โรงเรียนไม่ใช่พื้นที่เดียวสำหรับการเรียนรู้ – ดึงท้องถิ่นแก้ปัญหาเด็ก Drop out

โรงเรียนไม่ใช่พื้นที่เดียวสำหรับการเรียนรู้ – ดึงท้องถิ่นแก้ปัญหาเด็ก Drop out

“แววตาของเด็กสำคัญ ต้องมีแผนการสอนที่ทำให้แววตาของเขามีความหวัง มีความสนใจเพิ่มขึ้น ไม่ใช่สอนให้ครบตามแผน หรือสอบ O-NET ได้เท่านั้น”  

อ.เดชรัต สุขกำเนิด   

“อยู่เมืองดัดจริต ต้องมีสติ เยอะ ๆ และต้องไม่ยอมแพ้ การศึกษาเป็นตัวอย่างที่ดีมาก ต้องมีสติในการจัดการกับมันและต้องใจเย็น เพราะต้องอยู่กับคนที่คิดไม่เหมือนคุณเลย และมันเรียกร้องการวิ่งมาราธอน มันวิ่งร้อยเมตรไม่ได้”

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล

ในงานครบรอบ 10 ปี รายการก(ล)างเมือง ไทยพีบีเอส ร่วมกับ Documentary club จัดงานเทศกาลหนัง “อยู่เมืองดัดจริต ชีวิตต้อง….” ฉายภาพยนตร์สารคดีก(ล)างเมือง และขยายประเด็นผ่านเวทีพูดคุยกัน เพื่อสะท้อนนโยบายสาธารณะของเมืองในหัวข้อ ทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา การศึกษาไทย…? จัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2565 มีผู้ร่วมเสวนา ดร.เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการอิสระและนักออกแบบเกมเพื่อการเรียนรู้ และผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดย วิภาพร วัฒนวิทย์ บก. Backpack Journalist/Decode

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ให้ความเห็นต่อการศึกษาไทยว่า สำหรับผมตอนนี้การเรียนรู้ของคนมีนิเวศที่กว้าง มันมีส่วนที่เรียกว่า Personal learning Journey กับ Collective Learning Journey โรงเรียนคือที่ของ Collective Learning Journey มาเรียนรู้ร่วมกันกับเพื่อนกับคุณครู แต่ละคนจะมีเส้นชีวิตตัวเองทั้งนอกห้องหรือแม้กระทั่งในเวลาเรียน อย่างเช่น เราสนใจอันนี้เป็นพิเศษ เราเข้าชมรมนี้แล้วเราชอบเรา เราไปทำอันนี้นอกห้องเรียนแล้วเราชอบ เราก็จะมีการเรียนรู้ของเราที่เป็น Personal learning Journey ตลอดเวลา การไปโรงเรียนมันคือโอกาสในการเจอเพื่อน ซึ่งอาจจะมีการสนใจแตกต่างจากเราแต่มีประสบการณ์บางอย่างร่วมกัน โรงเรียนควรจะเป็นพื้นที่ที่ทำให้เกิด Quality time ของการมี Collective Learning Journey 

“แต่ตอนนี้การไปโรงเรียนมันตอบโจทย์จริงหรือเปล่า ทุก ๆ ห้าสิบนาทีในการอยู่ในห้องเรียน มันกำลังเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์การเรียนรู้รวมกันของเด็กจริงหรือเปล่า”

บางโรงเรียนผันตัวเองไปสู่การตอบโจทย์อะไรบางอย่างเช่น เรียนแค่4 วิชาแล้วก็เรียนกับคอมพิวเตอร์เรียนติวไปเลยแล้วก็ไปสอบเอา และที่เหลือก็เลือกวิชาเลือกในโรงเรียนเอา คำถามคือมีโรงเรียนไว้ทำไม เราอยู่บ้านก็ได้เรียนกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่บ้านแล้วก็เรียนภาษาอังกฤษกับติวเตอร์คนนั้นคนนี้ก็ได้แล้วไม่ต้องไปโรงเรียน พอเขาอุตส่าห์ไปโรงเรียนแล้วก็ไปอยู่หน้าคอมมันก็ต้องเรียนด้วยตัวเองและค่อยไปมีวิชาเลือกกับเพื่อน อันนี้ก็เป็นเรื่องผิดฝาผิดตัวที่เกิดขึ้น 

