อภินันท์ สุวรรณรักษ์ : เมื่อปลาถูกสั่งประหารชีวิตที่ลุ่มน้ำยม

อภินันท์ สุวรรณรักษ์ : เมื่อปลาถูกสั่งประหารชีวิตที่ลุ่มน้ำยม

ผศ.ดร.อภินันท์ สุวรรณรักษ์
คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้

20160303201231.jpg
ภาพจาก: http://www.fishtech.mju.ac.th/fishnew1/main/?ref=SteeringCommittee&lang=th

ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีประชากรมากกว่าร้อยละ 60 ที่ต้องพึ่งพาธรรมชาติ ดังนั้นการสร้างแหล่งอาหาร การสร้างอาชีพ การสร้างอาวุธ (ปัญญา) นั้นจึงมาจากน้ำเป็นสำคัญ ป่าไม้ ที่ได้ถูกตัดไปเสียเกือบหมด ทั้งที่ต้นน้ำอย่าง จ.เชียงใหม่ จ.ลำปางที่แม่น้ำวังกลายเป็นแม่น้ำที่ตายแล้ว จ.น่านที่กำลังถูกบุกรุกอย่างหนักเพื่อการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ และจ.แพร่ที่ต้นน้ำแทบไม่มีน้ำต้นทุนมากนักของแม่น้ำยม ซึ่งทั้งหมดล้วนแต่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรทางน้ำ โดยเฉพาะปลาที่มีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม

แม่น้ำยมที่เคยได้ชื่อว่าเป็นแหล่งปลาที่อุดมสมบูรณ์มานานนัก กลับเป็นส่วนที่ต้องมาทำความเข้าใจกันใหม่กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จากคำบอกเล่าของชาวบ้านที่อยู่กับแม่น้ำ ที่เคยได้ฝากชีวิตไว้กับแม่น้ำ เพื่อเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่ไม่ต้องซื้อหา เป็นการประหยัดถึงไม่มีเงินก็สามารถร่ำรวยชีวิตได้ วันนี้กลับเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง เสียงบ่นเรื่องไม่มีปลาให้จับ หลายบ้านเตรียมอุปกรณ์การดักจับสัตว์น้ำไว้อย่างพร้อมเพรียง แต่ไม่มีเงาของปลาอย่างที่คาดหวัง ลงแรงไปเท่าไหร่กลับไม่มีเสียงตอบรับจากปลาที่ท่านต้องการ 

เสียงร่ำลือว่ามีปลาขนาดใหญ่ ปลาชะโดขนาด 10-20 กิโลกรัม ปลาช่อนตัวเท่าขา ปลากระโห้ตัวใหญ่จนต้องใช้สองคนหาม สิ่งเหล่านี้เคยเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในอดีต สิ่งที่เข้ามาทดแทนที่ในปัจจุบันคือปลาตัวเล็กกว่ามาก เพราะตัวใหญ่โดนจับไปหมด ทั้งด้วยเครื่องมือที่ถูกกฎหมายและที่ผิดกฎหมาย เช่นใช้กระแสไฟฟ้าทำการประมง การใช้ลี่ การใช้โพงพางเพื่อขวางแม่น้ำ นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของการสั่งประหารโดยตัวชาวประมงเอง

นอกเหนือจากนี้ยังมีกิจกรรมทางการเกษตรอย่างอื่นที่มีส่วนสนับสนุนหรือแม้กระทั่งเป็นตัวหลักในการลงมือเสียเอง เช่น การใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า หรือกิจกรรมการขุดลอกทางน้ำเพื่อวัตถุประสงค์ของการทำให้น้ำไหลได้สะดวก ระบายน้ำได้ดีขึ้น แต่กลับไปทำลายแหล่งหลบภัย แหล่งเลี้ยงตัวอ่อน แหล่งหากิน หรือการสร้างคันกั้นน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมแต่กลับไปทำให้น้ำไม่ไหลเข้าไปท่วมท้องทุ่งอันเวิ้งว้าง อันเป็นแหล่งผสมพันธุ์วางไข่และเป็นแหล่งเลี้ยงตัวอ่อนของปลา เมื่อเป็นเช่นนี้วงจรของปลาก็ถูกทำลายไปโดยสิ้นเชิง

