ขบวนองค์กรชุมชนภาคกลางและตะวันตก จัดมหกรรมวันที่อยู่อาศัยโลก ประเทศไทย ปี 2565 ภายใต้แนวคิด “หุ้นส่วนการพัฒนา ขับเคลื่อนนโยบาย ลดความเหลื่อมล้ำด้านที่อยู่อาศัย”

ขบวนองค์กรชุมชนภาคกลางและตะวันตก จัดมหกรรมวันที่อยู่อาศัยโลก ประเทศไทย ปี 2565 ภายใต้แนวคิด “หุ้นส่วนการพัฒนา ขับเคลื่อนนโยบาย ลดความเหลื่อมล้ำด้านที่อยู่อาศัย”

ชัยนาท/9-10พฤศจิกายน2565  ขบวนองค์กรชุมชนภาคกลางและตะวันตก ร่วมกับ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน)และหน่วยงานภาคี จัดงานจัดมหกรรมวันที่อยู่อาศัยโลก ประเทศไทย ปี 2565 “ใส่ใจช่องว่าง ไม่ทิ้งใครและที่ใดไว้ข้างหลัง (Mind the Gap. Leave No One and Place Behind)”  ภายใต้แนวคิด “หุ้นส่วนการพัฒนา ขับเคลื่อนนโยบาย ลดความเหลื่อมล้ำด้านที่อยู่อาศัย” โดยมี นายธนสุนทร สว่างสาลี รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นางสาวจรรยา กลัดล้อม กรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน นายเนตร ปิ่นแก้ว นางสาววิภาศศิ ช้างทอง นางกมลปฐมพร กัณหา ผู้นำขบวนองค์กรชุมชนภาคกลางและตะวันตก นายกฤษดา  สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  นายกิตติ  อินทรกูล รักษาการอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ นางสาวชไมพร อำไพจิตร รองผู้ว่าราชการจังหวัด รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท นางสาวดรุณี  มนัสวานิช พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดชัยนาท นายอดิศร  เกิดโต  นายอำเภอหันคา นายณรงค์เดช  ตันอนุวงษ์สกุล นายกเทศมนตรีตำบลหันคา นางสาวนฤพร  ภู่สอน นายกเทศมนตรีตำบลหนองแซง และผู้นำขบวนองค์กรชุมชนจากทั่วประเทศ เข้าร่วมงานกว่า 800 คน ณ หอประชุมสำนักงานเทศบาลตำบลหันคา อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท

นายธนสุนทร สว่างสาลี รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้รับผิดชอบเรื่องที่อยู่อาศัยของพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ในการแก้ไขปัญหาแบบพุ่งเป้า โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบได้แก่ การเคหะแห่งชาติ กรมกิจการผู้สูงอายุ กรมสวัสดิการ กรมผู้พิการ อีกหน่วยหนึ่งที่สำคัญ คือ พอช. ดูแลพี่น้องที่ประสบปัญหาที่อยูอาศัย การบุกรุก รุกล้ำที่ดินของหน่วยงานรัฐและเอกชน โดยภาพรวมของประเทศไทยจะแก้ปัญหาของพี่น้องได้อย่างไร ในระดับจังหวัดมีการแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนระดับโดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มีพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นเลขา และมีหน่วยงานต่างๆ มาขับเคลื่อนร่วมกัน แต่ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ยังคงมีปัญหาเรื่องข้อมูล โดยพัฒนาสังคมและความมั่นคงของนมุษย์มีข้อมูลผู้สูงอายุ ผู้พิการที่มีปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย ทำอย่างไรเราจะบูรณาการเรื่องที่อยู่อาศัยอย่างเข้มข้นและจริงจัง โดยนำข้อมูลจากภาคส่วนต่างๆ มาตั้งต้นและนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหา  ส่วนจังหวัดชัยนาทมีผู้เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย 2,000 กว่าครัวเรือน หากสามารถแก้ปัญหาได้ปีละประมาณ 500 ครัวเรือน เชื่อว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้หมดภายใน 4 ปี ทำอย่างไรจะขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง โดยความร่วมมือของพี่น้องประชาชนร่วมกับหน่วยงานต่างๆ แต่ขณะนี้พบว่าข้อมูลบางจังหวัดอยู่ที่หน่วยใครหน่วยมัน ขอฝากให้ใช้คณะทำงานระดับจังหวัดเป็นกลไกกลางในการแก้ไขปัญหา วันนี้ดีใจที่พี่น้องจังหวัดชัยนาทมีการขับเคลื่อนแผนการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย ซึ่งเกิดจากพี่น้องประชาชนในการสำรวจข้อมูล เห็นความเข้มแข็งความก้าวหน้าของพี่น้องประชนในการแก้ไขปัญหา

