ฟังเสียงประเทศไทย : กรุงเทพฯ เมืองพลวัต ปรับเพื่อรับมือวิกฤต

ฟังเสียงประเทศไทย : กรุงเทพฯ เมืองพลวัต ปรับเพื่อรับมือวิกฤต

ปี 2030 กรุงเทพฯ อาจเสี่ยงน้ำท่วมเกือบทั้งเมือง จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ทำให้เกิดภัยพิบัติและวิกฤต กระทบถึงเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และชีวิตของผู้คน นี่คือการคาดการณ์ที่ถูกสื่อสารโดยกรีนพีซ องค์กรรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมระดับนานาชาติ เพื่อให้ผู้คนได้ตระหนักและร่วมมือกันแก้ไขปัญหา

แม้จะดูรุนแรงจนเหลือเชื่อ แต่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงและการคาดการณ์ผลกระทบในอนาคต ก็ทำให้ประเทศเพื่อบ้านของเราอย่าง ‘อินโดนีเซีย’ วางแผนหาที่ตั้งเมืองหลวงใหม่ ย้ายจาก “กรุงจาการ์ตา” ที่ได้รับผลกระทบทั้งฝนตกหนัก น้ำท่วม ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นและแผ่นดินทรุดตัว เพื่อการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรกว่า 10.5 ล้านคน

นอกจากนี้ ในแถบเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมืองตามชายฝั่งกำลังประสบปัญหาเดียวกันนี้อย่างรวดเร็วมากกว่าภูมิภาคอื่นของโลก แล้วกรุงเทพฯ เตรียมรับมือสถานการณ์นี้อย่างไร และไม่ใช่แค่น้ำท่วมหรือโลกรวม ภัยพิบัติอื่น ๆ ที่รุมเร้าอย่างฝุ่น PM2.5 เมืองของเราพร้อมรับมือมากน้อยแค่ไหน

รายการฟังเสียงประเทศไทย อยากชวนคุณผู้ชมมาร่วมกันมอง ภาพอนาคตของกรุงเทพฯ ในอีก 10 ปีข้างหน้า และหาคำตอบในการสร้างเมืองที่พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงในหลากหลายมิติกับตอน “กรุงเทพฯ เมืองพลวัต ปรับเพื่อรับมือวิกฤต” ร่วมกับตัวแทนคนกรุงเทพฯ จำนวน 30 ท่าน  

000

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของบริบทโลกและความเปราะบางของเมือง กรุงเทพฯ กำลังเผชิญกับปัญหารุมเร้ามากมาย ชวนไปดูความคิดเห็นของคนในโลกออนไลน์กันบ้าง ว่าอะไรคือ ‘วิกฤตของเมือง’ ที่เราต้องเร่งแก้ไข

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ด้านล่างนี้

000

3 ฉากทัศน์

อนาคตมหานครกรุงเทพ

ทุกย่างก้าวในการขยับขยายของเมืองและผู้คน กรุงเทพฯ ต้องผจญกับวิกฤติจากภัยพิบัติ และความเปลี่ยนแปลงของโลกที่ท้าทายความเป็นอยู่

1. เมืองโยกย้าย

กรุงเทพฯ เป็นเมืองเปราะบางทางสังคม ต้องเจอปัญหาที่รุนแรงและซับซ้อน ตัวอย่างเช่น น้ำท่วมที่ทำให้เกิดภัยพิบัตอื่น ๆ ตามมา กระทบต่อการเดินทาง ระบบขนส่ง การผลิตอาหาร รวมทั้งกิจกรรมต่าง ๆ ของเมืองจนยากจะรับมือ องค์ความรู้และเครื่องมือที่มีไม่สามารถนำมาใช้ได้

รัฐต้องแบกรับ ค่าชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดจากภัยพิบัติ และความสูญเสียทางเศรษฐกิจจำนวนมาก ทำให้ต้องย้ายเมืองหลวงออกไปจากกรุงเทพฯ

