ศูนย์ทนายฯ สิทธิ ร้องสอบสวนกรณีทรมานผู้ต้องหาคดีระเบิดศาลอาญา

ศูนย์ทนายฯ สิทธิ ร้องสอบสวนกรณีทรมานผู้ต้องหาคดีระเบิดศาลอาญา

17 มี.ค. 2558 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการสอบสวนการทรมานผู้ต้องหาคดีระเบิดศาลอาญาเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2558 และยุติการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก จากกรณีได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ต้องหา 4 ราย ว่ามีการซ้อมทรมานผู้ต้องหา นอกจากนี้ผู้ต้องหาบางรายยังโดนช็อตด้วยไฟฟ้าและยังคงปรากฏร่องรอยดังกล่าวบริเวณผิวหนัง

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน แสดงความห่วงกังวลถึงการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกในการควบคุมตัวบุคคลโดยที่ผู้ถูกควบคุมตัวปราศจากสิทธิในการแจ้งญาติ สิทธิในการเข้าถึงทนายความเป็นระยะเวลา 7 วัน และที่ผ่านมาการควบคุมตัวภายใต้กฎอัยการศึกภายหลังมีการรัฐประหารมักไม่เปิดเผยสถานที่ในการควบคุมตัว ทำให้ขาดความโปร่งใส ปราศจากการตรวจสอบโดยองค์กรใดๆ รวมถึงกรณีล่าสุดในการใช้อำนาจควบคุมตัวนางสาวณัฏฐธิดา มีวังปลาซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงในภายหลังว่ามีการควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหาร  

การควบคุมตัวบุคคลภายใต้ตามกฎอัยการศึก จึงมีความสุ่มเสี่ยงในการใช้อำนาจโดยอำเภอใจ การซ้อมทรมาน ปฏิบัติโหดร้ายทารุณ บังคับสูญหาย ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว

นอกจากนั้น การซ้อมทรมานผู้ถูกควบคุมตัวซึ่งถือว่าพฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และละเมิดต่อพันธกรณีตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีในการปฏิบัติตามมาตั้งแต่ 1 พ.ย. 2550 

ทั้งนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุข้อเรียกร้อง 3 ข้อคือ 1.ขอให้ คสช.และทหารยุติการใช้อำนาจกฎอัยการศึก ในการนำบุคคลผู้กระทำความผิดมาลงโทษ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถใช้ขั้นตอนตามตามประมวลกฎหมายได้อยู่แล้ว  2.ขอให้กรมราชทัณฑ์จัดให้ผู้ต้องหาได้พบแพทย์ซึ่งเป็นกลางและเป็นอิสระตรวจร่างกายและจิตใจของผู้ต้องหาทั้ง4 ราย รวมถึงผู้ต้องหารายอื่นๆ ในคดีเดียวกันซึ่งอาจมีความเสี่ยงในการถูกซ้อมทรมานด้วย และ 3.ขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการสอบสวน และนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ

20151803022419.png

แถลงการณ์เรียกร้องให้มีการสอบสวนการทรมานผู้ต้องหาคดีระเบิดศาลอาญา
และยุติการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก
เผยแพร่วันที่ 17 มีนาคม 2558

ตามที่เกิดเหตุการณ์ระเบิดหน้าศาลอาญาเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2558 และมีการจับกุมผู้ต้องหาทั้งหมดในคดีดังกล่าว 9 รายนั้น วันนี้ (17 มีนาคม 2558) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ต้องหา 4 ราย ได้แก่ นายสรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน นายชาญวิทย์ จริยานุกูล นายนรพัฒน์ เหลือผลและนายวิชัย อยู่สุข ว่ามีการซ้อมทรมานผู้ต้องหาทั้งสี่รายโดยการชกต่อย การกระทืบบริเวณศีรษะ ทรวงอก หลัง และข่มขู่ว่าจะทำร้ายเพื่อให้ได้ซึ่งข้อมูลจากผู้ต้องหาดังกล่าว นอกจากนี้ผู้ต้องหาบางรายยังโดนช็อตด้วยไฟฟ้าและยังคงปรากฏร่องรอยดังกล่าวบริเวณผิวหนัง ระหว่างการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก ระหว่างวันที่ 9 มีนาคม 2558 ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนห่วงกังวลถึงการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกในการควบคุมตัวบุคคลโดยที่ผู้ถูกควบคุมตัวปราศจากสิทธิในการแจ้งญาติ สิทธิในการเข้าถึงทนายความเป็นระยะเวลาเจ็ดวัน และที่ผ่านมาการควบคุมตัวภายใต้กฎอัยการศึกภายหลังมีการรัฐประหารมักไม่เปิดเผยสถานที่ในการควบคุมตัว ทำให้ขาดความโปร่งใส ปราศจากการตรวจสอบโดยองค์กรใดๆ รวมถึงกรณีล่าสุดในการใช้อำนาจควบคุมตัวนางสาวณัฏฐธิดา มีวังปลาซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงในภายหลังว่ามีการควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหาร การควบคุมตัวบุคคลภายใต้ตามกฎอัยการศึก จึงมีความสุ่มเสี่ยงในการใช้อำนาจโดยอำเภอใจ การซ้อมทรมาน ปฏิบัติโหดร้ายทารุณ บังคับสูญหาย ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว รวมถึงการซ้อมทรมานผู้ถูกควบคุมตัวซึ่งถือว่าพฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และละเมิดต่อพันธกรณีตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีในการปฏิบัติตามมาตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2550 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังต่อไปนี้

1.    ขอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติและเจ้าหน้าที่ทหารยุติการใช้อำนาจกฎอัยการศึก ในการนำบุคคลผู้กระทำความผิดมาลงโทษ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถใช้ขั้นตอนตามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในการออกหมายจับ การสอบสวนและการดำเนินคดีได้อยู่แล้ว

2.    ขอให้กรมราชทัณฑ์ซึ่งเป็นสถานที่ในการควบคุมตัวผู้ต้องหาในปัจจุบันจัดให้ผู้ต้องหาได้พบแพทย์ซึ่งเป็นกลางและเป็นอิสระตรวจร่างกายและจิตใจของผู้ต้องหาทั้งสี่ราย รวมถึงผู้ต้องหารายอื่นๆในคดีเดียวกันซึ่งอาจมีความเสี่ยงในการถูกซ้อมทรมานในช่วงเวลาตามกฎอัยการศึก

3.    ขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการสอบสวน เก็บพยานหลักฐาน ร่องรอยในการทำร้ายร่างกายผู้ต้องหากลุ่มดังกล่าวและนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ

ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

 

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