สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) สรุปประเด็นที่น่าสนใจจากงานเสวนา เรื่อง “พันธบัตรป่าไม้ เครื่องมือเศรษฐกิจสู่ป่า 40%” เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2560 นำเสนอข้อมูลโดย ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่ปรึกษา ด้านการวิจัยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และสันติ โอภาสปกรณ์กิจ กลุ่มบิ๊กทรี ดังนี้
ประเทศไทยเผชิญกับการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้อย่างต่อเนื่องจนภาครัฐไม่สามารถรักษาพื้นที่ป่าตามเป้าหมายร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศไว้ได้ ปัจจุบันพื้นที่ป่าไม้ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 32 ของพื้นที่ประเทศไทยเท่านั้น ดังนั้นภารกิจสำคัญของประเทศไทยคือการพื้นฟูสภาพป่าไม้ให้กลับคืนมาอีกร้อยละ 7 หรือคิดเป็นพื้นที่ประมาณ 26 ล้านไร่ ซึ่งการฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้ในปริมาณมากถึง 26 ล้านไร่นี้ไม่สามารถกระทำได้โดยกลไกภาครัฐ
ข้อมูลพื้นที่ป่าไม้แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีการประกาศพื้นที่อุทยานจำนวนมากทำให้พื้นที่ป่าอนุรักษ์ของประเทศมีปริมาณใกล้เคียงกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 25 ของพื้นที่ประเทศ แต่ปัญหาที่สำคัญคือการสูญเสียพื้นที่ป่าเศรษฐกิจซึ่งเป็นพื้นที่ป่าสงวน ดังนั้น การฟื้นฟูสภาพป่าไม้ในรูปของป่าเศรษฐกิจในพื้นที่ป่าสงวนจึงเป็นภารกิจสำคัญของประเทศไทย
การสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยมีสาเหตุสำคัญมาจากการขยายตัวของการปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวเข้าไปในพื้นที่ป่าสงวน ได้แก่ การปลูกข้าวโพดเพื่อป้อนอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และการปลูกยางพารา ซึ่งการปลูกข้าวโพดบนที่สูงนี้เองนำไปสู่ปัญหาเขาหัวโล้นในหลายจังหวัดในภาคเหนือ ที่ผ่านมาการฟื้นฟูสภาพป่าเพื่อทดแทนการปลูกข้าวโพดบนที่สูงไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะการปลูกข้าวโพดได้รับการสนับสนุนที่ดีจากวงจรของธุรกิจอาหารสัตว์ที่ให้ผลกำไรที่ต่อเจ้าของธุรกิจ
กอปรกับการฟื้นฟูสภาพป่าไม้ก็ต้องการการลงทุนและการเฝ้าดูแลอย่างต่อเนื่องซึ่งกลไกของภาครัฐไม่สามารถดำเนินการได้ การปลูกป่าโดยภาคประชาชนหรือหน่วยงานไม่หวังกำไรก็ประสบปัญหาข้อจำกัดด้านทุนสนับสนุนที่เพียงพอและการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องในระยะยาว
ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องพัฒนากลไกเพื่อนำไปสู่การฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้อย่างยั่งยืนโดยกลไกดังกล่าวควรมีความสอดคล้องกับบริบทของประเทศไทยที่ต้องให้ความสำคัญกับการมีงานทำและคุณภาพชีวิตของเกษตรกรที่ปัจจุบันมีอาชีพปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บนที่สูง
“กลไกพันธบัตรป่าไม้” เป็นกลไกทางการคลังที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงปัจจัยการผลิตต่างๆ ในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการปลูกป่าไม้ในรูปป่าเศรษฐกิจกึ่งป่าอนุรักษ์