เกิดความเหลื่อมล้ำของเมืองหลวงเก่าที่ประสบภัยพิบัติ และเมืองหลวงใหม่ เศรษฐกิจภายในเมืองเก่าพังทลาย เกิดคนจนเมือง คนไร้ที่อยู่อาศัยมากขึ้น และต้องอพยพไปอยู่ตึกทิ้งร้าง หรือออกไปนอกเมืองมากขึ้น คนที่ยังคงอยู่ในเมืองเก่าเกิดการพัฒนานวัตกรรม เช่น บ้านลอยน้ำ ทำโครงสร้างแบบบ้านกึ่งสำเร็จรูป และการใช้ตึกร้างทำฟาร์มพลังงานสะอาดทางเลือก เป็นต้น เพื่อให้อยู่ร่วมกับภัยพิบัติอย่างเลี่ยงไม่ได้

2. เมืองต้องเสี่ยง

กรุงเทพฯ ยังคงความเป็นเมืองหลวงรัฐบาลกลางและท้องถิ่น จึงจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณจำนวนมากและร่วมมือกัน เพื่อโครงสร้างป้องกันพื้นที่สำคัญทางการบริหารราชการ เศรษฐกิจ และพื้นที่ซึ่งมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของประเทศเอาไว้

จัดทำแผนเผชิญเหตุ มีระบบป้องกันและเตือนภัย ขณะที่พื้นที่ที่มีความเสี่ยง ยากต่อการจัดการ ต้องอพยพโยกย้าย ปรับเปลี่ยนสภาพ หรือกิจกรรมการใช้ประโยชน์

ประชาชนต้องปรับตัวรับมือภัยพิบัติ และมีส่วนร่วม สร้างทางเลือกในการจัดการชุมชนและพื้นที่อยู่อาศัย รวมทั้งการวางแผนการใช้ที่ดิน เพื่อตอบสนองกิจกรรมที่หลากหลาย และตอบโจทย์การดำเนินชีวิต

ส่วนงานท้องถิ่นให้ความสำคัญกับการรับมือสภาวะการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ปรับปรุงผังเมือง โครงสร้างทางกายภาพ และการจัดการผลกระทบที่เกิดขึ้น

3. เมืองปรับเปลี่ยน

รัฐเป็นหลัก วางแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ชัดเจน เริ่มตั้งแต่วันนี้ ร่วมกันจัดการทรัพยากรในด้านต่าง ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรับมือภัยพิบัติ ทั้งปรับปรุงโครงสร้างกายภาพ พัฒนาศักยภาพของระบบนิเวศเมือง เสริมกลไกบริหารจัดการของท้องถิ่น ให้เป็นการป้องกัน ไม่ใช่แก้ปัญหาภัยพิบัติเฉพาะหน้ารายครั้ง

กระจายการพัฒนาเมือง โดยให้ความสำคัญ ดูแลผู้คนทั้งในเมืองหลักและเมืองโดยรอบเป็นสำคัญ

เปิดโอกาสให้ท้องถิ่น และภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม เช่น การทำระบบประกันภัย การพัฒนานวัตกรรมทางการก่อสร้าง การคมนาคมเชื่อมโยงกรุงเทพและเมืองโดยรอบให้สามารถเดินทางได้ในภาวะน้ำท่วมเมือง

ประชาชนต้องปรับตัว ยอมรับ และร่วมกันแบกรับต้นทุนของเมืองในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อการอยู่ร่วมกับความเปลี่ยนแปลง

000

ทำความรู้จักกรุงเทพฯ

อาจจะเป็นไปได้ว่า เมืองที่เราอาศัยอยู่แห่งนี้จะเผชิญกับภัยพิบัติ หรือวิกฤตอย่างรุนแรงจนยากรับมือ หากวันนี้ไม่มีการเตรียมตัว เตรียมความพร้อม และอีกสิ่งสำคัญคือการทำความรู้จักกับ “ความเปราะบาง” ของเมืองแห่งนี้

ประชาชน = คนหลากหลาย

กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศและเมืองท่องเที่ยวติดอันดับโลก มีประชากรกว่า 10 ล้านคน อยู่อาศัยในพื้นที่ 1,568.7 ตารางกิโลเมตร

เราจึงเรียกกรุงเทพฯ ว่าเป็น “อภิมหานคร (megacity)” ที่ในตอนกลางวันจะมีประชากรถึง 1 ใน 6 ของประเทศมารวมตัวกัน คือ จำนวนประชากรในทะเบียนบ้านราว 5.5 ล้านคน มีประชากรแฝงที่ไม่ปรากฏในทะเบียน และคนที่เดินทางมาทำงานในตอนกลางวันด้วย

