เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 ที่อาคารปฏิบัติการคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) จ.เชียงใหม่ ได้มีการสัมมนาเรื่อง “เตรียมประกาศพื้นที่อุทยานฯ 22 แห่ง:เอื้อประโยชน์หรือรอนสิทธิชาวบ้าน โดยชาวบ้านจากชุมชนที่กำลังเตรียมประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ 3 แห่งคือเตรียมอุทยานฯ ออบขาน จ.เชียงใหม่ เตรียมอุทยานฯ แม่เงา จ.แม่ฮ่องสอน และเตรียมอุทยานฯ ถ้ำผาไท จ.ลำปาง นอกจากนี้ชาวบ้านในชุมชนอุทยานฯ ลำน้ำกก จ.เชียงราย ได้เข้าร่วม โดยมี ดร.มาลี สิทธิเกรียงไกร นักวิชาการศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มช.เป็นผู้ดำเนินรายการ
ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มช. กล่าวว่าเมื่อ 30 ปีก่อน พะตีจอนิ โอ่โดเชา ได้มาหาตนเพื่อหารือกรณีที่กรมป่าไม้กำลังขยายอุทยานฯชาวบ้านกังวลใจมากและคัดค้านโดยการเดินขบวนไปถึง จ.ลำพูนและรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯบินมาคุยด้วย ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการคัดค้านของคนที่อาศัยอยู่กับป่า เพราะการที่รัฐจะประกาศเขตป่าสงวนหรืออุทยานฯชาวบ้านมักไม่รับรู้ ทั้ง ๆ ที่อยู่มาก่อน ชาวบ้านก็ไม่ได้ทำการตัดไม้ทำลายป่าตามที่ถูกกล่าวอ้างโดยเฉพาะชาวปกาเกอะญอที่มีภูมิปัญญาทำไร่หมุนเวียน ดังนั้นความคิดของชาวบ้านจึงแตกต่างจากรัฐ เพราะชาวบ้านปลูกข้าวไร่เพื่อเป็นอาหารแต่รัฐกลับสนับสนุนให้ปลูกพืชเชิงเดี่ยวใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง นอกจากนี้รัฐยังพยายามใช้อุทยานฯ เป็นแหล่งท่องเที่ยว อนุญาตให้เอกชนเช่าพื้นที่สร้างโรงแรม
“ความคิดของรัฐจึงแตกต่างจากชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ ชาวบ้านต้องเผชิญกับความนโยบายของรัฐที่เร่งรัดประกาศเขตอุทยานฯ ทับที่ชาวบ้าน พวกเขารู้สึกไม่มั่นใจกับการประกาศเขตอุทยานฯ ของรัฐ จึงต้องต่อรองกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯตลอดเวลา พวกเขาไม่มั่นใจว่าวิถีชีวิตต้องเปลี่ยนแปลงจากการเตรียมประกาศอุทยานฯหรือไม่ จริง ๆ แล้วชาวบ้านไม่ได้คัดค้านการประกาศอุทยานฯแต่เขาต้องการความชัดเจนว่าเขาจะมีวิถีชีวิตอย่างไรในอุทยานฯ ใหม่ จะเป็นการรอนสิทธิของพวกเขาหรือไม่”ดร ชยันต์ กล่าว
