อยู่ดีมีแฮง : ลุ่มน้ำสงคราม มดลูกแห่งแม่น้ำโขง

อยู่ดีมีแฮง : ลุ่มน้ำสงคราม มดลูกแห่งแม่น้ำโขง

“น้ำมามันเอาปลามาฝาก น้ำจากมันฝากปลาไว้”  คำกล่าวจากสุริยา โคตะมี ปราชญ์ชาวบ้านแห่งลุ่มน้ำสงคราม ที่แฝงนัยว่าพวกเขาไม่เคยกลัวเรื่องน้ำท่วมหรือน้ำแล้ง  เพราะธรรมชาติจะมอบสมบัติล้ำค่าให้เราในทุกโอกาสเสมอ

ในอดีตแม่น้ำสงครามเลื่องชื่อเรื่องปลาชุกชุมนัก  ทั้งปลาเล็กปลาใหญ่นานาชนิดจนมีตำนานกล่าวขานว่า  ชาวบ้านลุ่มน้ำสงครามใช้หัวปลามาทำก้อนเส้า (ปกติใช้ก้อนหินขนาดใหญ่ 3 ก้อนตั้งเป็นรูปสามเหลี่ยม ก่อไฟตรงกลางแล้วตั้งหม้อทำอาหารได้) นั่นเป็นเรื่องเล่าที่มีเค้าจากความจริง  เพราะเมื่อก่อนการหาปลาขนาดใหญ่ในแม่น้ำสงครามนั้นไม่ใช่เรื่องยาก  ถึงขนาดที่ว่าชาวประมงจะคัดเอาเฉพาะตัวที่ได้ขนาดคือเล็ก ๆ ไม่ ใหญ่ ๆ เอา เรื่องนี้ถูกยืนยันจากสุริยา  โคตะมี ชาวบ้านที่ถูกยกให้เป็นปราชญ์เมื่อพูดถึงแม่น้ำสงคราม

“ยุคแรก ๆ คนสมัยนั้นมีไร่มีนาสร้างบ้านแปงเมืองได้โดยใช้แค่แห  ทั้งหากินหาขายไม่ต้องใช้อุปกรณ์มากชนิด  อย่างสมัยผมเป็นเด็กออกไปหาปลากับพ่อก็ใช้แค่แหกับแนบเท่านั้น  แนบก็คือการเอาแผ่นสังกะสีขึ้นเรือไปในช่วงเดือนหงาย  วางแผ่นสังกะสีให้สะท้อนกับดวงจันทร์แล้วเคาะให้เสียงดัง  ปลามันตกใจก็จะกระโดดขึ้นมาบนเรือเอง แม่เล่าให้ฟังว่ามีอยู่ครั้งหนึ่งเอาเรือเล็กไปเคาะแนบตอนกลางคืน มันง่วงมากเลยเคาะไปเรื่อย ๆ ไม่ได้ดู ปลากระโดดขึ้นมาเยอะเกินไปจนทำให้เรือล่ม มันเยอะขนาดนั้น  และมีช่วงหนึ่งตอนที่พ่อผมบวชอยู่มีคนมาชวนไปเป็นครูท่านยังไม่ไป เพราะตอนนั้นเงินเดือนครูแค่ 6 สลึง พ่อบอกว่าหว่านแหครั้งเดียวก็ได้แล้ว 6 สลึง”


สุริยา โคตะมี กล่าว
สุริยา โคตะมี / ปราชญ์ชุมชนลุ่มน้ำสงคราม

จากข้อมูลขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF ระบุว่าชาวประมงสามารถจับปลาในแม่น้ำสงครามได้ประมาณ 45,000 ตัน ต่อปีโดยมีการสำรวจพันธุ์ปลาในแม่น้ำสงครามตลอดความยาว 420 กิโลเมตรพบว่ามีมากกว่า 124 ชนิด นอกจากนั้นยังพบพันธุ์นกไม่ต่ำกว่า 136 ชนิด และพันธุ์พืชอีก 208 ชนิด จนเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 แม่น้ำสงครามตอนล่างได้รับการขึ้นทะเบียนแรมซาร์ไซต์แห่งที่ 15 ของประเทศไทย (อนุสัญญาแรมซาร์เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่มีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์และยับยั้งการสูญหายของพื้นที่ชุ่มน้ำทั่วโลก)

