“พระสงฆ์ไม่ควรยุ่งกับทางโลก” เป็นวาทกรรมที่สืบถอดยาวนานจนปัจจุบันแม้สังคมจะเปลี่ยนไปมากเพียงใดก็ตาม สะท้อนวิธีแบบวิทยาศาสตร์ที่มีเส้นแบ่ง ตัดตอน มองสังคมเป็นส่วนๆ แต่ความจริงทุกอย่างล้วนเกี่ยวข้องไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ดังพุทธพจน์ที่ว่าทุกอย่างล้วนมีเหตุปัจจัยของมัน ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นลอยๆ
ด้วยวาทกรรมดังกล่าวนั้นทำให้พระสงฆ์ถูกกีดกันออกจากสังคม มองสถาบันสงฆ์ทำหน้าที่เพียงผู้ให้บริการทางพิธีกรรมเท่านั้น “หากคนนอกวัดยังทุกข์ยาก จะมีใครเข้ามาปฏิบัติธรรม เมื่อปากท้องเขายังไม่อิ่ม ไหนจะต้องเผชิญกับการเอารัดเอาเปรียบจากระบบสังคมที่ใครมือยาวสาวได้สาวเอา” พระฐานี ฐิตวิริโย พระนักพัฒนาที่ครั้งหนึ่งเคยต่อต้านการสร้างเหมืองแร่ที่อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่
เช่นเดียวกับพระครูสุวรรณโพธิวรธรรม วัดโพธิ์ทอง อ.เมือง จังหวัดจันทบุรี ที่ไม่นิ่งเฉยเมื่อชาวบ้านถูกเอาเปรียบจากนายทุนกู้ยืมดอกเบี้ยจอมโหด จึงจัดตั้งกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว นอกจากนี้ยังสร้างภูมิธรรมกับชาวบ้านในเรื่องการออม ใช้จ่ายแต่พอเพียง มีระเบียบวินัยการใช้เงิน เกิดชุมชนแห่งสวัสดิการแบบครบวงจร “การตั้งกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ เหมือนกับการสร้างทำนบกั้นไม่ให้เงินไหลออกไปนอกชุมชน หากใครมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมชาวบ้านก็จะไม่รับรองให้เข้ากลุ่ม เช่น ติดเหล้า ติดการพนัน ซึ่งตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นให้คนได้พัฒนาตัวเองเพื่อจะได้เข้าร่วมกลุ่ม”
“เหล้าเป็นต้นเหตุของทุกๆ เรื่องตั้งแต่การทะเลาะวิวาท ติดเชื้อเอชไอวี อาตมาสังเกตว่าเวลามีงานบุญหรืองานศพ บ้านเราจะมีการเลี้ยงฉลองด้วยเหล้า พองานจบเจ้าภาพต้องเป็นหนี้ อาตมาว่ามันไม่ถูกต้อง” พระครูสมุห์ วิเชียร์ คุณธมฺโม วัดเจดีย์แม่ครัว อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เล่าถึงการเริ่มต้นงานพัฒนาจนกระทั่งปัจจุบันที่สามารถปรับเปลี่ยนค่านิยมงานศพงานประเพณีปลอดเหล้า และท่านยังให้หลักธรรมในการช่วยเหลือผู้ติดเชื้อให้สามารถอยู่ในชุมชนอย่างมีคุณค่า
“ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงจาริกไปเพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์สัตว์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทพยาดาและมนุษย์ทั้งหลาย” ในพุทธพจน์ก็ระบุถึงหน้าที่ของภิกษุที่พึ่งกระทำไว้ชัดเจน
บทบาทพระสงฆ์นักพัฒนา จึงเป็นกิจของสงฆ์ที่พึ่งกระทำอย่างยิ่ง ไม่มีเขตแบ่งระหว่างทางโลกและทางธรรม หากไม่เลยเกินกว่าพระธรรมวินัยแล้วถือว่าเป็นกิจของสงฆ์อย่างไร้ข้อกังขา อีกนัยหนึ่งเป็นรูปแบบการเผยแพร่ศาสนาที่สามรถเข้าถึง เข้าใจ และประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม เหมือนการเข้าไปติดอาวุธทางความคิดแก่ชาวบ้าน