นายอิทธิพล ไทยกมล ผู้แทนกรมอุทยานฯ กล่าวว่า ภาครัฐได้ออกแบบในการแก้ไขปัญหาโดยพูดถึงชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์โดยเฉพาะอุทยานฯ ที่เตรียมประกาศซึ่งในอดีตประกาศกว้างซึ่งอาจทับพื้นที่ของประชาชน ดังนั้น พรบ.อุทยานฯ ฉบับใหม่ ได้ให้รับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เราอยากให้ภาคประชาชนที่ทำประชาพิจารณ์ได้นำเสนอว่าใช้ประโยชน์ในพื้นที่เท่าไรและใช้ประโยชน์อะไรบ้างเพื่อทำเป็นบันทึกเสนอส่วนกลาง พื้นที่ไหนมีข้อสงสัยหรือข้อกังวลใจก็ให้พูดคุยกับหัวหน้าอุทยานฯ ฝ่ายปกครองและชุมชน เมื่อนำเสนอคณะกรรมการอุทยานฯจะได้พิจารณาว่าพื้นที่ใดที่ประกาศได้ พื้นที่ใดที่ยังมีข้อกังวลใจ
นายอิทธิพลกล่าวว่า เชื่อว่าเป้าหมายของชุมชนและอุทยานฯ ตรงกันคือไม่มีใครเป็นเจ้าของแต่เป็นการใช้ประโยชน์ร่วมกัน ที่ผ่านมาพื้นที่ทางจิตวิญญาณหรือไร่หมุนเวียนเป็นวาทะกรรมที่ยังไม่ได้ทำความเข้าใจร่วมกัน ส่วนเรื่องกระบวนการที่เปิดเวทีรับฟังเสียงของชาวบ้านในพื้นที่เตรียมอุทยานฯออบขานที่อำเภอสะเมิงนั้น ได้มีการจัดทำรายงานเสนออธิบดีกรมอุทยานฯแล้วโดยพื้นที่ 1.2 แสนไร่จะสามารถประกาศได้ ส่วนที่กังวลใจกว่า 2 หมื่นไร่ก็คงต้องทำแผนร่วมกัน ชุมชนไม่ได้เรียกร้องอะไรที่ผิดแผกแตกต่าง แต่สามารถร่วมกันอนุรักษ์ได้
นายสมชาติ รักษ์สองพลู ผู้ใหญ่บ้านบ้านกลาง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานฯ ถ้ำผาไทกล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ออกมาคัดค้านแต่ไม่ได้คัดค้านการประกาศเขตอุทยานฯ เพียงแต่ขอการมีส่วนร่วม กรณีบ้านกลางเป็นตัวชี้วัดของปัญหาซึ่งในอดีตป่าถูกทำลายและชาวบ้านฟื้นฟูจนเป็นป่า พอปี 2537 มีป้ายอุทยานฯไปติดเต็มไปหมดซึ่งชาวบ้านไม่รู้เรื่องอะไรเลย และพื้นที่ยังถูกทับซ้อนหลายชั้นทั้งป่าสงวน ป่าอนุรักษ์และอุทยานฯ เราจึงพยายามบอกให้เดินสำรวจ โดยระหว่างนี้ชาวบ้านถูกกระทำมาโดยตลอด เช่น การทำไร่หมุนเวียนต้องระมัดระวังในการทำมาก เพราะมีจีพีเอสคอยจับจ้องห้ามทำเกินพื้นที่แม้แต่นิดเดียว ทุกวันนี้ชาวบ้านได้รับแรงกดดันมาก บางส่วนต้องหนีไปอยู่แถวเหมืองแม่เมาะทั้ง ๆ ที่เป็นพื้นที่ที่มีมลพิษ แม้ว่าที่ผ่านมาชุมชนมีกฎระเบียบชัดเจนก็ยังถูกจับอยู่ดี
นายสมชาติกล่าวว่า แม้จะมี พรบ.อุทยานฯฉบับใหม่ แต่ชาวบ้านก็ไม่รู้เรื่องเลย สิ่งที่ชาวบ้านเรียกร้องไปแต่ไม่แน่ใจว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของผู้มีอำนาจหรือไม่ ตลาดระยะเวลา 30 ปี ชาวบ้านบ้านกลางพยายามเสนอข้อกังวลใจหลายครั้งแต่ไม่ได้รับการับฟังจากผู้บริหารอุทยานฯแถมยังมีการบีบฝ่ายอำเภอและฝ่ายปกครอง เราขอกันพื้นที่ 2 พันกว่าไร่ และขอช่วยดูแลป่า 2 หมื่นไร่ แต่กรมอุทยานฯ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ไม่เคยรับฟัง ทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าต่อไปเราจะไม่ดูแลการสร้างแนวกันไฟแล้ว