การทำการประมงที่ผิดกฎหมายเป็นเรื่องที่มีหน่วยงานทางราชการที่รับผิดชอบได้พยายามเต็มที่เพื่อการป้องกัน ป้องปราม หรือการสร้างและทำความเข้าใจเรื่องของมวลชน จากข้อมูลของแม่น้ำยมซึ่งเป็นแม่น้ำที่ไม่มีเขื่อนกั้นแห่งเดียวของแม่น้ำสาขาของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งปลาน่าจะมีการอพยพขึ้นไปทางด้านเหนือน้ำเพื่อการผสมพันธุ์วางไข่ได้อย่างเป็นอิสระ กลับมีปลาน้อยลงอย่างใจหาย แม้ความเข้มข้นของการทำงานของเจ้าหน้าที่เพื่อตอบโจทย์ส่วนนี้นับว่าได้ผลอย่างที่พอใจ จากที่มีโพงพางกางกั้นอยู่เต็มตามความยาวของแม่น้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ตั้งแต่ จ.สุโขทัย จ.พิษณุโลก จ.พิจิตร และจ.นครสวรรค์ วันนี้แทบไม่เห็นอุปกรณ์นี้ แต่ก็ไม่สามารถเยียวยาหรือทำให้ปลานั้นกลับคืนมาได้ทันหรือไม่ รถไฟขบวนนี้เป็นขบวนสุดท้ายหรือไม่

จากข้อมูลเบื้องต้นที่เห็นได้ด้วยตานั้น เชิงประจักษ์ว่าไม่มีแล้วเครื่องจับสัตว์น้ำที่เห็นที่ต้องห้ามทางกฎหมาย เป็นความสำเร็จอย่างงดงามของทีมงานส่วนของการควบคุมและบังคับใช้กฎหมาย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นอาจโชคไม่เข้าข้างเท่าใดนัก กลับมีปริมาณน้ำฝนลดลงจนน่าใจหาย ทำให้งานที่สร้างสมมาไม่ได้แสดงผลที่ชัดเจน ซึ่งนั้นคือการมีค่าคาดหวังว่าจะมีปลาเพิ่มขึ้นในปีนี้ จะได้ประกาศความสำเร็จร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐและชาวบ้านผู้ทำมาหากินอยู่กับลำน้ำยม

20160303200817.jpg

ภาพ: สภาพภูมิประเทศและลำน้ำสาขาในลุ่มน้ำยม 
ที่มา: สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร

หลังจากที่ได้ขึ้นไปทางเหนือของบ้านกง ทวนน้ำนิ่งๆ ขึ้นไป ไปได้ไม่สุดทางก็เจอกับการใช้รถตักมาขุดดินเพื่อสร้างเป็นคันกั้นน้ำแบบกึ่งถาวรเพื่อนำน้ำไปใช้เติมในนาข้าวที่ติดตั้งท่อสูบน้ำไว้อย่างถาวร รอเพียงน้ำเครื่องสูบจากรถไถเดินตามที่ใช้ได้อย่างเอนกประสงค์จริงๆ และสายพานที่ยาวมากเป็นพิเศษ นับเป็นนวัตกรรมอย่างหนึ่งของเครื่องยนต์สูบยืนแบบสูบเดี่ยวความเร็วรอบต่ำ กับความคิดของคนไทย ตลอดแนวทางจะมีการกั้นน้ำเป็นส่วนย่อย เพื่อแบ่งกันไปตามความต้องการ บางส่วนกำลังดำเนินการ โดยไม่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องมาเห็น ที่เริ่มตั้งแต่ผู้ปกครองในท้องถิ่น หรือคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการสร้างสิ่งกีดขวางทางน้ำก็เป็นการผิดกฎหมาย หรือการกั้นแล้วไม่ให้มีการเดินทางได้ของสัตว์น้ำก็ไม่ถูกต้องนัก แต่กลับพบเห็นได้เป็นปกติ เมื่อกั้นแล้วก็มีการสูบน้ำซึ่งมีหลายครั้งที่สูบจนน้ำนั้นแห้ง ซึ่งเป็นผลร้ายกับแหล่งสะสมพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำตามธรรมชาติ

ชาวประมงที่ลงมาหาปลาบ้างแต่มีเพียงไม่กี่ราย ทุกคนบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่มีปลา ยอยกที่เคยมีเรื่องเล่าว่าได้ปลาชุกชุม ปัจจุบันนี้เหลือเพียงเจ้าเดียวที่ยืนหยัดทำมา 34 ปี ด้วยความหวังที่มีทุกครั้งหลังจากการจมยอลงไปในน้ำ นั่งรอประมาณครั้งละครึ่งชั่วโมงแล้วทำการยกครั้งหนึ่ง ปลาที่จับได้ที่เป็นที่ต้องการคือกลุ่มของปลาซิวแก้วมาทำเป็นปลาจ่อมส่งขายขวดแบนราคา 15 บาท ในช่วงที่ปลาชุกหน่อยก็ได้มากหน่อยวันละหลายสิบกิโลกรัม แต่ในช่วงนี้และของปีนี้กลับไม่มีปลามากนัก ครั้งหนึ่งที่ยกขึ้นมาได้ก็ไม่กี่ตัว กับปลาอื่นๆ ที่เป็นลูกปลาหรือเป็นปลาขนาดเล็ก เช่น ปลาแบบ ปลาซ่า ปลาสร้อยนกเขา ปลาสร้อยขาว ปลาซิว ปลาทรงเครื่อง ปลาหลดลาย ปลากระทิงลาย ปลาหลดสยาม ปลาตะเพียน ปลาตะเพียนทอง ปลากระแห ปลาตะเพียนทราย และลูกปลาอื่นๆ 

เสียงตอบจากความมั่นใจในความหวังตลอดเวลานั้น เริ่มไม่ค่อยมั่นใจเมื่อได้มีโอกาสสอบถามกันอย่างใกล้ชิด วันหนึ่งจับได้เพียง 1-2 กิโลกรัม ใช้เวลาทั้งวันกับการต้องยกขึ้นลงวันละไม่น้อยกว่า 15 ครั้ง ในราคาขายกิโลกรัมละ 15 บาท เป็นงานที่ต้องมาจากความรักจริง หรือเพราะไม่มีงานอื่นๆ ให้ทำ บางครั้งโชคดียกยอได้ลูกปลาเทโพขนาดยาวประมาณ 10 เซนติเมตร ก็สะสมเอาไว้แบบปลาเป็นนำไปส่งขายให้กับเจ้าของแพปลาในราคาตัวละ 2 บาท วันละประมาณ 10 ตัว รายได้จากงานที่ทำต่อวันกลับไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ด้วยการที่ไม่มีปลาคนอื่นเขาเลิกกันไปทำอาชีพอื่นกันหมดแล้ว

นกกระเต็นลายที่มีความชำนาญในการหาปลาระดับมืออาชีพหลายตัวบ้างก็ยืนรอจังหวะ บ้างก็บินลงไปโฉบปลาที่ลอยขึ้นมาที่ผิวน้ำ นกกระยางที่ยืนรออย่างใจจดใจจ่อกับปลาน้อย นอกจากนกกินปลาแล้วยังมีกลุ่มนกเล็กที่กินแมลงโผไปมาอย่างน่าชม พอเริ่มสายหน่อยก็แอบหนีเข้าสู่ร่มพงที่มีอยู่ไม่มากนัก ไม่มีป่า ไม่มีอาหารปลา ไม่มีปลา ไม่มีอาหารนก สุดท้ายก็ไม่มีอะไรสักอย่างเดียว

20160303201050.png

ภาพ: รายละเอียดของจังหวัดในลุ่มน้ำยม
ที่มา: สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร

การสร้างแนวป้องกันน้ำท่วม เป็นส่วนหลักส่วนหนึ่งที่สำคัญในการป้องกันน้ำไม่ให้เข้าไปทำความเสียหายแก่ผลผลิตของเกษตรกร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนาข้าวที่เกษตรกรได้ลงทุนลงแรงไปจำนวนมาก เพราะนั่นคือชีวิตของตัวเองและอีกหลายชีวิตในครอบครัว ในพื้นที่ทุ่งสุโขทัย ทุ่งพิษณุโลก ทุ่งพิจิตร และทุ่งนครสวรรค์ มีการใช้พื้นที่เพื่อการปลูกข้าวมากกว่าร้อยละ 60 ของพื้นที่ทำการเกษตรอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะมีการปลูกทั้งข้าวนาปีและข้าวนาปรัง หรือบางส่วนในพื้นที่ตอนล่างสามารถปลูกข้าวได้มากกว่า 2 ครั้ง จึงเป็นเหตุผลหลักในการต้องป้องกันผลผลิตที่มากนี้

การสร้างคันเพื่อป้องกันน้ำท่วมจึงเป็นเหตุผลที่ดีในการสร้างความมั่นใจให้กับชาวนา แต่กับปลากลับเป็นเหตุผลรองอย่างไม่น่าเชื่อว่าจะมีผลกระทบต่อปลาและสัตว์น้ำอย่างมาก กล่าวคือเมื่อมีการกั้นน้ำไม่ให้ล้นเข้าไปท่วมท้องทุ่งอย่างที่เคยเป็นกลับเป็นการตัดวงจรการแพร่ขยายพันธุ์สัตว์น้ำอย่างรวดเร็ว การวางไข่ของปลาไทยส่วนใหญ่ไม่ได้ดำเนินกิจกรรมนี้ในแม่น้ำสายหลัก แต่กลับเป็นพื้นที่ราบน้ำท่วมถึง

เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนปลาทั้งหลายที่รอเวลานี้มาทั้งปี กลุ่มที่พร้อมที่เป็นพ่อแม่พันธุ์ก็อพยพเข้าไปเพื่อผสมพันธุ์วางไข่ในพื้นที่ราบน้ำท่วมถึงเหล่านั้น เป็นบริเวณที่มีน้ำตื้น กระแสน้ำไม่แรง มีอาหารสำหรับลูกปลาวัยอ่อน มีสถานที่หลบซ่อนตัวของปลาวัยอ่อน มีศัตรูตามธรรมชาติน้อย เมื่อเป็นเช่นนี้ปลาส่วนใหญ่จึงต้องพึ่งพาพื้นที่ราบเหล่านั้น สาเหตุหลักอย่างหนึ่งของการที่ประเทศไทยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำนั้นก็เรามีพื้นที่เช่นนี้ตลอดทั้งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และลุ่มแม่น้ำอื่นๆ ดังนั้นเมื่อพ่อแม่พันธุ์ไม่สามารถหาแหล่งวางไข่ที่เหมาะสมนั้นได้ จึงไม่สามารถมีลูกหลานต่อไปได้ และการที่น้ำแห้งลงไปอีกโอกาสถูกจับไปเป็นอาหารของมนุษย์ก็มีมากขึ้น

ดังนั้น ถ้าหลายปีที่ไม่สามารถหาที่ไว้วางใจสำหรับวางไข่ ปลาขนาดใหญ่หลายชนิดก็จะลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว และไม่มีโอกาสกลับคืนมา สังเกตได้จากปีไหนที่มีน้ำท่วมและค้างอยู่ในพื้นที่ทุ่งนานาน ในปีนั้นหรือในปีถัดมาก็จะมีปลาชุกชุมมาก แต่ในปีนี้น้ำยังไม่ได้เข้าไปในทุ่งนาเลย ชาวนาเริ่มปลูกข้าวกันแล้วตั้งแต่พื้นที่ทุ่งสุโขทัยลงไป สะดือของแม่น้ำยมที่เคยอยู่บริเวณบ้านบางระกำกลับไม่มีน้ำแล้วจะเหลืออะไร

ชาวบ้านเริ่มทำการกั้นแม่น้ำและบางส่วนของลำคลองเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในกิจกรรมของกลุ่มตนเอง เมื่อปีที่แล้วน้ำในคลองบางระกำแห้งสนิท ไม่มีน้ำหลงเหลือเพื่อให้พ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำ ปีนี้จึงไม่มีปลา ตอนน้ำท่วมและเชื่อมต่อกับแม่น้ำยมจึงได้มีลูกปลาเทโพขนาดยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร เข้ามา แล้วถ้าระบบนี้การใช้น้ำแบบกักกั้นเป็นช่วงๆ จะเกิดอะไรขึ้นกับพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำ ซึ่งปีนี้จะน่าเป็นห่วงกว่าปีที่แล้วที่ในเดือนตุลาคมฝนได้ขาดช่วงไปแล้ว

