จาก ‘ดาวดิน’ ถึง ‘หน้าหอศิลปฯ’ #ไอ้พวกนักกิจกรรม กำลังอาละวาด

จาก ‘ดาวดิน’ ถึง ‘หน้าหอศิลปฯ’ #ไอ้พวกนักกิจกรรม กำลังอาละวาด

 

18400182416_880cc1ce19_k

คอลัมน์: คิดริมทาง  เรื่อง: ปกรณ์ อารีกุล ภาพ: ประชาไท

คืนวันแห่งการเติบโตของผม เป็นช่วงวัยแห่งการได้ทำความรู้จักกับอาชีพแปลกๆ เช่น ‘นักพัฒนาเอกชน’ บ้างล่ะ ‘นักเคลื่อนไหวทางสังคม’ บ้างล่ะ ‘นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม’ บ้างล่ะ กระทั่ง ‘นักกิจกรรมทางสังคม’

ไอ้พวกนักต่างๆ เหล่านี้ มักถูกตั้งคำถามจากนักประกอบอาชีพปกติ เช่น ข้าราชการหรือพนักงานบริษัทเอกชนว่า

“พวกมึง ทำมาหาแดกอะไรกันวะ”

ทำไมถึงมีเวลาออกมาทำอะไรที่พวกนักประกอบอาชีพปกติรู้สึกว่า สร้างความไม่ปกติให้สังคม

คืนวันแห่งการเรียนรู้ในชุดนักศึกษา ทำให้ผมเองเลือกวิถีชีวิตแบบ ‘ไอ้พวกนักกิจกรรม’ หลังสำเร็จการศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย เช่นเดียวกับเพื่อนๆ หลายคนซึ่งเคยทำกิจกรรมกับกลุ่มดาวดิน มหาวิทยาลัย ขอนแก่น และอีกเช่นเดียวกับเพื่อนๆ อีกหลายคน ซึ่งออกไปปรากฏตัวหน้าหอศิลปฯ จนถูกควบคุมตัวพร้อมกับน้องๆ นักศึกษาหลายมหาวิทยาลัย ซึ่งหากจะใช้สรรพนามเหมารวม ไอ้พวกนักกิจกรรมเหล่านี้ว่า ‘พวกเรา’ ก็คงไม่ผิดแปลกจากข้อเท็จจริงนัก

และพวกเรานี่แหละที่ลงพื้นที่ออกไปเห็นความเป็นจริงของสังคมผ่านกิจกรรมค่ายอาสา เอาสถานะความเป็นนักศึกษาเข้าไปในชุมชน ไปอยู่กับเขา เรียนรู้จากเขา แบบที่ อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เคยกล่าว จนทำให้พอเข้าใจว่าบ้านนี้เมืองนี้มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ที่มาจากปัญหาเชิงโครงสร้าง การรวมศูนย์อำนาจ การกระจายทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม

และพวกเรานี่แหละที่มักออกมา เคลื่อนไหวในประเด็นทางสังคมต่างๆ ไม่ว่าต่อรัฐบาลที่คุณผู้อ่านจะชอบ หรือไม่ชอบ ด้วยเหตุผลที่ว่ารัฐบาลเหล่านั้นไม่ว่ามาจากค่ายพรรคการเมืองใด หน้าที่ของเขาคือการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชน หาใช่การสร้างการพัฒนาที่เหยียบย่ำบนคราบน้ำตาของประชาชน นั่นเป็นสิทธิประชาธิปไตยทางตรงที่เราเรียกร้อง จากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

พวกเราเองเคยหยุดเรียน ลาเรียนเป็นเดือนๆ ไปเป็นอาสาสมัครช่วยน้ำท่วม กินนอนอยู่ในเต็นท์ข้างถนน ในขณะที่เสียงก่นด่าการทำงานของรัฐบาล รวมถึงผู้ว่าฯ กทม.ดังระงมอยู่ในโลกโซเชี่ยล

