สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์: ข้อคิดเห็นต่อการจัดประมูลคลื่น 900 MHz ใหม่หลังแจสทิ้งใบอนุญาต

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์: ข้อคิดเห็นต่อการจัดประมูลคลื่น 900 MHz ใหม่หลังแจสทิ้งใบอนุญาต

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์
22 มีนาคม 2559

การที่ บริษัท แจส โมบาย ซึ่งชนะการประมูลใบอนุญาต 4G คลื่น 900 MHz ไม่จ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตงวดแรก ซึ่งมีผลเป็นการทิ้งใบอนุญาตนั้น ทำให้เกิดประเด็นถกเถียงต่อแนวทางที่ กสทช. ควรดำเนินการต่อไป ทั้งการเรียกค่าเสียหายและเอาผิดกับแจส และการนำเอาคลื่นที่แจสประมูลได้มาประมูลใหม่ ต่อประเด็นดังกล่าว ผู้เขียนมีความเห็นดังต่อไปนี้ 

ประการที่หนึ่ง การริบเงินหลักประกันการประมูล 644 ล้านบาทของแจส และเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดจากต้นทุนในการจัดประมูลนั้นเป็นการดำเนินการในทางปกครองของ กสทช. ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหา อย่างไรก็ตาม การเรียกค่าเสียหายจากส่วนต่างของมูลค่าการประมูลที่ผ่านมากับมูลค่าการประมูลครั้งใหม่ จะมีความซับซ้อนพอสมควร และต้องดำเนินการในทางแพ่ง โดยผลจะเป็นอย่างไรจะขึ้นกับการประมูลของ กสทช. หลังจากนี้ ดังที่จะกล่าวต่อไป และการพิจารณาของศาลซึ่งน่าจะใช้เวลานานพอสมควร 

นอกจากนี้ การห้าม (แบลกลิสต์) ผู้ถือหุ้นใหญ่ของแจสเข้าร่วมในการขอใบอนุญาตประกอบกิจการต่างๆ จาก กสทช. ในอนาคต เป็นสิ่งที่ กสทช. อาจทำได้ แต่ต้องเป็นไปอย่างได้สัดส่วน อย่างไรก็ตามการจะเพิกถอนใบอนุญาตอื่นๆ ของบริษัทในเครือจัสมินที่ได้รับจาก กสทช. เช่น โมโน หรือ 3BB ย้อนหลังน่าจะมีปัญหา เพราะบริษัทที่เกี่ยวข้องเป็นคนละนิติบุคคลกัน ที่สำคัญ กสทช. ไม่เคยกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวก่อนที่จะมีการประมูล 4G การเพิกถอนใบอนุญาตย้อนหลังจึงน่าจะมีปัญหาความชอบด้วยกฎหมายและขัดกับหลักนิติรัฐ ซึ่งอาจทำให้ กสทช. มีความรับผิดทางกฎหมายในอนาคต 

ประการที่สอง กสทช. ไม่ควรเก็บคลื่นที่แจสประมูลได้ไว้นานเป็นปีอย่างที่เคยให้ข่าว เพราะจะทำให้ประเทศเสียโอกาสจากการใช้ประโยชน์ทรัพยากรสาธารณะที่มีมูลค่ามหาศาล นอกจากนี้ การประมูลที่ล่าช้าจะทำให้การเรียกค่าเสียหายจากแจสทำได้ยากขึ้น เพราะไม่ทราบมูลค่าความเสียหายที่แท้จริง และหากราคาการประมูลตกลงเมื่อเวลาผ่านไป เพราะผู้ประกอบการทั้งหลายหาทางออกในการให้บริการด้วยแนวทางอื่น เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้นเพื่อชดเชยปริมาณคลื่นที่มีอยู่จำกัด มูลค่าของความเสียหายที่ กสทช. จะสามารถเรียกจากแจส ก็จะน้อยลงด้วย 