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ความสำคัญกับเรื่องที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องแรกในการดูแลพี่น้องประชาชน รวมไปถึงสวัสดิการต่างๆ ให้กับทุกคนในชุมชน   สุดท้ายขอให้การพัฒนาที่อยู่อาศัยของประเทศไทย ดำเนินการได้อย่างก้าวหน้า เข้าถึงผู้มีรายได้น้อย ผู้ด้อยโอกาส และกลุ่มเปราะบาง ตามคำขวัญที่ว่า “ใส่ใจช่องว่าง ไม่ทิ้งใครและที่ใดไว้ข้างหลัง” (Mind the Gap. Leave No One and No Place Behind) ภายใต้แนวคิด “หุ้นส่วนการพัฒนา ขับเคลื่อนนโยบาย ลดความเหลื่อมล้ำด้านที่อยู่อาศัย”  นายธนสุนทร กล่าวในตอนท้าย

นายกฤษดา  สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กล่าวว่า  นอกจากสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อยแล้ว ยังเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยให้ดีขึ้น เราจะดูแลบ้านอย่างไรที่จะทำให้เราดูแลคนในบ้านได้อย่างมีความสุข ลดช่องว่างระหว่างผู้สูงอายุและเยาวชนรุ่นหลัง และเมื่อก้าวออกจากบ้านจะเป็นชุมชนที่อบอุ่นได้อย่างไร เป็นชุมชนแห่งการเอื้อเฟื้อได้อย่างไร ชุมชนจะปลอดภัยจากภัยต่างๆ ได้อย่างไร เป็นสิ่งที่เราต้องมาช่วยกันออกแบบ  การดูแลผู้อยู่อาศัยภายใต้ของ พอช. ซึ่งมีการดำเนินโครงการบ้านต่างๆ เป็นเครื่องมือในการทำให้คนในชุมชนท้องถิ่นมาร่วมมือกันในการดูแลพี่น้องให้เกิดความเข้มแข็งในการอยู่ร่วมกัน ประกอบด้วยความรัก ความสามัคคีของผู่นำชุมชน ท้องที่ ท้องถิ่น วิชการ ภาคธุรกิจเอกชนที่จะเข้ามาเกื้อหนุนเติมเต็ม เราเห็นมิติต่างๆ เหล่านี้กระจายไปทั่วประเทศไทย รวมถึงระบบสวัสดิการ ซึ่งเหมือนเสื้อตัวใหญ่ที่ตัดมาให้คนทั่วประเทศได้ใส่ ที่เราเรียกว่ากองทุนสวัสดิการชุมชน หรือกองทุนวันละบาท เปิดโอกาสให้ท้องถิ่นมาร่วมดูแล ซึ่งจังหวัดชัยนาทเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีการทำแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยจังหวัดระยะ 5 ปี ซึ่งนอกจากเรื่องบ้านแล้วยังมีการจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อม การดูแลสวัสดิการชุมชน การพัฒนาด้านอาชีพ มิติต่างๆ เหล่านี้ไปเสริมให้เกิดความมั่นคงในการอยู่อาศัยของผู้คนในชุมชน รวมถึงการจัดระบบดูแลเพื่อรักษาดินและบ้านให้มั่นคงยั่งยืน พร้อมทั้งส่งเสริมการทำงานของขบวนชุมชน ให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายการทำงานระดับภาค และส่วนกลาง อาทิ การจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลก การส่งเสริมการจัดทำแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยระดับจังหวัด และการพัฒนาเมืองทุกมิติ  มีเป้าหมายสำคัญในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยอย่างมีส่วนร่วม จากองค์กรชุมชน เครือข่ายชุมชน ท้องถิ่น หน่วยงาน และภาคีต่างๆ รวมถึงการนำเสนอรูปธรรมการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท พอช. มีความเชื่อมั่นว่า “บ้านโดยชุมชนที่ทุกคนร่วมสร้าง” ที่เกิดจากเป้าหมายร่วมในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์จังหวัดด้านที่อยู่อาศัย จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาสังคมจากชุมชนฐานรากและสร้างความมั่นคงของมนุษย์ ผมขอเป็นกำลังใจและร่วมสนับสนุนความตั้งใจของขบวนองค์กรชุมชนและภาคี ในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์จังหวัดด้านที่อยู่อาศัย และขอให้ประสบความสำเร็จและบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ด้วยพลังและศรัทธาที่เชื่อมั่น ให้กำลังใจต่อการดำเนินการขับเคลื่อนการทำแผนยุทธศาสตร์ที่อยู่อาศัยจังหวัดของขบวนองค์กรชุมชนและภาคียุทธศาสตร์

