สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ | 6 ข้อเสนอต่อกระบวนการปฏิรูปประเทศไทย

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ | 6 ข้อเสนอต่อกระบวนการปฏิรูปประเทศไทย

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

การเมืองไทยมาถึงทางตันอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจไม่เข้าร่วมในการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557ส่วน กปปส.ก็ประกาศขัดขวางการเลือกตั้งและแม้ว่ารัฐบาลได้ประกาศที่จะดำเนินการปฏิรูปประเทศหลังเลือกตั้งแล้วก็ตาม ดูเหมือนว่า คู่ขัดแย้งและประชาชนจำนวนมากก็ไม่ได้ให้ความเชื่อถือต่อกระบวนการปฏิรูปดังกล่าว ดังนั้นแม้ว่าการเลือกตั้งอาจเกิดขึ้นได้ในที่สุด ฝ่ายผู้ต่อต้านก็คงจะชุมนุมคัดค้านรัฐบาลต่อไป ทำให้รัฐบาลใหม่ยากที่จะบริหารประเทศได้ในขณะที่หากไม่มีการเลือกตั้งตามข้อเสนอของ กปปส. กลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลก็คงไม่สามารถยอมรับได้เช่นกัน

ทางออกจากความขัดแย้งทางการเมืองไทยในปัจจุบันก็คือ การปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ภายใต้วิถีทางประชาธิปไตยแม้ว่ารัฐบาลและ กปปส. ต่างแสดงความเห็นที่ดูเหมือนจะตรงกันว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องได้รับการปฏิรูปก็ตามทั้งสองฝ่ายยังคงมีความเห็นที่แตกต่างกันว่า จะเลือกตั้งก่อนปฏิรูป หรือจะปฏิรูปก่อนเลือกตั้งในความเห็นของผม ท่าทีของทั้งสองฝ่ายล้วนมีปัญหา เพราะต่างมุ่งช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมืองมากกว่าที่จะร่วมมือกันให้เกิดการปฏิรูปขึ้นอย่างแท้จริง

ท่าทีของรัฐบาลที่จะให้มีการปฏิรูปหลังเลือกตั้งถูกมองว่า เป็นเพียงการสร้างภาพเพื่อลดแรงกดดันทางการเมืองเฉพาะหน้า โดยไม่มีความมุ่งมั่นในการปฏิรูปอย่างแท้จริงเนื่องจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์เอง ก็เคยตั้งคณะกรรมการปฏิรูปมาก่อนแล้ว แต่ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ทั้งสิ้น ไม่แตกต่างจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ที่เคยตั้งคณะกรรมการปฏิรูปขึ้นมา 2 คณะ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้นำข้อเสนอแนะใดๆ ของคณะกรรมการดังกล่าวไปปฏิบัติทั้งหมดนี้ชี้ให้ประชาชนเห็นว่า รัฐบาลใดที่อยู่ในอำนาจอย่างมั่นคงก็ไม่สมัครใจให้เกิดการปฏิรูปทั้งสิ้นส่วนท่าทีของ กปปส. นั้นถูกมองได้ว่า เสนอให้มีการปฏิรูปเพียงเพื่อเป็นข้ออ้างในการสร้างสุญญากาศทางการเมืองเพราะการปฏิรูปต่างๆ ที่เสนอขึ้นหลายเรื่องไม่สามารถทำได้สำเร็จในเร็ววัน และยังมีลักษณะปิดกั้นฝ่ายอื่นไม่ให้เข้าสู่กระบวนการด้วย ซึ่งทำให้แนวทางการปฏิรูปเพื่อสร้าง “ประชาธิปไตยอันสมบูรณ์” ของ กปปส. นั้นขัดกับหลักประชาธิปไตยไปเสียเอง

ผมมีความเห็นว่า ประเทศไทยควรได้รับการปฏิรูปอย่างแท้จริง โดยเร่งด่วนภายใต้กติกาที่เป็นประชาธิปไตยผมเห็นว่า การปฏิรูปจะเกิดขึ้นและสำเร็จได้จะต้องมีองค์ประกอบต่างๆ ดังต่อไปนี้ หนึ่ง ต้องเป็นกระบวนการที่ทุกฝ่าย โดยเฉพาะคู่ขัดแย้งเข้าร่วมแต่ไม่ถูกครอบงำโดยคู่ขัดแย้งสอง ต้องมีกลไกรับประกันว่าคู่ขัดแย้งจะยอมรับการปฏิรูป  และสาม ต้องมีกลไกรับประกันว่า รัฐบาลจะนำข้อเสนอไปสู่การปฏิบัติ

ผมขอเสนอแนวทางในการปฏิรูปที่เป็นรูปธรรมแนวทางหนึ่งซึ่งมีองค์ประกอบข้างต้น และน่าจะทำให้การปฏิรูปเกิดขึ้นได้ดังนี้

ประการที่หนึ่ง กระบวนการปฏิรูปต้องเริ่มต้นก่อนการเลือกตั้ง เพราะเมื่อได้อำนาจแล้ว รัฐบาลย่อมไม่ต้องการให้เกิดการปฏิรูป ในประเด็นนี้ ผมจึงเห็นด้วยกับข้อเสนอของ 7 องค์กรภาคเอกชนที่ให้รัฐบาลจัดตั้งองค์กรปฏิรูปขึ้นโดยทันทีก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งอาจออกเป็นพระราชกำหนดมารองรับฐานะทางกฎหมายขององค์กรดังกล่าวทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่าจะสามารถเริ่มกระบวนการปฏิรูปได้จริงหลังเลือกตั้ง