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด กล่าวเพิ่มเติมว่า คำที่ อ.อรรถพล ใช้คำว่า Collective Learning Journey น่าสนใจมากว่าจากกรณีในสารคดีเรื่องที่สองที่คุณสามเขาอยู่ในโรงเรียนมีเด็กหลายระดับและอยู่ทั้งวันทั้งคืน และตอนกลางคืนดูทีวีตลก แล้วทำไมไม่จัดให้คุณสามเทสเกมให้เด็กดูกันเองเลยว่ามันไปต่อไหวไหม น้อง ๆ ชอบไหม อย่างเคสของคุณสาม ผมเป็นนักเศรษฐศาสตร์ มองว่านี่มัน Low cost หมายถึงต้นทุนใช้น้อยมากที่ทำให้คุณสามได้ทดลองทำตามสิ่งที่ฝัน

ผมคิดว่ามันย้อนกลับสู่สิ่งที่เราเรียกว่าหลักสูตร ในวงการศึกษาเราเชื่อว่าเรามีหลักสูตรแล้วจะทำให้ทุกอย่างดีมากตามขั้นตอนทุกอย่างจะเป็นมาตรฐาน แต่ว่าหลักสูตรของเรามันแทบไม่มีพื้นที่เหลือให้  Individual learning Journey หรือ Collective ด้วยซ้ำ กลายเป็นหลักสูตรที่เอาตารางเวลาครอบมาเป็นตัวบอก เพราะเราก็เชื่อว่ามันมีประสิทธิภาพประสิทธิผล หรือเราเชื่อว่านี้แหละ คือการควบคุมเอาไว้ได้ จึงไม่แน่ใจว่า หลักสูตรขณะนี้ถูกทำหน้าที่อะไร กระทั่ง O-Net ยังอุตส่าห์เปลี่ยนหน้าที่ของมันได้เลย ผมคิดว่าหลักสูตรตอนนี้หลายกรณีทำหน้าที่แค่ทำให้ระบบการจัดการมันเดินไปได้ ซึ่งเลยไม่มีที่ว่างสำหรับเรื่องอื่น ๆ ที่เราจะคิดขึ้นมาได้

โควิด-19 เขย่าระบบการศึกษาไทย

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล มองว่าเรื่องใหญ่เวลานี้ เรามองหลักสูตรด้วยฐานคิดกับการสอน เราไม่ได้มองด้วยฐานคิดการเรียนรู้ เรารู้แค่ว่าต้องสอนอะไรบ้างมากกว่าการมองว่าผู้เรียนควรจะเรียนรู้เพื่อสู่เป้าหมายด้วยวิธีการอะไรบ้าง  

ถ้าได้อยู่ในกระบวนการทำหลักสูตรจะรู้ว่าทุกคนหวังดีหมด คนทำเรื่องการเงินการธนาคารอยากให้เด็กเรียนการเงิน คนทำเรื่องประวัติศาสตร์ก็อยากให้เด็กเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์ ครูไทยก็อยากให้เรียนไทย ทุกคนจะคิดแต่ว่าเด็กควรเรียนเรื่องอะไรถึงจะทำให้ตอบโจทย์สิ่งที่เขาคิดว่าเป็นการศึกษาที่ดี แต่ไม่ได้มองจากมุมผู้เรียนว่าอยากเรียนรู้เรื่องอะไร โรงเรียนแน่นไปด้วยรายวิชาที่มันไม่มีพื้นที่การเลือกของเด็กคือเลือกได้น้อยมาก ๆ อาจจะต้องเป็นโรงเรียนกลุ่มที่มีความพร้อมสูงหน่อย เช่น โรงเรียนที่มีคุณครูเยอะ โรงเรียนที่อำนาจไปไม่ค่อยถึง เช่น โรงเรียนสาธิตเพราะเขาไม่ได้อยู่ภายใต้ สพฐ. สามารถมีตะกร้าวิชาเลือกให้เด็กเยอะ ๆ ได้ เราจึงเห็นอย่างสาธิตธรรมศาสตร์ สาธิตจุฬาฯ กรุงเทพคริสเตียน เขามีวิชาเลือกเยอะมาก เพราะเขามีครูเยอะ 