“แม่น้ำสงครามถือเป็นมดลูกของแม่น้ำโขงเพราะปลาจากแม่น้ำโขงจะอพยพมาขยายพันธุ์ที่นี่เนื่องจากมีป่าบุ่งป่าทามเหมาะแก่การวางไข่ของสัตว์น้ำ  มีแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์จากป่าบุ่งป่าทามซึ่งนอกจากจะหล่อเลี้ยงสัตว์น้ำแล้ว  ป่าบุ่งป่าทามยังหล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนด้วย”

ในช่วงฤดูฝนพื้นที่ป่าบุ่งป่าทามจะถูกน้ำท่วมทั้งหมด  แต่ธรรมชาติได้ออกแบบไว้แล้วว่าพืชที่ขึ้นอยู่บริเวณนี้จะต้องทนทั้งแล้งและท่วม  พืชที่ถูกน้ำท่วมแต่ไม่ตายจะกลายเป็นแหล่งหลบภัยชั้นดี ปลาขนาดเล็กรู้ดีว่าที่นี่ปลอดภัยจึงอพยพมาอาศัยอยู่ และปลาตัวใหญ่ก็รู้ดีว่าปลาเล็กแอบมาอยู่ที่นี่จึงมาล่าในบริเวณนี้  และสุดท้ายชาวประมงก็รู้ดีว่าที่นี่มีปลานักล่าตัวใหญ่ ก็เลยมาล่าต่ออีกทอดหนึ่ง  ที่นี่จึงกลายเป็นระบบนิเวศโดยสมบูรณ์ ซึ่งชาวบ้านก็ยินดีให้น้ำท่วมแม้จะกินเวลานาน 3-4 เดือนก็ตาม

เมื่อน้ำลดระดับลงแต่ความชุ่มชื้นยังคงอยู่  ชาวบ้านยังสามารถใช้ประโยชน์จากป่าบุ่งป่าทามได้อีกหลายทาง  ที่เห็นชัดเจนคือเป็นที่เลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะควายทาม  อย่างเช่นในพื้นที่อำเภอศรีสงครามบริเวณหนองไชยวานใหญ่และหนองสังใหญ่จะพบควายนับร้อยตัวหากินอยู่เป็นฝูง  ควายเหล่านี้มีเจ้าของหลายคนแต่พวกมันก็ไม่สับสนเมื่อถึงคราวต้องกลับเข้าคอก  พวกมันจะเดินตามกันเป็นฝูงใหญ่หากินไปเรื่อย ๆ  เมื่อไปถึงพื้นที่ที่ยังมีน้ำท่วมขังอยู่ก็ไม่เป็นอุปสรรค  และสามารถแช่น้ำได้ทั้งวันเพื่อดำน้ำหากินหญ้าที่อยู่ด้านใต้  จนเป็นที่มาของชื่อควายทาม  ส่วนเจ้าของควายที่คอยเดินดูอยู่ห่าง ๆ ก็มีเวลาในการเสาะแสวงหาอาหารจากธรรมชาติทั้งพืชและสัตว์อาหารในป่าทามที่มีอยู่มากมาย

หนองสังใหญ่ อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม
ควายทาม หรือ ควายน้ำ

หนึ่งในผลผลิตจากธรรมชาติหลังน้ำท่วมคือหน่อไม้  ชาวบ้านลุ่มน้ำสงครามนิยมไปเก็บหน่อไม้ทั้งเพื่อบริโภคเองและเพื่อขาย ซึ่งหน่อไม้เผาอัดถุงจากอำเภอศรีสงครามค่อนข้างเป็นที่รู้จักในหมู่แม่บ้าน  ซึ่งหากเดินทางไปที่นั่นเราจะเห็นกอไผ่ชนิดหนึ่งขึ้นอยู่เกือบเต็มพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำสงคราม  กอไผ่ที่ว่านี้ชาวบ้านเรียกว่า “ไผ่กะซะ”

