จากโรฮิงญาถึงคนไร้สัญชาติในอาเซียน

จากโรฮิงญาถึงคนไร้สัญชาติในอาเซียน

Rohingya01

คอลัมน์: ไม่ใช้อารมณ์  เรื่อง: สุรินทร์ ปัทมาสศนุพงศ์  ภาพ: ณฐพัฒญ์ อาชวรังสรรค์

‘One Vision, One Identity, One Community’ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายใต้วิสัยทัศน์ อัตลักษณ์ ในการอยู่ร่วมกัน ได้ถูกท้าทายทันทีก่อนเปิดประชาคมอาเซียนในปี 2015 จากปรากฎการณ์ ‘โรฮิงญา’

ความเชื่อมั่นที่จะอยู่ร่วมกันภายใต้ความแตกต่าง การยอมรับทั้งทาง ‘พฤตินัย’ และ ‘นิตินัย’ จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ การที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้ง พม่า ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ต่างออกตัวปัดปัญหาไม่ยอมให้ผู้อพยพ ‘ชาวโรฮิงญา’ ขึ้นฝั่งประเทศตนทันทีที่ได้ทราบข่าว แม้ภายหลังจะเปิดพื้นที่พักพิงชั่วคราวในมาเลเซียและอินโดนีเซียก็ตาม

ปรากฎการณ์นี้ยังได้สะท้อนไปยังหลักปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการเคารพการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน รวมทั้งหลักการ ‘ประชาธิปไตย’ ‘นิติธรรม’ และ ‘ธรรมาภิบาล ‘ การปะทะกันในชุดความคิด ‘ชาตินิยม’ ที่มอบความเป็นอื่นที่ไม่ใช่พวกตน  การแบ่งความต่างโดยใช้เกณฑ์ ‘อัตลักษณ์’ หรือการปะทะกันทาง ‘ศาสนา’ อย่างสุดโต่งระหว่างพระในพม่ากับมุสลิมในอินโดนีเซีย มายาคติเหล่านี้ได้มีอิทธิพลต่อความคิดเรื่องความแตกต่างหลากหลายอย่างรุนแรง

คำถามสำคัญจึงเป็นเรื่องการยอมรับที่จะอยู่ร่วมกันภายใต้ภูมิภาคเดียวกันได้แค่ไหน? เพราะปัญหาเรื่อง คนไร้รัฐ (stateless person) หรือคนไร้สัญชาติไม่ใช่มีแค่ใน คนโรฮิงญา แต่มีอยู่แทบทุกประเทศในอาเซียน และคนเหล่านี้ตางก็ไม่ได้รับการยอมรับจากดินแดนที่ตนอาศัย ทั้งทางนิตินัยและพฤตินัย

‘คนไร้รัฐ’ หมายความถึงคนไร้สัญชาตินั้น ไม่มี ‘รัฐเจ้าของตัวบุคคล’ (Personal State) ส่งผลให้ไม่อาจเป็นคนในชาติของรัฐใดเลยบนโลก ทั้งไม่อาจตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่ในประเทศใดเลยบนโลก เป็นคนต่างด้าว (Aliens) สำหรับทุกรัฐ และเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายสำหรับทุกรัฐ เป็นคน ‘เถื่อน’ เป็นคนผิดกฎหมายสำหรับทุกดินแดน

จากการสำรวจคนไร้สัญชาติในอาเซียน ปี 2015 โดย UNHCR พบว่า มีคนไร้สัญชาติ กระจายอยู่ตามประเทศต่างๆ ในแถบอาเซียน ดังนี้ ประเทศพม่า 810,000 คน ไทย 506,200 คน มาเลเซีย 40,0000 คน เวียดนาม 11,000 คน บรูไน 20,524 คน และฟิลิปปินส์ 6,015 คน

ปัญหาหลักที่พบคือ ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน ไม่มีการแจ้งเกิด หรือถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนราษฎร การไม่ได้ถือสัญชาติใดสัญชาติหนึ่งมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของบุคคลมาก เพราะเป็นอุปสรรคในการเข้าทำงาน การรับบริการด้านการศึกษา และการรับบริการด้านสุขภาพ รวมไปถึงการเดินทาง หรือแม้กระทั่งการเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ หรือการแต่งงาน คนไร้สัญชาติขาดโอกาสหลายด้าน เช่น การเมือง สังคม และเศรษฐกิจ ปัญหาดังกล่าวทำให้เกิดสภาวะของการมีอยู่แต่ ‘ไร้ตัวตน’

เช่นในประเทศประเทศพม่า มีปัญหาการปฎิบัติของราชการที่ปฎิเสธ ‘ชนกลุ่มน้อย’ อย่างชัดเจน ดังนั้นบุตรที่เกิดตามมาก็จะไม่ได้รับสัญชาติไปด้วย ปัญหาร้ายแรงที่พบคือการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความแตกต่างของวัฒนธรรมและความทรงจำทางประวัติศาสตร์ที่ต่างกันในรัฐที่ไม่ได้มีการยอมรับการมีอยู่ของสถานะบุคคล ผลที่ตามมาคือถูกคุกคามชีวิตและทรัพย์สิน ทำให้ต้องแสวงหาคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าโดยการอพยพ บ้างก็ถูกขับไล่ หรือในกรณี ‘โรฮิงญา’ ที่ต้องอพยพไปตามดินแดนต่างๆ จนบางคนต้องเสียชีวิตระหว่างเดินทาง ทั้งยังเป็นตัวแปรที่นำมาสู่ปัญหาการค้ามนุษย์