เคสของสาธิตจุฬาฯ เป็นระบบแบบว่าครูทุกคนเขาจะเสนอมีไอเดียกับวิชาเลือกอะไรบ้าง และประกาศล่วงหน้าว่าวิชาที่เขาพร้อมจะเปิดมีอะไร และเด็กก็จะเป็นคนเลือกว่าเขาอยากเรียนอะไร แล้วมีวิชาอะไรที่เด็กอยากเรียนแล้วครูยังไม่ได้เปิด ถ้ามีเด็กสัก 5 คนก็เปิดได้ ทำให้ครูก็จะมีพื้นที่ทดลองใหม่ ๆ ในเรื่องนี้ในหมวดเรามีใครสนใจจะสอนเรื่องนี้ให้กับเด็กไหมก็จะพัฒนารายวิชากัน แต่โรงเรียนกลุ่มนี้จะมีอิสระเพราะเขาไม่ถูกกำกับด้วยนโยบายจากส่วนกลาง 

ผมว่าสองปีโควิด-19 ท้าทายมาก ๆ เพราะมันได้เขย่าเรื่องพวกนี้ทิ้งหมด วันที่เด็กไม่อยู่ใกล้เราเลย เรียนด้วยตนเองที่บ้าน อะไรกันแน่คือแก่นแท้ของการจัดการศึกษาให้เด็ก อะไรคือเรื่องสำคัญที่เด็กจำเป็นต้องรู้ในช่วงสองปีนี้ที่ไม่ต้องเรียนก็ไม่ได้ ไม่ต้องทำก็ได้ในโรงเรียน เช่น เคารพธงชาติต้องมายืนทุกวันไหม ช่วงแรก ๆ บังคับให้เด็กร้องเพลงชาติหน้าจอด้วยซ้ำ 

หลายโรงเรียนเริ่มปรับตัวอย่างโรงเรียนประถมที่ผมดูแลอยู่ในกทม. เขาสอนแค่วันละ 5 วิชาเอง เริ่มเรียน 9 โมงเช้า เด็กอยู่บ้านจะให้เรียน 8 โมงทำไม และก็เลิกเรียนตั้งแต่บ่ายสองสี่สิบ เรียนรอบนึง 1 ชั่วโมง แต่สอนจริง 40 นาที เพราะรู้ว่าอยู่บน Zoom นานกว่านี้ไม่ได้ ให้เด็กมีช่วงพักเป็นช่วง ๆ ให้เด็กยังอยากกลับเข้ามาใน Zoom พยายามลดเรื่องภาระงานการบ้านของเด็ก ทำให้เสร็จระหว่างที่อยู่ด้วยกัน เน้นเอาเรื่องหลัก ๆ ก่อน เดี๋ยวเปิดเทอมค่อยมาตามเก็บกันทีหลังเพราะตอนนี้ไม่ใช่เวลาจะมายัดอะไรให้คุณแล้ว คุณจำเป็นต้องให้ความสำคัญอยู่กับครอบครัวของตนเองก่อน 

“ผมว่าช่วงสองปีนี้ ถ้าอะไรที่ไม่จัดในช่วงสองปีที่ผ่านมาแล้วไม่เสียหาย เปิดเทอมมาทำไมต้องกลับไปจัด เลิกได้เลิก ไม่ต้องนั่งสอนทุกเรื่องก็ได้ การยัดให้เด็กเยอะ ๆ มันไม่ได้การันตีคุณภาพ”

