เดชา คำเบ้าเมือง : เขียน
มิ่งขวัญ ถือเหมาะ : ภาพ
การแผ่ขยายอิทธิพลของทุนจีนที่มีผลต่อการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงปรากฏชัด ในกรณีการก่อสร้างเส้นทางรถไฟจากจีน-ลาว และลงมาสู่ภาคอีสานของไทย หลังจากรถไฟไฮสปรีดเทรนจากเมืองหลวงนครเวียงจันทน์ของ สปป.ลาว ได้ฤกษ์เปิดเดินเครื่องอย่างเป็นทางการถึงเมืองคุนหมิง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 ซึ่งจัดเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากเส้นทางรถไฟช่วยให้ระยะเวลาในการขนส่งสินค้าจากจีนมาถึง สปป.ลาวใช้เวลาเพียง 24 ชม. และหากข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาวมาที่ไทย โดยใช้รถบรรทุกขนส่งจากจังหวัดหนองคายก็จะใช้เวลาเพียงไม่เกิน 12 ชั่วโมงเท่านั้น
แม้ว่าผลผลิต สินค้า และผลิตภัณฑ์จากโรงงานโลก (World’s Factory) จะทะลักเข้ามาตีตลาดของไทย แต่ภาคธุรกิจเอกชน รวมถึงรัฐบาลไทยเอง ต่างก็มองว่านี่คือความหวัง และโอกาสสำคัญด้านการค้า การลงทุน และการบริการ รวมถึงสินค้าทางการเกษตรของไทยที่จะถูกผลักดันไปสู่ตลาด ซึ่งมีความต้องการของผู้บริโภคมากที่สุดของโลกด้วยเช่นกัน
อยู่ดีมีแฮง ตอนนี้เราได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.กีรติพร จูตะวิริยะ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง และศูนย์อาเซียนศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น มาชวนมองเพิ่มเติมว่า นอกจากเรื่องเส้นทางการค้าและการพัฒนาแล้ว ในมิติอื่น เช่น มิติทางสังคม เศรษฐกิจระดับล่าง ฐานทรัพยากรและภาคการเกษตร เราจะได้รับโอกาสกับขบวนรถไฟไทย-ลาว-จีน หรือไม่ อย่างไร
เปลี่ยน land locked เป็น land link
ถ้าเรามองในภาพใหญ่ของการขยายตัวในเรื่องเศรษฐกิจที่จีนขยายตัว เข้ามามีอิทธิพลในสังคม South East Asia จริงๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่เป็นเรื่องที่มีมานานแล้ว ซึ่งสมัยก่อนเวลาจีนเคลื่อนตัวมาจะใช้เส้นทางมาก็คือเส้นทางเรือ เดินทางผ่านทางเรือและก็เข้ามาในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นทางตอนใต้ของไทย และก็ลงไปทางตอนใต้บริเวณ South East Asia แต่ตอนนี้โลกเปลี่ยนไปเส้นทางที่สำคัญไม่ใช่เส้นทางเรืออีกต่อไปกลับกลายเป็นเส้นทางบกและก็เส้นทางอากาศ จีนจึงมองว่าจะต้องสร้าง One Belt One Road ซึ่งเป็น Mega Project ของจีนในการขยายพื้นที่การเดินทางออกไปครอบคลุมทุกพื้นที่ในโลกใบนี้ ซึ่งภายใต้โครงการการขยายเส้นทางรถไฟก็เป็นส่วนหนึ่งของ One Belt One Road ของจีนเหมือนกัน