ไผ่กะซะคือพืชที่สำคัญที่สุดในระบบนิเวศของแม่น้ำสงคราม  เนื่องจากลักษณะทางกายภาพของมันมีหนามแหลมคม  เติบโตเป็นทรงพุ่มอย่างหนาแน่น  เมื่อถูกน้ำท่วมพวกมันก็ไม่ตายและกลายเป็นแหล่งหลบภัยชั้นยอดของสัตว์น้ำขนาดเล็ก  ระบบรากของมันยังช่วยรั้งตะกอนที่เป็นธาตุอาหารต่าง ๆ ไม่ให้ไหลไปกับกระแสน้ำ  ทำให้พื้นที่ที่มีไผ่กะซะขึ้นอยู่มีความอุดมสมบูรณ์สูง ช่วงที่น้ำท่วมชาวบ้านจะพายเรือออกเก็บแขนงอ่อนที่แทงยอดออกมา  ส่วนช่วงน้ำลดก็ไปสับเอาหน่อของมันที่มีรสชาติดีกว่า  บางคนหาขายเป็นรายได้หลักในช่วงนั้นเลยทีเดียว  หากเป็นหน่อสดจะขายได้กิโลกรัมละ 8-10 บาทสามารถสร้างรายได้ให้วันละ 300-400 บาท

บ้านปากยาม  อำเภอศรีสงคราม  จังหวัดนครพนม  คือหมู่บ้านชาวประมงที่ค่อนข้างมีชื่อเสียง  นอกจากที่นี่จะจับปลาเป็นหลักแล้วคนในชุมชนยังมีอาชีพหาหน่อไม้ขายด้วย  เช่นเดียวกับแก๊ง 3 สาว ที่มี มณี  สุขเจริญ , พูนสวัสดิ์  สุขเจริญ , ติ๋ม  ธรรมวงศ์ษา  กลุ่มชาวบ้านที่กำลังจะออกไปหาหน่อไม้ริมแม่น้ำสงคราม  พวกเขาต้องพายเรือข้ามไปอีกฟากหลังจากขึ้นฝั่งได้ก็ต้องช่วยกันสอดส่องไปตามพุ่มกอไผ่เพื่อหาหน่อของมัน  แต่ช่วงนี้หน่อไม้ยังขึ้นไม่มากจึงหายากสักหน่อยหรือพวกแขนงที่ยังอ่อนอยู่ก็กินได้เหมือนกัน  หากอยู่ใกล้ก็เอื้อมไปหักเอาแต่ถ้าแขนงหรือหน่อที่อยู่ลึกพวกเขาจะใช้ไม้ขอดึงเอาซึ่งไม้ขอนี้ก็ทำมาจากลำต้นของไผ่กะซะนี่เอง  เป็นไม้ยาวประมาณเมตรครึ่ง  ตรงปลายจะเหลือกิ่งของมันไว้เป็นรูปตะขอเอาไว้เกี่ยวและเหนี่ยวหน่อไม้กลับมา  แผนการของสามสาวในวันนี้คือหาแค่พอทำแกงสำหรับมื้อเช้านี้เท่านั้น  แต่เราได้ยินเสียงบ่นจากพวกเขาว่าช่วงนี้หน่อไม้หายากแถมยังมีคนมาเก็บไปก่อนตั้งแต่เช้ามืดแล้วมันเลยไม่ค่อยมี  แต่ถึงอย่างนั้นในเวลาเพียงไม่นานเราก็ได้ทั้งหน่อทั้งแขนงเต็มตะกร้าซึ่งน่าจะพอกินแล้ว