ดึงท้องถิ่นแก้ปัญหาเด็ก Drop out

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด บอกว่า ปัญหาเด็ก Drop out มันสัมพันธ์กับเงื่อนไขในเชิงพื้นที่เขาเยอะกับประเด็นใหม่คือเงื่อนไขการเรียนรู้ของเขา หลังจากที่เด็กเขาอยู่กับสถานการณ์โควิด-19 มาสองปี บางเขาไม่ได้อยากหยุดการเรียนรู้ จริง ๆ เด็กทุกคนเขาอยากเรียนรู้ในวิถีของเขา และบางคนเขาก็ไปเจอเส้นทางเรียนแบบที่มันไม่จำเป็นต้องกลับมาโรงเรียนแล้ว 

คำถามว่าแล้วเขาออกจากโรงเรียนไปแล้ว เขาสามารถที่จะพัฒนาคุณวุฒิ หรือว่าสามารถจะพัฒนาวิถีชีวิตของเขาในระยะยาวได้หรือเปล่า คือพูดง่าย ๆ ว่าไปแล้วมันกลับมาทางนี้ได้ไหมหรือไปทางอื่นต่อไปได้ไหม  อันนี้ก็กลายเป็นประเด็นที่ผมคิดว่าเราต้องตั้งโจทย์ให้ดี ๆ ว่าการแก้ปัญหา Drop out มันต้องทำอย่างไร ผมไปเจอปัญหาที่จ.สุรินทร์ ช่วงสองปีที่เราหยุดโควิด-19 หยุดไปโรงเรียน สิ่งหนึ่งที่เราเจอคือรถรับจ้างโรงเรียนก็เจ๊งไป เด็กก็ไปโรงเรียนไม่ได้อีก แล้วถามว่าเราตอบสนองแก้ไขปัญหาสิ่งเหล่านี้ได้ทันไหม เราแก้ไขหรือว่าตอบปัญหาเหล่านี้ได้ไม่ค่อยดี   

พอ อ.อรรถพล เล่าเรื่องเทศบาล ผมคิดว่าเป็นความน่าสนใจในโจทย์ที่ว่าเราเจอความอีหลักอีเหลื่อในสังคมไทย จะยุบหรือไม่ยุบโรงเรียนขนาดเล็ก กลายเป็นเราก็ไม่รู้จะตอบอย่างไร จริง ๆ คนที่ตอบดีที่สุดคนนึง คือท้องถิ่นหรือชุมชน ชุมชนคือก็ช่วยแต่ว่าชุมชนไม่มีทรัพยากร แต่ท้องถิ่นมีทรัพยากรทางการเงิน คือชุมชนอาจจะมีทรัพยากรที่มาช่วยเสริมท้องถิ่นได้มีวุฒิบางอย่างอาจจะไม่ใช่วุฒิครูแต่มีวุฒิบางอย่างที่จะมาช่วยเติมโรงเรียนขนาดเล็ก

ตรงนี้ท้องถิ่นจะเข้ามาช่วยตอบคำถามนี้ได้อย่างไร ซึ่งผมคิดว่าถ้าท้องถิ่นเข้ามาช่วยตอบ คำตอบบางกรณีเช่นการยุบอาจจะเป็นคำตอบที่คลี่คลายก็ได้สำหรับพื้นที่นั้น ในทางกลับกัน คำตอบมันอาจจะไม่ต้องยุบเลยก็ได้ สำหรับแต่ละพื้นที่ หรือยุบแล้วจะเดินทางไปโรงเรียนอย่างไร ท้องถิ่นน่าจะช่วยตอบได้ดีกว่าส่วนกลาง 

“เวลาเราพูดถึงท้องถิ่น ก่อนอื่นผมยอมรับเลยว่า แปดพันองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นอาจจะทำไม่ได้เหมือนกันหมด แต่เป็นการเปิดโอกาสให้ได้เห็นตัวอย่างที่ดีและในกรณีตัวอย่างที่ไม่ดี มันเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่นั้นตั้งคำถามได้ ว่าแล้วทำไมที่อื่นเขาทำได้” 