นายพฤ โอ่โอเชา ชาวบ้านอำเภอสะเมิง จ.เชียงใหม่ ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เตรียมประกาศอุทยาน ฯ ออบขาน กล่าวว่า สิ่งที่ต้องสู้กับหน่วยงานรัฐคือต้องทำแผนว่าพื้นที่ที่เราขอให้กันไว้ เราเตรียมไว้ใช้อะไร แต่ชาวบ้านไม่มีงบประมาณที่จะไปทำแผนเช่นเดียวกับอุทยานฯทำ ทั้ง ๆ ที่เราอยู่มาก่อน แต่กฎหมายไม่เคยให้เกียรติให้เข้าไปมีส่วนร่วม การประกาศเขตอุทยานฯ ไม่เคยสนใจป่าของชาวบ้าน โดยชาวบ้านมีแต่ถูกจับ แม้กฎหมายบอกว่าให้มีส่วนร่วมแต่โดยข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น การเตรียมประกาศอุทยานฯเราไม่แน่ใจต่อไปว่าเรายังสามารถเข้าไปเลี้ยงควายได้หรือไม่ หมู่บ้านก็ถูกบีบให้เล็กลงเรื่อย ๆ จนทำให้ชาวบ้านต้องเข้าหานายทุน เพราะถูกกดภาคเกษตรให้เล็กลงจนไม่มีกิน
“เขาบอกว่าอยู่ในช่วงเตรียมประกาศอุทยานฯ พวกเราจะไม่เป็นไร แต่เขาค่อยๆขย้ำๆเราอยู่เรื่อย ๆ จนเรากลัวมากว่าเราจะสูญสิ้นพื้นที่ วันนี้เราไม่รู้ว่าเราอยู่ที่ไหน ความดีที่เราดูแลป่าจนกลายเป็นพื้นที่สีเขียวไม่รู้ไปอยู่ที่ไหนหมด”
นายพฤกล่าวว่า อุทยานฯออบขานที่เตรียมประกาศจะเอาแม่น้ำขานซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ของชาวบ้านไปไว้ในอุทยานฯ ด้วย เราอยากให้พื้นที่ที่เราดูแลเป็นป่าชุมชนซึ่งเจ้าหน้าที่ป่าสงวนบอกว่าทำได้ แต่พอเตรียมประกาศเป็นอุทยานฯ ข้อเรียกร้องของเรากลับหายไป ทุกวันนี้ชาวสะเมิงต่างพึ่งพาป่าแห่งนี้และป่าไม่ถูกทำลายเพราะช่วยกันดูแล กฎกติการของอุทยานฯไม่เอื้อให้ชาวบ้านอยู่ต่อไป
นายสะท้าน ชีววิชัยพงศ์ ผู้แทนชาวบ้านเตรียมประกาศอุทยานฯแม่เงา จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่าพื้นที่เตรียมประกาศแห่งนี้ครอบคลุมพื้นที 2.5 แสนไร่ใน 3 จังหวัดคือตาก แม่ฮ่องสอนและเชียงใหม่ ชาวบ้านตั้งคำถามมาโดยตลอดว่าทำไมถึงต้องคัดค้านการประกาศเขตอุทยานฯโดยชาวบ้านพยายามเข้าไปมีส่วนร่วมโดยทุกหมู่บ้านพยายามใช้รูปแบบโฉนดชุมชน เราพยายามต่อรองและเจรจาเพื่อเอาข้อมูลทั้งหมดมาดูว่าเข้าช่องทางกฎหมายข้อใดได้บ้าง และได้ยื่นข้อมูลเรื่องโฉนดชุมชนไปแล้ว แต่สุดท้ายเจ้าหน้าที่ก็มาสำรวจใหม่ จนวันนี้ยังทำกันไม่เสร็จ ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจระหว่างชาวบ้านกับอุทยานฯ เพราะเคยเดินสำรวจแนวเขตร่วมกันแต่สุดท้ายก็ยังมีที่ดินของชาวบ้านถูกเจ้าหน้าที่ยึด ทั้ง ๆ ที่เขามีที่ดินเพียงแค่แปลงเดียว เราพยายามต่อรองกับเจ้าหน้าที่แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ กลายเป็นความขัดแย้งในชุมชน
