ทางจะรอดของผู้ประกอบการในเชียงใหม่ผ่านสายตาของคนรุ่นใหม่

ทางจะรอดของผู้ประกอบการในเชียงใหม่ผ่านสายตาของคนรุ่นใหม่

เมืองเชียงใหม่เป็นสถานที่ที่โดดเด่นเรื่องการท่องเที่ยวมายาวนานจนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสามารถเป็นที่พึ่งของของเศรษฐกิจเชียงใหม่ได้ แต่ภาพรวมเศรษฐกิจและการลงทุนในขณะนี้ยังมีความผันผวนอยู่มาก เพราะความเสียหายจากช่วงโควิด-19 ทำให้ผู้คนหวาดกลัวการลงทุนและไม่มั่นใจในการกลับมาทำธุรกิจในเมืองที่เต็มไปด้วยโอกาสแห่งนี้ว่าจะอยู่รอดได้อย่างไร

แม้ว่าเชียงใหม่จะได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เห็นได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวกว่า 5 ล้านคนในช่วงเดือนมกราคมถึงกันยายน 2565 และยังการันตีด้วยการได้รับเลือกจากสมาคมงานเทศกาลนานาชาติให้เป็น เมืองเทศกาลโลกประจำปี 2022 (World Festival and Event City 2022) ทำให้ในอนาคตนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกจะหลั่งไหลเข้ามาในเชียงใหม่มากขึ้นอย่างแน่นอน และยิ่งหากพูดถึงสถานที่น่าเที่ยวในฤดูหนาวปลายปีแบบนี้ เชียงใหม่คงจะเป็นสถานที่ในดวงใจของใครหลาย ๆ คน ทั้งอากาศที่เย็นสบาย บ้านเมืองสวยงาม และที่ขาดไม่ได้คงเป็นร้านอาหารอร่อย ๆ ที่เติมเต็มการท่องเที่ยวของทุกคนให้สนุกยิ่งขึ้น 

จากการสำรวจความคิดเห็นของคนเชียงใหม่ในงานรับน้องขึ้นดอยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2022 หัวข้อ “อยู่เชียงใหม่ต้องทำอะไรถึงจะอยู่รอด” คำตอบของพวกเขาทำให้เราต้องคิดอีกครั้งว่าการท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้นนั้นทำให้คนเชียงใหม่มีความคิดต่อการทำงานในจังหวัดเชียงใหม่อย่างไร

“ถ้าให้รอดต้องทำธุรกิจส่วนตัว เพราะถ้าไปเป็นลูกจ้างบริษัท จะค่าแรงค่อนข้างต่ำ” 

“ต้องทำฟรีแลนซ์ และทำสองอาชีพขึ้นไป ทำอาชีพเดียวไม่ได้”

“ต้องไปหาประสบการณ์ที่อื่นก่อนแล้วค่อยกลับมาอยู่เชียงใหม่”

“ต้องทำงานที่อื่นถึงจะรอด เชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยวแต่เงินเดือนต่ำ คงอยู่ได้ แต่ไม่มีเงินเก็บ”

ถึงแม้คำตอบที่ออกมาจะน่าหดหู่ แต่ยังมีคนอีกส่วนที่ยังคิดว่าถ้าแลกกับการอยู่ในเมืองที่สงบและสบายใจ ย่อมคุ้มที่จะยอมได้รับเงินเดือนต่ำกว่าเมืองอื่นที่วุ่นวาย

“ทำงานอะไรก็ได้ อาชีพไหนก็ได้เพราะเชียงใหม่เป็นเมืองน่ารัก แม้มีอุปสรรคใหญ่คือฐานเงินเดือนต่ำ

แต่ค่าครองชีพก็ยังต่ำเช่นกัน อากาศก็ดีกว่าที่อื่น”

และจากการแจกแบบสอบถามออนไลน์ “อยู่เชียงใหม่ต้องทำอะไรถึงจะอยู่รอด” สิ่งที่ผู้คนคิดว่าสามารถทำให้อยู่รอดได้ในจังหวัดเชียงใหม่ สามารถเรียงลำดับได้ดังนี้

5 ประเภทธุรกิจที่คนคิดว่าจะอยู่รอดได้ในเชียงใหม่

  1. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ , ร้านบุฟเฟต์ 48.7%
  2. ร้านกาแฟ 35.9%
  3. ธุรกิจทำสื่อออนไลน์ 33.3%
  4. ธุรกิจร้านอาหาร 28.2%
  5. ธุรกิจขายของออนไลน์ , ธุรกิจแฟรนไชส์ 25.6%
  6. นำเข้าอะไหล่ยนต์ ร้านเหล้า สถานบันเทิง ความเชื่อ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ของฝาก / co-working space 2.6%

เสียงของคนเชียงใหม่ที่ได้สื่อออกมานั้นทำให้เห็นว่า ผู้คนคิดว่าการอยู่เชียงใหม่นั้นต้องประกอบธุรกิจส่วนตัว ซึ่งนอกจากที่จะต้องมีเอกลักษณ์เฉพาะและมีความรู้ด้านการทำธุรกิจแล้ว ยังต้องเรียนรู้บริบทของสังคมที่จะเริ่มกิจการอย่างละเอียดด้วย 