นายกฤษดา  กล่าวต่อไปอีกว่าวันนี้รัฐบาลให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจน 5 ด้าน คือ การพัฒนาอาชีพ การดูแลด้านการศึกษา การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ การดูแลเรื่องที่อยู่อาศัยให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของงานนี้ และการเข้าถึงระบบสวัสดิการของรัฐที่ไม่ให้มีใครและผู้ใดตกหล่น หรือไม่ทิ้งใครและที่ใดไว้ข้างหลัง เหล่านี้อยู่ในประเด็นการทำงานของพี่น้องเราทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพัฒนาอาชีพรายได้ของพี่น้องประชาชน การพัฒนาที่อยู่อาศัยเป็นรากฐานของการพัฒนาอาชีพด้วย

ในขณะเดียวกันระเบียบกฎหมายในขณะนั้นยังไม่เอื้ออำนวยให้หน่วยงานรัฐมาดูแลพี่น้องประชาชนได้อย่างเต็มที่ ดังจะเห็นได้จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถนำงบประมาณมาดูแลช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที แต่สิ่งที่พวกเราทำกันคือ เครือข่ายองค์กรชุมชนไม่ว่าจะเป็นสภาองค์กรชุมชน สวัสดิการ ที่ดินทำกินที่อยู่อาศัย เราหันหน้ามาคคุยกันแล้วเราก็ดึงเอาสิ่งที่เรามีอยู่มาดูแลพี่น้องประชาชน จัดจุดคัดกรอง จัดทำหน้ากากอนามัย ทำโรงครัวดูแลพี่น้องประชาชน นี่คือ 2 บทเรียนที่บอกว่าชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง ประเทศไทยไปรอด คำว่าชุมชนท้องถิ่น 2 สิ่งนี้ไม่สามรถแยกออกจากกันได้ เพราะชุมชนเป็นสิ่งสำคัญในการปกครองท้องถิ่น โดยท้องถิ่นเป็นองค์กรที่รัฐบาลมอบอำนาจ จึงเป็นที่มาว่ารัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยมีระเบีบบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนงบประมาณสวัสดิการชุมชน หรือสวัสดิการวันละบาท เพื่อเป็นทุนในการแก้ปัญหาของพี่น้องประชาชนได้ตรงกับสถานการณ์ และความต้องการได้อย่างรวดเร็วในยามฉุกเฉินวิกฤติ