ตามเส้นทางรถไฟที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อไม่นานนี้ ก็จะเห็นว่าเริ่มต้นจากคุณหมิงผ่านเข้ามาทางเส้นบ่อเต็น เข้ามาในสปป.ลาว ไม่ว่าจะเป็นหลวงพระบาง วังเวียง และก็เวียงจันทน์ ซึ่งเขาก็มองว่าต่อไปจากเวียงจันทร์ก็จะมีการขยายการเติบโตต่อมา เพราะมันมีจุดเชื่อมที่สำคัญอยู่แล้วจากเวียงจันทร์มาที่หนองคาย อุดรธานี ขอนแก่น ซึ่งเราก็มีโครงการภายในประเทศของเราเองที่จะขยายเส้นทางเหล่านี้ไปยังพื้นที่ต่างๆ จากหนองคายจะไปจรดภาคใต้ของไทย แล้วก็เชื่อมไปสู่มาเลเซีย สิงคโปร์เลย อันนี้ก็คือโครงการที่เรียกว่ายิ่งใหญ่มากในการมองภาพรวมของ One Belt One Road
“แต่ตอนนี้ก็คือชะงักตรงที่จุดเชื่อมรอยต่อของไทยเองเรามีปัญหาในการที่จะสร้างโครงการพื้นฐานพวก Infrastructure เกี่ยวกับรถไฟต่างๆ ในขณะที่ในโครงการของสปป.ลาว ประสบความสำเร็จในการสร้างออกมาเป็นโครงสร้างพื้นฐานแล้ว แต่เรายังไม่มีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น อันนี้ก็เป็นสิ่งที่มองเห็นว่ามันเป็นโครงการที่จะต้องเชื่อมโยงกัน มี Connect ระหว่างพื้นที่ประเทศต่อประเทศ ซึ่งถ้าเกิดมันมีอะไรชะงัก การเชื่อมต่อต่างๆ ก็อาจจะเป็นเรื่องยากเหมือนกันในการที่ขยายต่อไปอันนี้มองในเชิงเศรษฐกิจ”
ถ้ามองกันจริงๆ แล้ว ก็จะเห็นว่ามีทั้งคนที่ได้โอกาส และคนที่เสียโอกาส สปป.ลาวเองก็สูญเสียความเป็นตัวตนของตัวเองไปเยอะเหมือนกัน เพราะต้องยอมรับในข้อเสนอและก็เงื่อนไขในการที่จะสร้างเส้นทางรถไฟเหล่านี้กับประเทศจีน เพราะว่าต้องกู้เงินจำนวนมหาศาล ต้องสูญเสียพื้นที่ในระยะที่ใกล้กับรางรถไฟ และก็ยอมในเรื่องของสัมปทานต่างๆ ในการที่ยอมให้ธุรกิจของจีนเข้ามามีอิทธิพลในพื้นที่ของลาว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ การค้า โรงแรม สถานบันต่างๆ ถูกเชื่อมโยงและก็ร้อยไปด้วยทุนใหญ่อย่างจีนเป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นมันมีมานานแล้ว แต่ตอนนี้มันขยายตัวอย่างเข้มข้นมากด้วย ทางรัฐบาลสปป.ลาวเอง ก็ร่วมมือกันกับจีนอย่างมากด้วยเช่นกัน ก็ทำให้มันเติบโตและก็ขยายใหญ่เป็นจำนวนมาก
“ตรงนี้ถ้ามองกันจริงๆ ประชาชนลาว หรือคนที่อยู่ในพื้นที่ ได้รับผลกระทบเยอะมาก เพราะว่าเขาต้องย้ายพื้นที่จากที่เคยอยู่ในบริเวณใกล้กับทางรถไฟ ต้องย้ายถิ่นฐานออกไปพื้นที่อื่นที่รัฐจัดสรรให้ ดังนั้น นี่ก็คือเป็นความสูญเสียอย่างหนึ่ง เพราะเขาต้องละทิ้งถิ่นฐานที่ดินเคยทำกินต่างๆ ออกไปจากสภาพพื้นที่เหล่านั้น”
นอกจากนี้พื้นที่ที่เส้นทางรถไฟตัดผ่านก็ตัดอุโมงค์เป็นจำนวนมาก เนื่องจากว่าเส้นทางต้องลัดเลาะผ่านภูเขา ซึ่งทรัพยากรของลาวที่อุดมสมบูรณ์มากที่สุดก็คือทรัพยากรธรรมชาติ มีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยภูเขา แม่น้ำลำธาร แต่เส้นทางรถไฟก็ต้องตัดผ่านเส้นทางเหล่านั้น ก็เรียกได้ว่าลาวยอมแลกทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้เกิดทรัพยากรใหม่ๆ เกิดขึ้นมากับลาว ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าใครกันแน่ที่จะได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง ถ้ามองในด้านเศรษฐกิจจริงๆ แล้ว น่าจะเป็นจีนด้วยซ้ำที่จะได้รับผลประโยชน์เป็นจำนวนมหาศาลในอนาคตที่จะเกิดขึ้น เพราะว่าจำนวนของกำลังการผลิต การขนส่งสินค้าที่จะนำไปขายยังจีน
