้ไขปัญหาอยู่ในขั้นตอนการติดประกาศรายชื่อและจำนวนแปลงของผู้ร้อง(รอบแรก) 15 วัน ตามกรอบระยะเวลาที่มีมติการประชุมคณะทำงานตรวจสอบพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนน้ำชี ของชาวบ้านที่เรียกร้อง จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร (ตั้งแต่ปี 2543-2547)โดยผ่านกระบวนการแปรภาพถ่ายทางอากาศ ประเด็นกระบวนการเคลื่อนไหวของเครือข่ายชาวบ้านน้ำชีตอนล่างย่างก้าวเข้าสู่ปีที่ 15 แล้ว และพี่น้องก็ยังเคลื่อนไหวเรียกร้องตลอดเพื่อให้หน่วยงานราชการดำเนินงานตามที่มีการตั้งคณะกรรมการฯ คณะอนุกรรมการฯ ขึ้นมา เพื่อแก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จเป็นรูปธรรม ตามที่ระบุเอาไว้ใน Post EIA  ตามมาตรการลดและแก้ไขผลกระทบจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร น้ำชี ถ้าทุกวันนี้พรรคการเมืองยังเดินหน้าหาเสียงผลักดันขายฝันประเด็นเรื่องเมกะโปรเจคน้ำ ต้องดูบทเรียนเมื่อสามสิบปีที่ผ่านมา เช่น โครงการโขง ชี มูล  ที่เป็นความทะเยอทะยานและการสร้างวาทกรรม และกำหนดนโยบายสร้างเขื่อนในแม่น้ำมูลและแม่น้ำชี นำมาซึ่งผลกระทบถึงปัจจุบันและยังแก้ไขไม่เสร็จ

จากนั้น ตัวแทนเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร ได้อ่านคำประกาศซึ่งมีเนื้อหาดังนี้คำประกาศ หยุด! วาทกรรมนักการเมือง รัฐ ที่ผลักดันโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล เร่งแก้ไขปัญหาเขื่อนในแม่น้ำชีให้เสร็จ โดยระบุว่า 14 ปีแล้ว ที่เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง  จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร เรียกร้องให้รัฐแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร ซึ่งเป็นนโยบายโครงการโขง ชี มูล เดิม ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำชี คือ สูญเสียอาชีพบนที่ดินทำการเกษตรเนื่องจากน้ำท่วมติดต่อกันนานเป็นระยะเวลานานหลายเดือนและขยายวงกว้าง สูญเสียโอกาสในด้านการเก็บเกี่ยวผลผลิต สูญเสียฐานทรัพยากรที่ชาวบ้านได้พึ่งพาอาศัยตามฤดูกาล เกิดการเปลี่ยนแปลงทิศทางการไหลของน้ำ พร้อมเสนอให้รัฐเร่งดำเนินการ ดังนี้  1.ให้รัฐเร่งดำเนินการเยียวยาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำชีตอนล่าง 2.ให้ดำเนินการฟื้นฟูอาชีพ ฐานทรัพยากรและวิถีชีวิตชุมชนลุ่มน้ำชี 3.เราจะไม่เลือกพรรคการเมืองที่เดินหน้าโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล 4.ต้องเคารพความหลากหลายขององค์ความรู้ในการจัดการน้ำขนาดเล็กที่มีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ 5.โครงการโขง ชี มูล รัฐต้องแก้ให้เสร็จ และหยุดโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