กลไกพันธบัตรป่าไม้คือการออกพันธบัตรเงินกู้เพื่อระดมทุนจากภาคประชาชนและภาคธุรกิจการเงินเพื่อปลูกป่าเศรษฐกิจกึ่งป่าอนุรักษ์ เนื่องจากการปลูกป่าในส่วนของป่าเศรษฐกิจเป็นการดำเนินธุรกิจที่มีผลกำไรจึงทำให้การปลูกป่าเศรษฐกิจสามารถทำหน้าที่เป็นแหล่งรายได้สำคัญสำหรับเกษตรกรบนพื้นที่สูงทดแทนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เป็นอันตรายต่อระบบนิเวศ เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดสามารถเปลี่ยนอาชีพมาหารายได้จากการปลูกป่าและดูแลป่าแทนการปลูกข้าวโพด
ในช่วงการดำเนินงานของการปลูกป่าเศรษฐกิจกึ่งป่าอนุรักษ์ กลไกพันธบัตรป่าไม้จะมีกระแสรายได้จากหลายแหล่ง เช่น รายได้จากการขายไม้ตามระยะเวลาการตัดไม้ รายได้บางส่วนจากรัฐบาลจากการที่พื้นที่ป่าไม้สามารถลดปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งและความเสียหายต่อประชาชน รายได้จากภาคอุตสาหกรรมและภาคพลังงานจากการที่ป่าไม้ทำหน้าที่ดูดซับคาร์บอน (Carbon Offset) หรือรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เป็นต้น รายได้เหล่านี้นอกจากจะนำมาเป็นค่าใช้จ่ายให้กับเกษตรกรที่ทำหน้าที่ปลูกป่าและดูแลป่าแล้วยังจะนำมาจ่ายคืนให้กับประชาชนและผู้ลงทุนในพันธบัตรป่าไม้ (รูปที่ 1)
ดังนั้นจะเห็นได้ว่ากลไกพันธบัตรป่าไม้เป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทยในการฟื้นฟูสภาพป่าโดยการใช้ผลประโยชน์จากการปลูกป่าเศรษฐกิจเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม พันธบัตรป่าไม้จึงเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมโยงปัจจัยการผลิตเพื่อการฟื้นฟูสภาพป่า ได้แก่ ที่ดิน แรงงาน แหล่งเงิน และความต้องการใช้ไม้เชิงพาณิชย์ และนำไปสู่การแก้ปัญหาการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทย
ที่สำคัญกลไกพันธบัตรป่าไม้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาสังคม ดังจะเห็นได้ว่าประชาชนทั้งประเทศสามารถมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้ด้วยการร่วมลงทุนในพันธบัตรที่ให้ผลตอบแทนไม่ด้อยไปกว่าการลงทุนในรูปแบบอื่น เกษตรกรมีส่วนร่วมโดยเปลี่ยนจากการเป็นผู้บุกรุกและทำลายป่าไม้มาเป็นผู้ปลูกป่าและผู้ดูแลป่าไม้ ภาคการเงินมีส่วนร่วมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์การเงินที่เหมาะสม และที่สำคัญคือการมีองค์กรที่ทำหน้าที่ดูแลป่าไม้อย่างต่อเนื่องในระยะยาวเพราะมีกำไรจากการดำเนินงานเป็นสิ่งจูงใจ
ดังนั้นจะเห็นได้ว่ากลไกพันธบัตรป่าไม้จึงเป็นแนวทางฟื้นฟูสภาพป่าไม้ที่มีความยั่งยืน เพราะเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อสังคมไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูสภาพป่าไม้ การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในรูปผลิตภัณฑ์ไม้เชิงพาณิชย์ การลดความจำเป็นในการลักลอบตัดไม้ในเขตอนุรักษ์ การสร้างรายได้ให้เกษตรกร การดูดซับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือการท่องเที่ยว ที่สำคัญกลไกพันธบัตรป่าไม้เป็นกิจกรรมที่มีความโปร่งใสและมีการแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับทุกภาคส่วนอย่างเป็นธรรม ดังนั้น พันธบัตรป่าไม้จึงเป็นกลไกทางการคลังที่มีศักยภาพในการฟื้นฟูสภาพป่าไม้ของประเทศไทยอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ รูปแบบพันธบัตรป่าไม้ที่เหมาะสมสำหรับบริบทของวัฒนธรรมทางความคิดของสังคมไทยควรมีองค์ประกอบที่สำคัญ 4 ประการดังต่อไปนี้
