สังคมในปัจจุบันที่มีความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันนั้นหากมีการเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาและคนหนุ่มสาวได้มีโอกาสแสดงออกทางความคิด ความเห็น ตามความเชื่อและแนวทางของตน สามารถแลกเปลี่ยนพูดคุย หาทางออกจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ โดยเปิดใจพูดคุยหาทางออกร่วมกัน เพื่อคลายความตึงเครียดทางการเมืองลง บนฐานคิดที่จะเปิดใจรับฟังซึ่งกันและกัน อาจจะนำไปสู่การคลี่คลายปัญหา
ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย นักศึกษาและเยาวชนคนหนุ่มสาว มีบทบาทอย่างสำคัญในกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยและการพัฒนาสังคม พวกเขาตระหนักในบทบาทและศักยภาพของ ‘คนหนุ่มสาว’ ความเป็น ‘ปัญญาชน’ และตั้งคำถามต่อบทบาทและการรับผิดชอบต่อสังคมของตน พวกเขาต้องการมีส่วนร่วมทางการเมืองและต้องการแสดงออกโดยตรง เพื่อบอกสังคมว่าการเมืองเป็นเรื่องของประชาชนและประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ ปรากฏการณ์การแสดงออกทางการเมืองของนิสิต นักศึกษา เยาวชน คนหนุ่มสาว มีมาอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์ ด้านหนึ่งก็เป็นตัวช่วยขับเคลื่อนสังคมและอีกด้านหนึ่งก็เป็นการรับผิดชอบต่อสังคมด้วย เมื่อเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองทุกครั้งนักศึกษาจึงเป็นความคาดหวังที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมอยู่เสมอ
อ.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการเมืองปัจจุบันที่กลุ่มนักศึกษาออกมาแสดงความคิดเห็นหรืออกมาเคลื่อนไหวไว้ว่า “ ผมคิดว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีมากที่นักศึกษาจะได้แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ที่ผ่านมาช่วงเวลาสักสิบปีนี้เราอาจจะเห็นบทบาทนักศึกษาน้อยแต่ว่าความขัดแย้งทางการเมืองในช่วง 1-2 ปีนี้ นักศึกษาได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น แล้วก็มีบทบาทที่สำคัญ ต้องวิพากษ์วิจารณ์ไม่ใช่เฉพาะคนอื่นแต่ต้องวิจารณ์ตัวของตัวเองด้วย เพราะฉะนั้นอันนี้มันก็จะเป็นจุดที่ทำให้ “กระบวนการของนักศึกษาเองน่าจะมีการพัฒนาขึ้น” แต่ที่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความเป็นตัวตนของนักศึกษาที่มาเข้าร่วมก็จะได้มีการพัฒนาขึ้นด้วย แต่การพัฒนาขึ้นนั้นจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมันมีการ ตรึกตรอง และคิดทบทวนอย่างถี่ถ้วนตลอดเวลา ไม่ใช่เชื่อมั่นในอุดมการณ์ใดอุดมการณ์หนึ่งหรือความคิดใดความคิดหนึ่งโดยที่ไม่ทบทวนว่าสิ่งที่ตนเองทำอยู่นั้นมันเป็นคำตอบที่ดีสำหรับสังคมในภาพรวมหรือไม่”
จากนั้นอาจารย์ได้กล่าวถึงความรู้สึกที่เห็นความหลากหลายในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของกลุ่มนักศึกษาไว้ด้วยว่า
“ผมคิดว่าในวงการนักศึกษาด้วยกันความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนที่มีความคิดเห็นต่างกันอยู่ในระดับน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับวงการโดยภาพรวมเช่นผู้ใหญ่ ผมหมายถึงการใช้ภาษา การดูหมิ่นกันระหว่างฝ่ายที่เห็นต่างกันในแวดวงนักศึกษา ซึ่งก็หลายมหาลัยก็มีความคิดทั้งสองแบบ ผมคิดว่านักศึกษากลับแสวงหาเรียกว่าระยะห่างแล้วก็ทีท่าที่มีต่อกันผู้ที่ขัดแย้งกัน เขามีทีท่ามีระยะห่างที่เหมาะสมกว่าภาพรวมของทั้งสังคม จริงๆ ถ้าภาพรวมของทั้งสังคมมาสนใจนักศึกษามากขึ้นว่า นักศึกษาอยู่กันได้อย่างไรในสถานการณ์ที่มีความคิดเห็นขัดแย้ง ผมคิดว่าสังคมก็อาจจะได้คำตอบที่ดีมากขึ้นครับ”
ความสวยงามของประชาธิปไตยบนความคิดเห็นที่แตกต่าง สามารถแสดงออกในความคิดของตนโดยไม่ขัดกับกฎหมาย สิทธิเสรีภาพของผู้อื่น การเคลื่อนไหวของนักศึกษาและคนหนุ่มสาวก็เป็นหนึ่งในความเคลื่อนไหวของประชาชน ที่อยู่ในช่วงของการเรียนรู้ การที่เขามีความคิดเห็นหรือเคลื่อนไหวออกมา ผู้ใหญ่น่าจะรับฟังและเปิดพื้นที่ให้เขาเหล่านี้ได้แสวงหาความรู้ประสบการณ์และมีโอกาสลองผิดลองถูกอย่างมีเหตุผลตามความคิดของพวกเขา