มึดา หนทางสู่ฝันกับเยาวชนไร้สัญชาติ

มึดา หนทางสู่ฝันกับเยาวชนไร้สัญชาติ

อาจเป็นความใฝ่ฝันของพี่ด้วยว่า “ถ้าเรียนจบนิติศาสตร์หรือกฎหมาย พี่จะนำความรู้ของพี่ไปช่วยเหลือพี่น้องที่มีปัญหาเรื่องสัญชาติ ตอนนี้ก็เหมือนทำตามความฝันอยู่ ที่จะนำความรู้ของเราไปใช้ให้เกิดประโยชน์ช่วยเหลือพี่น้องที่มีปัญหาเรื่องไร้สัญชาติเหมือนกัน”

ความใฝ่ฝันที่เกิดขึ้นจากการไร้สัญชาติของ มึดา นาวานาถ อดีตเด็กไร้สัญชาติ ชาวเผ่ากระเหรี่ยง แต่ปัจจุบันมึดาได้บัตรประจำตัวประชาชนเมื่อปีพ.ศ. 2551 และเป็นอาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน มาร่วมจัดงานวันเด็กให้กับรุ่นน้องที่ยังไม่มีสัญชาติ ในชื่องานวันเด็ก “เด็กดีไร้สัญชาติ” ครั้งที่ 12 ณ จังหวัดเชียงใหม่

เหตุใด จึงไร้สัญชาติ

วันนี้มีโอกาสพูดคุยกับนักต่อสู้อย่างมึดา ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านสถานะบุคคล ย้อนไปเมื่อ 7 ปีที่แล้ว มึดาบอกว่า เธอเป็นเด็กชนเผ่ากระเหรี่ยง พ่อแม่ของเธอหนีสงครามแล้วอพยพมาจากรัฐกระเหรี่ยงในประเทศพม่า มาตั้งรกรากอยู่ที่ บ้านท่าเรือ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ถือว่าเธอได้เกิดและเติบโตที่ประเทศไทยเช่นเดียวกับเด็กไทยคนอื่นๆ

แต่หมู่บ้านที่เธออยู่เป็นหมู่บ้านเล็กๆ แม้เจ้าหน้าที่ทำการสำรวจเกี่ยวกับสถานะบุคคลต่างๆ โดยให้ไปแจ้งที่อำเภออยู่หลายครั้ง แต่ตัวเธอก็ไม่เคยได้รับการแจ้งสถานะเกิดแต่อย่างใด เพราะสมัยนั้นการแจ้งเกิดทำได้ยาก บ้านอยู่ไกลจากตัวอำเภอ ซึ่งกว่าจะมาอำเภอได้ต้องนั่งเรือข้ามฝั่ง จากนั้นถึงจะนั่งรถอีกทีเพื่อมาถึงตัวอำเภอ

อีกสาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะคนสมัยก่อนบัตรประชาชนไม่ได้มีความสำคัญเท่าไหร่ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากพ่อแม่ไม่ได้เป็นคนไทยดั่งเดิม แต่อพยพมาจากรัฐกระเหรี่ยง เลยทำให้ชื่อของเธอตกหล่นมาเรื่อยๆ ทำให้เธอกลายเป็นคนไร้สัญชาติตั้งแต่ตอนนั้นมา

มึดายังเล่าอีกว่า ตอนที่ยังเธอยังไร้สัญชาตินั้น เธอก็ได้รับผลกระทบหลายอย่าง เช่น กรณีในโรงเรียนคือเรื่องทุนการศึกษา เรื่องวุฒิการศึกษาที่ไม่ได้รับ อีกทั้งยังเป็นในด้านมุมมองทัศนะคติจากคนรอบข้าง คือเพื่อนๆจะเรียกเธอว่าต่างด้าวบ้าง พม่าบ้าง

ซึ่งทำให้เกิดคำถามกับเธอหลายครั้งว่า เราเป็นต่างด้าว เราเป็นพม่าหรือเปล่า “ฉันเกิดในประเทศไทย ฉันโตในประเทศไทย” เมื่อก่อนไม่มีนามสกุล มีครั้งหนึ่งในชีวิต ตอนที่ได้ไปอบรมมา คนในที่อบรมบอกว่าสามารถตั้งนามสกุลเป็นของตัวเองได้ ก็เริ่มใช้ “นาวนาถ” ตอนอยู่มัธยมศึกษาปีที่ 6 มีครูบางท่านบอกว่า มึดาไม่มีสิทธิที่จะตั้งนามสกุล เพราะว่าไม่มีสัญชาติ แต่ครูจะตั้งให้ว่า มึดา แด็ด ( – )  ทำให้ทุกคนในห้องหัวเราะตลกเฮฮา วันนั้นจึงทำให้เธอถึงขั้นน้ำตาตก