ไม่ว่าในนามนักกิจกรรมทางสังคม หรือนักเคลื่อนไหวทางสังคม หรือจะนักอะไรก็แล้วแต่ สิ่งที่พวกเรายึดถือกันอยู่จนเสมือนเป็นคัมภีร์แห่งชีวิต นั่นคือวิธีการกับเป้าหมายต้องไปด้วยกัน

หากอยากให้สังคมมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เราก็ต้องใช้วิธีการ กระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยอย่างถึงที่สุด เพื่อไปถึงสิ่งนั้น มิใช่ใช้วิธีการประชาธิปไตยอันบิดเบี้ยว หรือประชาธิปไตยแค่ครึ่งใบ มาบังคับให้คนอื่นๆ อดทนทำตามสิ่งที่เรียกว่า ‘ปฏิรูปประเทศไทย’

ผมเขียนมาถึงบรรทัดนี้ก็รู้สึกว่าตนเอง พรั่งพรูถ้อยคำที่มีความหมายเอนเอียงไปทางฟากฝั่งไอ้พวกนักกิจกรรมไปหน่อย อย่างไรเสียผมบอกกับกองบรรณาธิการแล้วว่า งานเขียนของผมหาใช่บทสรุปของข้อเท็จจริง นั่นหมายความว่ามันเป็นเพียงทัศนะที่ผมมีต่อโลก หาใช่การตัดสินโลก ท่านผู้อ่านสามารถแลกเปลี่ยนถกเถียงกันได้ตามเหตุและผล

เพียงแต่ผมอยากขอพื้นที่ในการอธิบายสิ่งที่กำลังเป็นไปในประเทศของเรา เกี่ยวกับความเข้าใจที่ท่านมีต่อ ไอ้พวกนักกิจกรรม แท้จริงแล้วไอ้คนพวกนี้มันไม่ได้มีพิษสงอะไรต่อความมั่นคงของประเทศนี้หรอกครับ

แต่มันช่วยไม่ได้ที่การเรียกร้องประชาธิปไตย เท่ากับการคัดค้านรัฐประหาร มันช่วยไม่ได้ที่การพูดเรื่องละเมิดสิทธิชุมชนในรัฐบาลชุดปัจจุบัน เท่ากับการคัดค้านรัฐประหาร

มันช่วยไม่ได้ที่การยืนยันเรื่องค่าแรง 300 บาท การเรียกร้อง ILO 87,98 กลายเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะมันอาจกลายเป็นการคัดค้านรัฐประหาร

มันช่วยไม่ได้ที่มหาวิทยาลัยหลายแห่ง ออกนอกระบบราชการได้ง่ายดาย และถูกมองว่าเป็นผลพวงจากการรัฐประหาร มันช่วยไม่ได้ที่การคัดค้านเหมืองทองคำกลายเป็นเรื่องเดียวกับการคัดค้านรัฐประหาร

แน่นอน…

มันไม่มีใครช่วยอะไรได้ ในขณะที่ราคายางพารายังคงตกต่ำ ชาวนายังคงไม่ได้รับค่าชดเชยจากการสั่งห้ามทำนา และร่างพ.ร.บ. ที่ประชาชนไม่เห็นด้วยหลายฉบับ ยังคงถูกทยอยเข็นเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในขณะที่สภาปฏิรูปซึ่งเป็นความหวังของคนบางกลุ่มกำลังจะถูกยุบในไม่ช้า

และเมื่อมีมนุษย์บางจำพวก เช่น ‪#‎ไอ้พวกนักกิจกรรม พยายามจะออกมาบอกกล่าว เรียกร้อง ต่อสู้ หรือคัดค้านปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากวันที่ 22 พ.ค. 2557

พวกเขากลับถูกกล่าวหาว่ารับเงินคนไกลบางคนมาเคลื่อนไหว…

ตราบใดที่ยังมีความไม่เป็นธรรมอยู่ พวกผมต้องออกมายืดเส้นยืดสายบ้าง ใครจะว่าเป็น ไอ้พวก (นักกิจกรรม) หน้าเดิม ออกมาอาละวาดอีกตามเคย ก็ว่ากันไป

มันช่วยไม่ได้จริงๆ ครับ

จำเริญๆ

เขียนเมื่อ 12 มิ.ย. 58

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