นอกจากนี้ กรุงเทพฯ ยังเป็น “เอกนคร (primate city)” เพราะเป็นเมืองใหญ่ที่สุดในประเทศ และเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจและสังคม ที่มีความสำคัญมากกว่าเมืองรองหลายเท่า

สถิติประชากรไทยปี 2565

ประเทศไทยมีประชากรรวมทั้งสิ้น 66,090,475 คน  

5 จังหวัดที่มีจำนวนราษฎรมากที่สุด
1.กรุงเทพมหานคร 5,494,936 คน
2.นครราชสีมา 2,630,058 คน
3.อุบลราชธานี 1,869,806 คน
4.เชียงใหม่ 1,792,474 คน
5.ขอนแก่น 1,784,641 คน  

จังหวัดสมุทรสงคราม มีประชากรน้อยที่สุด 187,701 คน  

ที่มา:  ประกาศสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย วันที่ 5 ม.ค. 2566  

ในปี 2563 เกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19  ประชากรย้ายกลับถิ่นที่อยู่เดิม อันเนื่องมาจากมาตรการปิดเมืองทำให้ร้านค้าและธุรกิจต่าง ๆ ต้องหยุดหรือปิดกิจการ

ความเงียบเหงาที่เกิดขึ้น ย้ำเตือนว่ากรุงเทพฯ คือเมืองแห่งความหลากหลายของผู้คนต่างที่มา นอกจากนักท่องเที่ยวและแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านแล้ว จากข้อมูลสำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ. 2553 พบคนไทยในกรุงเทพฯ มีเพียง 2 ใน 3 ที่เป็นคน กทม.โดยกำเนิด

แม้กรุงเทพฯ จะดึงดูดผู้คน ด้วยโอกาสทางเศรษฐกิจที่มากกว่าต่างจังหวัด  แต่ก็มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยที่จำเป็นต้องใช้ในการยังชีพของครัวเรือนสูง ซึ่งสูงมากกว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของทั่วประเทศรวมกัน และเป็นเมืองที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูง สะท้อนผ่านภาพชุมชนแออัด และคนไร้บ้าน

นอกจากนี้ บนเส้นทางสังคมผู้สูงอายุ ปัจจุบันกรุงเทพฯ เป็น “สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์” ที่มีสัดส่วนของผู้สูงอายุต่อประชากรทุกวัยเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่าร้อยละ 20

ภูมิศาสตร์ = เมืองเปราะบาง

กรุงเทพฯ เป็นส่วนหนึ่งของที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่าง มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน แบ่งเมืองออกเป็น 2 ฝั่ง คือฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี ในอดีตมีลำคลองที่แยกสาขาไปจากแม่น้ำจำนวนมาก จึงใช้การเดินทางสัญจรทางน้ำเป็นหลัก

พื้นที่มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 1.50 – 2 เมตร โดยมีความลาดเอียงจากทิศเหนือสู่อ่าวไทยทางทิศใต้ และเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างจะอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1.50 เมตร ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมบ่อยครั้งในช่วงฤดูมรสุม

ด้านการบริหารจัดการ กรุงเทพมหานคร หรือ กทม. เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ซึ่งทำหน้าที่บริหารเขตการปกครองพิเศษกรุงเทพมหานคร ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528

มีโครงสร้างประกอบด้วยสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) จากสมาชิก 50 เขต และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สังกัดกระทรวงมหาดไทย

การพัฒนา = ความเหลื่อมล้ำ

สำหรับที่มาของเงินงบประมาณ กทม. มีรายได้จาก 2 ส่วน คือ 1.รายได้ที่ กทม. จัดเก็บเอง เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีป้าย 2.รายได้จากการจัดสรรภาษีที่ส่วนราชการอื่นจัด เก็บให้ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีและค่าธรรมเนียมรถยนต์และล้อเลื่อน ภาษีสรรพสามิต

จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โดยภาพรวม กทม.มีรายได้รวมสูงกว่ารายได้ของ อบจ. ทั้ง 76 แห่ง รวมกัน

เทียบรายได้ของกรุงเทพมหานคร

ปีงบประมาณ25602561256225632564
กรุงเทพมหานคร78,47086,43283,23770,69671,250
เมืองพัทยา3,4283,4293,4682,6351,534
อบจ. 76 แห่ง73,31269,305125,31353,98241,389
รายได้รวมอปท. ทั่วประเทศ273,469282,641301,002264,678195,115