“ในฐานะคนในพื้นที่ เราพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้มีการแก้ไข แต่สุดท้ายกลายเป็นเรื่องนโยบายและกฎหมาย เราพยายามเรียกร้องว่า พรบ.อุทยานฯไม่สอดคล้อง ข้อเสนอของชาวบ้านคือถ้าจะประกาศอุทยานฯ เราขอให้มีการบริหารจัดการที่ดีร่วมกันเพราะว่าในพื้นที่ทั้งหมดจะค่อยๆถูกทำลายไปเรื่อย ๆ ถ้ารัฐจริงใจก็ควรสร้างอำนาจตัดสินใจร่วมกัน” นายสะท้าน กล่าว
นายจักรพงษ์ ไชยวงศ์ นักวิชาการมหาวิทยาลัยแม่โจ้ในฐานะคณะทำงานด้านวิชาการในการกำหนดพื้นที่เตรียมอุทยานออบขาน กล่าวว่า ตนเป็นเพียงผู้รับฟังในเวทีรับฟังความคิดเห็นและสรุปจัดทำเป็นรายงานส่งให้อุทยานฯซึ่งอุทยานจะต้องตรวจสอบข้อมูลและนำไปติดประกาศที่อำเภอ ซึ่งทางชุมชนสามารถตรวจสอบได้ว่าข้อมูลถูกต้องหรือไม่ หลังจากนั้นจะส่งข้อมูลไปยังอุทยานฯ
นายอาหมื่น มาเยอะ ชาวบ้านแม่ยาว อ.เมือง จ.เชียงราย ซึ่งได้รับผลกระทบจากการประกาศอุทยานฯ ลำน้ำกก กล่าวว่าไม่เข้าใจว่าทำไมเจ้าหน้าที่เก็บข้อมูลโดยไม่เปิดเผยกับชาวบ้าน ชาวบ้านหลายชาติพันธุ์อาศัยอยู่ในพื้นที่ประกาศอุทยานฯ ไม่มีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการกฎหมาย การที่รัฐมาทำประชาคมควรทำภายหลังจากที่ให้ความรู้ชาวบ้านก่อน เป็นภาพสะท้อนว่าชาวบ้านไม่ได้มีส่วนร่วมเลย เพราะชาวบ้านไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ อยากบอกเจ้าหน้าที่ว่าจริง ๆ แล้วชาวบ้านให้ความร่วมมือทุกอย่างแต่อยากให้เป็นมิตรกันมากกว่านี้
นางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีต ส.ว.เชียงราย กล่าวว่า พื้นที่ที่ชาวบ้านอยู่ในอุทยานฯชุมชนมักถูกมองเป็นผู้ร้ายทั้ง ๆ ที่อยู่มาก่อน การที่รัฐปลูกพืชเชิงเดี่ยวทำให้เกิดปัญหาทั้งเรื่องการใช้สารเคมีหรือการพังทลายของหน้าดิน
นางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า สถานการณ์ภาพรวมที่ กสม.ติดตามคือนโยบายอนุรักษ์และเพิ่มพื้นที่ป่าทำให้เกิดปัญหากับชาวบ้าน โดยในปี 2564 กสม.ได้เสนอว่ารัฐบาลควรมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯจัดการปัญหานี้โดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม
“เรื่องกระบวนการมีส่วนร่วมเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก ชาวบ้านอยู่มาก่อนอุทยานฯดังนั้นอุทยานฯจึงต้องทำความเข้าใจและเอาคนกลางเข้ามาช่วย ควรเอาคนที่ชาวบ้านไว้ใจซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายของอุทยานฯ ต้องมีคนที่มีประสบการณ์เข้ามาช่วย เช่น นักวิชาการ หรือภาคประชาสังคม ซึ่งจะทำให้งานเดินหน้าได้ ตอนนี้มีอุทยานฯบางแห่งที่หัวหน้าอุทยานฯ ที่ทำงานเก่งและเข้ากับชาวบ้านได้” นางปรีดา กล่าว