การจัดการประมูลใหม่โดยเร็วเช่นภายใน 2-3 เดือน เป็นสิ่งที่ กสทช. ควรดำเนินการ เพราะสังคมมีความต้องการใช้คลื่นความถี่ และทำให้มูลค่าคลื่นไม่ตกลงมาก เนื่องจากผู้ประกอบการที่เหลืออยู่น่าจะยังเสนอราคาประมูลคลื่นที่ไม่แตกต่างจากเดิมนัก แม้ไม่มีแจสเข้าร่วมประมูลด้วย ส่วนหนึ่งเพราะผู้ประกอบการจะสร้างกำไรได้มากขึ้น เมื่อไม่มีรายใหม่เข้ามาตัดราคา ดังจะเห็นว่าหุ้นของบริษัทโทรศัพท์เคลื่อนที่มีราคาสูงขึ้นเมื่อแจสทิ้งใบอนุญาต 

ประการที่สาม แนวคิดของ กสทช. ที่ต้องการให้การประมูลใหม่ต้องได้ราคาไม่ต่ำกว่าราคาที่แจสชนะประมูลคือ 75,654 ล้านบาทไม่สมเหตุผล เพราะเป็นราคาที่สูงกว่าผู้ประมูลรายอื่นที่เหลือทั้ง 3 รายเคยเสนอไว้ หาก กสทช. พยายามยึดถือราคาดังกล่าว ก็อาจมองได้ว่า กสทช. ไม่ต้องการให้มีการใช้ประโยชน์จากคลื่นดังกล่าว ซึ่งจะมีผลนำไปสู่การผูกขาดบริการ 4G 

กสทช. ควรนำคลื่นมาประมูลใหม่โดยเริ่มที่ราคาสุดท้ายที่ผู้ประกอบการทุกรายยังรับได้คือ 70,180 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่ผู้ประกอบการรายแรกที่ออกจากการประมูลเสนอไว้เป็นครั้งสุดท้าย นอกจากนี้ การประมูลครั้งใหม่ ควรให้ผู้ชนะการประมูลครั้งเดิมคือ ทรู เข้าร่วมประมูลด้วย ทั้งเพื่อเพิ่มการแข่งขันในการประมูล และให้ความเป็นธรรมแก่ ทรู ในการได้คลื่นความถี่เพิ่ม หากเห็นว่าราคาที่ผู้ประกอบการอื่นเสนอนั้นต่ำเกินไป 

อีกทางเลือกหนึ่งในการประมูลคือ การตั้งต้นการประมูลที่ราคาซึ่งแจสประมูลได้ แล้วค่อยๆ ลดราคาลงมาจนกว่าจะมีผู้ยอมรับราคา ซึ่งเรียกว่า “การประมูลแบบดัทช์” (Dutch auction) ตามที่เป็นข่าว อย่างไรก็ตาม การประมูลแบบนี้อาจทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อสาธารณชน เพราะเมื่อเวลาผ่านไป รัฐจะได้ราคาต่ำลง ตรงกันข้ามกับ “การประมูลแบบอังกฤษ” (English auction) ซึ่งทำให้ราคาสูงขึ้นดังเช่นการประมูลที่ผ่านมา

ประการที่สี่ ในการประมูลครั้งใหม่ กสทช. ควรเรียกเก็บค่าประกันการประมูลที่สูงขึ้น เช่น ให้ใกล้เคียงกับราคาตั้งต้น เพื่อป้องกันปัญหาที่ผู้ชนะการประมูลทิ้งใบอนุญาตอีก 

ประการสุดท้าย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กลต. และตลาดหลักทรัพทรัพย์แห่งประเทศไทย ควรตรวจสอบการซื้อขายหุ้นและธุรกรรมอื่นๆ ของบริษัทที่เกี่ยวข้องว่ามีธุรกรรมใดผิดปรกติในลักษณะที่เป็นการเอาเปรียบผู้ถือหุ้นรายย่อยหรือไม่ เพราะในช่วงที่ผ่านมา บางบริษัทมีธุรกรรมจำนวนหนึ่งที่อาจก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างผู้ถือหุ้นกลุ่มต่างๆ ได้ 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