อยู่ดีมีแฮง : ครกเงินแสนบ้านแป้น ตำบลนาหนัง อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย

อยู่ดีมีแฮง : ครกเงินแสนบ้านแป้น ตำบลนาหนัง อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย

ครก ภาชนะดินเผาเพียงหนึ่งเดียวที่อุตสาหกรรมพลาสติกแทนที่ไม่ได้

ช่างปั้นครกแห่งเมืองหนองคาย

ครก นับว่าเป็นอุปกรณ์ทำครัวที่เคียงคู่ครัวเรือนไทยมายาวนานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นเครื่องเรือนอย่างเดียวที่อุตสาหกรรมพลาสติกยังไม่สามารถแทนที่ได้ ในอดีตภูมิปัญญาการปั้นเครื่องปั้นดินเผาจะถูกสืบทอดกันในครอบครัว โดยชาวบ้านจะปั้นเครื่องปั้นดินเผาเป็นงานอดิเรกหลังจบฤดูกาลเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อนำภาชนะที่ปั้น ประกอบด้วย หม้อ แอ่งน้ำ และครกมาใช้ในครัวเรือน เป็นการลดรายจ่ายในครัวเรือน

บ้านแป้น แหล่งปั้นครกที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดหนองคาย

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ภูมิปัญญาก็หล่นหายการปั้นเครื่องปั้นดินเผาที่ปั้นเพื่อใช้เพียงในครัวเรือน ขยับมาเป็นการปั้นเพื่อการใช้ประโยชน์ในเชิงการค้าขาย อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย นับว่าเป็นแหล่งปั้นเครื่องปั้นดินเผาแห่งเดียวของจังหวัดหนองคาย ที่ปัจจุบันยังคงสืบทอดภูมิปัญญาเครื่องปั้นดินเผาประเภทครกไว้เพียงหนึ่งเดียวของจังหวัดหนองคาย ที่อำเภอโพนพิสัยมีเตาครกกระจายอยู่ 7 แห่ง ในเขตตำบลนาหนังและตำบลซุมซ้าง แต่เตาปั้นครกที่ใหญ่ที่สุดและมีกำลังการผลิตมากเป็นอันดับ 1 ของจังหวัดหนองคาย คือเตาครกพ่อจิตรแม่ขาว ตั้งอยู่ที่บ้านแป้นเก่า หมู่ที่ 2 ตำบลนาหนัง อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย ที่นี่ส่งครกไปขายทั่วภาคอีสานกว่า 10,200 ใบ/เดือน ผ่านพ่อค้าแม่ค้าที่เดินทางมาจากจังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดขอนแก่นขอนแก่น จังหวัดอุดรธานีอุบลราชธานี จังหวัดยโสธร เพื่อส่งต่อครกจากเตาครกแห่งนี้ไปยังคนอีสานที่กระจายตัวอยู่ตามนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง บ้างก็ส่งขึ้นไปจำหน่ายบนห้างสรรพสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ

พ่อสมจิตร บุตรวงศ์ เจ้าของเตาครกพ่อจิตรแม่ขาว อายุ 56 ปี

เพราะคิดถึงบ้านจึงทำเกิดอาชีพเตาครกในวันนี้

พ่อสมจิตร บุตรวงศ์ ชายสูงวัยอายุ 56 ปี เล่าว่าสมัยเป็นหนุ่มได้ออกไปทำงานที่ต่างประเทศ รู้สึกว่าชีวิตไม่มีความสุขเพราะไม่ได้อยู่บ้านกับลูกกับเมียคิดถึงลูกเมียเป็นที่สุดไม่มีกำลังใจทำงานเลย คิดได้ว่าถ้าเราอยู่บ้านตนเองแล้วทำงานหนักเหมือนอยู่ต่างประเทศยังไงเราก็ไม่อดตาย จึงตัดสินใจเดินทางกลับมาที่บ้านเกิด แล้วยึดเอาวิชาความรู้ที่มีติดตัวมาแต่เด็กคือ “การปั้นเครื่องปั้นดินเผามาปั้นครกขาย” เริ่มจากการทำกันเองในครัวเรือกับลูกเมีย ขยายสู่ญาติพี่น้องและคนในชุมชนจนเติบโตมาเป็นเตาครกพ่อจิตรแม่ขาวในทุกวันนี้ เกิดการจ้างงานในชุมชนมากกว่า 7-8 ครอบครัว (ประมาณ 20 คน/วัน)