เธอบอกเรื่องการเดินทางก็เป็นเรื่องที่สำคัญ สิทธิการเดินทาง เวลาเดินทางไปไหนมาไหนมันก็เสี่ยงต่อการโดนจับ สมัยนั้นยังเดินทางออกนอกพื้นที่ไม่ได้ ถ้าคุณจะเดินออกนอกพื้นที่คุณก็ ต้องมีบัตร ตรงนั้นวิธีที่ใช้คือ เมื่อเป็นนักเรียน ตำรวจก็จะมาทัก ก็จะมาถามว่าไปไหน มีบัตรอะไร ตอนนั้นอายุ 15 ปีถึงจะถ่ายบัตร แต่สมัยนี้ 7 ปีก็ถ่ายบัตรแล้ว ก็จะบอกว่าอายุยังไม่ถึงค่ะ อายุ 14 ปีอยู่ค่ะ ใช้มุกนี้ตลอด แต่ก็เสี่ยงนะ ไม่รู้ว่าเขาจะเชื่อเราอีกสักกี่ครั้ง เราก็ไม่มีหลักประกันอะไรเลย

เมื่อปี 2542 ตอนเรียนจบระดับชั้นประถมศึกษา แทนที่จะได้วุฒิการศึกษาแต่กลับไม่ได้ ที่ได้ตั้งความหวังไว้สูงไว้ว่า “จะต้องได้เรียนต่อระดับมัธยมให้ได้” แต่พอไปหาครูเพื่อขอวุฒิการศึกษา ครูบอกว่าเธอไร้สัญชาติไม่สามารถขอวุฒิการศึกษาได้ จึงกลับมาร้องไห้ กลัวไม่ได้เรียนต่อ

แต่ที่สะเทือนใจที่สุดก็ตอนที่พี่สาวคนหนึ่งหายไป  ตอนที่ออกไปทำงาน โดยทั่วไปแล้วถ้าเป็นคนไทยหายไป เขาก็สามารถตรวจสอบได้จากชื่อ นามสกุล หรือทะเบียนบ้าน ก็สามารถประกาศหาหรือแจ้งความได้

ซึ่งเธอก็ถามพ่อแม่ว่าทำไมไม่ไปแจ้งความ พ่อแม่กลับบอกเธอว่า “ไม่กล้าไปแจ้ง เราก็ไม่รู้ว่าเขาจะจับเราหรือเปล่า ว่าไม่มีบัตร”

แต่การได้รับผลกระทบหลายๆอย่างจากสังคมรอบข้าง ทั้งเรื่องสิทธิทางการศึกษา การรักษาพยาบาล การเดินทาง แม้กระทั่งมุมมองและทัศนะคติ ทำให้กลายเป็นแรงผลักดันให้เธอลุกขึ้นมาต่อสู้กับสิทธิที่เธอควรจะได้รับเหมือนเด็กไทยทั่วไป

หลายครั้งที่โดนว่าคำแรงๆ ว่าพวกนี้เป็นหอกข้างแคร่ เป็นภัยต่อสังคม เป็นขยะของสังคม หลายครั้งกลับมาคิดว่าตัวเองเป็นตัวถ่วงความเจริญ เขาบอกว่าเป็นหอกข้างแคร่ จริงหรือ เธอไม่เคยเถียงกับคนเหล่านี้

แต่เธอจะแสดงให้คนที่พูดดูถูกเธอได้เห็นว่า จริงแล้ว เธอไม่ได้เป็นตัวถ่วงความเจริญนะ แต่เธอจะเป็นตัวที่นำความเจริญ จะเป็นแรงผลักดันอีกแรงหนึ่งที่จะสามารถช่วยพัฒนาประเทศไทยได้ ดังนั้นจะแสดงให้คนอื่นเห็นว่า ฉันก็มีศักยภาพ ฉันไม่ได้เป็นภัยต่อสังคม แต่ว่าฉันมีบทบาท มีความสามารถที่สำคัญที่จะให้คนอื่นๆยอมรับ

เธอลุกขึ้นมาพัฒนาตัวเอง ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนหาวิชาความรู้ให้ตัวเอง จนเป็นที่ยอมรับของครู และสร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียน ยังหาความรู้โดยไปเข้ารับการอบรม ที่เกี่ยวกับสถานะบุคลตามที่ต่างๆมาเรื่อยๆ

