อยู่ดีมีแฮง : ซิมเบิ่ง ภูมิปัญญาพื้นบ้านอีสานกับการแปรรูปอาหารท้องถิ่น จำหน่ายไปยังต่างประเทศ สร้างรายได้ 5-7 แสนบาท/เดือน

อยู่ดีมีแฮง : ซิมเบิ่ง ภูมิปัญญาพื้นบ้านอีสานกับการแปรรูปอาหารท้องถิ่น จำหน่ายไปยังต่างประเทศ สร้างรายได้ 5-7 แสนบาท/เดือน

  • เพราะชีวิตเคยล้มแต่ไม่เคยยอมแพ้และลุกสู้มาตลอด

อาพร ศิริบัววรภักดิ์ ในวัย 36 ปี ผู้รับบทประธานวิสาหกิจชุมชนซิมเบิ่ง เล่าด้วยเสียงสั่นเครือจนเกือบกลั้นน้ำตาเอาไว้ไม่อยู่ให้พวกเราได้ฟังถึงชีวิตในอดีตว่า “เริ่มต้นชีวิตด้วยการเป็นลูกจ้างในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งตอนนั้นลูกชายลื่นล้มหัวแตกอยากลางานเพื่อกลับมาดูอการลูกก็ลางานไม่ได้”  จึงคิดหาวิธีที่จะเป็นนายตัวเองด้วยการเปิดร้านอาหารอีสานที่ต่างจังหวัด แต่เส้นทางการเป็นนายตนเองก็ต้องสดุดล้มลงเพราะพิษเศรษฐกิจเราพบกับคำว่า “ล้มละลาย” ชีวิตในตอนนั้นเหมือนฝันสลายต้องขายทุกอย่างที่มีเพื่อใช้หนี้กลายเป็นบุคคลล้มละลาย เหลือเพียงมอเตอร์ไซด์คันเดียวขับกลับบ้านที่จังหวัดเลย ตั้งหลักมุ่งหน้าสู่ภาคเหนือของประเทศไทยเพื่อทำร้านอาหารอีกครั้ง

นางสาวอาพร ศิริบัววรภักดิ์ ประธานวิสาหกิจชุมชนซิมเบิ่ง

แพร่ … จังหวัดแห่งความหวังจุดประกายพลังให้ชีวิตอีกครั้ง

ภายหลังจากตัดสินใจเดินทางจากจังหวัดเลยเพื่อไปอาศัยอยู่กับบ้านของญาติที่จังหวัดแพร่แล้วนั้น ได้ลงทุนทำร้านอาหารอีกครั้งกับญาติของสามีแต่ด้วยวิถีชีวิตของคนจังหวัดแพร่ไม่นิยมการรับประทานอาหารนอกบ้านแบบนั่งร้านผลตอบแทนจึงไม่สู้ดีนักจำเป็นต้องปิดร้าน แต่ในตอนนั้นก็ได้เรียนรู้ว่าคนแพร่ชอบทานขนมหวานแบบน้ำจึงทำขนมหวานแบบน้ำเพื่อไปจำหน่ายในชุมชน ตื่นมาทำแต่เช้ามืดใส้ท้ายมอเตอร์ไซด์เหมือนรถพุ่มพวงออกไปขายตอนเช้าๆ ก็ไปเห็นคนในหมู่บ้านนั้นทำ “กลอย” ทำกันทั้งหมู่บ้าน จึงไปขอทำขอถ่ายรูปและโพสต์ลงสื่อออนไลน์

  • กลอยเปลี่ยนชีวิต

คนในสื่อออนไลน์สั่งซื้อกลอยเป็นจำนวนมาก ตอนนั้นไม่เคยรู้จักว่าต้นกลอยเป็นแบบไหนจึงให้คนที่รู้จักเอาใบกลอยมาให้ดู แล้วถือใบกลอยขึ้นภูเขาไปหาเปรียบเทียบดูแล้วขุดเอาลงมา นำมาปลอกแล้วฝานเป็นแผ่นบางๆ นำเอาไปแช่ในแม่น้ำ หลังจากนั้นเอาขึ้นมาทับด้วยไม้เอาน้ำเมาออก คนอีสานเราบางคนเอายางรถยนต์เหยียบเพื่อเอาน้ำเมาออก แต่ที่วิสาหกิจชุมชนเราพัฒนาเอาแม่แรงทับเพราะทำเยอะเพื่อย่นระยะเวลาลง เริ่มรู้จักช่องทางการทำเงินผ่านสื่อออนไลน์มาตั้งแต่วันนั้น