หน่วย : ล้านบาท

ที่มา: https://ilaw.or.th/node/6117

สำหรับแนวนโยบายระดับประเทศ ภาครัฐมุ่งเน้นขยายการพัฒนาด้านต่าง ๆ ไปในเขตปริมณฑลใกล้เคียงกรุงเทพฯ 5 จังหวัด คือ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม เนื่องจากมีพื้นที่และกิจกรรมต่อเนื่องกัน

กรุงเทพฯ และปริมณฑล จึงก้าวขึ้นเป็นฐานเศรษฐกิจหลักของประเทศ มีสัดส่วนในการผลิตถึงร้อยละ 51 ของผลผลิตรวมของประเทศ

ล่าสุด แผนพัฒนากรุงเทพมหานครระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ฉบับปรับปรุง ซึ่งมีการปรับทิศทางของ 7 ยุทธศาสตร์ ให้เท่าทันและตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมทั้งบริบทและสภาพแวดล้อมภายนอกต่าง ๆ โดยยังคงเป้าหมาย เพื่อให้กรุงเทพมหานครสามารถยกระดับไปสู่มหานครแห่งเอเชีย

ส่วนผังเมือง อีกหนึ่งกลไกกำหนดทิศทางเมือง ในการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน วางโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะต่าง ๆ

ปัจจุบัน กทม.ใช้ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2556 (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3) และอยู่ระหว่างการเร่งจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับใหม่ คาดประกาศใช้ในปี 2567 โดยให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ. 2562 และตอบโจทย์ของการพัฒนาเมือง รวมถึงความเสียงต่าง ๆ ที่ต้องรับมือไม่ใช่เพียงผังกำหนดราคามูลค่าที่ดิน

000

สถานการณ์วิกฤตเมือง

อากาศพิษ

ปัญหามลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ได้รับความสนใจมากขึ้นหลังจาก กรมควบคุมมลพิษประกาศใช้ดัชนีคุณภาพอากาศใหม่ที่นำ PM2.5 มาร่วมคำนวณ เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2561 ต่อมา เดือน ก.พ. 2562 รัฐบาลยกให้การแก้ปัญหาฝุ่น เป็นวาระแห่งชาติ

ฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพฯ มีแหล่งกำเนิดที่สำคัญ จากจำนวนรถยนต์ประมาณ 10.3 ล้านคัน โดยเป็นรถเครื่องยนต์ดีเซลถึง 2.7 ล้านคัน ที่วิ่งและติดอยู่บนถนนเกือบตลอดทั้งวัน ประกอบกับการก่อสร้างต่างๆ

กรุงเทพฯ ติดอันดับโลกเมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดใน แทบทุกปี ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางอย่างเด็ก หญิงมีครรภ์ และผู้สูงวัย

น้ำท่วมขังรอระบาย

ข้อมูลจากสำนักการระบายน้ำปี 2564 พบว่า ในพื้นที่ 50 เขตของ กทม. มีจุดเสี่ยงน้ำท่วมขัง ที่แม้ฝนตกไม่ถึง 60 มิลลิเมตร ก็ทำให้น้ำท่วม 12 จุด และในพื้นที่กรุงเทพฯ นั้นมีจุดเสี่ยงน้ำท่วมและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม รวมสายหลัก ตรอก ซอย ประมาณ 337 จุด

แหล่งที่มาของน้ำท่วม มีอยู่ 3 แหล่ง คือ น้ำฝน น้ำเหนือ และน้ำหนุนจากทะเล  แต่สาเหตุหลักของการเกิดน้ำท่วมกรุงเทพฯ มาจาก

1. คนเยอะ เมืองขยาย ต้นไม้น้อย

2. ขยะอุดตันท่อระบายน้ำ

3. สภาพภูมิศาสตร์เป็นที่ราบลุ่มมีลักษณะเหมือนแอ่งรับน้ำ ผิวดินเป็นดินเหนียวที่มีการระบายน้ำค่อนข้างยาก

แผ่นดินทรุด

กรมทรัพยากรธรณี และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย เคยทำสำรวจช่วงปี 2521-2524 พบว่า พื้นที่ลุ่มแม่น้าเจ้าพระยาตอนล่างมีการทรุดตัวมากกว่าปีละ 10 เซนติเมตร