การทำงานของพี่น้องประชาชนภายใต้เป้าหมายเดียวกัน เราให้ความสำคัญกับการสานพลังทุกภาคส่วนที่มีอยู่ในประเทศ ภูมิภาคและในจังหวัด รวมทั้งพลังที่มีอยู่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการช่วยเหลือเติมเต็มการทำงานร่วมกัน เพื่อให้เป้าหมายการแก้ปัญหาของพี่น้องประชาชนประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ เราไม่สามารถเดินตามลำพังได้ เราต้องเคลื่อนด้วยจตุพลัง ประกอบด้วย 1) ผู้นำชุมชน ท้องที่ 2) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3) ฝ่ายวิชาการ ภาคธุรกิจเองชน 4) หน่วยงานรัฐ ที่ต้องออกแรงไปพร้อมๆ กัน และหนุนเสริมการทำงานร่วมกัน นายกฤษดา  กล่าวในตอนท้าย

นางสาวชไมพร อำไพจิตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท กล่าวว่า จังหวัดชัยนาทเป็นพื้นที่ในการจัดงานมหกรรมวันที่อยู่อาศัยโลก ประเทศไทย ภาคกลางและตะวันตก “ใส่ใจช่องว่าง ไม่ทิ้งใครและที่ใดไว้ข้างหลัง ภายใต้แนวคิด “หุ้นส่วนการพัฒนา ขับเคลื่อนนโยบาย ลดความเหลื่อมล้ำด้านที่อยู่อาศัย”  ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการส่งเสริมให้ภาคประชาชนมียุทธศาสตร์การพัฒนาด้านที่อยู่อาศัยที่สอดคล้องกับสภาพปัญหา ความต้องการ และบริบทของพื้นที่ตนเองนั้น โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมการพัฒนาชุมชน พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ต่างมีการดำเนินการและร่วมมือกันเพื่อสนับสนุนให้เกิดกระบวนการพัฒนายุทธศาสตร์การพัฒนาด้านที่อยู่อาศัยขององค์กรชุมชนทั่วประเทศ ทั้งการสำรวจและบูรณาการข้อมูลผู้เดือดร้อนทั้งด้านที่อยู่อาศัยและกลุ่มเปราะบาง ภายใต้ระบบฐานข้อมูล TPMAP (ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า) รวมทั้งมีกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน ได้แก่ คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายและแผนการพัฒนาที่อยู่อาศัยระดับจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน รวมทั้งมีการจัดทำบันทึกความร่วมมือ (MOU) ในการสนับสนุนการกระจายอำนาจ   ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระหว่าง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เพื่อเป็นการกระจายอำนาจและยกระดับการทำงานให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถบริหารจัดการ รวมถึงดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยตนเองได้อย่างยั่งยืน

นายเนตร ปิ่นแก้ว ผู้นำขบวนองค์กรชุมชนภาคกลางและตะวันตก กล่าวว่า  การจัดงานในครั้งนี้ เป็นการร่วมเฉลิมฉลองและรณรงค์การมีส่วนร่วมของชุมชนแล้ว ยังเป็นการประกาศจุดเริ่มต้นของขบวนองค์กรชุมชนที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินอย่างมียุทธศาสตร์และทำงานเชิงขบวนการที่กว้างขวาง นำเสนอรูปธรรมการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของชุมชน การผลักดันนโยบายการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินในรูปแบบการแก้ไขปัญหาระดับเมือง/ตำบล/ภูมินิเวศ และถือโอกาสในการทบทวนขบวนการ สรุปบทเรียน สรุปผลการดำเนินงานการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ผ่านมาอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อมองทิศทางการสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยต่อขบวนองค์กรชุมชนในอนาคต และวางแผนสนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาที่อยู่อาศัยในระยะต่อไป พร้อมยื่นข้อเสนอต่อหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องในจังหวัด ที่จะร่วมกันจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดด้านที่อยู่อาศัย ผ่านการนำเสนอรูปธรรมการจัดทำแผนฯ ของชุมชนร่วมกับท้องถิ่น การผลักดันนโยบายในพื้นที่ นำไปสู่การสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยของขบวนองค์กรชุมชนในอนาคต

