จากรายงานสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ปี 2022 ของกรุงเทพฯ โดย Rocket Media Lab มีข้อสังเกตน่าสนใจว่า เดือนที่มีสภาพอากาศแย่ที่สุดคือเมษายน โดยวันที่มีค่า PM2.5 สูงที่สุดในรอบปีก็อยู่ในเดือนนี้เช่นกัน ขณะที่ปี 2021 และ 2020 เดือนที่อากาศเลวร้ายที่สุดคือมกราคม
Rocket Media Lab ชวนย้อนดูข้อมูลต่างๆ ในเดือนเมษายน เพื่อดูว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่มีนัยสำคัญดันให้ค่า PM2.5 ในกรุงเทพฯ สูงขึ้น
เกิดอะไรขึ้นบ้างในเดือนเมษายน 2022
ในเดือนเมษายน 2022 ซึ่งเป็นเดือนที่มีวันที่มีค่า PM2.5 สูงที่สุดในรอบปี โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ The World Air Quality Index Project พบว่าในวันที่ 8-10 เม.ย. ค่าฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ อยู่ในเกณฑ์สีแดงหรือมีผลกระทบต่อสุขภาพ และจากข้อมูลของสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ซึ่งมาจากการศึกษาสัดส่วนการระบายมลพิษทางอากาศในกรุงเทพมหานคร พบว่าฝุ่นละออง PM2.5 มีสาเหตุหลักจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง โดยภาคการขนส่งทางถนนระบายฝุ่น PM2.5 มากที่สุด 72.5% รองลงมา ได้แก่ โรงงานอุตสาหกรรม 17% การเผาในที่โล่ง 5% และอื่นๆ 5.5%
นอกจากตัวแปรข้างต้นเรื่องการใช้ยานพาหนะ โรงงาน และการเผาในที่โล่งแล้ว ปัจจัยอื่นที่มีผลต่อคุณภาพอากาศและค่าฝุ่น PM2.5 ตามหลัก Weather Index for Air Quality ของกรมอุตุนิยมวิทยา ที่ต้องพิจารณาควบคู่กันไปก็คือ ความเร็วลม การระบายอากาศ อุณหภูมิ ความกดอากาศ ปริมาณฝน ร้อยละเมฆปกคลุมท้องฟ้า ความเข้มแสงอาทิตย์ CAPE, CIN, Lifted Index, และความสูงชั้นบรรยากาศใกล้ผิวพื้น (PBLH)
ดังนั้นหากพิจารณาปัจจัยต่างๆ เพื่อสืบหาปัจจัยที่ทำให้ค่าฝุ่นในกรุงเทพฯ พุ่งสูงขึ้นในเดือนเมษายน 2022 ก็จะพบว่า ในกรณีของการใช้ยานพาหนะนั้น ไม่มีการเปิดเผยจำนวนการใช้ยานพาหนะ ประเภทเครื่องยนต์ หรือปริมาณการปล่อยควันพิษจากยานพาหนะในแต่ละวัน เช่นเดียวกับการปล่อยมลพิษของโรงงานอุตสาหกรรม ที่แม้จะมีคำสั่งให้ติดเครื่องตรวจวัดมลพิษทางอากาศจากปล่องระบายแบบอัตโนมัติพร้อมรายงานผล 24 ชั่วโมง (CEMS) ครอบคลุมโรงงานทั่วประเทศ แต่ปัจจุบันพบว่า กรุงเทพฯ ซึ่งมีโรงงาน 260 แห่ง มีโรงงานที่เชื่อมต่อผลตรวจวัดดังกล่าวเพียง 15 ปล่องจาก 4 โรงงานเท่านั้น ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ไม่มีตัวเลขบ่งชี้ที่จะนำมาใช้ได้
นอกจากนี้เมื่อพิจารณาค่าอื่นๆ ที่มีความสำคัญ เช่น ความเร็วลม หรือความกดอากาศ ก็จะพบว่า ในช่วงเดือนเมษายน 2022 ไม่ว่าจะเป็นวันที่มีค่า PM2.5 สูงที่สุด (8-10 เม.ย.) หรือวันที่ค่า PM2.5 ต่ำลง (ช่วงก่อนและหลังวันที่ 8-10 เม.ย.) ค่าต่างๆ เหล่านี้ก็ไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญนัก เช่น ความกดอากาศ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ในช่วงวันที่ 8-10 เมษายน มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1,010.41, 1,008.84, และ 1,007.71 เฮกโตปาสคาล ซึ่งไม่ได้สูงหรือต่ำอย่างมีนัยสำคัญไปกว่าช่วงก่อนหรือหลัง หรือเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่อื่น เช่น สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา นครนายก ก็จะพบว่าแทบไม่แตกต่างกันเลย อีกทั้งเมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดในแถบภาคเหนือและภาคอีสาน กรุงเทพฯ ยังมีความกดอากาศที่สูงกว่าเล็กน้อย
ค่าความเร็วลม ซี่งมีค่าเฉลี่ยทั้งเดือนอยู่ที่ 10 น็อต ต่ำสุด 6 สูงสุด 15 น็อต โดยในช่วงวันที่ 8-10 เมษายนนั้นอยู่ที่ 12, 8, 7 น็อต ตามลำดับ ซึ่งไม่ได้ต่างกับเดือนอื่นอย่างมีนัยสำคัญ โดยค่าเฉลี่ยความเร็วลมในช่วงเดือนมีนาคม เมษายน และพฤษภาคม อยู่ที่ 10 น็อต เท่ากัน
ในขณะที่การระบายอากาศ กรุงเทพฯ มีการระบายอากาศแต่ละช่วงเวลาไม่เท่ากัน โดยขณะที่ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน กรุงเทพฯ มีการระบายอากาศที่ดีมากเรื่อยมา เช่น ในวันที่ 1 เมษายน ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 9,200 ตร.ม.ต่อวินาที ซึ่งถือว่าดีมาก แต่ในช่วงวันที่ 8-9 เมษายน 2022 มีการระบายอากาศในระดับอ่อน ที่ 2,700 และ 2,975 ตร.ม.ต่อวินาที จึงถือว่าการระบายอากาศของกรุงเทพฯ ต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงวันที่กรุงเทพฯ มีค่าฝุ่น PM2.5 ขึ้นสูงสุด
