รวมแนวคิด เนื้อหา เกี่ยวกับการปฏิรูปในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง

รวมแนวคิด เนื้อหา เกี่ยวกับการปฏิรูปในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง

ขณะนี้ ได้มีการนำเสนอถึง”การปฏิรูป”อย่างหลากหลาย โดยมีทั้งแนวคิดของกลุ่มองค์กร  กลุ่มการเมือง รัฐบาล และบุคคลในระดับชาติที่ออกมามีข้อเสนอกับสังคมหลายรูปแบบ   ทั้งในเชิง กระบวนการเพื่อให้เกิดการปฏิรูป  และเนื้อหา   ซึ่งจะขอรวบรวมกรอบ แนวคิด ข้อเสนอ เนื้อหา เกี่ยวกับการปฏิรูปในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบันมาไว้ ณ ที่นี้    

1.ข้อเสนอจาก  นพ.ประเวศ วะสี  (เสนอเมื่อ 18 ธันวาคม 2556 โดยย้ำว่าเป็นการเสนอให้คิด  อย่ายึดตายตัว  แต่ละกลุ่มอาจคิดต่อเพื่อสังเคราะห์)

                                                        

1. ปฏิรูประบบการปกครอง   สำคัญที่สุด เพราะระบบการปกครองโดยรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางมากเกินและนานเกิน เป็นต้นตอของปัญหาเกือบทุกชนิดในประเทศไทย ทั้งปัญหาความขัดแย้งความรุนแรงทุจริตคอร์รัปชันรัฐล้มเหลว การเมืองรุนแรงและไม่มีคุณภาพ ตลอดจนทำให้ทำรัฐประหารได้ง่าย จึงจำเป็นต้องปฏิรูประบบการปกครอง โดยคืนอำนาจให้ประชาชนปกครองตนเอง ในรูปของชุมชนจัดการตนเอง ท้องถิ่นจัดการตนเอง จังหวัดจัดการตนเอง ที่ประชาชนในจังหวัดต่างๆกำลังเคลื่อนไหวอยู่ในขณะนี้

2. ปฏิรูประบบการเมืองและระบบราชการ ระบบรัฐไทย อันประกอบด้วยระบบการเมืองและระบบราชการมีปัญหามาก และถ่วงความเจริญของประเทศเพราะเป็นระบบอำนาจที่มีสติปัญญาน้อย แต่มีความฉ้อฉลคอร์รัปชั่นมาก มีการทุ่มเทขนาดใหญ่เข้ามาใช้ทางการเมือง ทำให้เงินมีอำนาจมาก ความถูกต้องเป็นธรรมน้อยลง และการมีระบบการเมืองครอบงำระบบราชการหมดทั้งเนื้อทั้งตัว ทำให้เกิดการเล่นพรรคเล่นพวก และความเสื่อมทรามในระบบราชการ ไม่เป็นหลักของประเทศได้ และยิ่งทำให้คอร์รัปชันระบาดและรุนแรงมากขึ้น จึงควรมีการปฏิรูปการเมือง ลดอำนาจเงิน

3.ปฏิรูปการขจัดคอร์รัปชัน คอร์รัปชันที่มากมายมหาศาลบ่อนทำลายเศรษฐกิจ สังคม ชื่อเสียงของประเทศ รวมทั้งบ่อนทำลายรัฐบาลด้วย ขณะนี้สังคมไทยมีอารมณ์ร่วมในการต่อต้านคอร์รัปชันมาก ควรใช้เป็นเรื่องที่จะสร้างพลังพลเมืองและประเด็นนำเข้าไปสู่การทำความเข้าใจโครงสร้างอำนาจที่ไม่ถูกต้อง ความริเริ่มของภาคธุรกิจในการก่อตั้งองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันที่มีคุณประมนต์ สุธีวงศ์ เป็นประธานได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ควรมีเครือข่ายคนไทยต่อต้านคอร์รัปชั่น อย่างกว้างขวางทั่วประเทศ