เมื่อเธอรู้สึกว่าตัวเองมีโอกาสในเรื่องการศึกษา และมีโอกาสหลายๆอย่างมากกว่าเด็กอีกหลายคน เธอเริ่มคิดว่าจะรักษาโอกาสนี้ได้อย่างไรกับการรักษาโอกาสไม่ใช่แค่เพื่อตัวเองเท่านั้น

เพื่อ เพื่อน พี่น้อง อีกหลายคนที่กำลังรอความหวังจากตัวเองซึ่งได้รับโอกาสมากกว่าคนอื่น จึงจุดประกายความคิดว่าควรจะทำหน้าที่อะไรให้กับสังคมได้เข้าใจ ให้สังคมได้รู้ว่าเด็กไร้สัญชาติเป็นยังไง เพราะเชื่อว่า “ถ้าความเข้าใจมันเกิดขึ้นกับคนในสังคม ปัญหาเด็กไร้สัญชาติก็จะคลายลงได้”

เธอไม่เคยคิดว่าตัวเองมีความแตกต่างจากคนอื่น ไม่เคยดูถูกตัวเอง ไม่เคยปิดบังว่าเป็นกระเหรี่ยง ไม่เคยปิดบังว่าเป็นเด็กไร้สัญชาติมาก่อน เธอยังบอกอีกว่าถ้าเราปิดบังแล้วคนอื่นไม่รู้ว่าเราไร้สัญชาติ ไม่รู้ว่าเราเดือดร้อนอยู่ ก็ไม่มีใครเข้ามาช่วยเราให้ได้ หากแต่สิ่งเหล่านี้จะทำให้สังคมยอมรับเราได้มากขึ้น

สุดท้ายนี้จุดเปลี่ยนในชีวิต การถ่ายบัตรประจำตัวประชาชน ได้รับสิทธิในด้านต่างๆเหมือนคนไทยทั่วไป

ในระหว่างไม่สัญชาติไปเวทีไหนก็จะให้กำลังใจ กับน้องๆกับเพื่อนๆว่า ในโลกใบนี้หรือในประเทศไทย มันไม่ใช่มีแค่พวกเรา ยังมีเพื่อนๆอีกทั่วประเทศไทย ที่ยังตกเป็นคนไร้สัญชาติอยู่ เราต้องมีความเชื่อมั่น ว่าเราจะต้องได้ เพราะแผ่นดินอื่นเราไม่เคยเห็น แต่บางครั้งก็หมดความมั่นใจเหมือนกัน เพราะหลายคนได้ถามว่า แล้วพี่ได้สัญชาติไทยแล้วหรอ ก็ยังไม่ได้เหมือนกัน ในขณะเดียวกันสิ่งที่เราบอกไป เหมือนแบบเรายังไม่เห็นเป้าหมาย ว่ามันเกิดขึ้นจริงได้ แต่ ความเชื่อ 

หลังจากที่ได้สัญชาติสิ่งที่ภูมิใจมากเลยก็คือว่า ความรู้สึกแรกแวบมาเลยคือ ฉันเป็นคนไทยแล้ว ทุกๆครั้งฉันบอกคนอื่นว่า ฉันเป็นคนไทยนะ แต่ไม่มีเอกสารแสดงว่าแผ่นดินนี้ยอมรับฉันเท่านั้น แต่ ณ วันนี้ฉันสามารถแสดงได้ว่าฉันมีบัตรประชาชนไทย มากกว่านั้นคือเราสามารถได้สิทธิต่างๆได้เต็มร้อย เหมือนคนไทยทั่วไป

และสามารถบอกกับน้องๆที่ยังตกเป็นคนไร้สัญชาติอยู่ได้เต็มปากว่า ถ้าคุณไม่ท้อ ถ้าคุณไม่ถ้อย ถ้าคุณเป็นคนมีคุณภาพ คุณไม่สร้างความลำบากให้กับสังคม ไม่เป็นภัยต่อสังคม ยังไงวันหนึ่งสังคมไทยก็จะยอมรับคุณ เป็นพลเมืองแน่นอน

เธอก็จะบอกว่า ถ้าวันหนึ่งคุณได้สัญชาติไทยแล้ว อย่าลืมว่าเราก็เคยเป็นอดีตเด็กไร้สัญชาติเหมือนกันนะ อย่างคนอื่นมาทำงานเรื่องเด็กไร้สัญชาติกับเรา ก็ไม่รู้ว่าเขาจะอยู่กับเราได้นานแค่ไหน ไม่รู้ว่าเขาจะเข้าใจปัญหาของเราได้นานแค่ไหน แต่ถ้าเจ้าของปัญหาได้สัญชาติไทยแล้ว เข้ามาทำงาน คิดว่ามันจะช่วยเหลือกันเป็นกันทอดๆ อย่างเธอไปช่วยคนหนึ่ง อีกคนหนึ่งก็ไปช่วยอีกคนหนึ่ง มันก็จะเป็นกระบวนการทำงาน กระบวนการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน