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล เสริมว่า เด็ก Drop out เงื่อนไขชีวิตเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน ต้องมีทางเลือกให้เด็กบ้าง คือสำหรับผมการบังคับเด็กไปโรงเรียนหมดตอนนี้บางทีมันก็แข็งตัวจนเกินไป เพราะหลายบ้านก็ไม่พร้อมแล้วจริง ๆ ที่จะให้เด็กไปโรงเรียน 

“ต้องเข้าใจก่อนว่าเมื่อเด็กหลุดออกจากโรงเรียนมีอะไรรองรับอยู่ กศน. เหรอครับ” 

กศน. บ้านเราตอนนี้แข็งแรงพอเหรอในการจะให้เขาพัฒนาตนเอง เรามีพื้นที่เรียนรู้อื่น ๆ มากน้อยแค่ไหน? อยู่ในกรุงเทพฯ อาจพอมีปรากฏให้เห็น แต่ตามต่างจังหวัดมันแทบจะไม่มีเลย ดูช่วงโควิด-19 ก็ได้ มีเน็ตที่ไหนให้ใช้ฟรีบ้าง อย่างผมดิวกับเด็กโรงเรียนวัดดวงแค เขาเดินไปเรียนที่สถานีวัดหัวลำโพงเพราะที่นั่นมีสัญญาณ Wifi ฟรี ถ้าคุณไปตอนช่วงโควิด-19 จะเห็นเด็กประถมไปนั่งทำการบ้านที่สถานีหัวลำโพง นี่ขนาดเด็กในกรุงเทพนะ อยู่กลางเมืองแต่มันไม่มี Wifi ฟรีให้เขา ถ้าวันหนึ่งเขาต้องหลุดออกจากโรงเรียนอะไรที่รอเขาอยู่โอกาสแบบไหนที่รอเขาอยู่ มันมีจริง ๆ เหรอในการเป็นตาข่ายสังคมในการรองรับเขา 

เพราะฉะนั้นวันที่เด็กจำเป็นต้องออกจากโรงเรียนคุณครูก็อย่ารีบปล่อยมือมันก็ต้องมีระบบส่งต่อ ซึ่งตอนนี้ กสศ. พยายามทำงานเรื่องนี้อยู่ เยาวชนที่หลุดออกจากโรงเรียนมีกลไกระดับพี่เลี้ยงในชุมชนดูแลมากน้อยแค่ไหน พยายามทำให้เชิงเครือข่ายกันอยู่แต่ละภูมิภาคก็เป็นการนับหนึ่งทำงานช่วงสามสี่ปีนี้ที่เกิดขึ้น

ผมชอบประเด็นที่ อ.เดชรัต พูดถึงเรื่องอาชีวะ หลายประเทศการเปลี่ยนแผนจากสายสามัญไปอาชีวะมันข้ามไปข้ามกลับได้ จบม.3 มันไม่ได้เลี้ยวไปปวช.แล้วก็ไปปวช.เลย เคสสิงคโปร์ คือแก้ปัญหาเรื่องนี้เด็กในคลาสเรียนวิทย์ต้องไปเป็นหมอ ซึ่งสร้างความเครียดแก่เด็กเยอะมาก เขาปฏิรูปด้วยการแก้ปัญหาเรื่องนี้เพื่อให้มันไขว่แผนกันได้ แต่แท็กสองแท็กไม่ควรถูกเลือกปฏิบัติคุณต้องให้คุณค่าไม่แตกต่างกัน และเด็กสามารถเทียบโอนได้ 