4. ปฏิรูปการจัดสรรทรัพยากรให้เป็นธรรม คนเราที่เกิดมาทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิต การมีชีวิตต้องอาศัยธรรมชาติแวดล้อม เช่น มีอากาศหายใจ ในครั้งโบราณคนทุกคนมีสิทธิในที่ดิน แหล่งน้ำ ป่าไม้ เพื่อยังชีวิต ต่อมารัฐได้ยึดเอาทรัพยากรเหล่านี้ไปเป็นของรัฐและสุดแต่รัฐจะจัดใครใช้ไม่ให้ใครใช้ ปรากฏว่ารัฐไม่สามารถจัดการการใช้ทรัพยากรอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน การขาดความเป็นธรรมเรื่องการจัดสรรทรัพยากรเป็นเรื่องใหญ่ จำเป็นต้องมีการปฏิรูป ประเทศไทยมีที่ดินมากพอที่จะจัดสรรให้ทุกครอบครัวมีที่ดิน 2-3 ไร่ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยมีโครงการ “1 ไร่ 1 แสน บาท” ที่ดิน 1 ไร่ ก็สามารถทำได้พอกินทั้งครอบครัว การจัดสรรที่ทำกินจะทำให้หายจนอย่างถาวรทั้งประเทศ ต่างจากโครงการประชานิยมที่แก้จนไม่ได้จริง

5. การปฏิรูประบบความยุติธรรม ความยุติธรรมเป็นธรรมให้สังคมอยู่ร่วมกันด้วยความผาสุก ในระบบความยุติธรรมของรัฐ ซึ่งประกอบด้วย ตำรวจจับ อัยการส่งฟ้อง ศาลตัดสิน คนจนไม่มีทางเข้าถึงความยุติธรรม มีกรณีชาวไร่ชาวนาถูกฟ้องดำเนินคดีและถูกจำคุกก็มีด้วยข้อหาบุกรุกที่ดินของตัวเอง การไม่ได้รับความยุติธรรมสะสมความแค้นไว้ในสังคม อัยการก็ดี ตำรวจก็ดี ถูกครอบงำด้วยอำนาจทางการเมืองได้ง่าย บางครั้งก็มีปรากฏการณ์เหมือนรัฐตำรวจ ถ้าอำนาจทางการเมืองเข้ามาครอบงำระบบความยุติธรรม ก็จะบิดเบือนไป เพิ่มความขัดแย้งและความรุนแรงให้สังคม ควรมีการปฏิรูประบบความยุติธรรม ซึ่งรวมถึงระบบอัยการและระบบตำรวจด้วย

6. ปฏิรูประบบเศรษฐกิจ ระบบเศรษฐกิจโลกมีปัญหาก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน สภาวะโลกร้อนหายนะภัยเพิ่มขึ้นๆ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมแบบสุดๆ กำลังก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงที่ทางการเมืองก็แก้ไขไม่ได้ ทั้งนี้ เพราะการคิดแบบแยกส่วนและทำแบบแยกส่วน อะไรที่แยกส่วนจะนำไปสู่วิกฤติเสมอ จึงควรปฏิรูประบบเศรษฐกิจให้เป็นเศรษฐกิจแบบบูรณาการ ที่เชื่อมโยงอยู่กับการพัฒนาสังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ การศึกษา และประชาธิปไตย รูปธรรมคือ เชื่อมโยงเศรษฐกิจชุมชนกับเศรษฐกิจมหภาคให้เชื่อมโยงอย่างเกื้อกูลกัน