อย่างที่มีน้องเข้ามาขอคำปรึกษา น้องแทบไม่ต้องบรรยายถึงปัญหา คือรู้หมดแล้วว่าคุณเจออะไรมา ซึ่งคิดว่า ณ จุดนี้ที่เธอมาถึง เป็นกระบวนการหนึ่งที่สามารถสร้างกระบวนการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนได้ อาจเป็นความใฝ่ฝันด้วยว่า ถ้าเรียนจบนิติศาสตร์หรือกฎหมาย จะนำความรู้ของไปช่วยเหลือพี่น้องที่มีปัญหาเรื่องสัญชาติ ตอนนี้เราก็ทำตามความฝันของเราอยู่ ที่เราจะนำความรู้ของเราให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องที่มีปัญหาอยู่ เช่นกัน โดยมาร่วมจัดงานให้กับน้องๆ เพื่อที่ให้น้องๆจะได้มีพื้นที่ในการแสดงออก มีพื้นที่ที่ทำให้น้องๆที่ไร้สัญชาติไม่ได้รู้สึกว่าเขาอยู่โดดเดี่ยว ไม่ให้เขารู้สึกว่าเขาไม่มีหลักประกันอะไรในชีวิตเลย

เช่นเดียวกับ ยอด ปอง นิสิตสาขาการสอนนาฏยสังคีต ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยบูรพา เล่าว่าการแสดงที่นำมาวันนี้เราก็มีโอกาสได้รับการประสานงานจากพี่มึดา ที่เป็นคนประสานงานต่างๆในการเป็นพิธีกรเพราะว่าผมไม่เคยมาเลย ปีนี้ก็เป็นปีแรกที่ผมได้มาแล้วก็ได้มาเห็นการแสดงน้องๆ ก็คิดว่าเราก็ไม่ใช่คนเดียวนะที่ไร้สัญชาติ เพราะได้รู้ว่ายังมีน้องอีกมากที่ไม่มีสัญชาติเช่นกันจากการมาร่วมงานครั้งนี้

นอกจากมึดาจะได้สานฝันของตัวเองแล้ว รุ่นน้องอย่าง ยอด ปอง เองก็ได้สานฝันที่ได้รับจากมึดา

ยอด ปอง บอกว่า ที่ผ่านมาก็เคยได้เข้าร่วมการอบรมกับหน่วยงานต่างๆเกี่ยวกับสถานะบุคคล จนได้รับความรู้และกำลังใจ จากพี่ๆ และตนก็เคยจัดโครงการแบบนี้ เป็นโครงการอบรมไร้รัฐไร้สัญชาติ โดยเชิญวิทยากรภายนอกไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็มาให้ความรู้กับน้องๆที่จังหวัดสมุทรสาครเช่นกัน แล้วก็มีน้องๆจากหลายๆโรงเรียนเลยนะครับที่อยู่ใกล้ๆชายแดนของสมุทรสาคร มีน้องๆมาอบรมยังเกิดความไม่รู้เรื่องสิทธิและกฎหมายต่างๆ ปัจจุบันก็ยังมาถามว่าสามารถเรียนต่อได้ไหม ตั้งแต่ปี 47 นะครับที่เปิดให้มีการเหมือนเป็นด้านการศึกษา รัฐบาลหรือคนไทยก็เริ่มเปิดให้เป็นสิทธิเพิ่มมากขึ้นจากเมื่อก่อนไม่เคยให้การศึกษาก็กลับให้เรียนได้อะไรอย่างนี้ครับ ไปไหนได้มากขึ้นครับ ส่วนใหญ่คือน้องยังไม่รู้นะครับ ในส่วนนี้ ก็จะช่วยให้ความรู้กับน้องๆด้วยอีกทางหนึ่ง

มึดา นาวานาถ เป็นตัวอย่างขออดีตเด็กไร้สัญชาติที่ได้รับสัญชาติแล้ว และยังนำวิชาความรู้ของตัวเองมาช่วยพัฒนา ให้ความรู้พร้อมกับเปิดโอกาสให้กับน้องๆอย่าง ยอด ปอง  และน้องคนอื่นๆมีพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนสิ่งต่างๆ เพื่อผลิตเยาวชนผู้มีความสามารถเพื่อพัฒนาประเทศชาติต่อไป 

 

 

 

 

 

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