หมอกควันกับการเผาในพื้นที่สูง

หมอกควันกับการเผาในพื้นที่สูง

ปัญหาหมอกควันที่เกิดขึ้นทั่วทั้งภาคเหนือของประเทศไทยดูเหมือนจะกลายเป็นภัยพิบัติที่มีเวลาที่แน่นอนคือ ปลายเดือนกุมภาพันธ์จนถึงต้นเดือนเมษายนของทุกปี โดยการเพิ่มสูงขึ้นของค่า PM10 ที่มีค่าเกินค่ามาตรฐาน (120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศ์กเมตร) เกือบหลายเท่าตัว อันส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน การศึกษาความสัมพันธ์ของรูปแบบการเผาโดยใช้จุดเผา หรือ Hotspot ที่ปรากฏบนภาพถ่ายดาวเทียมในระบบ MODIS เป็นตัวแทนของการเผา และรูปแบบการเพิ่มขึ้นของค่า PM10 นั้นพบว่ามีรูปแบบการเปลี่ยนแปลงที่สอดคล้องกัน กล่าวคือ ค่า PM10 จะเริ่มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตั้งแต่เดือน ธันวาคม และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงเดือนเมษายน โดยจะพบค่า PM10 สูงสุดในเดือนมีนาคมของทุกปี ซึ่งรูปแบบของการเผาหรือการเกิด Hotspot ก็เป็นรูปแบบเดียวกัน

จากการศึกษารูปแบบของการเกิด Hotspot ในพื้นที่จังหวัดเชียงรายพบว่าจุด Hotspot ที่ปรากฏในเดือนมีนาคมนั้นส่วนใหญ่จะพบในพื้นที่สูง (401-600 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง) ซึ่งสอดคล้องกับการแปลพื้นที่เผาจากภาพถ่ายดาวเทียม Landsat 5TM ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากร ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของรัฐ และเมื่อทีมวิจัยลงสำรวจพื้นที่ร่วมกับส่วนควบคุมไฟป่าโป่งฟูเฟือง อำเภอแม่สรวย พบว่า “การเผา” เป็นวิธีเดียวที่ประชาชนส่วนใหญ่ใช้ในการแผ้วถางพื้นที่เพื่อเตรียมการปลูกพืช ไม่ว่าจะเป็นข้าวไร่ และ ข้าวโพด โดยมักจะทำการเผาพร้อมกันในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี เพราะเป็นช่วงที่มีความแห้งพอดีเหมาะแก่การเผา ปัญหาหมอกควันเกิดจากการเผาพร้อมๆกันในพื้นที่และสภาวะอากาศในช่วงที่เผานั้นเป็นสภาวะลมเบา และมีความกดอากาศสูงพัดผ่านมาจึงทำให้ควันที่เกิดจากการเผานี้ไม่ถูกพัดพาออกจากพื้นที่ ทำให้เกิดเป็นชั้นของกลุ่มฝุ่นละอองปกคลุมทั่วทั้งพื้นที่ ส่งผลให้ค่า PM10 สุงมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตามปัญหาหมอกควันอันเกิดจากการเผาบนพื้นที่สูงนั้นทางทีมวิจัยยังมีความเชื่อมั่นว่าสามารถแก้ไขได้ แต่ไม่ใช่การแก้ไขตามกระแสข่าว หรือ ตามระยะเวลาที่เกิดเท่านั้น หากแต่เป็นเพียงการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนและอย่างเข้าใจในวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างแท้จริง การแก้ปัญหาด้วยการงดเผาแต่เพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้ปัญหาหมอกควันนี้หายไปได้ นอกจากผู้ที่เกี่ยวข้องจะเปิดใจและต้องยอมรับความจริงว่าพื้นที่ดังกล่าวนั้นไม่ใช่ป่าไม้อีกต่อไปแต่เป็นพื้นที่เกษตรในพื้นที่ป่า แต่เรายังคงคาดหวังที่จะให้ป่ากลับคืนมา ดังนั้นการแก้ปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่สูงจำเป็นต้องเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินด้วยบริบทของชุมชนเองแต่กรรมสิทธิ์ที่ดินยังคงเป็นของรัฐ ด้วยการปลูกป่าผสมกับการทำการเกษตร หรือ วนเกษตร ซึ่งทางทีมวิจัยมองว่า  อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับการแก้ไขปัญหาการใช้ประโยชน์บนพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนต่อไปได้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