ชาวนาเริ่มติดตั้งเครื่องเครื่องสูบน้ำกันตลอดทั้งแนวแม่น้ำ เริ่มกั้นคลองเพื่อเก็บกักน้ำ เริ่มสูบน้ำเพื่อเข้านากันทั้งวันทั้งคืน ซึ่งไม่ยากนักที่น้ำจะหมดแม่น้ำยมเพียงไม่เกินอีกสองถึงสามเดือนข้างหน้า เตรียมตอกฝาโลงบรรดาสัตว์น้ำทั้งหลาย เพราะเมื่อไม่มีน้ำก็ไม่มีปลา โดยเฉพาะการที่ไม่มีพ่อแม่พันธุ์หลงเหลืออยู่ เปรียบดั่งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ก็มิปาน นอกจากนี้แล้วยังมีส่วนสำคัญที่เกี่ยวข้อง กล่าวคือการใช้ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า สารเคมีทางการเกษตรอื่นๆ รวมถึงปุ๋ยเคมีอย่างไม่พอดี ยังรวมถึงการทิ้งสิ่งสกปรกและอันตรายลงแหล่งน้ำด้วย

การใช้ยาฆ่าแมลง และสารเคมีก็เป็นอีกสาเหตุหลักอีกอย่างหนึ่งที่กระทบต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ ยาฆ่าหญ้าที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมการเกษตรของโลกนี้ ประเทศไทยก็เช่นเดียวกันที่มีการใช้อย่างไม่ได้ใส่ใจในสิ่งแวดล้อม เกินกว่าปริมาณที่กำหนดไว้ และบางครั้งยังมีการนำมาผสมกันเพื่อให้ได้ฤทธิ์ที่รุนแรงมากขึ้น จนเป็นผลให้เกิดการดื้อยา และต้องเพิ่มปริมาณการใช้เพิ่มขึ้น

ยาฆ่าหญ้าที่ใช้กันตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ยาฆ่าหญ้าเป็นเรื่องสำคัญยิ่งของแหล่งน้ำ ไม่ได้ฆ่าปลาโดยตรงแต่เป็นการฆ่าทางอ้อม กล่าวคือเมื่อมีการปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำจะไปฆ่าแพลงก์ตอนและสาหร่ายในน้ำ โดยเฉพาะแพลงก์ตอนขนาดเล็กที่เกาะอยู่กับก้อนหินหรือรากไม้ใต้น้ำที่เป็นจุดเริ่มต้นของอาหารสำหรับแมลงน้ำขนาดเล็กที่เป็นห่วงโซ่อาหารของปลา เมื่อไม่มีแพลงก์ตอนหรือสาหร่ายแล้วก็จะไม่มีแมลงน้ำเพราะไม่มีอาหาร เมื่อไม่มีแมลงน้ำปลาเองก็อยู่ยากขึ้น โดยเฉพาะปลาที่กินพืชและปลาที่กินแมลงน้ำเป็นอาหาร เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่มีปลากินเนื้อ กระทบกันไปทั้งระบบแหล่งน้ำ

นอกจากนี้ยังมีการสะสมของสารเคมีเหล่านี้ในเนื้อเยื่อของปลา ซึ่งเมื่อมนุษย์นำมาบริโภคก็จะมาสะสมต่อในคน ยังไม่รวมถึงการที่เกษตรกรใช้โดยตรงที่สัมผัสโดยตรงด้วย บางหมู่บ้านต้องเป็นโรคร้ายต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในกระบวนการของการสร้างกระบวนการผลิตทางด้านการเกษตรที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั้นจึงเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งนัก ที่สามารถดูแลได้ทั้งชีวิต ทั้งเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