“เราแทบมองไม่เห็นเลยว่าลาวจะนำอะไรไปขายในจีน จะมีแต่จีนขนส่งสินค้าตัวเองเข้ามาขายในบริเวณกลุ่มประเทศเหล่านี้ ซึ่งลาวจะกลายเป็น Hub ที่สำคัญในการกระจายสินค้าให้กับจีน เพราะว่าลาวจาก land locked กลายเป็น land link เชื่อมไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ ซึ่งตรงนี้การกระจายสินค้าของจีนจะออกไปได้เป็นจำนวนมหาศาล และก็ขยายการเคลื่อนย้ายของผู้คน”
การเคลื่อนย้ายของผู้คน และอำนาจทุน
โดยเฉพาะคนจีนที่มีจำนวนประชากรมหาศาล เขาก็จะสามารถเคลื่อนย้ายตัวเองมาสู่ในพื้นที่เหล่านี้ได้ ซึ่งถ้าเทียบกับพื้นที่ความหนาแน่นไม่ว่าจะเป็นไทย ลาว เวียดนาม พื้นที่เหล่านี้ยังมีกำลังที่จะรองรับการเข้ามาอยู่อาศัยของชาวจีนจำนวนมาก และเป็นพื้นที่โอกาสของชาวจีนที่จะมาทำธุรกิจลงทุนในการขยายตัวเติบโตทางด้านเศรษฐกิจได้อีกมากมาย ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีรถไฟชาวจีนก็ค่อยๆ ขยายเคลื่อนตัวเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศลาว และพรมแดนของไทยเป็นจำนวนมาก
จีนมองว่านี่ คือโอกาสของจีนแล้ว ที่จะขยายการพัฒนาไปสู่ประเทศใกล้เคียงก็เลยสร้างเส้นทางรถไฟที่จะขยายให้ธุรกิจเติบโตมาในพื้นที่เหล่านี้ ดังนั้นคนจีนที่อยู่บริเวณจีนยูนานจีนตอนใต้ก็ขยายตัวลงมาในพื้นที่เหล่านี้ ถ้าเข้าไปในเวียงจันทน์จะเห็นคนจีนอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก มีชุมชนคนชาวจีนย่านไชน่าทาวน์ที่อยู่อาศัยในเวียงจันทน์ มีตลาดจีน และการปลูกสร้างโรงแรมห้างสรรพสินค้า นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลของคนจีนที่มาตั้งอยู่ด้วย ก็จะเห็นว่าทุนต่างๆ ขยายเข้ามาอยู่ในพื้นที่ของในเวียงจันทน์ค่อนข้างเยอะ แล้วไม่เพียงแค่เวียงจันทน์ แต่ยังขยายพื้นที่ขอบเขตเข้ามาในบริเวณพรมแดนของไทย เป็นต้นว่าขยายมาตั้งเป็นตลาดจีนในตลาดโบ๊เบ๊ที่อุดรธานี ซึ่งจะเห็นว่าตลาดเหล่านั้นก็จะมีชาวจีนอยู่อาศัยเป็นจำนวนมากหลายครัวเรือน แล้วเห็นโอกาสการเติบโตที่จะไปไกลมากขึ้น
“จากการศึกษาวิจัยพบว่าเขาขยายเครือข่าย จากอุดรฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ชายแดนของการค้า โดยเป้าหมายสูงสุดก็คือการเข้ามาในพื้นที่ส่วนกลางอย่างกรุงเทพมหานคร เพื่อมาสร้างคลังสินค้าต่างๆ แล้วก็ค่อยๆ เรียนรู้พัฒนาเครือข่ายออกไปหลากหลายธุรกิจมาก เราจะเห็นว่าเส้นทางการ Connect แบบนี้ที่มันค่อยๆ เชื่อมมา ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องเล่นๆ มันมีอนุภาพมาก”
