“ออนใต้” ตะลอนตามลิ้น – Gastronomy Tourism : การท่องเที่ยวเชิงอาหาร

“ออนใต้” ตะลอนตามลิ้น – Gastronomy Tourism : การท่องเที่ยวเชิงอาหาร

ชาวชุมชน ต.ออนใต้ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ หยิบเมนูเก่าในวัฒนธรรมท้องถิ่นล้านนามาปัดฝุ่น ต่อยอดคิดค้นให้เกิดเมนูใหม่ เพื่อความแข็งแรงของการเติบโตของผู้ผลิตภายในชุมชนที่เชื่อมโยงกับภาพใหญ่ของธุรกิจการท่องเที่ยวภายในประเทศ

ล้านนาคอตต้า (Lannacotta) หรือ พานาคอตตาลำไยซอสมัลเบอร์รี่ เป็นไอเดียเมนูที่ถูกรังสรรค์ขึ้นใหม่โดยออนใต้ฟาร์ม

สถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ทำให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อภาคการท่องเที่ยว ปรากฏการณ์การปิดตัวของธุรกิจท่องเที่ยวจำนวนมาก ทำให้ผู้ประกอบการต้องกลับมาทบทวนและตั้งคำถามว่า หากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ซ้ำรอยภาคการท่องเที่ยวจะปรับตัวอย่างไร 

จากเดิมที่ชุมชนออนใต้ได้พัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน ทำให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นที่นี่มีประสบการณ์ในการจัดการการท่องเที่ยวอยู่แล้วในเบื้องต้น ในชุมชนมีต้นทุน ทั้งธรรมชาติที่สวยงาม ประวัติศาสตร์ชุมชน ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่แสดงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ผู้ประกอบการร้านอาหารและที่พัก รวมไปจนถึงโฮมสเตย์ที่ดำเนินการโดยวิสาหกิจชุมชน   เมื่อชุมชนตั้งใจจะต่อยอดไปสู่การท่องเที่ยวเชิงอาหาร กลุ่มผู้ประกอบจึงได้พัฒนาศักยภาพและพึ่งพาตนเอง แสดงความเป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่นที่สามารถเผยแพร่การดำรงชีพของชุมชนล้านนาออกสู่สากล 

มากกว่าการท่องเที่ยวเพื่อมาลิ้มชิมรสชาติอาหารแล้ว การท่องเที่ยวเชิงอาหารหรือ Gastronomy Tourism ยังพาผู้มาเยือนไปเยี่ยมชมแปลงเกษตรหรือที่มาที่ไปของวัตถุดิบในจาน ฟังเรื่องเล่าและคุณค่าอาหารแต่ละจานซึ่งทำให้เกิดความโดดเด่น ไปจนถึงการผลิตสินค้าที่ระลึกเพื่อเพิ่มมูลค่า 

ผลิตภัณฑ์ของฝากฝีมือชาวชุมชนออนใต้ ยกตัวอย่างเช่น น้ำหม่อนเข้มข้นและแยมลูกหม่อน จากคนรุ่นใหม่กลับบ้าน – มัลเบอร์รี่ ฟาร์ม-หม่อนศิริ หรืองานฝีมือผ้าปัก ผ้าทอกี่มือ และผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ โดย Fahmai Handloom

กระบวนการการท่องเที่ยวเชิงอาหารเริ่มจากต้นน้ำ คือ กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิต ที่ใช้องค์ความรู้ ในการผลิตวัตถุดิบที่มีมาตรฐาน  ส่งต่อสู่กลางน้ำ คือ กลุ่มผู้ประกอบกิจการร้านอาหาร แปรรูปวัตถุดิบโดยใช้เทคนิคที่สร้างสรรค์ แสดงตัวตนของชุมชนสู่ผู้บริโภค โดยนำเทคนิคด้านวิทยาศาสตร์ ศิลปะ และนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ผสมผสานเข้ากับวัฒนธรรมการปรุงอาหารล้านนา สร้างความน่าจดจำ เชื่อมโยงการท่องเที่ยว โดยใช้อาหารเป็นตัวเล่าเรื่องราว และชวนให้ทุกคนกลับมาคิดถึงออนใต้ 

การคิดค้นเมนูใหม่ ๆ ทำให้เกิดมูลค่าเสริมการท่องเที่ยว และคงคุณค่าในวิถีเดิมของชุมชน

เมนู Signature ของครัวล้านนาจากวัตถุดิบที่คุ้นหน้าคุ้นตายังไปต่อได้อีกไกลหากมีการคิดค้นต่อยอดไอเดีย   ชวนมองกระบวนการการเรียนรู้ร่วมกันของเกษตรกรเจ้าของผลผลิตทางการเกษตร เจ้าของกิจการร้านอาหาร และทำงานร่วมกับนักวิชาการ ที่ร่วมกันสร้างตัวตนใหม่ที่ยังคงกลิ่นอายของวัฒนธรรมเดิมให้อาหารล้านนา ออนใต้ฟาร์ม เป็นตัวแทนชุมชนออนใต้ ผ่านการพัฒนาศักยภาพของผู้เข้าร่วมในโครงการ Gastronomy Tourism: LANNA Gastronomy “คิดถึงเชียงใหม่” พัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคนิคการทำอาหารให้แก่ผู้ประกอบการ โดยใช้นวัตกรรมวิทยาศาสตร์เข้ามามาผสมผสาน ภายใต้การทำงานร่วมกับศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

นักท่องเที่ยวแวะรับประทานอาหารที่ออนใต้ฟาร์ม ก่อนที่จะแวะเที่ยวชมสถานที่ต่าง ๆ ใน ต.ออนใต้ 

การสร้างโมเดลออนใต้นี้เป็นหนึ่งในความคาดหวังที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวในพื้นที่รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีความสนใจเรียนรู้ทางด้านวัฒนธรรม เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและสร้างรายได้ ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและธุรกิจร้านอาหารในจังหวัดเชียงใหม่มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการกระจายรายได้ให้ทุกภาคส่วนมาสู่การพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน และยังเป็นต้นแบบให้กับจังหวัดอื่น ๆ ในด้านการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

ชมวีดีโอ “ทริปกิ๋นบ้านเฮา ออนใต้ Gastronomy” ได้ใน Facebook Page: The North องศาเหนือ เผยแพร่เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2565

ขอบคุณแหล่งข้อมูล :

Gastronomy: การท่องเที่ยวเชิงอาหาร

Gastronomy Tourism : LANNA Gastronomy “คิดถึงเชียงใหม่”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