อย่างไรก็ตาม แม้ค่าการระบายอากาศของกรุงเทพฯ ในช่วงปลายเดือนเมษายนนั้นจะต่ำไม่ต่างจากช่วงวันที่ 8-9 เม.ย. แต่ค่า PM2.5 ในช่วงปลายเดือนไม่ได้สูงขึ้นเช่นในช่วงวันที่ 8-10 เม.ย. จึงอาจพอสรุปได้ว่า แม้ค่าการระบายอากาศในช่วงดังกล่าวจะเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญสอดคล้องกับค่า PM2.5 ที่พุ่งสูงขึ้น แต่ค่าการระบายอากาศ หรือค่าต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ ยังเป็นเพียงปัจจัยหนุนเสริม ถึงอย่างไรค่าฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ ก็ยังคงต้องดูที่แหล่งกำเนิดฝุ่นเป็นปัจจัยหลักอยู่นั่นเอง ซึ่งหากดูสาเหตุหลักของการเกิด PM 2.5 อย่างภาคการขนส่งทางถนน โรงงานอุตสาหกรรม และการเผาในที่โล่ง อีกหนึ่งปัจจัยที่สามารถนำมาพิจารณาได้คือ การเผาในที่โล่ง (จุดความร้อน) ซึ่งมีการบันทึกข้อมูลอย่างเป็นระบบและมีความต่อเนื่อง
จุดความร้อนที่ก่อให้เกิดหมอกควันมาจากไหน แล้วเผาอะไร
เมื่อพิจารณาจากข้อมูลจุดความร้อนทั่วประเทศจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) จะพบว่าในช่วงวันที่ 8-10 เมษายน 2022 ซึ่งเป็นช่วงวันที่กรุงเทพฯ มีค่า PM2.5 สูงสุด พบว่า ในพื้นที่กรุงเทพฯ นั้น ตรวจพบเพียงแค่ 1 จุดในวันที่ 9 เมษายน และวันที่ 10 เมษายน เท่านั้น ในส่วนของจังหวัดใกล้เคียงกรุงเทพฯ พบว่า จังหวัดที่ตรวจพบจุดความร้อนสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงวันดังกล่าวคือ สุพรรณบุรี โดยในวันที่ 9 เมษายน สูงถึง 42 จุด และในวันที่ 10 เมษายน มีจำนวน 24 จุด ในขณะที่วันอื่นๆ ในเดือนเมษายน ส่วนใหญ่มีไม่ถึง 10 จุด
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในช่วงวันที่ 8-10 เมษายน 2022 นั้น มีการเพิ่มขึ้นของจุดความร้อนอย่างมีนัยสำคัญ คือ 18, 15 และ 10 จุดตามลำดับ ในขณะที่วันก่อนหน้านั้นคือวันที่ 7 เมษายนมีเพียง 1 จุด และวันหลังจากนั้นคือ 11 เมษายน ไม่พบจุดความร้อนเลย นอกจากนั้นยังพบการเพิ่มขึ้นของจุดความร้อนอย่างมีนัยสำคัญในช่วงวันดังกล่าวอีกที่จังหวัดชัยนาท ในวันที่ 9 เมษายน 17 จุด และ 10 เมษายน 14 จุด นครนายก วันที่ 10 เมษายน 13 จุด และนครปฐม ในวันที่ 9 เมษายน 9 จุด
และเมื่อตรวจสอบพื้นที่การเผาก็จะพบว่า ช่วงวันที่ 8-10 เมษายน 2022 ในจังหวัดสุพรรณบุรีนั้น พื้นที่ที่ตรวจพบจุดความร้อนส่วนใหญ่เป็นพื้นที่การเกษตร และเมื่อตรวจสอบลงไปอีกขั้นก็จะพบว่าส่วนใหญ่เป็นนาข้าว โดยเป็นนาข้าวมากที่สุด 71 จุด จากจุดความร้อนทั้งหมด 76 จุด และพืชอื่นๆ 5 จุด ในขณะที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชัยนาท ปทุมธานี นครนายก และนครปฐมนั้น พื้นที่ที่ตรวจพบจุดความร้อนส่วนใหญ่เป็นพื้นที่การเกษตร และเป็นนาข้าวเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งคิดเป็นพื้นที่นาข้าว 116 จุด จากจุดความร้อนทั้งหมด 126 จุด
จากข้อมูลข้างต้นจึงอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า ค่าฝุ่นที่เพิ่มขึ้นในช่วงเดือนเมษายน 2022 อาจสัมพันธ์กับจำนวนจุดความร้อนที่เกิดจากการเผาในภาคการเกษตรโดยเฉพาะพื้นที่นาข้าวในพื้นที่รอบกรุงเทพฯ
อีกหนึ่งปัจจัยที่อาจมีผลต่อค่าฝุ่น PM2.5 ที่พุ่งสูงขึ้นก็คือปัญหาหมอกควันข้ามแดน ที่เกิดจากการเผาในพื้นที่การเกษตรในประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม โดยหากเราดูข้อมูลในช่วงเดือนเมษายน 2022 ซึ่งเป็นเดือนที่กรุงเทพฯ มีวันที่มีค่า PM2.5 สูงสุดและเป็นเดือนที่อากาศเลวร้ายที่สุดในปี 2022 ก็จะพบว่า จำนวนจุดความร้อนที่เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงเดือนเมษายน ตรวจพบได้ทั้งในประเทศเมียนมาและลาว โดยในเมียนมาสูงถึง 63,755 จุด และลาวมี 64,569 จุดซึ่งสูงที่สุดในรอบปี โดยข้อมูลจากรายงาน “ผืนป่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมลพิษ PM2.5 ข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงปี 2558-2563” ของ กรีนพีซ ประเทศไทย ก็จะพบว่าเมียนมานั้นถือเป็นพื้นที่การปลูกไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ขนาดใหญ่ ในขณะที่ลาวนั้นส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นาข้าว ในขณะที่จุดความร้อนในประเทศกัมพูชาและเวียดนามในช่วงเดือนเมษายน 2022 นั้น ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด
