ภาพพระสงฆ์ที่ยืนสูบบุหรี่ตามสถานที่สาธารณะคงเป็นสิ่งที่เราได้เจอบ่อยครั้ง จนบางทีเลยเถิดจับกลุ่มสูบบุหรี่มุมต่างๆ อย่างสบายใจ แม้ว่าในอดีตจะมีพระเถระสูบบุหรี่ อย่างหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ วัดอาวาสวัดบ้านไร่ ปัจจุบันท่านเลิกได้อย่างเด็ดขาดแล้ว
แพทย์หญิงไพรัตน์ แสงดิษฐ์ โรงพยาบาลสงฆ์ ระบุว่า จากการเก็บข้อมูลของโรงพยาบาลสงฆ์ในปี พ.ศ. 2546-2547 พบว่า มีพระภิกษุสงฆ์ที่อาพาธจำนวน 59,000 รูป ในจำนวนนี้มีพระที่ป่วยและมีประวัติสูบบุหรี่ประมาณ 18,000 รูป คิดเป็นร้อยละ 30 ของพระที่ป่วยทั้งหมด
ไม่เพียงแต่เกิดความเจ็บป่วยต่อร่างกายเท่านั้น จากการประชุมสรุปสถานการณ์การสูบบุหรี่ และเก็บข้อมูลของพระนิสิตพบว่า พระสงฆ์ที่สูบบุหรี่ไม่เพียงทำลายสุขภาพตนเอง แต่ทำลายศรัทธาของชาวบ้านต่อพุทธศาสนาอีกด้วย เพราะพระสงฆ์เป็นผู้นำทางด้านจิตวิญญาณ โดยเฉพาพระนิสิตที่ศึกษาอยู่ในหาวิทยาลัยฯ ที่ชาวบ้านมองว่าเป็นพระสงฆ์รุ่นใหม่ที่เปี่ยมด้วยความรู้ทางธรรมและความรู้ทางโลก เป็นแบบอย่างที่ดีให้สังคม
พระครูวิธานพัฒนาบัณฑิต รองอธิการบดี มจร.ขอนแก่นกล่าวว่า” ตามซอกมุมของตึกต่างๆ จะมีก้นกรองบุหรี่เป็นจุดๆ พระนิสิตเราจะออกมาสูบหลังฉันเพลหรือระหว่างรอวิชาเรียน โดยเฉพาะพระสังฆาธิการ จะจับกลุ่มกันสูบอย่างโจงครึม ดูแล้วไม่เหมาะสม แต่ก็ไม่สามารถที่จะไปตำหนิท่านได้”
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมกันดำเนินโครงการพระสงฆ์ลดปัจจัยเสี่ยง นำร่อง 5 วิทยาเขต เพื่อพัฒนานวัตกรรมในการลดบุหรี่แก่พระสงฆ์ ประกอบด้วย มจร.วังน้อย (ส่วนกลาง), มจร.เชียงใหม่ , มจร.ขอนแก่น. มจร.นครศรีธรรมราช และ มจร.หนองคาย
ดร.พระวิสิทธิ์ ฐิตวิสิทโธ ผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า “การดำเนินงานในโครงการนี้ไม่เพียงแต่ช่วยเหลือให้พระสงฆ์ลดสูบบุหรี่ แต่สร้างภาพลักษณ์ที่ดี เชื่อมโยงเครือข่ายพระนิสิตให้ทำงานอย่างจิงจัง ที่ผ่านมาพบว่าพระนิสิตเราก็ทำงานได้ดี ไม่เพียงแต่ท่านจะเรียนหนังสือและกลับวัดอย่างคนทั่วไปเข้าใจกัน นอกจากนี้เรายังคาดหวังว่าจะมีพระสงฆ์รุ่นใหม่ ที่นำการเปลี่ยนแปลงด้วยการประยุกต์หลักธรรมแก้ไขปัญหาอีกด้วย ตอนนี้เรามีนวัตกรรมที่น่าสนใจ 10 ชิ้นที่จะช่วยเป็นเครื่องมือในการทำงานลดบุหรี่ในพระสงฆ์ เพียงอยู่ในขั้นการประเมิน และนำขยาย 25 วิทยาเขต ในอนาคตอันใกล้นี้”
พระครูวิธานพัฒนบัญฑิต กล่าวเสริมว่า “เดี่ยวนี้ก้นกรองบุหรี่ตามมุมอาคารต่างๆ ไม่มีแล้ว อาตมาเดินสำรวจด้วยตัวเองทุกเย็นก่อนกลับวัด แม้ว่ายังมีพระนิสิตที่สูบอยู่ แต่จะแอบสูบตามหลังอาคารเรียนบ้าง หรือสูบนอกมหาวิทยาลัยฯ แต่ทั้งนี้เราเอาจริงจัง ทุกช่องทาง เช่น การจัดตั้งชมรมต้านภัยบุหรี่เพื่อสอดส่องดูแลตามจุดต่าง นำผู้ติดบุหรี่ไปบำบัด สร้างค่านิยมว่าบัณฑิต มจร.ต้องไม่สูบบุหรี่ กิจรรมการรับบริจาคบุหรี่ จนเดี่ยวพูดได้เลยว่า พระนิสิตเราลดลงมากแม้ว่าจะมีอยู่บางส่วนก็ตาม”
บุหรี่คือปัจจัยเสี่ยงที่คุกคามชีวิตพระสงฆ์และบุคคลทั่วไป แต่หากองค์กรสงฆ์ยังไม่เอาจริงเอาจังในเรื่องนี้ อนาคตอาจเป็นได้ว่า พระสงฆ์จะลดจำนวนลง และเจ็บป่วยด้วยพิษควันบุหรี่อย่างไม่จำเป็น สิ่งที่นอกเหนือไปกว่านั้นก็คือการทำลายภาพลักษณ์และแบบอย่างที่ดีของสังคมอีกด้วย
โดยธวัชชัย จันจุฬา