การเรียนรู้ข้ามโรงเรียนข้ามมหาวิทยาลัยอันนี้ก็น่าสนใจ อย่างบ้านเราตอนนี้มีการพูดถึงไม่ต้องเร่งให้บัณฑิตเรียนจบตามกรอบเวลาก็ได้อาจจะเรียน ๆ ไป ดรอปไปทำงานก่อน ถ้าคิดอย่างงี้กับประถม มัธยม อาจจะเป็นไปได้มากขึ้น ถ้าปีนี้โควิด-19 ยังอยู่แล้วต้องย้ายตามพ่อแม่ไปทำงานต่างจังหวัดจะต้องให้เด็กไปโรงเรียนจริง ๆ เหรอ ทั้ง ๆ ที่เด็กเพิ่งย้ายมาจากกรุงเทพฯ ตามพ่อแม่ ถ้าเขาจะพักอยู่พักนึงอย่างน้อยที่สุดในพื้นที่เขาก็ต้องมีคนรู้ข้อมูลว่าเด็กมาแล้ว เด็กจะเข้าถึงการศึกษาได้ที่ไหน เด็กพร้อมจะไปโรงเรียนเมื่อไหร่ ถ้าปีเด็กไม่พร้อมจะอยู่บ้าน ใครจะเป็นคนดูแล ระบบแบบนี้อาศัยส่วนกลางแก้ปัญหาไม่ได้ ต้องอปท. เท่านั้น 

ระดับท้องถิ่นในการจัดการ และต้องทำงานกับหน่วยงานใกล้ตัวเด็กที่สุดคือคนในชุมชนเดียวกัน โรงเรียนควรจะเป็นหน่วยงานที่ฝังตัวอยู่ยูนิตใกล้กับเด็กที่สุด โรงเรียนขนาดเล็กที่ อ.เดชรัต พูดถึงคือโจทย์ขนาดใหญ่มาก จะยุบจริงเหรอ ในเมื่อถ้ายุบแล้วมันมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่พุงสูงมากของครอบครัว ถ้าอปท. มาลงทุนเรื่องรถส่งเด็กไม่ได้ ครอบครัวต้องจ่ายเงินเองเด็กจะไปโรงเรียนอย่างไร เห็นจำนวนมากที่มาจากโรงเรียนขนาดเล็ก แล้วถูกย้ายไปโรงเรียนขนาดใหญ่ ขึ้นม. 1 ก็เลิกเรียนกันหมด เพราะการไปโรงเรียนแพงมาก ๆ ในต่างจังหวัด และจริงๆ มันเป็นการพรากเด็กออกจากชุมชน 

ลองนึกว่า พ้นวัยประถมมาก็ต้องมาอยู่ในเมืองแล้วมาโตในเมืองมาเช่าหอให้ลูก พ่อแม่กัดฟันส่งให้ลูกมาอยุ่อำเภอเมือง ถ้าเป็นเด็กเก่งหน่อยเขาจะโตไปเรื่อย ๆ และเขาจะไม่กลับบ้านอีกแล้ว เพราะไม่มีอะไรที่ยึดโยงให้เขากลับบ้าน เพราะเขามาโตอยู่ในเมืองโตอยู่ไกลบ้านมากขึ้นเรื่อย ๆ  เหมือนการมีโรงเรียนขนาดเล็กอยู่ในชุมชนยังสำคัญอยู่ ผมชอบที่ อ.เดชรัต ไฮไลต์ว่า ให้ชุมชนคุยกันไหมว่าจะเอาอย่างไร เพราะมันไม่มีคำตอบสูตรสำเร็จหรอก

การศึกษาวันนี้สะท้อนเมืองที่เราอยู่

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด มองว่า การศึกษาไทยเราไม่ได้เริ่มต้นจากการตั้งโจทย์ โจทย์ที่แท้จริงคืออะไรกันแน่ เราก็ทำกันไปเรื่อย ๆ และมีอะไรบางอย่างเป็นสูตรสำเร็จที่บอกว่ามันต้องแบบนี้ ต้องไปประกวดแบบนี้ แล้วเราก็คุ้นเคยกับสิ่งเหล่านี้ ขณะนี้มีการตั้งคำถามเยอะและไม่ใช่เฉพาะวงการครู แต่หลายวงการมีคำถามที่ไปสั่นคลอนความคุ้นเคยแบบเดิมมาทำใช้อำนาจทำให้แบบเดิมมันยังดำรงอยู่ ถูกตั้งคำถามมากขึ้นรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ 