หมอกควันจากแดนไกลทำให้ PM2.5 ในกรุงเทพฯ พุ่งปรี๊ดได้แค่ไหนกัน
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่าจำนวนจุดความร้อนที่เพิ่มขึ้น อาจจะเป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญในช่วงเวลาที่ค่าฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ พุ่งสูงขึ้น Rocket Media Lab ได้พูดคุยกับ รศ.ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล หัวหน้าศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยตั้งข้อสังเกตค่าฝุ่นที่พุ่งสูงขึ้นในกรุงเทพฯ ว่า
“ปัญหา PM2.5 ของกรุงเทพฯ มักจะชี้ไปที่การขนส่งยานพาหนะ ว่าเป็นต้นตอของปัญหา PM2.5 กว่า 70% มันก็มีส่วนนะครับ แต่อาจจะยังไม่ชัดมาก หรืออาจจะไม่ถึง 70% ก็ได้ เพราะว่ารถใน กทม. ในแต่ละฤดูกาลไม่ได้มีจำนวนแตกต่างกันมากขนาดนั้น แต่ทำไมค่าฝุ่นช่วงนี้มันถึงเพิ่มขึ้นมากๆ การชี้ไปที่ภาคการขนส่งเป็นหลัก อาจจะทำให้เราหลงลืมพูดถึงปัญหาอื่นๆ หรือเปล่า เช่น การเผาในที่โล่ง หรือโรงงานอุตสาหกรรม
“เรื่องฝุ่นลอยมาจากที่อื่นได้ไหม ได้ไกลแค่ไหน อย่างแรกเราต้องเข้าใจก่อนว่าฝุ่น PM2.5 ไม่มีแพทเทิร์นที่ตายตัว อาจจะอยู่ระดับพื้นดินหรืออยู่เหนือพื้นดินขึ้นไป ซึ่งแต่ละชั้นก็อาจจะมีกำลังลมไม่เท่ากัน ในพื้นที่ที่มีลมดีๆ ฝุ่นก็อาจจะถูกพัดไปได้ไกลมาก อาจจะไกลเป็นพันกิโลเมตรก็มีความเป็นไปได้ ถ้าสมมติไม่มีลมเลย ก็อาจจะแขวนลอยในอากาศ เคลื่อนที่ในแนวตั้ง ในช่วงที่ความกดอากาศต่ำก็อาจจะอยู่ใกล้พื้นดิน พอมีแสงแดด อากาศร้อนอุณหภูมิอุ่นขึ้นก็อาจจะลอยตัวในแนวดิ่งแล้วตกลงมาอีก ฝุ่นเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลาและไม่ได้เป็นแพทเทิร์น มันมีทั้งต่ำทั้งสูง ใกล้และไกล มันขึ้นอยู่กับภูมิอากาศ และการสะสมตัวก็ขึ้นอยู่กับภูมิประเทศอีกว่ามีความสามารถในการอมฝุ่นได้นานขนาดไหน
“ถามว่าฝุ่นจากเพื่อนบ้าน พม่า ลาวมาถึงภาคเหนือ หรือ กทม.ได้ไหม ได้ครับ ไปถึงภาคใต้ก็ยังได้ หรือฝุ่นไทยไปถึงไต้หวันได้ไหม ก็ได้เหมือนกัน แล้วแต่แพทเทิร์นของลมเป็นยังไง ต้องไปดูโมเดลการกระจายตัวของอากาศว่าทำให้ฝุ่นไปในทิศทางไหน อย่างไร”
แม้จำนวนจุดความร้อนที่เพิ่มขึ้น อาจเป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญในช่วงเวลาที่ค่าฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ พุ่งสูงขึ้น แต่เศรษฐ์มีข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับการมองประเด็นเรื่องจุดความร้อน ทั้งในแง่การเป็นปัจจัยในการเกิดฝุ่น PM2.5 และในการนำมากำหนดเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาของรัฐว่า
“การดูแค่จุดความร้อนและองค์ประกอบอื่นๆ อาจจะไม่พอ เพราะฝุ่นมันไม่ได้ตรงไปตรงมาขนาดนั้น อย่างบางพื้นที่ในภาคเหนือ ไม่มีจุดความร้อนเลย ไม่มีการเผาเลย แต่ทำไมค่าฝุ่น PM2.5 สูง เราไม่รู้ว่าลมพัดมาจากไหน และอยู่ดีๆ ตอนบ่ายฝุ่นก็หายไปหมดเลย มันก็อธิบายยากเหมือนกัน
“ตอนนี้หลายจังหวัดในภาคเหนือ ใช้จำนวนจุดความร้อนมาเป็นตัวบอกความสำเร็จของการจัดการของจังหวัด ซึ่งนำมาสู่การเผาหนีดาวเทียม เพราะเรารู้ว่าดาวเทียมที่ใช้ในการนับจุดความร้อนมารอบเช้ากี่โมง รอบบ่ายกี่โมง กลางคืนกี่โมง ก็เลยเกิดการเผานอกเวลาที่ดาวเทียมมา ทำให้ดาวเทียมจับจุดความร้อนไม่ได้ เลยไม่มีจุดความร้อนแต่มีฝุ่น
ข้อเสนอของหัวหน้าศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฯ ก็คือควรพิจารณาจากพื้นที่ที่ถูกเผาไหม้หรือที่เรียกว่า Burn Scar มากกว่าจุดความร้อน
“เราต้องดูว่าแต่ละจังหวัดมีพื้นที่ถูกเผาไหม้ไปเท่าไร เป็นพื้นที่อะไรบ้าง เช่น พื้นที่การเกษตร หรือพื้นที่ป่าไม้ และอาจจะต้องดูด้วยว่าเป็นการเกษตรแบบไหน เป็นป่าไม้แบบไหน ป่าอนุรักษ์หรือป่าสงวน หรือแม้แต่พื้นที่ของกรมทางหลวง ตัวพื้นที่เผาไหม้จะบอกได้ว่าแต่ละจังหวัดมีการจัดการดีหรือไม่ เช่น จังหวัดหนึ่ง มีพื้นที่ป่าหรือพื้นที่เกษตรเท่านี้ มีพื้นที่เผาไหม้แค่ 10% แต่อาจจะมีจุดความร้อนเยอะ จังหวัดหนึ่งมีพื้นที่การเกษตรหรือพื้นที่ป่าเท่านี้ มีพื้นที่เผาไหม้ 30% แต่มีจุดความร้อนน้อย ซึ่งนั่นอาจจะเท่ากับว่าจังหวัดที่มีพื้นที่เผาไหม้น้อยกว่าจัดการได้ดีกว่านะ”
อีกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการใช้ดัชนีเพื่อประเมินการทำงานตามแนวนโยบายการลดฝุ่น PM2.5 ก็คือ จำนวนวันและคุณภาพอากาศ ซึ่งก็มีข้อสังเกตที่น่าสนใจเช่นเดียวกัน โดยเศรษฐ์กล่าวว่า
“แม้การที่จังหวัดหนึ่งๆ จะมีวันที่มีค่าฝุ่นเกินค่ามาตรฐานจำนวนน้อยวันถือว่าเป็นเรื่องดี แต่ประเด็นก็คือ ในแต่ละพื้นที่ของจังหวัดค่าฝุ่นแต่ละอำเภอแต่ละตำบลไม่เท่ากัน ในต่างจังหวัดถ้าเราใช้ค่าการอ้างอิงในอำเภอเมือง คุณภาพอากาศอาจจะดีกว่ารอบนอก เพราะว่าพื้นที่รอบนอกมีการเผามากกว่าในตัวเมือง สิ่งนี้เป็นความลักลั่นของการใช้ดัชนีชี้วัดพอสมควร โดยเฉพาะในบางจังหวัดที่อาจมีเครื่องวัดฝุ่น PM2.5 แค่หนึ่งหรือสองเครื่องและอยู่ที่ศาลากลางเท่านั้น”
ข้อสังเกตดังกล่าว โดยเฉพาะเรื่องจุดความร้อนสะท้อนให้เห็นถึงนโยบายการแก้ปัญหา PM2.5 ของภาครัฐได้อย่างน่าสนใจ เมื่อภาครัฐมีนโยบายลดจุดความร้อนให้ได้ 20% เมื่อเทียบกับ 5 ปีย้อนหลัง อีกนโยบายหนึ่งที่เกี่ยวข้องและมีความน่าสนใจก็คือ นโยบายลดการเผาภาคการเกษตร โดยเฉพาะนโยบายที่เกี่ยวกับไร่อ้อย และการออกประกาศห้ามเผานาข้าวหรือเผาในที่โล่ง
“นโยบายเรื่องของอ้อยมันค่อนข้างชัดและจัดการได้ง่าย เพราะมีผู้รับซื้อชัดเจน คือโรงน้ำตาล ราคามันแตกต่างกันอยู่แล้วระหว่างอ้อยที่ถูกไฟไหม้กับอ้อยไม่ถูกไฟไหม้ นอกจากนั้นยังมีการส่งเสริมทางการเกษตรจากโรงน้ำตาลให้มีเครื่องจักรในการเก็บเกี่ยวในพื้นที่ไร่อ้อยอีกด้วย แต่ในพื้นที่ที่ทำสัญญาซื้อขายกับโรงงานไม่ทัน อาจจะไม่ได้รับประโยชน์จากการใช้เครื่องจักร เลยยังมีการเผาอยู่ แต่ก็มีปริมาณที่ลดลง อีกอย่างก็คืออุตสาหกรรมน้ำตาลมีการแข่งขันกันค่อนข้างสูงในเชิงภาพลักษณ์ทางสิ่งแวดล้อม เลยทำให้สามารถจัดการพื้นที่การปลูกอ้อยได้ดีขึ้นเรื่อยๆ
“ซึ่งแตกต่างจากกรณีนาข้าว ที่ไม่ได้มีการส่งเสริมเครื่องจักรจัดการแปลงนาข้าว การเผาเป็นต้นทุนที่ถูกที่สุด เลยยังมีการเผาอยู่ เราต้องทำข้อมูลให้ชัดเจนขึ้น ถ้าเรารู้ว่าพื้นที่ใดเครื่องจักรเข้าไปไม่ถึง จำเป็นจะต้องเผา ต้องมีการลงทะเบียนเพื่อบริหารจัดการเชื้อเพลิง ว่าจะเผาเท่าไหร่ เผาจบเมื่อไหร่ และดูแลการเผาอย่างไร จะอนุญาตหรือไม่อนุญาต เชียงใหม่เองก็กำลังทำเรื่องบริหารจัดการเชื้อเพลิงอยู่ การใช้นโยบายเช่นนี้จะทำให้เราทราบว่าเกษตรกรในจังหวัดมีกี่ราย ใครจำเป็นต้องเผาบ้าง และเผาพื้นที่เท่าไหร่ แล้วจบจริงไหม ซึ่งจะมีการรายงานโดยตัวแทนชุมชนในหมู่บ้านอีกที
เศรษฐ์มองว่า นโยบายของรัฐปัจจุบันเหมือนกำลังตัดเสื้อตัวเดียวให้คนที่มีไซส์แตกต่างกันใส่ เพราะการเกิดไฟไหม้นั้นซับซ้อนและมีความแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ จึงควรต้องมาจำแนกว่าในแต่ละพื้นที่เป็นอย่างไรมากกว่า โดยเศรษฐ์มีข้อเสนอว่าควรนำเอาชุดข้อมูลต่างๆ งานวิจัยที่มีการวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงลึก ที่มีอยู่อย่างกระจัดกระจาย มารวบรวม สังเคราะห์ วิเคราะห์ เพื่อจะได้เห็นถึงสาเหตุปัญหาที่แท้จริง และที่สำคัญก็คือจะต้องดูบริบทพื้นที่ที่แตกต่างกันอีกด้วย เพราะฝุ่นภาคเหนือ ฝุ่นภาคอีสาน ฝุ่นภาคกลาง หรือแม้กระทั่งฝุ่นกรุงเทพฯ ก็อาจจะมีที่มาไม่เหมือนกัน
เกิดอะไรขึ้นในวิกฤตฝุ่น กุมภาพันธ์ 2023
เมื่อตรวจสอบข้อมูล สภาพอากาศของกรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์ 2023 ซึ่งเป็นช่วงที่ค่าฝุ่น PM2.5 พุ่งสูงสุด 82.9 และ 84.2 มคก.ต่อ ลบ.ม. ตามลำดับและถือว่าอยู่ในระดับวิกฤต พบว่า ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2023 อัตราการระบายอากาศของกรุงเทพฯ และปริมณฑลเฉลี่ย 500 ตร.ม.ต่อวินาที จัดอยู่ในเกณฑ์ไม่ดี เพราะน้อยกว่า 2,000 ตร.ม.ต่อวินาที ส่วนวันที่ 2-4 กุมภาพันธ์ อัตราการระบายอากาศอยู่ระหว่าง 2,000-4,000 ตร.ม.ต่อวินาทีซึ่งอยู่ในเกณฑ์อ่อน โดยวันที่ 2 กุมภาพันธ์ค่าเฉลี่ยอยู่ประมาณ 2,038 ตร.ม.ต่อวินาที วันที่ 5-10 กุมภาพันธ์ คาดว่าจะมีอัตราการระบายอากาศระหว่าง 4,000-8,000 ตร.ม.ต่อวินาที จึงจะอยู่ในเกณฑ์ดี
เมื่อเปรียบเทียบกับ 7 วันก่อนหน้านี้ อัตราการระบายอากาศของกรุงเทพฯ ในวันที่ 24 มกราคม 2023 เฉลี่ยอยู่ที่ 11,500 ตร.ม.ต่อวินาที ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ดีมากและถือว่ามากที่สุดของเดือนมกราคม ค่า PM2.5 อยู่ที่ 29 มคก.ต่อ ลบ.ม อยู่ในระดับปานกลางตามมาตรฐาน AQI สหรัฐอเมริกา วันที่มีค่า PM2.5 น้อยที่สุดของเดือนมกราคมคือ 6 มกราคม ค่า PM2.5 อยู่ที่ 9.7 มคก.ต่อ ลบ.ม. อยู่ในระดับดีตามมาตรฐาน AQI สหรัฐอเมริกา อัตราการระบายอากาศมากเป็นอันดับที่ 2 ของเดือนมกราคม อยู่ที่ 8,125 ตร.ม.ต่อวินาทีอยู่ในเกณฑ์ดีมากเช่นกัน