ประการที่ 1 การดำเนินงานด้านพันธบัตรป่าไม้ต้องมีกฎหมายรองรับ และการจัดตั้งองค์กรกลางเพื่อทำหน้าที่ในการบริหารจัดการและการออกพันธบัตรป่าไม้ ดังนั้นกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือการออกกฎหมายจัดตั้งองค์กรนี้เพื่อให้มีอำนาจหน้าที่ในการออกพันธบัตรป่าไม้ได้ และสร้างกลไกที่เป็นธรรมให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มีกฎหมายเป็นของตนเอง สามารถออกพันธบัตรเพื่อระดมทุนได้ที่ได้จากผู้ลงทุนไปสนับสนุนกิจกรรมในการปลูกป่า และดูแลรักษาป่าเพื่อให้มีการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน และจ่ายผลตอบแทนให้แก่นักลงทุนตามสัญญา รวมทั้งมีการประสานงานกับหน่วยงานอื่นของรัฐที่เกี่ยวข้อง
ประการที่ 2 การดำเนินการที่เน้นให้คนอยู่ร่วมกับป่า เนื่องจากป่าที่ถูกทำลายในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติส่วนมากมีคนครอบครองพื้นที่อยู่แล้ว โดยการปลูกป่าเพิ่มที่เน้นรูปแบบที่ไม่ต้องย้ายคนออกจากพื้นที่แต่จ้างเป็นแรงงานในการปลูกและบำรุงรักษาป่า และให้มีส่วนร่วมในการรับรู้และแสดงความคิดเห็นในการดำเนินการ รูปแบบการดำเนินการปลูกป่าและการดูแลพื้นที่ป่าไม้ภายใต้การจัดการป่าชุมชน การปลูกป่าเศรษฐกิจหรือการปลูกสวนป่า เพื่อให้มีรายได้เพียงพอในการดำรงชีวิต และให้บริการทางสังคมที่ดีแก่ชุมชนในพื้นที่ รวมถึง การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ให้เกิดประโยชน์เต็มศักยภาพและสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นด้วย
อีกทั้ง มุ่งเน้นให้มีการบริหารจัดการในรูปแบบของชุมชนป่าไม้ โดยในแต่ละพื้นที่จะมีการบริหารจัดการเพื่อให้สมาชิกในชุมชนมีรายได้จากการดูแลป่า รวมถึงการบริหารจัดการและพัฒนาพื้นที่ของชุมชนป่าไม้โดยรวมในด้านต่างๆ ที่สำคัญ ได้แก่ การให้บริการด้านการศึกษา สาธารณสุข สังคม หรือการคมนาคม เพื่อให้คนในชุมชนป่าไม้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืน
ประการที่ 3 การปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบในปัจจุบันให้เอื้ออำนวยต่อดำเนินการป่าไม้เชิงพาณิชย์เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานพันธบัตรป่าไม้
ประการที่ 4 การจัดเก็บรายได้จากผู้ที่ได้ประโยชน์จากการปลูกป่าหรือฟื้นฟูสภาพป่า เช่น รายได้จากการขายไม้ รายได้จากการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และรายได้จากการขายน้ำดิบให้กับผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ เป็นต้น โดยผลตอบแทนทางการเงินของป่าไม้ตลอดอายุพันธบัตรจึงต้องมีความคุ้มค่า และสามารถนำไปจ่ายผลตอบแทนให้กับผู้ซื้อพันธบัตรเมื่อครบกำหนดเวลาได้ โดยหลีกเลี่ยงการดำเนินการมีผลกระทบต่อกลุ่มประชาชนที่มีรายได้ต่ำ