นอกจากนั้นเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดชัยนาท นำโดยนางสาวจรรยา กลัดล้อม ประธานเครือข่ายประสานงานขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดชัยนาท พร้อมด้วยผู้แทนเครือข่ายขบวนองค์กชุมชนจังหวัดชัยนาท ได้ยื่นข้อเสนอขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดชัยนาท (คปอ.)  ต่อรองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท นางสาวชไมพร อำไพจิตร เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2565 ข้อเสนอเชิงนโยบายในการพัฒนาที่อยู่อาศัยของประชาชนจังหวัดชัยนาทโดยมีเนื้อหาดังนี้

1. ขอให้มีการทบทวนและบรรจุแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของภาคประชาชนในแผนพัฒนาจังหวัดชัยนาท 5 ปี (พ.ศ.2566-2570)  และแผนพัฒนาของจังหวัดแบบบูรณาการ (พ.ศ.2566 -2570)  2. ขอให้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบาย และแผนที่อยู่อาศัยระดับตำบล / อำเภอ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนงานแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินของผู้มีรายได้น้อยทั้งเมืองและชนบท 3. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีกระบวนการในการรับฟังแผนพัฒนาพื้นที่และให้ประชาชนผู้เดือดร้อนมีส่วนร่วมในการกำหนดการแก้ไขปัญหาและพัฒนาอย่างแท้จริง 4. ขอให้สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดชัยนาท และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในจังหวัด สนับสนุนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาที่อยู่อาศัยและการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และคณะประสานงานขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดชัยนาท (คปอ.) 5. ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท มอบหมายนายอำเภอทุกอำเภอสนับสนุนขบวนองค์กรชุมชนในการออกแบบและสำรวจข้อมูลด้านที่อยู่อาศัย และจัดทำแผนพัฒนาของตำบล อำเภอ และจังหวัด ร่วมกับคณะประสานงานขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดชัยนาท (คปอ.) 6. ขอให้สนับสนุนการขับเคลื่อนงานของสภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นกลไกกลาง ในการจัดทำข้อมูลทุกมิติ เพื่อจัดทำแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยระดับตำบล ร่วมกับหน่วยงานภาคีในระดับพื้นที่ โดยครอบคลุมในเรื่องงบประมาณ บุคลากร สถานที่ และอื่นๆ 7. ประสานความร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยนาท สนับสนุนแผนงาน งบประมาณ บุคลากร และสถานที่ ในการพัฒนาศักยภาพขบวนองค์กรชุมชน ได้แก่ การอบรมช่างชุมชนเพื่อการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย การพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยสนับสนุนการประกอบอาชีพเสริมเพิ่มรายได้

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย

ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 ยังได้มีการจัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือว่าด้วยการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์จังหวัดภายใต้แนวคิด “หุ้นส่วนการพัฒนา ขับเคลื่อนนโยบาย ลดความเหลื่อมล้ำด้านที่อยู่อาศัย”ระหว่างสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) องค์การบริหารส่วนตำบลในจังหวัดชัยนาท 59 ตำบล  สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดชัยนาทสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดชัยนาท และคณะประสานงานขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดชัยนาท โดยได้รับเกียรติจาก นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มอบนโยบาย การขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ที่อยู่อาศัยทั้งจังหวัด และเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