การขุดลอกแม่น้ำเพื่อวัตถุประสงค์ของการระบายน้ำให้ไหลคล่องตัวขึ้น นับเป็นเรื่องที่ดีเมื่อเข้าถึงฤดูน้ำหลาก เพื่อให้น้ำสามารถเคลื่อนไปข้างหน้าได้เร็วขึ้นกว่าเดิม แต่ถ้าตัวแทนฐานะเป็นทรัพยากรทางน้ำแล้ว ริมตลิ่งที่มีรากไม้ มีก้อนหิน มีส่วนที่น้ำลึก มีส่วนที่น้ำตื้น มีร่มเงา มีแหล่งอาหาร และอื่นๆ ที่สร้างชีวิตให้เกิดขึ้นได้

แค่รากไม้หนึ่งรากกลับเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตทางน้ำหลากหลายชนิด เป็นระบบนิเวศวิทยาอย่างดีมาก สามารถเติมเต็มชีวิตของสิ่งมีชีวิตในน้ำ เริ่มต้นจากการมีกลุ่มของแพลงก์ตอนที่เกาะอาศัยกับรากไม้และเป็นอาหารของสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดใหญ่กว่าที่ ได้แก่ตัวอ่อนแมลงน้ำ และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กกลุ่มของกุ้ง ปู และหอย ซึ่งจะเป็นอาหารของปลาขนาดเล็ก และปลาขนาดใหญ่กันอย่างเป็นห่วงโซ่อาหารและสายใยอาหารตามลำดับ รวมถึงเป็นที่หลบภัยเป็นบ้านที่มีมีความอบอุ่น

เมื่อลอกเอาส่วนของดิน รากไม้ ต้นไม้ และส่วนต่างๆ ที่แข็งแรงออกไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ที่อยู่อาศัย ที่หลบภัย และแหล่งอาหารหมดไปโดยทันที ถ้าหากแหล่งอาหารตั้งต้นนั้นหมดไปแล้วปลาจะอยู่รอดได้อย่างไร เมื่อไม่มีวังน้ำลึกแล้วพ่อแม่พันธุ์จะอยู่รอดไปถึงฤดูฝนข้างหน้าหรือไม่

นอกจากนี้แล้วการขุดลอกจะมีผลอย่างยิ่งกับเรื่องของการพังทลายของหน้าดิน โดยจะมีการกัดเซาะที่ไม่เป็นธรรมชาติ นั่นคือในธรรมชาติจะมีส่วนที่แข็งและส่วนที่อ่อนของดิน การกัดเซาะจนเป็นคุ้งน้ำนั้นคือการไหลไปในทิศทางธรรมชาติที่จะพัดพานำเอาส่วนที่อ่อนกว่าออกไป จนริมตลิ่งที่เหลือทั้งหมดนั้นเป็นส่วนที่แข็งแรงแล้วทั้งสิ้น จนกลายเป็นแม่น้ำหรือลำธารที่คดเคี้ยวไปมา การขุดดินโดยไม่ทราบที่อ่อนที่แข็งนั้นจะมีผลต่อการกัดเซาะและพังทลายลงมาอยู่ในน้ำ และเป็นการทับถมด้วยพื้นท้องน้ำที่เป็นทรายไปเสียทั้งหมด

ในกรณีของพื้นที่ลำธารต้นน้ำจะเห็นได้ชัดเจนเป็นอย่างยิ่งของการกลายจากพื้นท้องน้ำที่เป็นหินมาเป็นทราย เช่นน้ำแม่วังที่พื้นท้องน้ำทั้งหมดถูกทรายลงมาทับถมกลายเป็นแม่น้ำที่ตายแล้ว คือไม่มีสิ่งมีชีวิตทางน้ำเหลืออยู่มากนัก หรือเหลือเฉพาะชนิดที่มีความสามารถและทนทานสภาพแวดล้อมที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ เช่นปลาหนามหลัง 

การไม่บูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบ เป็นอีกส่วนหนึ่งของความไม่ราบรื่นของการทำให้ประชาชนชาวไทยได้อยู่ดีกินดี ทำให้การใช้งบประมาณไปนั้นเพียงเพื่อการให้งานเสร็จไปตามโครงการแต่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ หรือเสร็จแล้วถ่ายภาพกลับมาเพื่อเขียนรายงานเพื่อตอบว่าได้ทำอะไรไปบ้าง โครงการเกือบทุกโครงการของหน่วยงานต่างๆ ล้วนแล้วแต่เป็นการมุ่งหวังให้ประชาชนอยู่ดีกินดี แต่ไม่ได้เข้าใจพื้นฐานของชีวิตว่าแต่ละชีวิตนั้นไม่ได้มีองค์ประกอบเชิงเดี่ยว แต่ต้องประกอบด้วยหลากหลายส่วนเข้ามาประกอบกันเพื่อการอยู่รอดของชีวิต