คุณอาคม สุวรรณกันธา ประธานสมาพันธ์ SME ไทย จังหวัดเชียงใหม่ ได้เสนอว่ากิจการที่จะอยู่รอดต้องเป็น “ธุรกิจ BCG” (Bio-Circular-Green Economy)” ประกอบไปด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เป็นโมเดลพัฒนาธุรกิจที่ยั่งยืน เนื่องจากปัจจุบันนี้ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมพลังงานและวัสดุ อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ

5 รูปแบบธุรกิจที่จะอยู่รอดในเชียงใหม่

  1. เกษตรอัจฉริยะ (Smart farming) เป็นการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการทำเกษตรกรรม ซึ่งทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ส่งเสริมเกษตรอัจฉริยะในงานเกษตรภาคเหนือ ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
  2. อาหารแห่งอนาคต (Future food) เชียงใหม่มีศักยภาพในการผลิตอาหารมาก ได้ขึ้นชื่อว่าเป็น Northern food valley หุบเขาแห่งการผลิตอาหาร จึงควรนำอาหารมาเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ผู้คนหันมาสนใจสุขภาพและสนใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อาหารที่ได้รับความสนใจคือ Functional food ที่มีการเติมสารอาหารต่าง ๆ เข้าไปเพื่อให้ได้รับประโยชน์มากกว่าการกินอาหารปกติ เช่นการเติมวิตามินลงไปในนมวัว นอกจากนี้ยังมี Plant-based food ที่คนรักสุขภาพให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้คนเห็นความสำคัญของธุรกิจที่มีความยั่งยืน
  3. การผลิตที่ยั่งยืน (Sustainable manufacturing) ผู้บริโภคจะตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่ทำเกี่ยวกับสินค้าเกษตร
  4. การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness tourism) ซึ่งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นจุดแข็งของจังหวัดเชียงใหม่ มีความพร้อมในด้านอาหารสุขภาพ สปา การนวด การแพทย์ เช่นการทำฟัน การตรวจร่างกาย และการกีฬาเช่นการทำสมาธิ และการชกมวย
  5. การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์  (Creative tourism) เชียงใหม่ได้รับการยอมรับจากสมาคมงานเทศกาลนานาชาติให้เป็นเมืองเทศกาลโลก นอกจากนั้นยังได้รับการยกย่องจาก UNESCO ว่าเป็นเมืองแห่งหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ซึ่งในอีก 2 ปี UNESCO จะตัดสินว่าเชียงใหม่จะเป็นเมืองมรดกโลกได้หรือไม่ ทางหลายภาคส่วนจึงพยายามสร้างจุดขายด้านการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ในเขตสี่เหลี่ยมคูเมือง วัดเจ็ดยอด เวียงเจ็ดลิน และพื้นป่าเขาของดอยสุเทพ

แม้จะดูเป็นเรื่องท้าทาย แต่ทางหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ก็มีความคาดหวังอย่างมากให้ให้มีการประกอบกิจการเกิดขึ้นในเชียงใหม่ โดยเฉพาะกิจการของคนรุ่นใหม่ และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยกับหอการค้าไทยก็มีเป้าหมายจะสนับสนุนและสร้างงานให้กับคนรุ่นใหม่ สิ่งสำคัญที่สุดของการเข้าสู่วัยทำงานคือต้องพัฒนาตนเองให้มี “ทักษะการเป็นผู้ประกอบการ” มากขึ้น  และนอกจากทักษะการเป็นผู้ประกอบการก็ต้องมีทักษะด้านอื่น ๆ ด้วย

4 ทักษะที่ผู้ประกอบการเชียงใหม่ต้องพัฒนา

  1. ทักษะการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ต้องทำความเข้าใจในธุรกิจ BCG เพราะธุรกิจประเภทนี้จะสามารถเพิ่มมูลค่าได้
  2. ทักษะดิจิทัล ใน 5 ประเภทธุรกิจที่กล่าวมาข้างต้นล้วนต้องพัฒนา เพราะเทคโนโลยีดิจิทัลจะทำให้สามารเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น สะดวก ยกระดับขีดความสามารถของการทำธุรกิจและลดต้นทุน
  3. ทักษะการเงิน การบริหารการเงินถือเป็นเรื่องพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของธุรกิจ ปี 2565 ประเทศไทยจะยังมีภาวะเศรษฐกิจถดถอย การบริหารสภาพคล่อง หนี้ รายได้ และการวางแผนการเงินจึงจำเป็นมาก
  4. ทักษะด้านภาษา เช่น ภาษาไทย จีน อังกฤษ รวมถึงการค้าระหว่างประเทศและการส่งออก

หากผู้ที่สนใจจะเป็นผู้ประกอบการในจังหวัดเชียงใหม่ได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเองให้มีทักษะดังที่ได้นำเสนอไปนั้น จะทำให้ธุรกิจเป็นที่น่าสนใจและสามารถอยู่ได้ในเมืองปราบเซียนแห่งนี้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