ดิน คือหัวใจหลักของานปั้น

พ่อสมจิตร บุตรวงศ์ เจ้าของเตาครกพ่อจิตรแม่ขาว ชายสูงวัยอายุ 56 ปี เล่าว่าอยู่กับเครื่องปั้นดินเผามาตั้งแต่อายุ 17 ปี จนถึงตอนนี้ การเลือกดินคือหัวใจหลักของเครื่องปั้นดินเผา เพราะถ้าเลือกดินผิดแหล่งนั่นคือเครื่องปั้นดินเผาจะแตกร้าวรั่วซึมใช้ไม่ได้ ดินที่สามารถเอามาปั้นครกได้ต้องเป็นดินที่มีลักษณะคล้ายไขวัวไขควายเมื่อเอามือไปบี้จะลื่นมือไม่สากมือ ไม่มีเสียงดังแต่จะมีความลื่นเนียนละเอียดไม่สากมือ สีจะนวลเนียนคล้ายหัวเผือกจีนที่เราเพิ่งขุดขึ้นมาจากดินใหม่ๆ เราจะมองดินด้วยตาเปล่าไม่ได้ต้องเอามือไปสัมผัสต้องมีความเชี่ยวชาญจริงๆ จึงจะเลือกแหล่งดินได้ หากเราผิดพลาดในขั้นตอนการเลือกดินนั้นคือต้นทุนและกำไรจะหายไปหมด ดังนั้นหากเรายังไม่แน่ใจในคุณภาพของดินแหล่งนั้น ให้ทำการนำดินมาทดสอบปั้นแล้วเผาลองดูก่อนหากชิ้นงานหลังเผามีคุณภาพจึงนำเอาดินแหล่งนั้นมาเข้าสู่กระบวนการผลิต

ขั้นตอนการปั้นครกมี 4 ขั้นตอน คือ

ขั้นตอนที่ 1 บดดิน ดินที่เรานำมาจากแหล่งดินที่ผ่านการทดสอบคุณภาพแล้วนั้น จะต้องถูกนำมาบดและล่อนเอาแต่ดินที่ร่วนซุยและแยกเศษวัตถุปนเปื้อนออกไป

ขั้นตอนที่ 2 แช่น้ำ นำดินที่บดละเอียดแล้วไปแช่ในน้ำเป็นเวลา 1 คืน เพื่อให้ดินอิ่มน้ำและรวมเป็นเนื้อเดียวกัน

ขั้นตอนที่ 3 นวดดิน นำดินที่แช่น้ำจนอิ่มตัวแล้วมานวดด้วยเครื่องนวดให้รวมเป็นเนื้อเดียวกัน จากนั้นอัดแท่งออกมาก เพื่อเตรียมสู่ขั้นตอนการปั้น

นวดดินให้เป็นเนื้อเดียวกันและขึ้นรูปดินให้เป็นแท่ง

ขั้นตอนที่ 4 ปั้น การปั้นต้องใช้คู่ปั้นคือใช้คน 2 คนปั้นครก 1 ใบ ช่างทำครกมีหน้าที่ปั้น ขึ้นตีนครก ขึ้นรูปครก ปาดขอบครก ผู้ช่วยช่างปั้นมีหน้าที่เติมดินและยกครกออกจากฐานปั้นไปผึ่งลมไล่ความชื้น

ขั้นตอนที่ 4 ขึ้นรูปครก

“หัวใจสำคัญของการทำงานคือ นายจ้างไม่เอาเปรียบลูกจ้าง ถ้าลูกจ้างกินอิ่มเราก็อยู่ได้ ต้องแบ่งส่วนให้ทุกคนพอใจเราได้เยอะลูกน้องต้องได้เยอะ เราได้น้องก็ต้องดูแลลูกน้อง งานถึงจะสำเร็จและยั่งยืน”

พ่อพรชัย บุตรวงศ์ อายุ ๕๙ ปี ช่างปั้นครก

พ่อพรชัย บุตรวงศ์ อายุ ๕๙ ปี คือหนึ่งในทีมช่างปั้นครกที่ทำงานในเตาครกเคียงบ่าเคียงไหล่มากับพ่อจิตร เล่าว่ารายได้จากการปั้นครก ไม่เคยต่ำกว่า 35,000 บาท/เดือน อยู่บ้านเรายังไงก็เหลือใช้และได้เก็บ ถึงฤดูกาลเพราะปลูกก็ยังลางานไปเพาะปลูกได้ ประกอบกับได้ช่วยงานสังคมในหมู่บ้าน นี่แหละคือชีวิตจริงๆที่ควรจะเป็น อยากให้ลูกหลานในหมู่บ้านมาเรียนรู้การเป็นช่างปั้นครก เพราะเป็นงานที่สร้างรายได้ได้จริงๆ และประหยัดเวลาและใช้ต้นทุนที่น้อยกว่าการเรียนในมหาวิทยาลัย

ภูมิใจและรักในอาชีพช่างปั้นครกที่สุด

มีอยู่มีกินเพราะครกลูกสองคนไม่เคยต้องไปรับจ้างที่อื่นอยู่กับพ่อมีเงินเดือนทุกคน ภูมิใจที่สุดเพราะเป็นอาชีพที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ อยู่กับครกมาตั้งแต่อายุ 17 ปี จนถึงตอนนี้ก็ 40 ปีได้ อยากให้ลูกหลานยังสืบทอดอาชีพนี้ไว้ เพราะได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นอาชีพที่สร้างเนื้อสร้างตัวได้

“หัวใจหลักที่ทำให้เตาครกพ่อจิตรแม่ขาวยืนอยู่ได้เป็นเวลายาวนานกว่า 40 ปี คือความจริงใจเต็มร้อยที่นี่ไม่เคยเอาครกตกเกรดขายให้ลูกค้าอยากให้ลูกค้าได้ของดีตลอด เราพร้อมรับฟังในคำติชมและพร้อมปรับปรุงตัวอยู่ตลอดเวลา”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