ผมว่าวงการศึกษาก็เป็นหนึ่งในวงการที่มีคำถามแบบนี้ และคนที่ครองอำนาจอยู่ก็ตอบได้ยากมากขึ้น ผมคิดว่าการคลี่คลายในระยะต่อไปอาจจะไม่พอถ้าเราไม่วางหลักอะไรบางอย่างไว้รวมกันที่เรามาตกลงกันในวงกว้างมากขึ้นว่าต่อไปการศึกษาไทยควรจะมีหลักการเหล่านี้ ซึ่งมันเป็นพื้นฐานอะไรบ้างอย่างที่เราต่อมาช่วยกันทำให้มันเกิดขึ้น เช่น เรื่องแรกเวลาเราพูดเรื่อง Drop out ผมคิดว่าคำนี้เวลาพูดมันเห็นเป็นปัญหาจริง แต่ถ้าจะให้มันไปสู่ทางออก พูดแบบนี้มันจะยังไม่พอ 

เกิดอาการแบบที่อ.อรรถพลใช้คำว่า ไปเอาชื่อเขาไว้ หรือพยายามดึงเด็กให้เขากลับมา อะไรแบบนี้ แต่ผมคิดว่าเราอาจต้องพูดว่า การศึกษาคือ Social Safety Net ของวัยก่อน 20 มีตัวเลขที่ชัดเด็กที่ออกจากการศึกษามีโอกาสไปทำผิดและถูกดำเนินคดีเยอะกว่าเด็กที่อยู่ในวงการศึกษาเยอะมาก เพราะฉะนั้นอันนี้มันคือ Social Safety Net แต่มันไม่ใช่แค่Social Safety Net ในความหมายนี้ ตอนหนังสารคดีเรื่องที่สามต้องเรียนอยู่เพื่อให้ได้สัญชาติไทย อย่างไรก็ต้องเรียนเพื่อที่จะให้ได้เดินทาง หลักการข้อแรกเราอาจจะมองว่า การศึกษามันคือ Social Safety Net ที่ไม่ใช่แค่ให้คนไม่ตายไป แต่มีโอกาสพัฒนาเติบใหญ่และเป็นบุคคลที่ดีขึ้นได้   

ข้อสองเราอาจจะมีหลักการว่า บางอย่างเราน่าจะเปิดพื้นที่ให้มันเกิดการคลี่คลายขึ้นมาได้ไหม ไม่ใช่ว่าเราจำเป็นที่ต้องควบคุมทุกคนไว้เหมือนกันตามหลักสูตร 

หรือสาม ความคึกคัก  คือถ้าหงอย เป็นดัชนีตัวชี้วัดว่าการศึกษามาผิดทางแน่เลย ทำอย่างไรที่เราจะบอกเรื่องความคึกคักของเด็กได้

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล มองว่าในสังคมไทยไม่มีระบบไหนไม่มีปัญหา การศึกษาก็เป็นหนึ่งระบบที่ชัดเจนที่มีปัญหา แต่ปัญหาร่วมของสังคมไทยมองผ่านการศึกษา

“เราไม่เอามนุษย์เป็นตัวตั้ง คือเราไม่เคารพคุณค่าความเป็นศักดิ์ศรีของคนมันเลยไปยึดติดกับโครงสร้างแนวดิ่งหมด โรงเรียนเลยเป็นแค่กลไกหนึ่งถูกควบคุม ครูเป็นแค่ปลายนิ้วที่รอกระทรวงสั่งแล้วต้องทำตาม ไม่เชื่อว่าครูจะสามารถที่จะออกแบบอะไรที่จะมาตอบโจทย์เด็กได้”