ขณะที่ความเร็วลมสูงสุดในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2023 อยู่ที่ 7.4 กม.ต่อ ชม. (3.995 น็อต) และ วันที่ 2 กุมภาพันธ์อยู่ที่ 2.5 กม.ต่อ ชม. (1.349 น็อต) แต่ 7 วันก่อนหน้านี้ (24 มกราคม 2023) ความเร็วลมสูงสุดอยู่ที่ 18.5 กม.ต่อ ชม. (9.989 น็อต) นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบกับวันที่ 6 มกราคม ความเร็วลมสูงสุดอยู่ที่ 16.7 กม.ต่อ ชม. (9.017 น็อต)
ขณะเดียวกันมีรายงานข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ว่าในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2023 พบจุดความร้อนทั่วประเทศรวม 1,208 จุด เพิ่มขึ้น 447 จุด จาก 2 วันก่อนหน้านี้ (30 มกราคม) ที่มีจุดความร้อน 761 จุด
โดยจังหวัดชัยภูมิ (ป่าอนุรักษ์) มีจุดความร้อนมากที่สุด 133 จุด อันดับที่ 2 กาญจนบุรี (ป่าอนุรักษ์) 128 จุด อันดับที่ 3 ลพบุรี (พื้นที่เกษตร/สปก.) 50 จุด นครสวรรค์ (พื้นที่เกษตร) 43 จุด เพชรบูรณ์ 40 จุด (เขตสปก.) ปราจีนบุรี 31 จุด ขณะที่รอบๆ กรุงเทพฯ เช่น นครนายกมี 19 จุด สุพรรณบุรีมี 12 จุด พระนครศรีอยุธยามี 8 จุด ชัยนาท 4 จุด
ส่วนจำนวนจุดความร้อนในต่างประเทศพบว่า ในกัมพูชามี 1,713 จุด เมียนมามี 1,072 จุด ลาวมี 927 จุด รวม 3,712 จุด
หากย้อนไปยัง 7 วันก่อนหน้านี้ (24 มกราคม) มีจุดความร้อนทั้งประเทศเพียง 601 จุด โดยพบในสุพรรณบุรี 14 จุด ชัยนาท 4 จุด และนครนายก 4 จุด ไม่พบจุดความร้อนในพระนครศรีอยุธยาเลย และมีจุดความร้อนในกัมพูชา 721 จุด เมียนมา 1,156 จุด ลาว 316 จุด รวม 2,193 จุด ส่วนวันที่ 6 มกราคม มีจุดความร้อนทั้งประเทศเพียง 165 จุด โดยพบในสุพรรณบุรี 5 จุด และกรุงเทพฯ 1 จุดเท่านั้น และจุดความร้อนในประเทศเพื่อนบ้านรวม 501 จุด
จากข้อมูลย้อนหลังในช่วง 30 วันที่ผ่านมา อาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า ปัจจัยเสริมที่สัมพันธ์กับค่าฝุ่น PM2.5 คือ อัตราการระบายอากาศ ความเร็วลม และจำนวนจุดความร้อน ซึ่งในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปัจจัยเหล่านี้แตกต่างจากวันที่คุณภาพอากาศดีกว่าหลายเท่าตัว
ที่อื่นเขาทำอย่างไรเพื่อลดฝุ่น PM2.5 แล้วไทยล่ะ ทำอะไรบ้างไหม
ปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่นพิษ PM2.5 ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่หลายประเทศก็ประสบกับปัญหานี้เช่นกัน และเร่งหาทางออกในขณะที่ปัญหาทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ มีตัวอย่างแนวทางจัดการกับมลพิษทางอากาศหลายวิธีที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการใช้มาตรการทางกฎหมายควบคุมอย่างเข้มข้นและเป็นระบบ นอกจากการขอความร่วมมือ
ในภาคเกษตรกรรม สหรัฐอเมริกาบังคับให้เกษตรกรอธิบายความจำเป็นในการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ด้านการเกษตร และมีระบบขออนุญาตการเผา เพื่อไม่ให้เกินขีดความสามารถในการดูดซับของธรรมชาติ เกษตรกรต้องขอใบอนุญาตความปลอดภัยการเผาจากหน่วยงานในท้องถิ่น เกษตรกรต้องผ่านการอบรมซึ่งทบทวนทุก 5 ปี หลังเผาเสร็จต้องรายงาน ในบางรัฐ เช่น รัฐไอดาโฮ เก็บค่าธรรมเนียมในการเผาด้วย โดยคิดเป็นสัดส่วนต่อพื้นที่ ขณะที่สหภาพยุโรปมีกฎหมายห้ามการเผาในที่โล่งแจ้งโดยเด็ดขาด เว้นแต่กรณีเพื่อสุขอนามัยพืช ตามระเบียบสหภาพยุโรป 1306/2013
ซึ่งแนวทางในสหรัฐฯ ก็สอดคล้องกับแนวความคิดการลงทะเบียนเพื่อจัดการบริหารเชื้อเพลิงที่หัวหน้าศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฯ เสนอไว้ ในขณะที่ปัจจุบัน แนวนโยบายในการจัดการฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่การเกษตรของไทยมีความชัดเจนเพียงแค่การเผาอ้อย ในขณะที่พื้นที่ส่วนใหญ่ซึ่งก็คือนาข้าว มีเพียงการประกาศห้ามเผา แต่จากข้อมูลจุดความร้อนในเดือนเมษายน 2022 ที่พบจุดความร้อนสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในหลายพื้นที่ก็พบว่ามาจากการเผานาข้าว และที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ ช่วงเวลาเดือนเมษายนเป็นช่วงเวลาที่มีการประกาศห้ามเผาในที่โล่งตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงเดือนเมษายน 2022 แต่กลับพบจุดความร้อนสูงขึ้น
