อยู่ดีมีแฮง : “น้ำลด เมล็ดพันธุ์ผุด” 2 พื้นที่เครือข่ายเกษตร เตรียมจัดผ้าป่าเมล็ดพันธุ์ช่วยพี่น้องหลังน้ำท่วม

อยู่ดีมีแฮง : “น้ำลด เมล็ดพันธุ์ผุด” 2 พื้นที่เครือข่ายเกษตร เตรียมจัดผ้าป่าเมล็ดพันธุ์ช่วยพี่น้องหลังน้ำท่วม

โจทย์เรื่องการจัดการเมล็ดพันธุ์หลังน้ำท่วมปี 2565 ของภาคอีสาน เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ทางเครือข่ายภาคประชาชนร่วมกับนักวิชาการยังคงมองว่าสำคัญ เนื่องจากพืชพรรณที่เกษตรกรปลูกไว้จมหายไปกับสายธารน้ำนับเดือน ทำให้ไม่สามารถกักเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกในปีต่อไปได้

วงโสเหล่เสวนา “ผ้าป่าเมล็ดพันธุ์ช่วยพี่น้องหลังน้ำท่วม” ของไทอีสานพีบีเอสร่วมกับอยู่ดีมีแฮง ได้ชวนคุยออนไลน์ขึ้นมาเมื่อวันพุธที่ 2 พ.ย. 65 เป็นโอกาสสำคัญในการชวนเครือข่ายพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษและอุบลราชธานี ซึ่งเป็นเครือข่ายชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ นักพัฒนา นักวิชาการ และผู้ที่ติดตามสถานการณ์ปัญหาได้ร่วมแลกเปลี่ยนสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ที่ต้องเผชิญ และ แนวทางการแก้ปัญหาในระดับท้องถิ่นที่ทำกันอยู่

เสียงเอกฉันท์ 2565 น้ำมาเร็ว มาแรง และลดลงช้า

มันเริ่มต้นตั้งแต่เดือนปลายเดือนกันยายนที่เริ่มมีน้ำหลากเข้าพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ในภาคอีสานโดยเฉพาะภาคอีสานตอนล่าง จ.บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด ไปจนถึงอุบลราชธานี เช่นจังหวัดศรีสะเกษ บริเวณชุมชนคนทาม อ.ราษีไศลและพื้นที่โดยรอบน้ำท่วมนาข้าว ที่อยู่อาศัย บ้านเรือนท่วม 100 เปอร์เซ็นของพี่น้องในเครือข่ายชุมชนคนทาม หากนับรวมหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบมากถึง 260 หมู่บ้ำน (พี่น้องในเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนหัวนำ 139 หมู่บ้าน,พี่น้องเครือข่ายผู้ได้รับ ผลกระทบจากเขื่อนราษีไศล 121 หมู่บ้าน) เป็นหมู่บ้านที่อาศัยอยู่แถบลุ่มน้ำมูนทั้งหมดหรือประมาณ 50,000 ครอบครัว

ปราณี มรรคนันท์ เครือข่ายทามมูน ใน อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ เล่าทวนถึงสถานการณ์และผลกระทบบางส่วนที่ได้ลงพื้นที่ร่วมกับชุมชนตลอดกว่า 40 วันที่ผ่านมา แม้ปริมาณน้ำในพื้นที่จะลดลงไปบ้างแล้ว แต่ความเสียหายทีเกิดขึ้น เป็นสิ่งที่ชาวบ้านหลายคนไม่ทันตั้งตัว

“ตอนนี้หลายชุมชนเริ่มกำลังปัดกว่าเช็ดถูแล้ว แต่จากการถามข่าวคราวชาวบ้าน เขาบอกว่าที่ท่วมหนักสุดในรอบ 44 ปี ท่วมหนักกว่าปี 2521 ที่สำคัญน้ำมาเร็วแล้วท่วมนาน ชาวบ้านบอกว่าประสบการณ์จากปี 2521 ที่ดูระดับน้ำประมาณเท่านี้จะต้องเริ่มจัดการอะไร ไม่สามารถนำมาใช้กับปีนี้ได้เลย การคาดการณ์เราคาดการณ์กันเอง พี่น้องโทรไปถามทางปากมูลว่าน้ำขึ้นหรือยัง เพราะเขาจะรู้จักกัน ทางนั้นก็บอกว่าน้ำกัลงไปนะ อันนี้เป็นภาคประชาชนสื่อสารกันเอง ซึ่งเราคิดว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง น่าจะบอกกันหน่อย ชาวบ้านจะได้รู้”