 ข้อ ๑ หลักการและเหตุผลเนื่องจากทิศทางสำคัญตามนโยบายระดับประเทศ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. ๒๕๖๑ – ๒๖๘๐) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๓ พร้อมทั้งนโยบายระดับสากลตามกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs)              ของสหประชาชาติในการพัฒนาและแก้ปัญหาในประเด็นการพัฒนาต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นกรอบในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในมิติต่าง ๆ โดยเฉพาะการพัฒนาที่อยู่อาศัย อันเป็นภารกิจสำคัญตามแผนแม่บท         การพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๗๙) มอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและ     ความมั่นคงของมนุษย์ขยายผลการสร้างโอกาสในการเข้าถึงที่อยู่อาศัยให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย เพื่อนำสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) พ.ศ. ๒๕๔๓ และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)    มีหน้าที่สนับสนุนและให้ความช่วยเหลือแก่องค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชนเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ การพัฒนาอาชีพ การเพิ่มรายได้ การพัฒนาที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม และโดยที่พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่และอำนาจในการจัดระบบบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น จากการดำเนินการส่งเสริมให้เกิดยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัยภาคประชาชนที่ผ่านมา พบว่า   มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ การขาดความเข้าใจร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การเข้าถึงที่ดิน และระเบียบในการขอใช้ประโยชน์ที่ดินความร่วมมือในการสนับสนุนในระดับพื้นที่ และหน่วยงานระดับจังหวัด ขาดการบูรณาการโครงการแก้ไขปัญหาของแต่ละหน่วยงานที่ลงสู่พื้นที่เดียวกัน จำเป็นต้องมีกลไก/ผู้ที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงเพื่อให้เกิดการทำงานในทิศทางเดียวกัน   ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัยให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามทิศทางสำคัญตามนโยบายระดับประเทศ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. ๒๕๖๑ – ๒๖๘๐)    แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๓ พร้อมทั้งนโยบายระดับสากลตามกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs)ของ สหประชาชาติในการพัฒนาและแก้ปัญหาในประเด็นการพัฒนาต่าง ๆ จึงได้ร่วมกันจัดทำบันทึกความร่วมมือฉบับนี้ขึ้นข้อ ๒ วัตถุประสงค์ของความร่วมมือ1. เพื่อเสริมสร้างโอกาสในการเข้าถึงที่อยู่อาศัยให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายเป็นการลดความ   เหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมในสังคม 2. เพื่อส่งเสริมความมั่นคงในด้านที่อยู่อาศัย และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยการจัดเตรียมที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐาน มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม พร้อมระบบสาธารณูปโภคสาธารณูปการ      ที่จำเป็นในระดับราคาที่กลุ่มเป้าหมายสามารถรับภาระได้3. เพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน  และภาคีที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ   ภาคเอกชน     และภาคประชาสังคมในการดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับทุกกลุ่มเป้าหมาย และส่งเสริมให้ชุมชนเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ข้อ ๓ กรอบแนวทางความร่วมมือ มีรายละเอียดดังนี้ ๓.1 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) มีบทบาทภายใต้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ ๓.1.๑ การดำเนินงานและการปฏิบัติการชุมชนเพื่อนำไปสู่แก้ไขปัญหาความเดือดร้อน          ด้านที่อยู่อาศัย ๓.1.๒ ประสาน ให้คำปรึกษาแนะนำในการดำเนินงาน และอำนวยความสะดวกด้านต่าง ๆ ตามที่ตกลงร่วมกัน  ๓.1.