เด็กไม่ได้มีชีวิต เด็กเป็นแค่ภาชนะวางเปล่าที่รอหลักสูตรเอาเข้าไปใส่ให้ พอเราไม่ได้ยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลางในการพัฒนา เราไม่ได้เชื่อเรื่องของเอ็มพาวเวอร์คนทำงานเราก็ไปติดกับกลไกเชิงระบบทั้งหลาย และก็พยายามใช้การควบคุมมัน มันเลยมองเห็นการศึกษาเป็นแค่ องคาพยพที่รัฐต้องควบคุมสูง  

การศึกษาไทยเป็นตัวอย่างที่ดีมากของความเป็นการเมือง คนจะคิดว่าการศึกษาควรจะปลอดจากการเมือง แต่การศึกษาไทยการเมืองสูงมาก ๆ 

วัฒนธรรมความเป็นข้าราชการที่ถูกทำให้ถูกจับผิด ไม่มีความเชื่อใจกันมานาน มันลดทอนความเป็นมนุษย์ของเขา เขาเป็นแค่กลไกนึงของระบบคือเขาต้องเซฟตัวเองซึ่งอันนี้ยากมาก ๆ ในการจะแก้ไข คือเราเป็นสังคมที่ไม่มีความสัมพันธ์กันเลยในการทำงาน เราไม่มีภาพฝันร่วมกันเรื่องการศึกษาเลย คือเราฝันคนละแบบ 

การศึกษาคืออะไร ความเป็นไปเพื่ออะไร การศึกษาที่ดีควรเป็นอย่างไร สามคำถามนี้ต้องตอบร่วมกันให้ได้ และไม่ควรตอบด้วยคนกลุ่มใดกลุ่มนึงด้วยมันควรจะเป็นบทสนทนาของสังคมใหญ่ พูดง่ายทำยากมากซึ่งมันต้องอาศัยแรงส่งของการเมืองสูงมากความเป็นประชาธิปไตยจึงสำคัญมาก ๆ กับเรื่องนี้  

ชมย้อนหลัง 3 หนังสารคดีก(ล)างเมืองที่ถูกพูดถึงในวงสนทนา

ตอน ผู้สาวเรือซิ่ง

ตอน โรงเรียนบนดอย

ตอน ไอ แอม สาม

เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี ขอเชิญผู้ที่สนใจเรื่องราวต่างๆ รอบเมือง มาร่วมชมภาพยนตร์สารคดีชุด “อยู่เมืองดัดจริต ชีวิตต้อง …..” พร้อมฟังการพูดคุย เกี่ยวกับประเด็นที่น่าสนใจจากหนังในแต่ละวันได้ฟรี!ที่ร้าน Doc Club & Pub ศาลาแดง ซอย 1 ตั้งแต่เวลา 4 โมงเย็นจนถึงหนึ่งทุ่ม (หนังเริ่มฉาย 4 โมงครึ่ง และ เริ่มพูดคุยในเวลา 6 โมงเย็น)

วันเสาร์ที่ 3 กันยายน 2565 ประเด็น “ความเป็นเมือง” บ้านเมืองก็ของเรา

  • ขอนแก่นโมเดล – กฤษณ์ ศรีวิชา
  • ชุมชนกระดาษ – ธีรยุทธ์ วีระคำ
  • บ้านของคนสร้างบ้าน – วชร กัณหา

คุยกับ ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ศุเรนทร์ ฐปนางกูร กรรมการบริษัทชุมชนเลื่อนฤทธิ์ ชวนคุยโดย วิภาพร วัฒนวิทย์

ผู้ที่สนใจ สามารถลงทะเบียนล่วงหน้าเพื่อแลกรับ ขนมและน้ำฟรีในงาน ได้ที่ลิงก์ https://forms.gle/1gjRwcBywoQ8gbSG9 หรือมาลงทะเบียนร่วมงานได้ที่หน้าร้าน Doc Club & Pub ได้ตั้งแต่เวลา 4 โมงเย็นเป็นต้นไป

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