ดังนั้น ถ้าคิดถึงเรื่องของการเลี้ยงปลา จะพูดถึงเรื่องปลาอย่างเดียวไม่ได้ เกษตรกรจะพาชีวิตของตัวเองและชีวิตของครอบครัวทั้งหมดไปรอดได้อย่างไร หน่วยงานต่างๆ ควรพูดคุยกันเองและดูความพร้อมของประชาชน ว่ามีความพร้อมกับเรื่องเหล่านั้นขนาดไหน เพราะทุกโครงการที่นำไปมอบให้นั้นล้วนเป็นเรื่องที่ดีทั้งสิ้น แต่พบว่าในบางครั้งไม่ได้เป็นที่ต้องการจริงๆ เพียงแต่ผู้อยากทำโครงการเป็นกลุ่มคนที่นั่งคิดอยู่ในส่วนกลางที่ไม่ได้มองเห็นความต้องการที่แท้จริง

เมื่อประชาชนต้องกินข้าว ต้องมีกับข้าว ต้องมีอาชีพ ต้องมีการต่อยอด ต้องมีการเรียนรู้ ซึ่งจะทำให้ทุกคนเหมือนกันทั้งหมดไม่ได้ แต่จะเดินทางในการพัฒนาอย่างไรกลับเป็นเรื่องที่ต้องกลับมานั่งทบทวนกันใหม่  สูญเสียทั้งงบประมาณและเวลาซึ่งสามารถพบเห็นได้บ่อย หลายครั้งที่พบว่าชาวบ้านบ่นว่ามาพูดหรือมาอบรมอย่างเดียวแต่ไม่ลงมือทำจริง จนหลายที่เริ่มเบื่อเมื่อเห็นผู้ที่จะมาอบรม

หากมีการบูรณาการที่ผู้ที่จะมาให้ความรู้เข้าใจ เข้าถึงเสียก่อนก็จะเป็นเรื่องที่ดีมาก จะสามารถบูรณาการได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น เรื่องน้ำที่ส่วนใหญ่แล้วหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องทรัพยากรน้ำก็ดำเนินการในแนวทางที่ถูกต้องของตัวเอง แต่ไม่ได้คำนึงถึงมากนักในเรื่องของทรัพยากรทางน้ำที่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของชีวิตมนุษย์ โดยเฉพาะเกษตรกรและคนที่อยู่ริมน้ำ จัดเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่ไม่ต้องซื้อหา และเป็นส่วนที่ใช้เลี้ยงชีวิตของคนไทยมาช้านาน ซึ่งจะเกี่ยวเนื่องไปกับเรื่องของสาธารณสุขเมื่อคนมีอาหารการกินที่อุดมสมบูรณ์โรคภัยก็จะมีน้อย ที่ได้มากกว่านั้นคือการที่คนไม่ออกจากชุมชนเพื่อไปหางานทำที่อื่น เมื่อไม่มีการย้ายถิ่นฐานมากนักความเข้าใจและรับการถ่ายทอดเรื่องของศิลปวัฒนธรรมก็มาโดยตรง สามารถรักษาประเพณีดั้งเดิมเพื่อถ่ายทอดไปยังรุ่นต่อไปได้