๓ สนับสนุนด้านบุคลากร ทรัพยากร และงบประมาณการดำเนินงานตามแผนงานที่ได้กำหนดร่วมกัน ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามระเบียบ คู่มือโครงการบ้านมั่นคงเมือง บ้านมั่นคงชนบท และบ้านพอเพียงประจำปีงบประมาณ ๓.2 องค์การบริหารส่วนตำบลกะบกเตี้ย มีบทบาทภายใต้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ดังนี้  ๓.2.๑ สนับสนุนชุมชนในการสำรวจและจัดทำข้อมูลปัญหาความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย  ๓.2.๒ สนับสนุนการรวบรวมและนำข้อมูลด้านที่อยู่อาศัยสู่การจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย  ๓.2.๓ สนับสนุนให้คำปรึกษา แนะนำ พัฒนาระบบการบริหารจัดการที่ดีแก่ชุมชน  ๓.2.๔ ร่วมเป็นกลไกระดับพื้นที่ในการคลี่คลายปัญหา ข้อติดขัดการดำเนินงานด้านการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและทำให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี มีชีวิตที่มั่นคง พอเพียง ทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน  ๓.๒.5 สนับสนุนบุคลากรและอำนวยความสะดวกในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยให้กับชุมชน 3.๓ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดชัยนาท มีบทบาทภายใต้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ ๓.3.๑ ด้านวิชาการหรือองค์ความรู้เพื่อสนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนาด้านที่อยู่อาศัย  ๓.3.๒ สนับสนุน หนุนเสริมการนำแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยระดับตำบล/เทศบาลสู่แผนยุทธศาสตร์จังหวัด ๓.3.๓ ประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านที่อยู่อาศัย ๓.4 สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดชัยนาท มีบทบาทภายใต้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ดังนี้๓.4.๑ สนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการส่งเสริมชุมชนให้เกิดการจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยระดับตำบล/เทศบาล   ๓.4.๒ ให้ความรู้ความเข้าใจชุมชนถึงแนวทางการเสนอแผนต่อหน่วยงาน  ๓.4.๓ ให้คำปรึกษาและแนะนำ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกี่ยวกับการสำรวจและจัดทำข้อมูลปัญหาความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย ๓.5 อำเภอเนินขามมีบทบาทภายใต้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ ๓.5.๑ สนับสนุนบุคลากรทางด้านวิชาการเพื่อร่วมหนุนเสริมการพัฒนาความรู้ในการจัดทำแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยระดับตำบล/เทศบาล  ๓.5.๒ หนุนเสริมการรวบรวมแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยระดับตำบล/เทศบาล เป็นแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยระดับอำเภอ  ๓.5.๓ ประสานการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการพัฒนาอำเภอด้านที่อยู่อาศัย  ๓.5.๔ สนับสนุนด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ๓.6 คณะประสานงานขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดชัยนาท มีบทบาทในการ  ๓.6.๑ ประสานและสนับสนุนชุมชนให้เกิดการสำรวจและจัดทำข้อมูลผู้เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ๓.6.๒ สนับสนุนและรวบรวมให้เกิดการนำข้อมูลจากการสำรวจไปสู่การจัดทำแผนพัฒนาด้านที่อยู่อาศัย๓.6.3 สนับสนุนความรู้ด้านการจัดแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยให้กับชุมชนในพื้นที่ ๓.6.4 สนับสนุนการเชื่อมโยงงานพัฒนาที่อยู่อาศัยกับการพัฒนาอื่น ๆ และความร่วมมือระหว่างชุมชนเครือข่ายท้องถิ่นและภาคีพัฒนา ข้อ ๔  ระยะเวลาความร่วมมือ บันทึกความร่วมมือนี้ มีกำหนดระยะเวลาห้าปี นับแต่วันที่ลงนามในบันทึกความร่วมมือฉบับนี้ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงบันทึกความร่วมมือฉบับนี้ ให้กระทำได้ตามความเหมาะสม โดยความเห็นชอบร่วมกันทั้งหกฝ่าย และจัดทำบันทึกความร่วมมือเพิ่มเติมแนบท้ายบันทึกความร่วมมือฉบับนี้ การยกเลิกบันทึกความร่วมมือฉบับนี้ ให้กระทำได้ โดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้ฝ่ายอื่นทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวันในกรณีที่มีการยกเลิกบันทึกความร่วมมือ ให้การดำเนินการใด ๆ ตามบันทึกความร่วมมือฉบับนี้มีผลต่อเนื่องไปจนกระทั่งการนั้นเสร็จสมบูรณ์ เว้นแต่ทั้งหกฝ่ายจะตกลงร่วมกันเป็นอย่างอื่น

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