ประการที่สอง องค์กรปฏิรูปควรเป็น “คณะกรรมการปฏิรูป” ที่มีองค์คณะไม่ใหญ่เกินไปจนกลายเป็น “สภาปฏิรูป” เช่น ควรมีกรรมการไม่เกิน 30 คน โดยประกอบด้วย ผู้ที่ฝ่ายรัฐบาลเสนอชื่อหนึ่งในสาม และผู้ที่คู่ขัดแย้งคือพรรคประชาธิปัตย์และ กปปส. เสนอชื่ออีกหนึ่งในสาม  ส่วนที่เหลืออีกหนึ่งในสามคือ ผู้ทรงคุณวุฒิและตัวแทนของคนอาชีพต่างๆ เช่น นักวิชาการ นักธุรกิจ ภาคประชาสังคม เกษตรกร หรือแรงงาน ซึ่งเป็น “คนกลาง” ที่ทั้งฝ่ายรัฐบาลและคู่ขัดแย้งต่างยอมรับได้ ทั้งนี้เพื่อให้คู่ขัดแย้งมีส่วนร่วม แต่ไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งครอบงำการปฏิรูปนอกจากนี้คณะกรรมการปฏิรูปควรสร้างกลไกเปิดรับความเห็นจากสาธารณะอย่างกว้างขวางด้วย

ประการที่สาม มติของคณะกรรมการปฏิรูปในการเสนอมาตรการให้รัฐบาลดำเนินการต้องได้รับเสียงสนับสนุนมากกว่าเสียงข้างมากเล็กน้อยเช่น สามในห้า (18 จาก 30 เสียง) เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ข้อเสนอนั้นได้รับการยอมรับจากทั้งสองฝ่ายหรือคนกลางด้วย ไม่ได้เกิดจากการใช้พวกมากลากไป ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ใช่สัดส่วนเสียงข้างมากที่สูงเกินไป จนทำให้การปฏิรูปไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากถูกคัดค้านได้ง่ายเกินไปเช่นกัน

ประการที่สี่ คณะกรรมการปฏิรูปควรมีภารกิจในการจัดทำข้อเสนอการปฏิรูปในขอบเขตที่ไม่กว้างขวางเกินไปเช่นไม่ควรมีมากกว่า4-5 เรื่องใหญ่ๆ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนและเป็นสาเหตุของความขัดแย้งในปัจจุบันเช่น กติกาการเข้าสู่อำนาจรัฐการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐการต่อต้านคอรัปชั่น ประชานิยมและวินัยทางการคลัง ตลอดจนระบบยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง เป็นต้น ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเรื่องอื่นๆ เช่น การปฏิรูปการศึกษา การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม หรือระบบยุติธรรมในความหมายกว้าง จะไม่มีความสำคัญแต่เป็นเพราะเรื่องเหล่านั้นต้องดำเนินการต่อเนื่องในระยะยาว และควรดำเนินการโดยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในสภาวะปรกติ

ประการที่ห้า คณะกรรมการปฏิรูปควรเสนอมาตรการปฏิรูปแก่รัฐบาลเป็นระยะ โดยเริ่มจากมาตรการที่มีความเห็นพ้องต้องกันสูง มีรูปธรรมที่สามารถปฏิบัติได้ง่ายก่อน โดยเสนอแนะกรอบเวลาในการดำเนินการที่แน่นอนแก่รัฐบาลไปพร้อมด้วยเพื่อให้ประชาชนเห็นผลสำเร็จจากการปฏิรูปในเร็ววัน จากนั้นจึงเสนอมาตรการปฏิรูปที่มีความซับซ้อนมากขึ้นไปตามลำดับ

ประการที่หก นอกจากนำเสนอมาตรการปฏิรูปต่อรัฐบาลแล้ว คณะกรรมการปฏิรูปควรมีหน้าที่ติดตามการปฏิรูปของรัฐบาลว่าเป็นไปตามข้อเสนอในกรอบเวลาที่กำหนดไว้หรือไม่ ในกรณีที่รัฐบาลไม่ดำเนินการปฏิรูปตามข้อเสนอ โดยแสดงถึงเจตนาหน่วงเหนี่ยวหรือบิดพลิ้ว คณะกรรมการปฏิรูปสามารถเสนอให้รัฐบาล “ทำโทษตนเอง” โดยการยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งจะทำให้รัฐบาลมีแรงจูงใจที่จะปฏิรูปมิฉะนั้น อาจต้องเผชิญแรงกดดันจากประชาชนอีกครั้ง

ข้อเสนอต่อกระบวนการปฏิรูปข้างต้นเป็นเพียงแนวทางหนึ่งที่ผมขอฝากให้สังคมช่วยกันพิจารณา เพราะผมไม่เห็นว่า เราจะมีทางออกจากความขัดแย้งในปัจจุบันได้อย่างไร หากทุกฝ่ายทั้งรัฐบาลและคู่ขัดแย้งไม่เข้าสู่กระบวนการปฏิรูปร่วมกันอย่างแท้จริง.

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