  • คืนถิ่นอีสานบ้านเฮา … เลย

ประมาณปี พ.ศ. 2562 คุณยายทวดเสียชีวิตจึงเดินทางกลับมาร่วมงานศพ แม่พูดว่า “ทำไมไม่กลับมาอยู่บ้านจะได้อยู่เลี้ยงลูกด้วย” เมื่อกลับมาอยู่บ้านช่วงระยะเวลาแรกทุกอย่างต้องเริ่มต้นใหม่หมด ต้องออกไปรับจ้างรายวันกับสามีเพื่อให้มีเงินใช้จ่ายในครอบครัว พอถึงฤดูฝนแม่ทำหน่อไม้ถุงจึงถ่ายรูปหน่อไม้ถุงโพสต์ลงสื่อออนไลน์คือเฟสบุ๊ค มีคนมาถามซื้อและมีคนมาบอกให้แชร์ลงกลุ่มเราก็เรียนรู้ยอดขายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม่จึงสอนวิธีการทำหน่อไม้ถุงให้ แต่ติดเงื่อนไขว่าหน่อไม้ป่ามีจำกัดแค่ฤดูฝน ตั้งเงื่อนไขว่าจะผลิตยังไงให้ได้ตลอดทั้งปี จึงค้นข้อมูลในอินเตอร์เน็ตว่าที่ไหนผลิตหน่อไม้ตลอดทั้งปี ได้ที่ภูกระดึงจังหวัดเลย ช่วงเริ่มแรกยังไม่มีทุนจึงผลิตทีละน้อยๆ ครั้งละ 10-20 กิโลกรัม เมื่อซื้อหน่อไม้แล้วสวนหน่อไม้ก็ส่งมาทางรถทัวร์ให้ การนึ่งในตอนนั้นใช้หวดนึ่งข้าวเหนียวบ้านเราทำตามวิธีที่แม่สอน นึ่งเสร็จรินน้ำออก เราขยันโพสต์ในกลุ่มออนไลน์ทุกกลุ่ม วันละ 40-50 โพสต์ต่อวัน เฟสบุ๊คจะแนะนำให้เราเข้ากลุ่มเองเรารู้จักออนไลน์จากการขายกลอยแล้วมาต่อที่หน่อไม้ถุงแบบหน่อใหญ่

ลูกค้าคือครูที่ดีที่สุด

“เมื่อเราโพสต์ขายของ คนที่ไม่เคยรู้จักเรากลับเป็นคนที่ซื้อสินค้าจากเรา และคอยแนะนำเรา”

ลูกค้าคนแรกที่อยู่ต่างประเทศ เป็นคนไทยที่ไปอาศัยอยู่ในประเทศสวีเดนคือคนจุดประกายทางสว่างให้ ลูกค้าถามหาแขนงหน่อไม้ ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าแขนงหน่อไม้คืออะไรลูกค้าก็ส่งรูปให้ดู จึงไปเดินตลาดหาแขนงหน่อไม้ไปซื้อแขนงหน่อไม้มาทดลองแบ่งนึ่ง คิดต้นทุนตอนนั้น 25 บาท/ถุง ขายให้เขา 30 บาท/ถุง ช่วงแรกๆ ไม่รู้จักซีล สุญญากาศ ว่าคืออะไรก็อัดใส่ถุงพลาสติกรัดหนังยางส่งไปสวีเดน ครั้งแรกลูกค้าก็สอนว่าต้องไปส่งที่ไหนตอนนั้นขนส่งทางอากาศ ส่ง 4 วันถึงลูกค้า ลูกค้าได้รับก็แนะนำมาต้องซีล สุญญากาศ เครื่องซีล สุญญากาศ เครื่องแรกลูกค้าเป็นคนลงทุนซื้อถุงพร้อมเครื่องให้ หลังจากนั้นก็เริ่มมีคำสั่งซื้อเข้ามาเยอะขึ้นคำสั่งซื้อเกินคาดเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้