การที่มีเวลามากขึ้นการศึกษาก็สามารถทำได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และได้มาจากรากเหง้าของตัวเอง เรียนกันเพื่อแก้ปัญหาของชุมชนตนเอง เมื่อทุกชุมชนมีความเข้าใจสังคมส่วนรวมก็มีความเข้าใจมากขึ้น ย่อมส่งผลดีต่อประเทศชาติสืบไป การมีจิตใจโอบอ้อมอารีก็เห็นได้เพราะทุกคนพร้อมที่จะให้ คุณธรรมจริยธรรมเกิดขึ้นได้โดยง่าย เพราะยังไม่ได้เปลี่ยนแปลง เพราะได้รับถ่ายทอดมาเป็นรุ่นต่อรุ่น การเมืองการปกครองที่เหมือนกับพ่อปกครองลูก ใช้จารีตมากกว่าการใช้กฎหมาย และอื่นๆ ซึ่งต้องมาจากการบูรณาการทุกอย่างเข้าด้วยกันใช้เงินก้อนเดียว ใช้เวลาเดียวกัน แต่จะได้ผลลัพธ์ได้หลากหลายมุมมองหลากหลายหน้าที่รับผิดชอบของหน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบ เป็นส่วนที่อยากให้เกิดขึ้นโดยเร็วในประเทศไทย

การวางแผนเก็บน้ำก็ยังไม่เห็นผลมากนัก สามารถทำได้น้อย เพราะวันนี้ประเทศไทยตอนบนคือภาคเหนือมีพื้นที่ป่าไม้ลดลงเป็นลำดับ ความสามารถในการเก็บกักน้ำดั่งเช่นฟองน้ำเหมือนอย่างแต่ก่อนนั้นก็ลดลงไปอย่างมาก จนพื้นที่ต้นน้ำบางแห่งแห้งขอด ไม่มีน้ำมากพอที่จะนำมาใช้อุปโภคและบริโภค หากมีการสร้างหลุมขนมครกตลอดพื้นที่ใกล้กับแม่น้ำ ลำธาร หรือที่อื่นๆ เพื่อเก็บกักน้ำตอนที่มีน้ำ และสำรองไว้ใช้ในช่วงน้ำแล้งอย่างพอเพียง หรือหากมีพื้นที่มากพอก็สามารถขายให้กับเกษตรกรที่ต้องการน้ำ นอกจากนี้หากทำการขุดริมแม่น้ำมีปลาเข้ามาด้วยตอนช่วงน้ำหลากก็จะเป็นการสร้างรายได้และเป็นแหล่งเก็บรักษาพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำไปในเวลาเดียวกัน

หากจัดการให้พอเพียงต่อหมู่บ้าน ต่อตำบล ต่ออำเภอได้นั้น ไม่จำเป็นต้องสร้างแหล่งน้ำเก็บน้ำที่เป็นเขื่อนที่มีขนาดใหญ่และกินพื้นที่เยอะ หากดำเนินการแบบหลุมขนมครกจะสามารถครอบคลุมพื้นที่ได้มากกว่า เพราะเขื่อนกักเก็บน้ำส่วนใหญ่พื้นที่ที่อยู่เหนือเขื่อนนั้นมักไม่ค่อยได้รับประโยชน์เท่าที่ควร 

คลองบางระกำที่เคยมีคำกล่าวขานถึงความชุกชุมของปลา แต่เมื่อปีที่แล้วน้ำในคลองทั้งหมดถูกกั้นเป็นช่องๆ แล้วถูกสูบขึ้นไปใส่ในที่นาที่ปลูกข้าวเอาไว้ การลดลงของทรัพยากรธรรมชาติทางน้ำนั้นมีผลอย่างไรกับวิถีชีวิตของประชาชน ดั่งมีคำตอบอยู่มากมายตอบตัวเองอยู่แล้ว ซึ่งคือปัจจัยที่สร้างขึ้นเองโดยมนุษย์ ทั้งที่รู้และเข้าใจ กับพวกที่ไม่รู้และยังไม่เข้าใจ และกลุ่มที่ไม่ยอมเข้าใจ ทั้งการใช้ยาฆ่าแมลง การขุดลอก การกั้นลำน้ำ การทำการประมงผิดกฎหมาย การสร้างแนวคันกั้นน้ำเข้าท่วมทุ่งนา การทิ้งของเสียลงแหล่งน้ำ การไม่บูรณาการการทำงาน และอื่นๆ

หากกระบวนการทั้งหมดของการพัฒนาแหล่งน้ำไม่ได้คิดถึงสิ่งกล่าวมาข้างต้นนับเป็นการ “สั่งประหารปลา 7 ชั่วโคตร” ก็มิปาน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