7. ปฏิรูประบบปัญญาของชาติ (การศึกษา-การวิจัย-การสื่อสาร) ประเทศไทยอ่อนแอทางปัญญา เพราะอยู่ในภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์และมีภัยพิบัติทางธรรมชาติน้อย จึงขาดความกระตือรือร้นและการตื่นตัวในการเรียนรู้ ถ้าเทียบกับคนจีนหรือญี่ปุ่น ประกอบกับเป็นสังคมอำนาจที่ชอบใช้อำนาจมากกว่าความรู้ และนำระบบราชการเข้ามาใช้กับระบบการศึกษา ซึ่งไม่ไปด้วยกัน เพราะการศึกษาเป็นเรื่องของความงอกงาม แต่ระบบราชการเป็นระบบการควบคุม ความอ่อนแอทางปัญญากำลังมีผลกระทบต่อทุกเรื่อง จึงควรมีการปฏิรูประบบปัญญาของชาติ ทั้งเรื่องการเรียนรู้-การวิจัย-การสื่อสาร โดยการทำงานเชิงยุทธศาสตร์ ทำไม่ได้โดยผ่านระบบราชการตามปกติ

8. ปฏิรูปสังคม-สร้างพลังพลเมือง สังคมไทยมีโครงสร้างแนวดิ่ง (Vertical Society) มาแต่โบราณ คือ เป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีอำนาจข้างบนกับผู้ไม่มีอำนาจข้างล่าง สังคมทางดิ่งจะมีพลังทางสังคมหรือพลังพลเมืองน้อย และมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนฉ้อฉล ทำให้เศรษฐกิจไม่ดี การเมืองไม่ดี และศีลธรรมไม่ดี และจะไม่มีวันดีตราบใดที่พลังพลเมืองยังอ่อนแออยู่ ไม่ว่าจะเขียนกฏกติกาหรือพร่ำสอนเท่าใด ๆ ดังที่เรามีรัฐธรรมนูญ 18 ฉบับ และพระก็สอนศีลธรรมทุกวัน ศีลธรรมก็ไม่เกิด พลังทางสังคมเป็นเครื่องหยุดยั้งความไม่ดี

 

2.ข้อเสนอของ กปปส. โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ  เน้นการปฏิรูป 5 ด้านภายในระยะเวลาประมาณ 12-18 เดือน ก่อนเลือกตั้ง  (เสนอในการปราศรัยมื่อ 16 ธ.ค. 2556)

                              

 เนื้อหาบอกว่าการที่จะปฏิรูปประเทศต้องใช้เวลา 20-30 ปี เพราะปัญหามีมากมายและต้องใช้เวลา แต่มีสิ่งที่สามารถทำได้ในเวลาสั้นๆ ไม่เกิน 1 ปี ถึง 1 ปีครึ่ง คือ

       1.กระบวนการเลือกตั้งต้องเป็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม ครอบคลุมทุกเรื่อง ทั้งกฎหมายเลือกตั้ง กฎหมายพรรคการเมือง กฎหมายเกี่ยวกับ กกต.เช่น หากซื้อสิทธิเลือกตั้งไม่ใช่แค่ตัดสิทธิเลือกตั้ง แต่ให้ติดคุก รวมทั้งต้องเล่นงานนายทุนที่ให้เงินด้วย

       2.การปราบปรามทุจริตคอร์รัปชัน โดยหยุดนักการเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชันก่อน ต้องแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งกระบวนการ เช่น ถ้ามีการทุจริตคอร์รัปชัน ประชาชนสามารถเป็นโจทก์ยื่นฟ้องได้เลย เพราะถ้ารอให้เจ้าหน้าที่สอบ เผลอๆ อาจจะไม่สอบ กฎหมายต้องเขียนให้ประชาชนไปฟ้องได้เลย หรือนักการเมืองที่โดนคดีคอร์รัปชันต้องไม่มีอายุความ