  • ขยายอาชีพและรายได้สู่ผู้สูงอายุสร้างเศรษฐกิจให้ชุมชน

พอเราขายไปเลื่อยๆ เริ่มมีเงินทุนมีคำสั่งซื้อที่เยอะขึ้น ทำกันสองคนกับสามีไม่ไหว จึงทดลองจ้างป้าตนเองมาปลอกหน่อไม้ เริ่มจ้างปลอกที่กิโลกรัมละ 30 บาทก่อน แต่ป้าบอกว่าไม่ไหวจึงขึ้นมาเป็นกิโลกรัมละ 40 บาท แต่ป้าก็ขอขึ้นอีกกิโลกรัมละ 10 บาท ตอนนี้จ้างปลอกหน่อไม้กิโลกรัมละ 50 บาท คุณยายข้างบ้านป้า เห็นคุณป้ามาปลอกหน่อไม้ได้เงิน ก็ขอมาปลอกด้วย เริ่มมีชาวบ้านเข้ามารับจ้างปลอกหน่อไม้ 5-10 คน/วัน พอคนแก่มารวมตัวกันก็สนุกสนานได้ทำงานออกกำลังกายที่สำคัญได้เงินกลับบ้าน คนในหมู่บ้านทำกับข้าว ต้มข้าวโพด ทำขนมมาขาย ก็แวะมาขายให้เกิดการซื้อขายภายในหมู่บ้านสร้างเศรษฐกิจในครัวเรือนและในชุมชมเพิ่มเข้าไปอีก

นอกจากการจ้างผู้สูงอายุภายในชุมชนมาช่วยปลอกหน่อไม้แล้ว ก็มีการรับซื้อวัตถุดิบจากคนในชุมชน เช่น หน่อไม้ หน่อแขนง ใบย่านาง ใบเตย ยอดขี้เหล็ก ขิง ข่า ตระไคร้ มีมากมีน้อยเอามาเรารับซื้อหมดให้ชาวบ้านมีกำลังใจมีรายได้

คุณแม่สมพร ชัยวาแลง อายุ 61 ปี เล่าด้วยรอยยิ้มว่า มาปลอกหน่อไม้พอได้ค่ากับข้าวคาบสองคาบดีกว่าไม่มีงานให้ทำ เงินได้น้อยได้หลายก็ดีกว่าไม่ได้ มาก็ได้พูดคุยกันถามไถ่สารทุกข์สุขดิบกันได้พูดคุยหัวม่วน เงินได้อย่างไม่เยอะก็วันละสามร้อยสีร้อย นั่งปลอกหน่อไม้จากเที่ยงถึงสี่ห้าโมงแลง พอได้เอาเงินไปซื้อกับข้าวให้ลูกหลานกิน

  • จัดตั้งวิสาหกิจชุมชน

ลูกค้าชาวนอร์เวย์ เห็นในรูปมีคนมาช่วยงานเยอะจึงแนะนำว่า ถ้ามีคนเยอะแบบนี้ให้ไปจดจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนนะ เพราะไม่งั้นการส่งออกไปยังหลายๆประเทศจะส่งออกไปไม่ได้ จึงมาคิดว่าจดจัดตั้งวิสาหกิจจะทำยังไงนะ เดินทางไปที่สำนักงานเกษตรอำเภอ ทางเกษตรอำเภอก็แนะนำว่าต้องมีผู้ร่วมจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน จำนวน 10 -11 คน ก็ชวนแม่ๆยายๆที่มาปลอกหน่อไม้ด้วยกันนี่แหละพากันจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนตั้งแต่นั้น ตอนนั้นเริ่มเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านปีแรกการเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านทำให้เราจดจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนง่ายขึ้น

  • ความรู้สึกต่อตนเอง

ภูมิใจ แล้วก็ขอบคุณอุปสรรคเข้ามาในชีวิตที่ทำให้สู้มาจนถึงวันนี้ สิ่งสำคัญคือกำลังใจจากครอบครัวที่ทำให้เรามาอยู่จุดนี้ได้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