ด้านไฟป่า สหรัฐอเมริกามีแนวทางการจัดการไฟป่าด้วยการเผาตามกำหนด (prescribed burning) มีหน่วยงานเตรียมเครื่องมือเครื่องจักรในการจัดการพื้นที่ป่า มีผู้เชี่ยวชาญหลายด้านทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่พยากรณ์อากาศ และทำงานอย่างเป็นขั้นตอน ตั้งแต่การวางแผนพื้นที่ การกำหนดวันและเวลาโดยพิจารณาจากหลายปัจจัย การทำงานร่วมกับชุมชน นอกจากนี้ยังมีมาตรการสนับสนุนเจ้าหน้าที่ดับเพลิงในพื้นที่ป่า โดยในปี 2021 กระทรวงเกษตรเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำแก่เจ้าหน้าที่ด้วย ขณะที่ออสเตรเลียเน้นการทำงานระหว่างผู้เชี่ยวชาญกับผู้ที่อยู่ในพื้นที่ป่า ดำเนินโครงการดับเพลิงสะวันนา ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างนักวิทยาศาสตร์และผู้จัดการที่ดินของชนพื้นเมือง
ในขณะที่ประเทศไทยมาตรการในพื้นที่ป่านั้นไม่มีความชัดเจน มีเพียงการกำหนดเป้าหมายลดจุดความร้อนให้ได้ 20% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง ซึ่งในประเด็นนี้มีข้อสังเกตเรื่องจุดความร้อนดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ขณะเดียวกันจะพบว่ามาตรการในพื้นที่ป่าไม้นั้น แม้จะมีการใช้งบประมาณ ผ่านกรมอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ และการปกครองส่วนท้องถิ่น ทำแนวพื้นที่กันไฟ แต่แนวนโยบายดังกล่าวก็ยังขาดความโปร่งใสในการประเมินประสิทธิภาพของนโยบายและการใช้งบประมาณ
ภาคการควบคุมยานยนต์และขนส่ง มีทั้งการบังคับใช้มาตรฐานคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง การเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม และการจำกัดพื้นที่ ตั้งแต่ปี 2014 สหภาพยุโรปประกาศใช้มาตรฐานการระบายไอเสียของรถยนต์ (Euro Standard) ได้แก่ ไฮโดรคาร์บอน (HC) ไนโตรเจนออกไซด์ (NO) ฝุ่นละออง (Particulate Matter: PM) และจำนวนอนุภาคของฝุ่นละออง (Particulate Number: PN) ควบคุมสารองค์ประกอบหลักของน้ำมัน 6 ชนิด ได้แก่ กำมะถัน อะโรมาติก โอเลฟิน เบนซีน (Benzene) โพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอนและกำมะถัน ขณะที่แอฟริกาใต้เก็บภาษีสิ่งแวดล้อม หากรถยนต์ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ตั้งแต่ 120 กรัมต่อกิโลเมตรขึ้นไป โดยสำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคล โดยอัตราของภาษีสิ่งแวดล้อมจะขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยคือ จำนวนผู้โดยสารที่รถยนต์สามารถรองรับได้ และส่วนต่างของปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่รถยนต์ปล่อยเมื่อเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนด
มาตรการกำหนดเขตควบคุมการปล่อยมลพิษในตัวเมืองหรือเขตมลภาวะต่ำ (Low Emisssion Zone: LEZ) เป็นมาตรการที่ใช้ในหลายเมืองของยุโรป เขตพื้นที่ในเมืองที่จำกัดการเข้ามาของยานพาหนะที่ปล่อยมลพิษสูง หากผู้ใช้รถต้องการนำรถผ่านเข้าไปในเขต LEZ จะต้องเสียค่าธรรมเนียมที่แปรผันตามมลพิษที่ปล่อยออกมา ระหว่างปี 2019-2022 มีพื้นที่ซึ่งกำหนดเขตเพิ่มขึ้น 40 % จาก 228 พื้นที่เป็น 320 พื้นที่ โดยอิตาลีเป็นประเทศที่ประกาศเขตควบคุมฯ มากที่สุด 172 แห่ง ตามด้วยเยอรมนี สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ และฝรั่งเศส ทั้งนี้สเปนเป็นประเทศล่าสุดที่รัฐบาลประกาศเขตควบคุมในหลายเมือง เช่น กรุงมาดริด หรือ บาร์เซโลน่า มาตรการแตกต่างกันไปในแต่ละเมือง เช่น จำกัดการเข้าของยนต์ดีเซล หรือรถยนต์รุ่นเก่าด้วยการเก็บค่าธรรมเนียม กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักรนับว่าเป็นเมืองที่มีมาตรการนี้เข้มงวดที่สุด โดยมีเขตปล่อยมลภาวะต่ำสุด (Ultra Low Emission Zone: ULEZ) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่บริเวณใจกลางกรุงลอนดอนทั้งหมด และปี 2023 ชาดิก ข่าน นายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน เตรียมจะออกมาตรการขยายให้เขต ULEZ ครอบคลุมพื้นที่กรุงลอนดอนทั้งหมดแต่ยังมีเสียงคัดค้านจากชาวลอนดอน บางประเทศเช่น ฝรั่งเศส และสเปน มีกฎหมายที่บังคับให้เมืองที่มีประชากรมากกว่า 150,000 คน (ประมาณ 42 เมือง) ต้องมีมาตรการกำหนดเขตควบคุมฯ
