เวลา1 ชั่วโมง 9 นาที คือ ความยาวหนังสารคดี ภาพยนตร์คนยาก ฝีมือการบันทึกเรื่องราวชีวิตจากผู้สร้างสรรค์ผลงานในนาม “กลุ่มเพื่อนคนไร้บ้าน” 5 คน ที่ร่วมกำกับ ร่วมถ่ายทอดเรื่องราวของเมืองผ่านสายตาของพวกเขา และกำลังจะกางจอฉายสู่สายตาผู้ชมในช่วงเย็นวันเสาร์ 21 พฤษภาคม 2565 ที่ Columbo Craft Village ณ อ.เมือง จ.ขอนแก่น
ภาพยนตร์คนยาก กำลังจะทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตคนไร้บ้าน ซึ่งเป็น “คนยาก” ในอีกแง่มุม ความยากไร้ ความยากลำบากในการดำเนินชีวิตซึ่งจะสะท้อนผ่านสภาพสังคม ความเป็นอยู่ ที่อาจจะอยู่นอกสายตา หรือมีความซับซ้อนเกินกว่าจะมองเห็นของคนทั่วไปจากกลุ่มคนจนเปราะบางและแรงงานนอกระบบใจกลางเมืองขอนแก่น ซึ่งเป็นเมืองที่ค่อนข้างสะดวกสบายพร้อมทุกอย่าง ทั้งที่พัก ร้านอาหาร คาเฟ่ ซึ่งเกินกว่าที่ “กลุ่มคนไร้บ้าน” จะจินตนาการได้ เพราะในความจริงแล้ว ชีวิตประจำวันของเขาและเธออาจไม่มีห้วงเวลาที่ต้องข้องแวะพื้นที่ศิวิไลซ์เหล่านี้ มีเพียงวิถีที่ต้องหาเช้ากินค่ำ หาค่ำกินดึก หรือ หาดึกกินเช้าอีกวัน
เสียงคนตัวเล็กตัวน้อยในซอกมุมเมือง
องอาจ หาญชนะวงษ์ ผู้ผลิตสารคดีอิสระ เป็นอีกหนึ่งแรงสำคัญที่หนุนการสร้างสรรค์ภาพยนต์ร่วมกับเครือข่ายคนไร้บ้าน ซึ่งบางคนได้มีโอกาสสัมผัสและกดบันทึกภาพเบื้องหน้าสายตาของเขาผ่านกล้องวิดีโอครั้งแรกในหนังสารคดีเรื่องนี้ ด้วย “กล้องวิดีโอ” ซึ่งได้รับบริจาคมาอีกทอดหนึ่ง โดยกลุ่มเพื่อนคนไร้บ้านผู้สร้างสรรค์ผลงานได้ลองสัมผัสได้ฝึกเล่าเรื่องผ่านมุมมองของพวกเขาเอง
“เราต้องการสร้างความเข้าใจ นำเสนอมุมมองให้เป็นพื้นที่ของคนที่เขา น้อยครั้งที่จะได้พูดออกสื่อด้วยตัวเอง ส่วนใหญ่จะมีสื่อไปนำเสนอ ครั้งนี้เราต้องการให้เขาเป็นผู้ร่วมผลิต ร่วมสร้าง เราต้องการทดลองผลิตภาพยนตร์ โดยบุคคลที่ไม่ได้จบการศึกษามาทางนี้โดยตรง หรือเป็นบุคคลที่ห่างไกลโอกาสที่จะเข้าถึงเครื่องมือประเภทนี้ เป็นไปได้แค่ไหน ให้เขาได้มาผลิต ตั้งใจให้เขาทำ มีพื้นที่ถ่ายทอด ทีนี้เป้าหมายเพื่อให้เขามีส่วนร่วมกับเมือง มันมีมุมมองแบบนี้อยู่ มันก็เป็นสะท้อนอะไรบางอย่าง เราไม่ได้ทำให้เกิดความรู้สึกลบ เราอยากทำให้รื่นรมย์ บันเทิงในแง่ของการลำดับให้ได้เห็นได้ร่วมดูไปด้วยกัน”
“ผมดีใจเหมือนกันกล้องที่ผมได้มาได้ลองถ่ายมุมสวย ๆ ลองหาบรรยากาศดี ๆ และได้เอาชีวิตจริงมาถ่าย”
ชัย กลุ่มเพื่อนคนไร้บ้าน หนึ่งในทีมผู้กำกับ เล่าถึงความในใจถึงช่วงถ่ายทำหนังสารคดีภาพยนตร์คนยาก “ผมรู้สึกได้ลองประสบการณ์ใหม่ ๆ ได้ลองถ่ายภาพมุมดี ๆ ส่วนตัวชอบถ่ายรูปอยู่แล้ว รู้สึกสนุก เราได้เรียนรู้เยอะ มุมที่ชอบคงเป็นวงกินข้าว มุมศาลหลักเมือง ตรงประตูเมือง หน้าเซ็นทรัล เป็นพื้นที่ที่ได้พบเจอผู้คนหลากหลายเป็นพื้นที่ทำมากินของคนพื้นที่ที่ไปถ่ายก็เป็นที่เราเคยเป็นนอนมาก่อน มันเป็นเหมือนความทรงจำ”