       3.ประชาธิปไตยต่อไปนี้ ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่อำนาจต้องอยู่ในมือนักการเมืองตลอดไป แต่ต้องยอมรับอำนาจของประชาชนมากขึ้น ให้ประชาชนมีอำนาจในการตรวจสอบควบคุมข้าราชการ และนักการเมืองมากขึ้น กฎหมายที่เขียนไว้ให้เข้าชื่อถอดถอน 2 หมื่นรายชื่อ พวกเราเคยยื่นไปแสนกว่ารายชื่อ แต่ประธานวุฒิสภายังไม่เริ่มเลย ฉะนั้นต้องแก้ว่าเมื่อกระบวนการถอดถอนโดยประชาชนเริ่มขึ้นต้องดำเนินการภายใน 6 เดือน ที่สำคัญที่สุด คือต้องคืนอำนาจให้ประชาชนเสียที ต้องเลือกตั้งผู้ว่าฯเองทุกจังหวัด แล้วงบประมาณแผ่นดินไม่ต้องรวมไว้ที่ส่วนกลาง เรื่องนี้ 7-8 เดือน ทำได้เสร็จ กรรมการของ กปปส.ร่างกฎหมายนี้ไว้แล้วด้วย

       4.แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำสังคม ดูแลคนจนเป็นวาระแห่งชาติ ทำให้คนจนมีที่ยืนในแผ่นดิน มีโอกาสเหมือนคนอื่น มีอาชีพ มีบ้านอยู่ มีโอกาสรักษาพยาบาล ได้รับการศึกษา ปีเดียวก็ทำได้ แต่ต้องยกเลิกประชานิยมหลอกคนจน

       5.ปรับโครงสร้างตำรวจ เพราะตำรวจมีหน้าที่ต้องรักษากฎหมายต้องดูแลความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินของประชาชน ฉะนั้นตำรวจต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการตำรวจที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีการใส่ร้ายว่า กปปส.จะเอาตำรวจไปอยู่ภายใต้ อบต.เป็นเรื่องที่หวังให้ตำรวจเกลียดเรา ตนบอกได้เลยว่าเมื่อปฏิรูปโครงสร้างตำรวจแล้ว ตำรวจชั้นผู้น้อยไม่ต้องเลียแข้งเลียขา ไม่ต้องหาเงินส่งส่วยให้ผู้บังคับบัญชาอีกต่อไป เพราะตำรวจผู้ใหญ่ทุกวันนี้หากินกับลูกน้องทั้งนั้น

     “เราต้องการเวลาทำ 5 เรื่องนี้ ไม่เกินปีครึ่ง เมื่อแก้กฎหมายต่างๆ ปรับรัฐธรรมนูญบางมาตราให้สอดคล้องกับการปฏิรูป ก็จะกลับไปเลือกตั้งW

 

3.ข้อเสนอเดิมของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย ( หมอประเวศ – คุณอานันท์)

                                            

ข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศมี แนวทางกว้าง ๆ คือ การปฏิรูประบบคิดด้านการบริหารจัดการเศรษฐกิจในประเทศไทย โดยมีเป้าหมาย 4 ประการคือ

1.จัดสรรทรัพยากรได้อย่างเต็มที่

2.ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

3.บริหารเศรษฐกิจเจริญเติบโตต่อเนื่อง เกิดเสถียรภาพ

4.การกระจายการปันผลเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรม ซึ่งใน 4 ด้านนี้มีความสำคัญมาก อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยมีภาวการณ์ที่มีจุดอ่อนนั่น คือ การจัดสรรทรัพยากรเศรษฐกิจ เบื้องต้นต้องดำเนินการจัดสรรการใช้ทรัพยากรอย่างเต็มที่ แรงงานมีงานทำ ที่ดินมีการใช้เต็มที่ นักธุรกิจสามารถประกอบธุรกิจได้

โดยมีข้อเสนอใหญ่ๆ ออกมา 2 เรื่อง คือ ปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร และปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ

 

4.             ข้อเสนอของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

                                              

สภาปฏิรูปประเทศจะเป็นสภาของตัวแทนประชาชนอย่างแท้จริง โดยการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปประเทศ และจะเริ่มจากการสรรหาตัวแทนประชาชนจากสาขาอาชีพต่างๆ จำนวน 2,000 คน แล้วจึงให้ตัวแทนอาชีพจำนวน 2,000 คนดังกล่าว เลือกผู้ที่จะเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปประเทศจำนวน 499 คน

คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการสมัคร การสรรหา การคัดเลือก และการแต่งตั้งตัวแทนวิชาชีพ ตลอดจนการเลือกสมาชิกสภาปฏิรูปประเทศในขั้นตอนต่างๆนั้น จะถูกกำหนดโดยคณะกรรมการที่มีองค์ประกอบดังนี้

1. ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หรือผู้แทนซึ่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดแต่งตั้งจากผู้ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ หรือผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นกรรมการ

2. หัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่าซึ่งที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงเลือกจำนวน ๒ คน เพื่อเป็นกรรมการ

3.เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นกรรมการ

4.อธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐซึ่งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยเลือกจำนวน 1 คน เป็นกรรมการ

5. ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หรือผู้แทน เป็นกรรมการ

6. ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือผู้แทน เป็นกรรมการ

7. ประธานสมาคมธนาคารไทย หรือผู้แทน เป็นกรรมการ

8. ประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 2 คน ซึ่งคณะกรรมการที่กล่าวถึงเบื้องต้นเป็นผู้เสนอชื่อ

คณะกรรมการชุดนี้จะมีกรรมการรวมทั้งสิ้น 11 คน

หน้าที่ของสภาปฏิรูปประเทศ

1. ศึกษาและจัดทำข้อเสนอการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญซึ่งอาจรวมถึงการจัดเตรียมร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

2. ศึกษาและจัดทำข้อเสนอการปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ศึกษาและจัดทำข้อเสนอการให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารภาครัฐ

3. ศึกษาและจัดทำข้อเสนอการจัดให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือการยกเลิกกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งต่าง ๆ เพื่อให้การเลือกตั้งในทุกระดับ การสรรหา และแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งต่าง ๆ การใช้อำนาจรัฐและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเป็นไปอย่างสุจริตและเที่ยงธรรม

4. ศึกษาและจัดทำข้อเสนอการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายข้าราชการประจำเพื่อให้การดำเนินการในเรื่องนี้มีประสิทธิภาพ

5. ศึกษาและจัดทำข้อเสนอการปรับปรุงการกระจายอำนาจ การสร้างความรู้ความเข้าใจกฎหมาย การเตรียมความพร้อมและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนและท้องถิ่น โครงสร้างการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินในทุกระดับ การปรับปรุงระบบและวิธีการงบประมาณ และการบริหารงานบุคคลภาครัฐ

ทั้งนี้ เมื่อสภาปฏิรูปประเทศได้ดำเนินการในข้อใดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้ทำรายงานเสนอนายกรัฐมนตรี และให้สภาปฏิรูปประเทศเปิดเผยรายงานดังกล่าวต่อสาธารณชน เพื่อที่จะได้ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการตามเจตนารมณ์ต่อไป โดยกรอบของเวลาการดำเนินการขึ้นอยู่กับสภาปฏิรูปประเทศเป็นผู้กำหนดให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด

 

5.ข้อเสนอขององค์กรเอกชน 7 องค์กร   เริ่มปฏิรูปทันทีพร้อมกับเลือกตั้ง เสร็จแล้วยุบสภา

                                     

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานหอการค้าไทย แถลงข่าวในนาม องค์กรภาคเอกชน  7 องค์กร เรื่องการปฏิรูปประเทศ ไทย โดยกล่าวว่า จากการเชิญองค์กรและบุคคลหลายฝ่ายมาร่วมสะท้อนความเห็นจนได้ข้อสรุปว่ามี ความจำเป็นเดินหน้าสู่การปฏิรูปทันที โดยมีกระบวนการปฏิรูปดังนี้

1.จัดตั้งองค์กรที่ทำหน้าที่ในทันทีก่อนการเลือกตั้ง โดยความเห็นชอบของพรรคการเมืองและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย และมีการรองรับตามกฎหมายเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นแก่ทุกฝ่าย เช่น การออกเป็นพ.ร.ก.