ส่วนสิงคโปร์ ใช้การเก็บค่าธรรมเนียมการจราจรคับคั่ง (Congestion Charge: CC) โดยเก็บค่าธรรมเนียมภายใต้ระบบ Electronic Road Pricing (ERP) ซึ่งเป็นซุ้ม (Gantry System) กระจายอยู่ตามถนนรอบเมือง เมื่อผู้ใช้รถขับผ่าน ระบบ ERP จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมโดยอัตโนมัติด้วยการรับส่งข้อมูลผ่านเซนเซอร์ตัวรับสัญญาณที่รัฐบาลบังคับให้ผู้ใช้รถติดตั้ง
ในประเทศไทยนั้นก็มีแผนในการนําน้ำมันเชื้อเพลิงมีกํามะถันไม่เกิน 10 มิลลิลิตรต่อลูกบาศก์เมตร (ppm) (มีกำมะถันน้อยกว่า 5 เท่า) มาใช้ หรือการปรับปรุงน้ำมันให้มีมาตรฐานเทียบเท่ามาตรฐานยูโร 5 ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2024 โดยปัจจุบัน ในช่วงที่ยังไม่มีการใช้บังคับ ภาครัฐใช้วิธีขอความร่วมมือกับผู้จำหน่ายน้ำมันให้นำน้ำมันกำมะถันต่ำเทียบเท่ามาตรฐานยูโร 5 มาจำหน่ายก่อน เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้า
และอีกส่วนหนึ่งก็คือการออกประกาศกำหนดมาตรฐานค่าควันดำของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัด ซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 13 เมษายน 2022 ที่ผ่านมา และมาตรการการตรวจควันดำ ส่วนประเด็นเขตพื้นที่ในเมืองที่จำกัดการเข้ามาของยานพาหนะที่ปล่อยมลพิษสูง กรุงเทพมหานครเคยมีทีท่าว่าจะใช้มาตรการนี้กับรถบรรทุกในปี 2020 ในช่วงเวลาที่ค่าฝุ่น PM2.5 เข้าขั้นวิกฤตแต่สุดท้ายก็มีการเลื่อนการใช้มาตรการออกไป
ในภาคอุตสาหกรรม ญี่ปุ่นพัฒนาระบบการติดตามและเฝ้าระวัง ปรับปรุงโมเดลพยากรณ์อากาศ ปรับปรุงฐานข้อมูลและรายชื่อแหล่งกำเนิดมลพิษ มาตรการระดับพื้นที่เพิ่มการติดตาม กำกับ และควบคุม การปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิดในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการปล่อยเขม่าไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) สารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) กฎหมายว่าด้วยระบบการรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายมลพิษ และการส่งเสริมการจัดการสารเคมี (Pollutant Release and Transfer Register หรือ PRTR) ในปี 1998 ประเด็นสำคัญของกฎหมายอยู่ที่เมื่อภาคเอกชนปลดปล่อยหรือมีการเคลื่อนย้ายสารอันตรายที่อยู่ในบัญชีรายชื่อที่กฎหมายควบคุมจะต้องรายงานปริมาณและชื่อสารเคมีนั้นๆ ให้หน่วยงานของกระทรวงเศรษฐกิจฯ ร่วมกับกระทรวงสิ่งแวดล้อม รับทราบและรวบรวมเป็นฐานข้อมูลของประเทศ ข้อมูลจากรายงานเหล่านี้ต้องเผยแพร่สู่สาธารณะบนเว็บไซต์ของทั้งสองกระทรวง และประชาชนสามารถขอให้ผู้ประกอบธุรกิจเปิดเผยเผยข้อมูลที่ต้องการได้ ญี่ปุ่นยังมีกฎหมายว่าด้วยการชดเชยความเสียหายทางสุขภาพจากมลพิษด้วย
ในประเทศไทย กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ปรับปรุงประกาศกระทรวงฯ ที่ให้โรงงานประเภทต่างๆ ติดตั้งระบบตรวจสอบคุณภาพอากาศอัตโนมัติ พ.ศ. 2544 จากเดิมที่ใช้บังคับเฉพาะโรงงานในวงจำกัด เป็นครอบคลุมโรงงานที่เข้าข่ายทั่วประเทศ สั่งติดเครื่องตรวจวัดมลพิษทางอากาศจากปล่องฯ แบบอัตโนมัติพร้อมรายงานผล 24 ชั่วโมง
แต่จากข้อมูลกรมโรงงานอุตสาหกรรม จะพบว่า กรุงเทพฯ มีโรงงานอุตสาหกรรม 260 โรงงาน แต่ปัจจุบัน ในกรุงเทพฯ มีโรงงานที่เชื่อมต่อผลการตรวจวัดมลพิษแบบอัตโนมัติมลพิษอากาศจากปล่องระบาย (CEMS) เพียง 4 โรงงาน 15 ปล่อง เท่านั้น
ในประเด็นเรื่องกฎหมายว่าด้วยระบบการรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายมลพิษ และการส่งเสริมการจัดการสารเคมี (Pollutant Release and Transfer Register หรือ PRTR) มีการพยายามผลักดัน “ร่างกฎหมาย PRTR” ซึ่งจะกำหนดให้อุตสาหกรรมเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมีที่ปล่อยออกมาสู่สภาพแวดล้อม โดยพรรคก้าวไกล แต่ก็ถูกปัดตกไปแล้วครั้งหนึ่งในปี 2021 และปัจจุบันมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม มูลนิธิบูรณะนิเวศ กรีนพีซ ประเทศไทย และภาคีเครือข่ายภาคประชาชน ก็ได้พยายามที่จะผลักดันร่างกฎหมายนี้อีกครั้ง
นอกจากนี้ยังมีความพยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด หลายร่าง ในขณะที่ร่างของเครือข่ายอากาศสะอาด หรือ Thailand CAN ที่ได้ยื่นต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2022 ยังไม่มีความคืบหน้า