ชัย กลุ่มเพื่อนคนไร้บ้าน ยังเล่าต่อถึงพื้นที่ความทรงจำที่ถ่ายทอดลงบนภาพเคลื่อนไหวอีกว่า “สิ่งที่เราถ่ายเห็นมุมมองคนที่มาจากต่างจังหวัด ที่ไม่รู้จักกันมาเจอกัน เมื่อก่อนเพื่อนฝูงก็เคยมีแต่เขาก็แยกย้ายกันไปทำงาน ตรงนี้เป็นจุดพบปะ คนตกงาน คนถูกหลอก เราได้เจอคนหลายหน้ามีปัญหาไม่เหมือนกัน”
4 เดือนกับช่วงเวลาแห่งการสร้างสรรค์ผลงาน
เวลา1 ชั่วโมง 9 นาที มีมากกว่าผลงานภาพยนตร์คนยากที่พร้อมกางจอฉาย แต่เบื้องหลังในกระบวนการทำงานยังเป็นการเปิดพื้นที่ส่งเสียง แสดงศักยภาพ และเสริมพลังใจให้คนตัวเล็กตัวน้อยในสังคม ได้มีจุดยืนเป็นเหมือนแสงสว่างเล็ก ๆ ที่ถูกจุดทอประกายให้สังคมได้มองเห็น ท่ามกลาง “เมือง” ที่อาจมองในมุมต่างออกไป เพราะถูกมองจากสายตากลุ่มเพื่อนคนไร้บ้านที่ผ่านกระบวนการและเวลาถ่ายทำนานกว่า 4 เดือน
“ก็ตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้นเลย ออกแบบประเด็น ค้นหาทีมงาน ที่เป็นคนไร้บ้าน แล้วก็การอบรมทักษะการถ่ายเบื้องต้น หรือวิธีการเข้าไปถ่ายของพี่น้องเขาว่าควรจะมีลักษณะอย่างไร” ณัฐวุฒิ กรมภักดี เครือข่ายเพื่อนคนไร้บ้าน และผู้ประสานงานกิจกรรม เล่าถึงกระบวนการทำงานของกลุ่มเพื่อนคนไร้บ้าน “จนถึงกระบวนการแม้แต่ตัดต่อเสร็จแล้ว ก็มาเป็นกองเซ็นเซอร์ มาคุยกันว่ามันโอเคไหม พวกเราก็ร่วมแทบทุกกระบวนการ หรือแม้แต่การร่วมหาอุปกรณ์มาถ่ายทำ ทีมคนไร้บ้านเหมือนร่วมสร้างด้วยทุกขั้นตอน เป็นทั้งผู้กำกับ เป็นโปรดิวเซอร์ เป็นกองเซ็นเซอร์ด้วย”
ณัฐวุฒิ กรมภักดี เล่าต่ออีกว่าหนังสารคดียังทำหน้าที่เสริมพลังให้กับกลุ่มเพื่อนคนไร้บ้านได้เห็นคุณค่าในตัวตน “การใช้เครื่องมือให้เขาเป็นคนช่วยทำสื่อสาร มันก็ไปเสริมพลังให้เขารู้สึกว่าเขามีคุณค่า มีศักยภาพในสังคม คิดว่าสิ่งนี้ที่เห็นชัดเลยในช่วงระหว่างถ่ายทำ อย่างน้องโบ๊ต ไอคิว พี่เชาว์ หลาย ๆ คนที่มาเป็นทีมถ่ายทำเขารู้สึกว่าเขาได้อะไรใหม่ ๆ ได้รู้สึกว่าตัวเองมีอะไรทำ อย่างพี่กิ๊กที่อยู่ศาลหลักเมืองเขารู้ว่าเขาได้ของเล่นใหม่ พี่มองว่ามันเป็นการไปเยียวยาเขาด้วย”
“ภาพยนตร์คนยาก” ผลงานการกำกับเพียงไม่กี่ชิ้นที่ “กลุ่มเพื่อนคนไร้บ้าน” ได้ร่วมสร้างสรรค์ในทุกขั้นตอน ทั้งร่วมออกแบบ ร่วมบอกเล่าสื่อสารถึงวิถีความเป็นอยู่ ความสุข ความทุกข์ เรื่องราวความทรงจำและภาพฝันที่จะเกิดขึ้นผ่านสายตาของกลุ่มเพื่อนคนไร้บ้านซึ่งมีอยู่จริงในมหานครขอนแก่น เมืองใหญ่ในพื้นที่ภูมิภาค และถูกลำดับให้เป็นเรื่องเล่าในเวลา 1 ชั่วโมง 9 นาที ยังหวังที่จะถูกมองเห็น ถูกได้ยิน และถูกรับรู้ผ่านงานสร้างสรรค์ของทุกคน