ในกรณีคนไร้สัญชาติของประเทศไทย จากการประชุม Good Practices Addressing Statelessness in South East Asia มีการเผยผลสำรวจว่า ‘ชาวเขา’ จำนวนมากที่อาศัยอยู่บริเวณภูเขาในประเทศไทย เป็นคนไร้สัญชาติร้อยละ 38 ไม่ได้ถือสัญชาติไทย นอกจากคนไร้สัญชาติมีข้อจำกัดทางกฎหมายหลายประการแล้ว พวกเขายังไม่มีสิทธิ์เลือกตั้ง และประสบปัญหาอย่างมากในการเขาถึงบริการพื้นฐานของรัฐ ผู้ไม่มีสัญชาติไทยร้อยละ 99 ไม่ได้รับบริการด้านสาธารณสุข และร้อยละ 25 เข้าไม่ถึงบริการด้านสินเชื่อ ส่วนด้านการศึกษา คนไร้สัญชาติมีโอกาสในการศึกษาน้อยกว่าผู้มีสัญชาติไทยคิดเป็นร้อยละ 73 ในระดับประถมศึกษา และร้อยละ 98 ในระดับอุดมศึกษา

สาเหตุส่วนหนึ่งคือ ครอบครัวตามชนบทที่อยู่ห่างไกลจากเมืองนั้น การคลอดจึงเป็นไปตามวิธีธรรมชาติ(คลอดกันเอง) ไม่ได้ไปแจ้งกับนายทะเบียน หรือความซับซ้อนและล่าช้าของระบบกฎหมายในการพิสูจน์บุคคลที่ขึ้นต้นด้วยเลข 0 ชาวเขา ชนพื้นเมือง ผู้ที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน การที่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยออกมารายงานว่า ในระยะเวลาเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา (2553-2557) มีการพิสูจน์คนไร้สัญชาติและอนุมัติเพียง 538 คนจาก 6 แสนกว่าคน โดยเฉลี่ยปีละ 134 คน นั้นเท่ากับว่าต้องใช้เวลาประมาณ 5 พันกว่าปีในการพิสูจน์

ในแง่นี้อาจกล่าวได้ว่ากระบวนการและขั้นตอนที่ใช้เวลายาวนานขนาดนี้ทำให้สูญเสียโอกาสต่างๆ และบางคนอาจต้องรอทั้งชีวิต แนวทางการแก้ไขคือความจริงใจของเจ้าหน้าที่รัฐโดยไม่เลือกปฎิบัติ ปรับลดกลไกการพิสูจน์ที่ซับซ้อนทางข้อบัญญัติทางกฎหมายลง

บทความจาก UNHCR: People An Introduction to Statelessness ได้ลองสมมติถึงความยากลำบากในการใช้ชีวิตอย่างคนไร้สัญชาติว่า ลองไปขอบัตรประชาชนถ้าคุณไม่มีสัญชาติ เปิดบัญชีธนาคารโดยไม่มีบัตรประชาชน เดินทางไปต่างประเทศโดยไม่มีพาสปอร์ต เข้าเรียนหนังสือโดยไม่ต้องพิสูจน์สัญชาติ คนไร้สัญชาติในประเทศเวียดนามคนหนึ่งเคยกล่าวว่า ชีวิตคนไร้สัญชาติลำบากมาก ไม่สามารถทำงานได้ ลูกก็ไร้อนาคต ไม่สามารถมีสมบัติเป็นของตัวเอง รวมไปถึงความยากในการเดินทางไปนอกประเทศเพราะไม่สามารถขอหนังสือเดินทางได้

“My message I would like to send to people who have nationality is that life as a stateless person is very difficult. You can’t get a job. Your children don’t have a future. You can’t own property, nothing from a motorbike to a house. You have no career opportunities. You can’t dream of leaving the country because you can’t get a passport”

ประเด็นเรื่องคนไร้สัญชาติได้ตอกย้ำถึงเสาทั้ง 3 หลักโดยตรง โดยเฉพาะเสาที่ 3 ของอาเซียน คือ ‘ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน’ (ASEAN Socio-Cultural Community) ในแผนงานด้านสิทธิ และความยุติธรรมทางสังคม (Social Justice and Rights) และการพัฒนามนุษย์ (Human Development) เพราะไม่มีการพูดถึงการจัดการแก้ไขปัญหาคนไร้สัญชาติที่มีจำนวนกว่า 1.3 ล้านคนในประเทศอาเซียน

นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องการยอมรับในความแตกต่างของพลเมืองด้วยกันเองกรณีโรฮิงญา จึงได้สะท้อนให้เห็นอาการ ‘สำลัก’ หลักสิทธิมนุษยชนในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนได้เป็นอย่างดี

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