การเคลื่อนตัวของคนได้จำนวนมหาศาล มันไม่ใช่เดินทางเท้า เดินทางเรือที่มีข้อจำกัด แต่เป็นการเชื่อมโดยใช้เส้นทางรถไฟ หรือเส้นทางบกที่เดินทางมาโดยรถยนต์ และมันไม่สามารถจำกัดได้อีกแล้ว ในอนาคตข้างหน้ายิ่งมีเส้นทางรถไฟแบบนี้ เชื่อว่าทุนจีนจะหลั่งไหลเข้ามาอีกอย่างไม่สามารถคาดการณ์ได้ เพราะว่าเขามาพร้อมกับทุนพร้อมกับอำนาจ
ถ้าเกิดเราดูในอดีตที่ผ่านมา คนจีนเข้ามาในไทยไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ จีนเป็น majority ในสังคมไทยอยู่แล้ว คนไทยเชื้อสายจีนมีจำนวนมาก แล้วธุรกิจไทยที่เติบโตทุกวันนี้ได้ก็มาจากคนไทยเชื้อสายจีน ซึ่งตอนนี้ก็จะเป็นคนไทยเชื้อสายจีน แต่ในปัจจุบันเราขอเรียกว่า “เป็นผู้ค้าสัญชาติจีน” ก็คือคนจีนจริงๆ เลย ที่เข้ามาในไทยแล้วเขาก็มาพร้อมกับทุนจำนวนมหาศาล ซึ่งแตกต่างกับในอดีตสมัยก่อนเป็นแบบ “เสื่อผืนหมอนใบ” คือมาพร้อมกับการจะต้องมาแสวงหาโชคแสวงหาโอกาส แล้วก็ไม่มีทุนไม่มีอำนาจ ไร้การต่อรอง แต่ตอนนี้มาพร้อมกับอำนาจต่อรองจำนวนมหาศาลในมือ มันก็จะแตกต่างกัน
เราจะเห็นว่าคนจีนในอดีตเวลามาไทยก็จะพยายามปรับตัว เรียนรู้ที่จะอยู่ในสังคมไทย พูดภาษาไทยเพื่อจะได้มีโอกาสทำงาน และก็ค่อยๆ พัฒนาตัวเองกลายเป็นผู้ประกอบการเจ้าของธุรกิจ แต่ตอนนี้ไม่ใช่ เขาเข้ามาพร้อมกับทุน และก็เป็นเจ้าของธุรกิจเอง
“อย่างเช่น ที่อุดรธานีเห็นชัดเลยว่า เจ้าของกิจการส่วนใหญ่เป็นชาวจีนแล้วก็จ้างแรงงานไทย ในการเป็นแรงงานในการขายสินค้าที่อยู่หน้าร้านให้กับเขา เขาไม่จำเป็นต้องพูดภาษาไทยได้ ก็คือใช้ภาษาอังกฤษเล็กๆ น้อยๆ ในการสื่อสารกับลูกน้อง และก็ให้ลูกน้องเป็นคนค้าขายให้กับชาวไทย ตัวเขาก็จะอยู่หลังบ้านในการควบคุมดูแลต่างๆ ก็จะเห็นว่าวิธีการในการดีลทางด้านธุรกิจของชาวจีนที่เข้ามาในประเทศไทยก็เปลี่ยนไปเหมือนกัน ไม่ใช่เป็นลักษณะเดิมอีกต่อไป ไม่ใช่พยายามที่จะเรียนรู้ปรับตัว แต่มาพร้อมกับโอกาสและอำนาจ”
โอกาสแห่งการเรียนรู้ สู่การสร้างพื้นที่ทางเศรษฐกิจ
หากจะกล่าวถึงด้านดีก็มีอยู่ไม่น้อย อย่างการเข้ามามันเกิดการเคลื่อนไหลของคนไปมา มันเกิดสังคมแบบพหุวัฒนธรรมขึ้น คนจีนเข้ามาในลาว คนลาวหรือคนไทยในพื้นที่บริเวณนี้สามารถไปจีนได้อย่างง่ายดาย เปรียบเทียบแต่ก่อนที่เราเคยถูกสกัดกั้นด้วยพรมแดนที่มันเป็นภูมิศาสตร์ค่อนข้างเดินทางหากันยาก ด้วยเป็นภูเขา เป็นแหล่งต่างๆ ที่เราไม่สามารถเดินทางได้ง่าย แต่ตอนนี้มันเชื่อมด้วยรถไฟที่เราสามารถข้ามไปมากันได้ วัฒนธรรมต่างๆหรือการเรียนรู้วิถีชีวิตของเขา ซึ่งมันมีความใกล้เคียงกันอยู่ในตัวมันไม่สามารถที่จะแยกออกไปจากกันได้ มันมีความใกล้เคียงหลายๆ อย่าง เราก็ได้เรียนรู้เขาเขาก็ได้เรียนรู้เรา ความใกล้ชิดเหล่านี้มันก็เป็นพลังในการสร้างเครือข่ายทางสังคมได้อย่างแน่นอน