กลับมาถึงบ้านด้วยสภาพที่ยังไม่เหนื่อยเท่าไหร่  ในเวลาไม่นานหน่อไม้ที่ได้มาก็ถูกแปลงสภาพอยู่ในหม้อเรียบร้อย  นั่นคือวิถีแบบปกติของคนที่นี่  พวกเขาบอกว่าถึงจะหาเป็นประจำก็จริง  แต่ไม่ได้หาขายหาแค่พอกินหรือไม่ก็หามาเผาอัดถุงไว้เป็นของฝากญาติพี่น้องเวลาเขามาเยือนหรือไปเยือนเขา  บ้างก็เก็บไว้ให้ลูก ๆ ตอนเขากลับมาจากกรุงเทพฯ ตอนกลับพวกเขาก็จะได้หน่อไม้อัดถุง  หน่อไม้ต้ม  หรือหน่อไม้ดองกลับไปกินที่กรุงเทพฯด้วย

แต่ความเปลี่ยนแปลงกำลังเกิดขึ้นกับกอไผ่กะซะหลังจากที่ สปก.มอบสิทธิในที่ดินริมแม่น้ำให้กับชาวบ้านครอบครัวละ 18 ไร่ได้ทำกิน  นั่นก็เป็นเรื่องที่ดีแต่ที่ไม่ดีคือชาวบ้านส่วนใหญ่แผ้วถางทำลายกอไผ่กะซะออกเพื่อปลูกข้าวแทน ทำให้ปัจจุบันเหลือกอไผ่กะซะในพื้นที่ไม่ถึง 50% แล้ว  นั่นไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะมีหน่อไม้บริโภคลดลงเพียงอย่างเดียวแต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่านั้นก็คือมันหมายถึงพื้นที่เพาะพันธุ์สัตว์น้ำได้หายไปครึ่งหนึ่งจากในอดีต  แน่นอนว่าสิ่งมีชีวิตที่เคยมีก็จะหายไปมากกว่าครึ่งเช่นกัน

“ตอนนี้ทำได้เพียงรณรงค์กันเองว่าอย่าเอากอไผ่ออกทั้งหมด ให้เหลือไว้ 10-20 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้เป็นที่หลบภัยของสัตว์น้ำบ้างและเอาไว้กินหน่อไม้บ้าง  และสิ่งสำคัญลูกหลานที่ไปอยู่ต่างถิ่นที่ไหนก็ตาม  สักวันพวกเขาจะต้องกลับมาอยู่บ้านและจำเป็นต้องพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติทั้ง ดิน น้ำ ป่า  จึงอยากบอกพวกเขาว่าต่อไปการจัดการด้านทรัพยากรจะยากขึ้นจำเป็นต้องอาศัยนวัตกรรมหรือรูปแบบใหม่ ๆ เข้ามาช่วยบริหารจัดการ  ถึงแม้มันอาจจะไม่ได้ทำให้ทรัพยากรเพิ่มขึ้น  แต่อย่างน้อยก็อยากให้พวกเขารักษาสิ่งที่เหลืออยู่นี้ให้ได้นานที่สุด  วันข้างหน้าถ้าหมดจากรุ่นพวกผมแล้วก็อยากให้พวกเขาได้สืบสานแนวคิดนี้ต่อไป”

สุริยา โคตะมี กล่าว

ปัจจุบันแม่น้ำสงครามตอนล่างยังคงไหลอย่างอิสระอยู่  ส่วนทางตอนบนและแม่น้ำสาขาหลายแห่งถูกหั่นเป็นท่อน ๆ จากการสร้างเขื่อนหรือฝายไปแล้ว  การไหลอย่างอิสระที่เหลืออยู่น้อยนิดก็ไม่รู้จะเป็นแบบนี้ไปได้อีกนานแค่ไหน  เพราะภาครัฐเริ่มมีท่าทีที่จะเข้ามาแก้เรื่องน้ำแล้งน้ำท่วมที่พวกเขาคิดว่าเป็นปัญหา  ซึ่งถ้ามีโอกาสก็อยากให้มาถามคนในพื้นที่บ้างว่า  เรื่องน้ำแล้งน้ำท่วมเป็นปัญหากับพวกเขาหรือเปล่า

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