ส่วนรูปแบบกิกจรรมแล้วปรับตามความเหมาะสมและบริบทของแต่ละพื้นที่ดังที่หล่าวมาข้างต้น
ในคราวประชุมเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาลดปัจจัยเสี่ยง เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2558 ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จึงคึกคักไปด้วยพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติการในชุมชนทั่วประเทศ นำเสนอผลงานที่ทำมานานกว่า 10 ปีขึ้นไป แม้ว่าพระสงฆ์นักพัฒนาจะทำงานและประสบความสำเร็จจนมีรูปธรรมพื้นที่ให้เรียนรู้มากมาย แต่ทั้งนี้ก็มีความท้าทายพระสงฆ์นักพัฒนานั้นก็คือ ขาดพระสงฆ์รุ่นใหม่ที่จะมาสืบทอดการทำงาน เพราะพระหนุ่ม เณรน้อยต่างมีเป้าหมายชีวิตเพื่อเรียนหนังสือ และห่างจากวัดและชุมชนมากขึ้น การสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้พระสงฆ์รุ่นใหม่กับรุ่นเก่าจึงเป็นวาระสำคัญในการเสวนาครั้งนี้ เพื่อหวังว่าพระสงฆ์รุ่นใหม่เหล่านี้จะมี”แรงบันดาลใจ” เจริญรอยตามครูบาอาจารย์ที่ถากถางไว้ก่อนหน้านั้น
หากไม่เข้าถ้ำเสือ คงไม่ได้ลูกเสือ คงเป็นคำพูดที่ใช้ได้เสมอกับการทำงานเพื่อได้มาซึ่งศาสนาทายาทระบบการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยก็เป็นรูปแบบหนึ่งที่หลุดลอยจากชุมชน พระหนุ่มเณรน้อยเดินขวักไขว่ในมหาวิทยาลัย แต่วัดตามบ้านนอกเหลือเพียงหลวงตาแก่ๆกับศาลาว่างเปล่า ทั้งที่ชุมชนและสังคมก็ยังมีความต้องการพระสงฆ์ซึ่งเป็นผู้นำทางด้านจิตวิญญาณมาเป็นที่พึ่ง
ขณะเดียวหลักสูตรพระสงฆ์นักพัฒนาก็ไม่ได้บรรจุในมหาวิทยาลัย ความรู้เหล่านี้เกิดจากการปฏิบัติลองผิดลองถูก เกิดเป็นองค์ความรู้ภายในตัวบุคคล หากไม่มีการจัดการความรู้แล้วในไม่ช้าองค์ความรู้เหล่านี้ก็หมดไปพร้อมกับพระนักพัฒนาที่นับวันอายุมากขึ้น หากสามารถนำระบบการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยและการเรียนรู้ในชุมชนขนานกันได้ ย่อมเป็นอานิสงค์อันยิ่งใหญ่ต่อการพัฒนาพระสงฆ์รุ่นใหม่ และผลอันนี้ย่อมตกแก่ชาวบ้านที่กำลังประสบความทุกข์ในรูปแบบต่างๆ
โครงการเสริมพลังเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาเพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยง ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงพัฒนากลไกตรงกลางให้เกิดโมเดลการเรียนรู้สำหรับพระสงฆ์รุ่นใหม่กับพระสงฆ์นักพัฒนา ดังนั้นการประชุมครั้งนี้เราจึงเห็นพระสงฆ์นักพัฒนาที่มีลูกศิษย์เดินตามหลัง โดยที่ท่านไม่ได้โดดเดี่ยวเหมือนเมื่อก่อน กระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้เริ่มชีวิตชีวาอีกครั้ง และสังคมเริ่มมองเห็นแสงที่ปลายอุโมงค์ ที่พระสงฆ์รุ่นใหม่ผนวกความรู้ทางโลกและทางธรรมแก้ไขปัญหาสังคมอันซับซ้อนนี้อย่างเท่าทันและถูกทิศถูกทาง