ขณะที่ ข้อมูลของการสำรวจโดยกรมแผนที่ทหาร พบว่า ตลอดระยะเวลา 30 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521-2551 กรุงเทพมหานคร มีระดับการทรุดตัวสะสมมากกว่า 1 เมตร โดยมีการทรุดตัวสะสมประมาณปีละ 2-3 เซนติเมตร

ไม่ใช่แค่ไทย ที่เผชิญปัญหานี้ แต่จากงานสำรวจการทรุดของหน้าดินในเมืองทั่วโลกจำนวน 99 เมือง ผ่านข้อมูลจากดาวเทียมตั้งแต่ปี 2015-2020 พบว่า เอเชียเป็นทวีปที่เจอปัญหาแผ่นดินทรุดมากที่สุดในโลก 20 อันดับแรก โดยส่วนใหญ่เป็นเมืองในแถบเอเชียไปแล้ว 17 อันดับ ซึ่งกรุงเทพ ฯ อยู่อันดับที่ 9 มีการทรุดตัวปีละ 17 มิลลิเมตร 

อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลอีกด้านระบุว่า หลังจากปี 2540 มีกฎหมายบังคับห้ามสูบน้ำบาดาล การทรุดตัวจึงชะลอลง กระทั่งปัจจุบันพื้นที่กรุงเทพฯ หยุดการทรุดตัวแล้ว และบางจุดแผ่นดินสูงกลับขึ้นมาบ้าง แต่ยังไม่เท่ากับระดับเดิมก่อนการทรุดตัว

โลกรวน

จากการที่โลกประสบกับปัญหา Climate change ทำให้ “ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น” เหตุการณ์นี้อาจมีผลทำให้น้ำในอ่าวไทยหนุนสูง ซึ่งปัจจัยนี้ คือองค์ประกอบที่ทำให้เกิดอุทกภัยในปี 2554 มาแล้ว

เว็บไซต์ The Asean Post ได้ตั้งสมมติฐานว่า หากมีการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิที่ 4 องศาเซลเซียส โดยไม่มีมาตรการเตรียมพร้อม คาดว่าประมาณ 40% ของพื้นที่กรุงเทพฯ จะถูกน้ำท่วมจากฝนตกชุก และระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นถึง 15 เซนติเมตรในปี 2573

ขณะที่งานวิจัยของกรีนพีช ประเมินเบื้องต้นว่า กรุงเทพฯ และปริมณฑลจะเผชิญสภาวะจมทะเล ในอีกไม่เกิน 10 ปี ประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจเบื้องต้นประมาณ 18.6 ล้านล้านบาท คิดเป็น 96% ของ GDP (PPP) รวมของกรุงเทพฯ

ที่ผ่านมา กทม. ทำข้อมูลทะเบียน 13 ความเสี่ยงของกรุงเทพมหานคร เพื่อแก้ปัญหา ล่าสุดปรายปี 2565 มีการเปิดตัว Bangkok Risk Map พัฒนาฐานข้อมูลดิจิทัลเกี่ยวกับพื้นที่จุดเสี่ยงความปลอดภัย รวมข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ ของ กทม. โดยใช้ “One Map” ของสำนักผังเมืองเป็นพื้นฐาน

000

ผังเมือง – ผู้คน – เทคโนโลยี

สู่เมืองรับมือภัยพิบัติ

ชวนฟัง 3 มุมมอง การปรับเปลี่ยนเพื่อรับมือวิกฤติไปกับ

1. ชูขวัญ นิลศิริ รองผู้อำนวยการสำนัก สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพฯ

2. อภินัทธ์ เทียมสุพัต หัวหน้างานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลอาวุโส ฝ่ายส่งเสริมแพลตฟอร์มและบริการดิจิทัล

3. ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย

ลิงก์: https://www.facebook.com/ThaiPBS/videos/565075188894252

000

ทางเลือกอนาคตเมืองกำหนดได้ด้วยมือเรา ชวนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของรายการกับการโหวตภาพฉากทัศน์อนาคตกรุงเทพ ฯ

หลากหลายเครื่องมืออาจจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตที่เกิดขึ้นได้ แต่สิ่งสำคัญกว่าคือเราทุกคนจะต้องตระหนักถึงปัญหา และปรับตัวเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการพัฒนาเมืองให้มีความยืดหยุ่น เพื่อรองรับกับทุกสถานการณ์

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