 2.องค์กรนี้เป็นองค์กรที่ปลอดจากอิทธิพลทางการเมือง

3.วาระการทำงานขององค์กรเป็นวาระแห่งชาติเพื่อทำการปฏิรูปโดยเฉพาะ

กรอบประเด็นสำคัญของการปฏิรูปนั้นกำหนดกติกาการเข้าสู่อำนาจรัฐที่ทุก ฝ่ายยอมรับได้ร่วมกัน เช่น ระบบเลือกตั้งที่ปราศจากการซื้อเสียงและอิทธิพลใดๆ และความโปร่งใสของกระบวนการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่างๆ มีการตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐของผู้แทนประชาชน องค์กรอิสระและสถาบันการเมืองต่างๆ เช่น เรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ การขจัดการทุจริตและประพฤติ มิชอบในวงราชการ ภาคเอกชน ตลอดจนในภาคส่วนต่างๆ ของสังคม โครงสร้างที่จะมีผล กระทบต่อประชาชน ระบบเศรษฐกิจ และวินัยการคลัง ควรต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยถือผลประโยชน์ประเทศชาติเป็นหลัก กระบวน การยุติธรรมที่สร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนว่าจะได้รับความเป็นธรรมอย่าง เสมอภาคเท่าเทียมกัน

6.             ข้อเสนอของ TDRI

                           

                  นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เขียนบทความ เรื่อง ‘ข้อเสนอต่อกระบวนการปฏิรูปประเทศไทย’ เผยแพร่ เมื่อ 24 ธ.ค. 56 

ประการที่หนึ่ง กระบวนการปฏิรูปต้องเริ่มต้นก่อนการเลือกตั้ง เพราะเมื่อได้อำนาจแล้ว รัฐบาลย่อมไม่ต้องการให้เกิดการปฏิรูป ในประเด็นนี้ ผมจึงเห็นด้วยกับข้อเสนอของ 7 องค์กรภาคเอกชน ที่ให้รัฐบาลจัดตั้งองค์กรปฏิรูปขึ้นโดยทันทีก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งอาจออกเป็นพระราชกำหนดมารองรับฐานะทางกฎหมายขององค์กรดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่าจะสามารถเริ่มกระบวนการปฏิรูปได้จริงหลังเลือกตั้ง

               ประการที่สอง องค์กรปฏิรูปควรเป็น ‘คณะกรรมการปฏิรูป’ ที่มีองค์คณะไม่ใหญ่เกินไปจนกลายเป็น ‘สภาปฏิรูป’ เช่น ควรมีกรรมการไม่เกิน 30 คน โดยประกอบด้วย ผู้ที่ฝ่ายรัฐบาลเสนอชื่อหนึ่งในสาม และผู้ที่คู่ขัดแย้งคือพรรคประชาธิปัตย์ และ กปปส. เสนอชื่ออีกหนึ่งในสาม ส่วนที่เหลืออีกหนึ่งในสาม คือ ผู้ทรงคุณวุฒิ และตัวแทนของคนอาชีพต่างๆ เช่น นักวิชาการ นักธุรกิจ ภาคประชาสังคม เกษตรกร หรือแรงงาน ซึ่งเป็น ‘คนกลาง’ ที่ทั้งฝ่ายรัฐบาลและคู่ขัดแย้งต่างยอมรับได้ ทั้งนี้เพื่อให้คู่ขัดแย้งมีส่วนร่วม แต่ไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งครอบงำการปฏิรูป นอกจากนี้ คณะกรรมการปฏิรูปควรสร้างกลไกเปิดรับความเห็นจากสาธารณะอย่างกว้างขวางด้วย 