คนึงนุช วงศ์เย็น เครือข่ายเกษตรกรกินสบายใจ ได้กล่าวต่อถึงสถานการณ์น้ำท่วมในอุบลราชธานี บอกว่าพื้นที่การเกษตรในอุบลราชธานีคาดการณ์ว่าเสียหายกว่า 3 แสนไร่ จากข้อมูลของหน่วยงานท้องถิ่น (ณ วันที่ 2 พ.ย. 65) ซึ่งถือว่าเยอะพอสมควร ส่วนพื้นที่ของเครือข่ายเกษตรอินทรีน์ก็เสียหายหลายอำเภอ เช่น อ.สว่างวีระวงศ์, อ.วารินชำราบ, อ.เมืองอุบลราชธานี โดยเฉพาะ ต.แจระแม อ.เมืองอุบลราชธานี น้ำท่วม 1-2 เมตร และยังไม่มีทีท่าว่าน้ำจะลดลง

“ปี 2562 ก็เคยท่วมแบบนี้ แต่ไม่ได้ท่วมหนักเหมือนปี 2565 มันลดเร็วกว่านี้ แต่ปีนี้น้ำมาไว ท่วมน้ำ และลดลงช้า โซนนาข้าว พื้นที่การเกษตรเสียหายอย่างมาก สามารถแบ่งระดับพื้นที่น้ำท่วมได้ 3 ระดับ คือ 1.ท่วมขังนาน ท่วมนาข้าว ท่วมการเกษตร 2.พื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก 3.พื้นที่น้ำไหลผ่าน น้ำไหลมาและลดลงอาจจะท่วมประมาณ 1-2 สัปดาห์ แต่แบบที่ 1 จนถึงปัจจุบันนี้ยังท่วมอยู่และลดลงไม่กี่เซนติเมตรต่อวัน”

ด้านพรรณี เสมอภาค เครือข่ายเกษตรทางเลือก กล่าวในวงเสวนาว่าในพื้นที่ ต.แจระแม ปีนี้ย้ายจุดอพยพชั่วคราวถึง 3 ครั้ง ขยับขึ้นมาเรื่อย ๆ เพราะมีน้ำท่วมสูงไหลมาต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาการให้ข้อมูลไม่ชัดเจน แม้แต่รัฐจัดการเองก็ต้องย้ายหลายครั้ง ส่วนภาคการเกษตรพื้นที่ริมน้ำท่วมเกือบ 100%

แต่อยากชวนมองว่าน้ำท่วมปี 2565 มันท่วมแตกต่างจากปีก่อน ๆ อย่างไร ในปี 2521 น้ำท่วมหนักมาก แต่ส่วนของข้าวไม่ได้เสียหาย ถัดมาในปี 2545 และ 2554 ที่น้ำท่วมหนักเหมือนกันแต่ข้าวส่วนบนก็ไม่ได้เสียหาย ส่วนปี 2562 นาข้าวเสียหายรุนแรง แต่ยังพอมีเวลาได้ฟื้นฟู เพราะช่วงนั้นท่วมตอนเดือนกันยายนและลดลงตอนเดือนตุลาคม ยังสามารถระยะเวลาปลูฏข้าว ทันฤดูกาลได้ แต่ปีนี้ต่างไปจากนั้น

“ปี 2565 น้ำท่วมนานและไม่มีระยะเวลาการฟื้นฟูเมล็ดพันธุ์เลย เพราะท่วมมาจนเข้าสู่ช่วงหน้าหนาว พืชพรรณต่าง ๆ ไม่สามารถเติบโตได้เต็มที่ อย่างที่บอกค่ะในปีนี้น้ำมาเร็ว ท่วมเร็วแต่ค่อย ๆ ลดลง ณ ตอนนี้ (2 พ.ย. 65) ในพื้นที่เราอยู่ลดลงกว่า 2 เมตรแล้ว แต่รอบข้างยังเป็นทะเลอยู่เลย”

เช่นเดียวกับกมล หอมกลิ่น มูลนิธิสื่อสร้างสุข พูดถึงสถานการณ์น้ำท่วมว่าในพื้นที่บ้านไร่ใต้ อ.พิบูลมังสาหาร ก็น้ำท่วมหนักพอ ๆ กับตัวเมืองอุบลราชธานี แต่อาจจะมีจุดที่แตกต่างไปบ้าง เพราะที่บ้านไร่ใต้มีลำโดมใหญ่ไหลผ่าน ซึ่งเป็นน้ำคนละสายกับแม่น้ำมูลที่หลายอำเภอกำลังเผชิญอยู่ จากการสอบถามของชาวบ้าน มี 2554 และ 2557 ที่ท่วมหนักไม่แพ้กัน โดยเฉพาะปี 2562 ท่วมหนักมาก