มันสร้างให้เรารู้จักเขามากขึ้นเขารู้จักเรามากขึ้น โอกาสในการที่จะทำอะไรร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเชิงเศรษฐกิจ เชิงสังคม หรือวัฒนธรรม ในอนาคตข้างหน้ามันมีโอกาสแน่นอน มันเปิดโอกาสให้แล้ว เวลา Connect สมัยก่อนเราก็จะมองว่า เรา Connect กันด้วยตัวบุคคล แต่ตอนนี้ไม่ใช่ตัวบุคคลจะใกล้ชิดกันได้มันต้องมี non-human เป็นตัว Connect ด้วย อย่าง non-human ในที่นี้ก็คือสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ เช่น รถไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ ที่มันเป็น non-human ช่วยเราในการโยงใยเราให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น
“ตัวรถไฟเหมือนกับทำให้ระยะเวลา หรือว่าเส้นทางที่เราเคยห่างไกลกัน มันย่นย่อให้เราเข้ามาหากันใกล้ขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันก็ช่วยให้เรารู้จักเขา เขารู้จักเรา เขากินแบบนี้ เขาอยู่แบบนี้ เขาคิดแบบนี้ เขาทำแบบนี้ การเรียนรู้ซึ่งกันและกันมันจะเกิดขึ้นโดยทันที”
สมัยก่อนโอกาสที่เราจะไปมาหาสู่กันค่อนข้างยาก แต่ตอนนี้มันเปิดโอกาสแล้ว มีโครงสร้างพื้นฐานที่เข้าถึงกันง่าย คนตัวเล็กตัวน้อย หรือชนชั้นกลางก็สามารถเดินทางไปมาหากันได้ง่าย ไม่ใช่เฉพาะกลุ่ม Elite ชนชั้นสูงที่สามารถเดินทางได้ง่ายดายอีกต่อไปแล้ว นอกจากนี้การเข้าถึงการเรียนรู้เรื่องโอกาสทางเศรษฐกิจต่างๆ ก็จะตามมา เพราะมันเป็นการเปิดโอกาสให้กับคนตัวเล็กตัวน้อยได้มีโอกาสที่จะได้เข้าไปเรียนรู้ และเข้าไปสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจได้เหมือนกัน ก็คิดว่าเป็นโอกาสที่ดี เพียงแต่ว่าเรามาด้วยทุนที่น้อยกว่า
คำถามจึงอยู่ที่ว่า แล้วจะทำอย่างไร รัฐจะเข้ามาส่งเสริมได้ไหม เพื่อเปิดพื้นที่ให้เขาได้มีโอกาสสร้างเศรษฐกิจ SME ให้เขาเติบโตในการร่วมทุน หรือเข้าไปมีโอกาสในการค้าขาย คือมันต้องมีการส่งเสริม จะให้เขาคิดเองทำเองสู้ด้วยตัวเองค่อนข้างยาก มันไม่ใช่เรื่องง่ายคนเดียวจะมาสู้กับสิ่งเหล่านี้ ต้องทำให้เขาคิดได้ ทำได้ มีพลังสร้างสรรค์ ค่อยๆ เติมเต็ม ค่อยๆ โอบอุ้มเขา มันทำได้ ถ้ารัฐมองเห็นสิ่งเหล่านี้จริงๆ ไม่ใช่มองเห็นแต่ทุนใหญ่
“ส่วนใหญ่รัฐไทยจะให้ความสำคัญกับทุนใหญ่มากกว่าคนตัวเล็กตัวน้อย นี่คือปัญหาที่ทำไมมันถึงต้องเหลื่อมล้ำได้มากมายขนาดนี้ เราจะลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ ต้องไปโอบอุ้มคนตัวเล็กตัวน้อยให้เขามีพื้นที่ ให้เขาได้ขยายและเติบโต มันก็จะแตกแขนงออกไป เชื่อมั่นว่าทำได้ ถ้าเราตั้งใจที่จะทำจริงๆ”