ในระดับเมือง ยังมีแนวทางเกี่ยวกับการจัดทำแผนที่ภูมิอากาศเมืองและการวางผังทางระบายอากาศในพื้นที่เมือง โดยเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของสาธารณรัฐประชาชนจีนกำหนดเงื่อนไขขั้นต่ำในการออกแบบช่องอาคารเพื่อใช้เป็นทางผ่านของกระแสลม ยกตัวอย่างเช่น การกำหนดให้จำนวนสูงสุดของพื้นที่สวนลอยฟ้าในอาคารชุดพักอาศัยหรืออาคารที่มีการใช้งานประเภทอื่นมีค่าเท่ากับหรือไม่น้อยกว่าจำนวนชั้นของอาคารหารด้วย 15 และช่องอาคารต้องมีช่องเปิดอย่างน้อยสองด้านที่อยู่ตรงข้ามกันเพื่อให้เกิดการเคลื่อนที่ของกระแสลมแบบข้ามฟาก
ส่วนปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดน สิงคโปร์ออกกฎหมายมลพิษจากหมอกควันข้ามพรมแดน (The Singapore Transboundary Haze Pollution Act: THPA) ในปี 2014 ที่มีเป้าหมายมุ่งจัดการบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการเผาพื้นที่การเกษตรในอินโดนีเซีย กำหนดให้หน่วยงานซึ่งก่อให้เกิดหมอกควันในต่างประเทศต้องมีความรับผิดในสิงคโปร์ ไม่ว่าบริษัทเหล่านั้นจะเกี่ยวข้องกับบริษัทสิงคโปร์หรือไม่ก็ตาม ใช้การสันนิษฐานหลายระดับ ตัวอย่างเช่น หากมีแผนที่จากแหล่งใดที่ระบุว่าแปลงที่ดินแปลงหนึ่งถือครองโดยบริษัท หรือบริษัทเป็นผู้ใช้พื้นที่กฎหมายฉบับนี้จะสันนิษฐานว่าบริษัทที่ถือครองหรือเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวจะต้องรับผิดชอบ กรณีเกิดปัญหามลพิษหมอกควันขั้นรุนแรงในประเทศสิงคโปร์แล้วมีหลักฐานจากดาวเทียมหรือทางอุตุนิยมวิทยาใดๆ ที่บ่งชี้ว่าหมอกควันที่เกิดขึ้นนั้น มีสาเหตุมาจากเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นโดยผู้ถือครองหรือใช้ประโยชน์ที่ดินนั้น มีนักกฏหมายวิเคราะห์ว่า กฎหมายนี้เป็นการสร้างแรงกดดันต่อรัฐบาลอินโดนีเซียให้จริงจังกับการแก้ไขปัญหา
ขณะที่สหภาพยุโรปใช้แนวทางจัดการห่วงโซ่อุปทาน ประเด็นการทำลายป่าในอินโดนีเซียจากการเผาป่าเพื่อนำที่ดินมาปลูกปาล์มน้ำมันเพื่อส่งออกเป็นวัตถุดิบแก่หลายชาติในยุโรป ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาไฟป่าและหมอกควันพิษข้ามพรมแดนถูกกล่าวถึงมานานหลายปี เมื่อเดือนธันวาคม 2022 สหภาพยุโรป ประกาศใช้ระเบียบ Deforestation-Free Products บริษัทที่ต้องการวางจำหน่ายสินค้าในตลาดร่วมสหภาพยุโรปต้องเป็นสินค้าที่ปราศจากการตัดไม้ทำลายป่า (deforestation-free) โดยจะมีการตรวจสอบและประเมินสินค้า (due diligence rules) เพื่อยืนยันว่าเป็นสินค้าที่ปราศจากการตัดไม้ทำลายป่า กฎนี้ส่งผลต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เช่น ปาล์มน้ำมันจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งต้องปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อให้สามารถส่งสินค้าออกได้
ในขณะที่ประเทศไทยมีเพียงการสร้างความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในอาเซียนเพื่อหารือแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกันภายใต้แผนงานอาเซียนปลอดหมอกควันข้ามแดน (ASEAN Transboundary Haze-Free Roadmap) จนมาถึงแผนปฏิบัติการเชียงราย 2017 เพื่อป้องกันมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน (ChiangRai 2017 Plan of Action for Transboundary Haze Pollution Control in the Mekong Sub-Region) และล่าสุดคือแผนงานอาเซียนปลอดหมอกควัน (Haze Free ASEAN Roadmap) แต่ไม่มีข้อตกลงหรือสภาพบังคับใดๆ ออกมา มีเพียงแค่การแลกเปลี่ยนข้อมูลกันเท่านั้น
อ้างอิง
ข้อมูลค่าฝุ่น PM2.5 อ้างอิงจากจากเว็บไซต์ The World Air Quality Index Project
ข้อมูล ความเร็วลม ความกดอากาศ และอัตราการระบายอากาศ จากกรมอุตุนิยมวิทยา
ข้อมูลจุดความร้อนทั่วประเทศ จากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA)
แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองจากกรมควบคุมมลพิษ
โครงการศึกษาแหล่งกำเนิดและแนวทางการจัดการฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล จากกรมควบคุมมลพิษ
ตัวอย่างมาตรการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในต่างประเทศ จากสมุุดปกเขียวอากาศสะอาด (Clean Air Green Paper): บูรณาการข้ามศาสตร์เพื่อข้อเสนอเชิงนโยบายสำหรับอากาศสะอาด โดยเครือข่ายอากาศสะอาดประเทศไทย https://thailandcan.org/Clean_Air_Green_Paper_TH.pdf