นายสุมิตรชัย หัตถสาร นักกฎหมายจากศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น กล่าวว่าความขัดแย้งระหว่างสิทธิของประชาชนและหน้าที่ของรัฐ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาตลอด โดยก่อนปี 2532 ไม่มีปัญหาเพราะตอนนั้นรัฐใช้ประโยชน์จากป่าตั้งแต่ตั้งกรมป่าไม้คือมีการตัดไม้ จนกระทั่งมีการประกาศยุติสัมปทาน รัฐจึงเกิดแนวคิดอนุรักษ์ป่าไม้และประกาศแนวเขตอุทยานฯเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดปัญหากับชาวบ้านโดยรัฐมีนโยบายอพยพคนออกจากป่าแต่ไม่รู้คนไปไว้ที่ไหนเพราะประชาชนอยู่ร่วมกับป่ามานับร้อยปี จนเกิดความเคลื่อนไหวมาโดยตลอดประชาชนไม่ไว้ใจให้รัฐจัดการป่าฝ่ายเดียว
นายสุมิตรชัย กล่าวว่า มีการเตรียมประกาศอุทยานฯเพิ่ม 22 แห่ง แต่ปัจจุบันหลายพื้นที่ยังประกาศไม่ได้เพราะประชาชนคัดค้านมาโดยตลอด เดิมกฎหมายอุทยานฯ เป็นไปในเรื่องป่าปลอดคน ประชาชนเข้าไปต้องถูกเก็บเงิน จนต้องเกิดการแก้ไข พรบ.อุทยานฯใหม่ โดยมีกว่า 4 พันหมู่บ้านที่เกี่ยวข้องกับป่าอุทยานฯ และกว่า 1 หมื่นหมู่บ้านอยู่ในเขตป่าสงวน และรัฐพยายามออกนโยบายผ่านมติ คณะรัฐมนตรีมากมาย
นายสุมิตรชัย กล่าวว่า คสช.ออกมาตรการเข้มข้นเหมือนค้อนที่คอยทุบชาวบ้าน และได้มีการเพิ่มโทษใน พรบ.อุทยานฯ ฉบับใหม่อย่างรุนแรง เหมือนกับรัฐเล่นไพ่สองหน้าคือให้การคุ้มครองสิทธิและให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการ แต่ไม่มีแผนในการจัดการ อุทยานฯที่เตรียมประกาศไม่ได้ประโยชน์จากมาตรา 64/65 ในพรบ.อุทยานฯ กฎหมายฉบับนี้ขัดรัฐธรรมนูญเพราะไม่พูดถึงกระบวนการการมีส่วนร่วมเลย ดังนั้นอย่าพูดแค่นโยบาย แต่ต้องแก้กฎหมายเพราะหากไม่แก้กฎหมายก็ไม่ควรประกาศอุทยานฯใหม่ ควรมีการเขียนเรื่องการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน แม้รัฐบาลไทยพยายามประกาศให้โลกรู้ว่าใช้กฎหมายให้สอดคล้องกับข้อตกลงของภาคีแต่เนื้อกฎหมายกลับไม่มีเลย
“เราอย่าซ่อนปีศาจไว้ในกฎหมาย บทบัญญัติใดของกฎหมายขัดหรือแย้งของรัฐธรรมนูญบังคับใช้ไม่ได้ พรบ.อุทยานฯ ฉบับนี้ขัดแย้ง ซึ่ง กสม.สามารถส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ อยากเตือนไปยังคณะรัฐมนตรีวว่าควรคิดให้ดีเพราะกฎหมายฉบับนี้ขัดรัฐธรรมนูญแ ดังนั้น 22 แห่งที่จะประกาศอุทยานต้องพิจารณาให้ดีว่าขัดแย้งหรือไม่ การทำผิดรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องเล็กๆ” นายสุมิตรชัย กล่าว
สามารถรับชมการเสวนา การเตรียมประกาศอุทยานใหม่ 22 แห่ง :เอื้อประโยชน์หรือรอนสิทธิชาวบ้าน
ผ่านทาง Facebook Fanpage : ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์ฯ มช.
งานเขียนที่เกี่ยวข้อง
รับชมคลิปผ่านทาง : https://fb.watch/gzmGqx4VT4/