“ปีนี้น้ำท่วมหนักมาก ท่วมสูงสุดถึง 6 เมตรในบริเวณตำบล สูงเกินหลังคา มีอยู่กว่า 14-15 หมู่บ้านท่วมจนถึงพื้นที่นา ปีนี้ลงข้าวเหนียวแดงจากเครือข่ายกินสบายใจไว้ก็ท่วมหมดเลย บางบ้านทำนา 3 รอบในปีนี้ก็เสียหายหมดเลย เป็นความกังวลใจของชาวบ้านว่าจะเอาเมล็ดพันธุ์มาจากไหน จะเอาแรง เอาเงินมาลงทุนอย่างไร มันหนักมากในพื้นที่”

จากการแลกเปลี่ยนสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หลายท่านพูดถึงไปในทิศทางเดียวกันในเรื่องของพื้นที่ความเสียหายในเรื่องของการเกษตร ซึ่งถือเป็นพื้นที่สำคัญของเกษตรกร เพราะทั้งนาข้าว พืชไร่ พืชสวน ต่างเป็นแหล่งรายได้ของครัวเรือนรวมไปถึงต้นทุนที่จะนำไปต่อยอดในการทำเกษตรในปีต่อไป

“น้ำลด เมล็ดพันธุ์ผุด” 2 พื้นที่เตรียมจัดผ้าป่าเมล็ดพันธุ์ช่วยพี่น้องหลังน้ำท่วม

กิจกรรม “ผ้าป่าเมล็ดพันธุ์” จึงกลายเป็นกิจกรรมสำคัญที่ทั้งสองพื้นที่ อย่าง จ.ศรีสะเกษ และ จ.อุบลราชธานี เห็นพ้องว่าควรจะเริ่มมีการรวบรวมเกิดขึ้น เริ่มที่เครือข่ายกินสบายใจ วางจัดโฮมบุญ ผ้าป่าเมล็ดพันธุ์ ช่วยเกษตรกรอินทรีย์ฟื้นฟูแปลงเกษตรหลังน้ำลด วันที่ 19 พ.ย. 2565 ณ วัดบ้านหนองจาน ต.แจระแม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี

เพื่อระดมทุนฟื้นฟูแปลงเกษตรอินทรีย์ให้มีกิน และมีรายได้ในอนาคต รวมทั้งการตั้งกองทุนเมล็ดพันธุ์ในชุมชนในกลุ่ม PGS กินสบายใจของแต่ละพื้นที่เพื่อทำงานรับมือภัยพิบัติในระยะยาว ซึ่งรวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้การเก็บเมล็ดพันธุ์ การเชื่อมโยงเครือข่ายเมล็ดพันธุ์ต่างพื้นที่เพื่อสนับสนุนกันและกันในระยะยาว ซึ่งสามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่คุณคนึงนุช 087-3786955

เช่นเดียวกับสมาคมคนทามและองค์กรร่วมจัดทุกองค์กร จะจัดผ้าป่าเมล็ดพันธุ์ ฟื้นชีวิตคนลุ่มน้ำมูล เพื่อระดมทุนจัดหาเมล็ดพันธุ์ทั้งพันธุ์ข้าว พันธุ์ผัก พันธุ์ หญ้าส้ำหรับสัตว์เลี้ยง และส่งต่อเมล็ดพันธุ์ให้กับพี่น้องผู้ประสบภัยน้ำท่วมในเครือข่ายประมาณ 1,000 ครอบครัวในพื้นที่ 39 ตำบล 12 อำเภอ 3 จังหวัด (สุรินทร์ ร้อยเอ็ดและศรีสะเกษ) วันที่ 7 ธ.ค. 65 ณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนคนทาม ต.หนองแค อ.ราษีไศล จ.ศรีษะเกษ

ซึ่งภายในกิจกรรมนอกจากจะเปิดระดมเมล็ดพันธุ์แล้วยังมีเวทีเสวนาการปรับตัวของเกษตรกรภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการจัดการน้ำอีสานเพื่อเป็นองค์ความรู้สำคัญในการปรับใช้ของเกษตรกรพื้นที่ต่าง ๆ ในอนาคต สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่คุณปราณี 089-7202246

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