           ประการที่สาม มติของคณะกรรมการปฏิรูปในการเสนอมาตรการให้รัฐบาลดำเนินการ ต้องได้รับเสียงสนับสนุนมากกว่าเสียงข้างมากเล็กน้อย เช่น สามในห้า (18 จาก 30 เสียง) เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ข้อเสนอนั้นได้รับการยอมรับจากทั้งสองฝ่ายหรือคนกลางด้วย ไม่ได้เกิดจากการใช้พวกมากลากไป ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ใช่สัดส่วนเสียงข้างมากที่สูงเกินไป จนทำให้การปฏิรูปไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากถูกคัดค้านได้ง่ายเกินไปเช่นกัน

        ประการที่สี่ คณะกรรมการปฏิรูปควรมีภารกิจในการจัดทำข้อเสนอการปฏิรูปในขอบเขตที่ไม่กว้างขวางเกินไป เช่น ไม่ควรมีมากกว่า 4-5 เรื่องใหญ่ๆ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนและเป็นสาเหตุของความขัดแย้งในปัจจุบัน เช่น กติกาการเข้าสู่อำนาจรัฐ การตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐ การต่อต้านคอร์รัปชั่น ประชานิยม และวินัยทางการคลัง ตลอดจนระบบยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง เป็นต้น ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเรื่องอื่นๆ เช่น การปฏิรูปการศึกษา การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม หรือระบบยุติธรรมในความหมายกว้าง จะไม่มีความสำคัญ แต่เป็นเพราะเรื่องเหล่านั้นต้องดำเนินการต่อเนื่องในระยะยาว และควรดำเนินการโดยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในสภาวะปรกติ

         ประการที่ห้า คณะกรรมการปฏิรูปควรเสนอมาตรการปฏิรูปแก่รัฐบาลเป็นระยะ โดยเริ่มจากมาตรการที่มีความเห็นพ้องต้องกันสูง มีรูปธรรมที่สามารถปฏิบัติได้ง่ายก่อน โดยเสนอแนะกรอบเวลาในการดำเนินการที่แน่นอนแก่รัฐบาลไปพร้อมด้วย เพื่อให้ประชาชนเห็นผลสำเร็จจากการปฏิรูปในเร็ววัน จากนั้นจึงเสนอมาตรการปฏิรูปที่มีความซับซ้อนมากขึ้นไปตามลำดับ 

           ประการที่หก นอกจากนำเสนอมาตรการปฏิรูปต่อรัฐบาลแล้ว คณะกรรมการปฏิรูปควรมีหน้าที่ติดตามการปฏิรูปของรัฐบาลว่า เป็นไปตามข้อเสนอในกรอบเวลาที่กำหนดไว้หรือไม่  ในกรณีที่รัฐบาลไม่ดำเนินการปฏิรูปตามข้อเสนอ โดยแสดงถึงเจตนาหน่วงเหนี่ยวหรือบิดพริ้ว คณะกรรมการปฏิรูปสามารถเสนอให้รัฐบาล ‘ทำโทษตนเอง’ โดยการยุบสภา และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งจะทำให้รัฐบาลมีแรงจูงใจที่จะปฏิรูป มิฉะนั้น อาจต้องเผชิญแรงกดดันจากประชาชนอีกครั้ง

 

                  อย่างไรก็ตาม ขณะนี้  ได้มีภาคประชาชนในสังคม  จากภูมิภาคต่างๆ  และจากเครือข่ายเชิงประเด็น ก็ได้เสนอกรอบคิดและเนื้อหาการปฏิรูปขึ้นมาอีกเช่นกัน  จึงขอผู้สนใจติดตามเนื้อหาและประเมินว่า สังคมไทยควรจะปฏิรูปแล้วหรือไม่และควรเริ่มด้วยแนวทางใดจะเหมาะสมที่สุด

(หมายเหตุ ภาพประกอบจากภาพข่าวสื่อมวลชนเผยแพร่ทั่วไป)

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